ช่องทางรับฟังความคิดเห็น     คลังเอกสาร     คำถามที่พบบ่อย     ถาม-ตอบ      มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี    

การมีส่วนร่วมการเรียนรู้ในห้องเรียนออนไลน์บน Microsoft Teams by อารยา ฟลอเรนซ์

ชื่อผลงาน : การมีส่วนร่วมการเรียนรู้ในห้องเรียนออนไลน์บน Microsoft Teams

                                           ผู้ถ่ายทอด : ผู้ช่วยศาสตราจารย์อารยา ฟลอเรนซ์ และคณะ  ถ่ายทอด : วันที่ 17 กันยายน 2563
   
 
1. บทนำ
     สืบเนื่องจากสถานการณ์ไวรัสระบาด ทำให้การรักษาระยะห่าง เป็นสิ่งจำเป็นในการจัดการเรียนการสอน ส่งผลให้การจัดการเรียนการสอนออนไลน์เป็นสิ่งที่ต้องทำสำหรับอาจารย์และนักการศึกษาในปัจจุบัน ทั้งการเตรียมการเตรียมเนื้อหา และการจัดการเรียนการสอน ล้วนมีเครื่องมือหลากหลายให้เลือกใช้งาน ซึ่งสามารถเลือกใช้ตามบริบทของลักษณะรายวิชา และความถนัดของอาจารย์ผู้สอน รายวิชา 1309 200 การเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เป็นรายวิชาบังคับของนักศึกษาชั้นปีที่หนึ่ง สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า หลักสูตรา 2560 ในปีการศึกษา 2563 นี้ มีจำนวนนักศึกษาลงทะเบียนทั้งสิ้น 121 คน มีทีมอาจารย์ผู้สอน 6 คน เป็นการจัดการเรียนการสอนในลักษณะผสมผสาน ที่ใช้การเรียนรู้ในห้องเรียนออนไลน์เป็นหลัก จากการจัดเตรียมห้องเรียนออนไลน์ในระยะเวลา 3 เดือน (เมษายน - มิถุนายน) และได้ดำเนินการจัดการสอนมาแล้ว ครึ่งภาคการศึกษา (กรกฏาคม - สิงหาคม) ทีมนักวิจัยพบว่า สิ่งที่จะเป็นอุปสรรคต่อการจัดการเรียนการสอนออนไลน์สำหรับผู้สอน อาจเป็นความยุ่งยากในการเตรียมเนื้อหา ส่วนปัญหาที่พบระหว่างจัดการเรียนการสอนนั้น การมีส่วนร่วมในชั้นเรียนออนไลน์ ถือเป็นปัญหาหลักของการเรียนในรายวิชานี้ ซึ่งทีมนักวิจัยได้ทำการทดลอง ปรับวิธีการสื่อสาร และลักษณะการมอบหมายงานให้นักศึกษาในห้องเรียนออนไลน์ เพื่อสร้างบรรยากาศให้ห้องเรียนออนไลน์ให้เกิดความกระตือรือร้นทั้งผู้เรียนและผู้สอน
     งานนำเสนอนี้ เสนอเทคนิคการใช้งานเครื่องมือทางเทคโนโลยี ได้แก่ Microsoft Teams และ Microsoft OneNote รวมถึงการใช้ Google Analytic via Google Site ในการเสริมสร้างการมีส่วนร่วมในชั้นเรียนออนไลน์ อีกทั้งเพิ่มความสะดวกสบายให้แก่ทีมผู้สอนในการสังเกตการณ์ และดูแลนักศึกษาในชั้นเรียน
 
2. เครื่องมือที่ใช้งาน
ธรรมชาติของรายวิชานี้เป็นวิชาเขียนโปรแกรม ซึ่งใช้งานคอมพิวเตอร์เป็นหลัก ท าให้การใช้งานเทคโนโลยีเป็นไปอย่างไร้รอยต่อ แต่อย่างไรก็ตามนักศึกษาที่เรียนรายวิชานี้เป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ท าให้การติดต่อสื่อสารอาจเป็นไปด้วยอุปสรรคนานาประการ ได้แก่ ความพร้อมของบัญชีผู้ใช้งาน ความพร้อมของการลงทะเบียน เนื้อหาในส่วนนี้ประกอบไปด้วย ภาพรวมของเครื่องมือที่ใช้ทั้งหมด
 
ตารางที่ 1 เครื่องมือที่ใช้งาน
 
 
      จากข้อมูลเกี่ยวกับเครื่องมือที่ใช้งาน นักศึกษาจำเป็นต้องมี @ubu.ac.th และ @live.ubu.ac.th เพื่อสามารถใช้งานได้ทั้ง Google และ Microsoft Platforms ในการเรียนรายวิชานี้ ซึ่งความซับซ้อนของการสื่อสารในการเข้าชั้นเรียนออนไลน์ ทำได้ด้วยการติดต่อผ่านเวปไซต์ reg ของมหาวิทยาลัย และใช้งาน zoom ในการเข้าห้องเรียนออนไลน์
 
3. การมีส่วนร่วมในชั้นเรียนออนไลน์
     ปัญหาหลักของการเรียนการสอนออนไลน์คือการมีส่วนร่วมในชั้นเรียนออนไลน์ ในรายวิชานี้มีการใช้งาน Microsoft Teams ที่มีเครื่องมือที่ชื่อ Insights ที่ช่วยให้การติดตาม สังเกต และเฝ้าระวัง พฤติกรรมในชั้นเรียนออนไลน์ของนักศึกษาได้ดียิ่งขึ้น มีทั้งการติดตามนักศึกษาที่ไม่มีการติดต่อสื่อสารใด ๆ ในชั้นเรียน ทำให้ผู้สอนสามารถติดตามเป็นการส่วนตัว เพื่อช่วยแก้ปัญหาให้กับนักศึกษาก่อนที่จะสายเกินแก้
 
รูปที่ 1 หน้าต่าง Insights แสดงการส่วนต่าง ๆ ที่สามารถติดตามได้
      รายละเอียดเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมในการสื่อสารในห้องเรียนออนไลน์นี้ สามารถเลือกดูเฉพาะกลุ่ม หรือเฉพาะนักศึกษารายบุคคลได้ ซึ่งทำให้เห็นข้อมูลในมุมลึกว่าอาจารย์ในกลุ่มและนักศึกษาในกลุ่มมีการติดต่อสื่อสารกันหรือไม่ และความถี่เป็นอย่างไร ซึ่งจะช่วยในการพิจารณาให้ความช่วยเหลือรายกลุ่ม หรือรายบุคคลได้ง่ายยิ่งขึ้น รายงานเกี่ยวกับงานที่นักศึกษาพลาดส่ง หรือส่งไม่ทัน รวมถึงค่าทางสถิติของคะแนนที่ได้จากการประเมินงานแต่ละชิ้น จะช่วยให้ทีมผู้สอน สามารถนำข้อมูลมาปรับแผนการสอน ให้สอดคล้องกับตัวผู้เรียนและสภาพแวดล้อมของห้องเรียนออนไลน์ได้ดียิ่งขึ้น อีกทั้งเวลาในการตรวจงาน การส่งงานคืนแก่นักศึกษาก็จะช่วยให้ทีมผู้สอนกระตือรือร้นในการทำงาน เพื่อให้ respond time ของการตรวจงานมีค่าที่ดีอยู่เสมอเพื่อเป็นการกระตุ้นให้นักศึกษาพูดคุยกันในชั้นเรียนออนไลน์ การสั่งงานจะมีการปรับเปลี่ยนวิธีไปเรื่อย ๆ ดังแสดงในรูปที่ 2 และ 3 ที่มีการกำหนดให้นักศึกษาเข้าไปสอบถามโจทย์กับผู้สอน ต่อมาก็ปรับเปลี่ยนให้นักศึกษาตกลงกันเองในกลุ่ม ว่าใครทำโจทย์ข้อใด ทำให้นักศึกษาได้พยายามใช้เครื่องมือออนไลน์อื่น เช่นการทำโพล หรือการใช้ shared spreadsheet ในการจัดการดังกล่าว เข้ามาแก้ปัญหานี้ โดยมีการพูดคุยกันในกลุ่มของตนเอง ที่มีอาจารย์คอยสังเกตการณ์อยู่
 
 
4. สรุป
      จากการปรับเปลี่ยนวิธีการมอบหมายงานโดยใช้เครื่องมือทางเทคโนโลยีที่มีอยู่ ทีมนักวิจัยพบว่า มีการสื่อสารกันในห้องเรียนออนไลน์มากขึ้นกว่า 50% ดังแสดงในตัวอย่างรูปที่ 4 โดยมีการพูดคุยกันเพื่อสอบถามโจทย์ปัญหา มีการสร้าง new posts มากขึ้นในทุกห้องเรียนย่อย ส่งผลถึงการตั้งคำถามและการ react ในห้องเรียนใหญ่ที่มีแนวโน้มที่ดีขึ้น อีกทั้งพบว่า เมื่อมีการมอบหมายงานกลุ่มที่สามารถจับกลุ่มข้ามห้องย่อยได้ นักศึกษาเหล่านี้ไม่เคยมีการพบกันในชั้นเรียนแบบ physical ในปฏิบัติการเพียง 2 ครั้ง ก็สามารถจับกลุ่มเพื่อทำงานกลุ่มได้ในเวลาอันสั้น ส่วนการตอบโต้ประกาศเกี่ยวกับการสอบปฏิบัติในสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่านักศึกษาให้ความสนใจมากขึ้นในเวลาที่สั้นขึ้น เมื่อเทียบกับประกาศที่เคยสร้างในช่วงเปิดภาคการศึกษา แต่อย่างไรก็ตาม ไม่สามารถสรุปได้ว่าเป็นผลจากการปรับเปลี่ยนวิธีการเท่านั้น แต่ก็มีแนวโน้มที่ดีขึ้นว่าการสร้างความคุ้นเคยในห้องเรียนออนไลน์ อาจต้องใช้ระยะเวลามากกว่าการใช้เวลาในชั้นเรียนแบบ physical ทั่วไป
 
รูปที่ 4 การปรับเปลี่ยนวิธีมอบหมายงาน เพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้เครื่องมือออนไลน์
5. ปัจจัยความสำเร็จ
      ปัจจัยของความสำเร็จในงานนี้ ขึ้นอยู่กับความใส่ใจของผู้เรียนและผู้สอน โดยสังเกตได้ว่าการสนทนาในห้องย่อย หากอาจารย์ผู้สอนประจำห้องย่อย มีการสร้างบทสนทนาที่มีการร้องขอให้นักศึกษาแสดงความคิดเห็น มีการตอบโต้กับนักศึกษาอยู่เป็นประจำ จะทำให้มีการสนทนาในห้องมากขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะการสนทนาในช่วงเวลากลางคืน อาจเนื่องมาจากนักศึกษาใช้เวลาว่างในช่วงกลางคืน กับการใช้งานห้องเรียนออนไลน์ ความใส่ใจของตัวผู้เรียนแต่ละคนก็มีผลกับการสื่อสารในห้องเรียนออนไลน์เช่นกัน นักศึกษาส่วนมากยังคุ้นเคยกับการเงียบเฉย จนทำให้การสนทนาในห้องเรียนออนไลน์กลายเป็นเรื่องผิดปกติ ปัญหานี้ยังคงต้องใช้เวลาและการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อหาเทคนิคให้เกิดบรรยากาศในการสนทนาในห้องเรียนออนไลน์ ที่ส่งผลบวกให้กับการเรียนรู้ของนักศึกษา
ดาวน์โหลดไฟล์นำเสนอ