ช่องทางรับฟังความคิดเห็น     คลังเอกสาร     คำถามที่พบบ่อย     ถาม-ตอบ      มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี    

การตรวจอุปกรณ์ดับเพลิงแบบออนไลน์ by สุนทรี สารางคำ

ชื่อผลงาน : การตรวจอุปกรณ์ดับเพลิงแบบออนไลน์

                                          ผู้ถ่ายทอด : สุนทรี  สารางคำ   ถ่ายทอด : วันที่ 17 กันยายน 2563
   

1.บทนำ

     มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เป็นมหาวิทยาลัยที่มุ่งเน้นผลิตบัณฑิตหลากหลายสาขาวิชาที่มีคุณภาพในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้งนี้มหาวิทยาลัยได้เปิดหลักสูตรอาชีวอนามัยและความปลอดภัย สังกัดภาควิชาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ และหลักสูตรได้จัดการเรียนการสอนรายวิชาการป้องกันและควบคุมอัคคีภัย ในการเรียนการสอนมีทั้งการเรียนรู้ทฤษฎีในห้องเรียนและฝึกปฏิบัติการตรวจอุปกรณ์ดับเพลิง ได้แก่ ถังดับเพลิงและสายฉีดน้ำดับเพลิง เพื่อให้นักศึกษาได้มีทักษะตรวจอุปกรณ์ดับเพลิงอย่างถูกต้องและปลอดภัย และสอดคล้องกับประกาศกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารจัดการและดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับการป้องกันและระงับอัคคีภัย พ.ศ. 2555 หมวด 3 การดับเพลิง ข้อ 13 (5) ที่ถังดับเพลิงดับเพลิง ควรได้รับการตรวจสอบสภาพ ความพร้อมใช้งานอย่างน้อย 6 เดือนครั้ง จะเห็นได้ว่า คณะวิทยาศาสตร์ มีอาคารใช้งานที่เป็นสำนักงาน ห้องพักอาจารย์  ห้องบรรยายและห้องปฏิบัติการ ซึ่งแต่ละอาคารมีเครื่องมือ อุปกรณ์ และเอกสารทางการศึกษาจำนวนมากที่เป็นข้อมูลสำคัญ ที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นมาได้เมื่อเกิดเพลิงไหม้ และอาจเกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินและชีวิตของผู้คนที่อาศัยอยู่ คณะวิทยาศาสตร์ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญต่อการป้องกันอัคคีภัยที่อาจจะเกิดขึ้น จึงมีการติดตั้งถังดับเพลิงและสายฉีดน้ำดับเพลิงประจำทุกอาคาร เพื่อให้อุปกรณ์ดับเพลิงมีความพร้อมใช้งานอยู่เสมอ และควรมีการตรวจสอบอุปกรณ์ดับเพลิงอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี

      การตรวจอุปกรณ์ดับเพลิงภายในคณะวิทยาศาสตร์ มีรูปแบบการตรวจโดยใช้แบบตรวจอุปกรณ์ดับเพลิงที่เป็นกระดาษรายงาน ทำให้ต้องใช้เวลาบันทึกข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์ รวบรวมข้อมูล ประมวลผล และสรุปผลการตรวจอุปกรณ์ดับเพลิงนำส่งผู้เกี่ยวข้องต่อไป ทั้งนี้เทคโนโลยีได้มีความเจริญก้าวหน้ามากขึ้น สถานศึกษาจึงนำเทคโนโลยีเข้ามาเป็นเครื่องมือสำคัญในการเรียนรู้ ทำให้ผู้เรียนเข้าถึงแหล่งการเรียนรู้และสืบค้นข้อมูลเพื่อการศึกษาได้สะดวก รวดเร็ว หลากหลายและมีประสิทธิภาพ มีการเชื่อมโยงเครือข่ายเข้าด้วยกัน สามารถเก็บข้อมูลไม่ให้สูญหายไป อีกทั้งสามารถส่งต่อข้อมูลให้ผู้อื่นได้สะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น จากเหตุผลข้างต้นการตรวจอุปกรณ์ดับเพลิงภายในคณะวิทยาศาสตร์ จึงควรปรับเปลี่ยนรูปแบบการตรวจอุปกรณ์ดับเพลิงโดยการใช้แบบตรวจอุปกรณ์ดับเพลิงแบบออนไลน์ (Google Form) มาประยุกต์ใช้ ผู้จัดทำจึงสนใจพัฒนารูปแบบการตรวจอุปกรณ์ดับเพลิงจากแบบตรวจอุปกรณ์ดับเพลิงแบบกระดาษรายงานเป็นแบบตรวจอุปกรณ์ดับเพลิงทางออนไลน์ ที่ใช้กับคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

2.วัตถุประสงค์

     2.1 เพื่อพัฒนานวัตกรรมรูปแบบการตรวจอุปกรณ์ดับเพลิงให้สอดคล้องกับศตวรรษที่ 21

     2.2 เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของนักศึกษาให้สามารถตรวจอุปกรณ์ดับเพลิงได้

     2.3 เพื่อส่งเสริมทักษะการเรียนรู้แบบ UBU Active Learning

3. ขอบเขตการดำเนินงาน  

     3.1 ขอบเขตด้านสาระเนื้อหา

           ดำเนินการจัดทำแบบตรวจอุปกรณ์ดับเพลิงทางออนไลน์และบูรณาการในรายวิชา 1114 322 การป้องกันและควบคุมอัคคีภัย

     3.2 ขอบเขตด้านกลุ่มเป้าหมาย

           นักศึกษาสาขาวิชาอาชีวอนามัยและความปลอดภัยชั้นปีที่ 4 (รหัส 60) จำนวน 57 คน คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

     3.3 การประเมินผล

          1) การวัดประเมินผลการเรียนรู้จากการตรวจอุปกรณ์ดับเพลิงทางออนไลน์

          2) เปรียบเทียบความพึงพอใจการใช้แบบตรวจอุปกรณ์ดับเพลิงแบบกระดาษรายงานกับแบบตรวจทางออนไลน์

4. กรอบแนวคิด

5. วิธีการดำเนินการ   

5.1 วิธีการพัฒนานวัตกรรมการเรียนการสอน

1) กำหนดรายวิชาที่จะพัฒนานวัตกรรมการเรียนการสอนคือ รายวิชา 1114 322 การป้องกันและ ควบคุมอัคคีภัย หัวข้อการเรียนรู้ระบบและอุปกรณ์ป้องกันอัคคีภัย

2) กำหนดขอบเขตของการจัดทำแบบตรวจอุปกรณ์ดับเพลิงทางออนไลน์ ประกอบด้วยถังดับเพลิง และตู้เก็บสายฉีดน้ำดับเพลิง

3) ประชุมขอบเขตการจัดทำแบบตรวจถังดับเพลิงกับผู้ร่วมดำเนินการ

4) ดำเนินการจัดทำแบบตรวจอุปกรณ์ดับเพลิงทางออนไลน์และแบบประเมินความพึงพอใจ

5) ตรวจสอบความตรงเชิงเนื้อหา (Content validity) ของแบบตรวจอุปกรณ์ดับเพลิงทางออนไลน์และแบบประเมินความพึงพอใจโดยผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 3 ท่าน

6) การหาค่าความเที่ยง (Reliability) โดยทดลองใช้ (Try out) แบบตรวจอุปกรณ์ดับเพลิงทางออนไลน์และ แบบประเมินความพึงพอใจกับบัณฑิตสาขาวิชาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย จำนวน 30 คน

7) จัดทำ QR Code แบบตรวจอุปกรณ์ดับเพลิงทางออนไลน์

8)ใช้แบบตรวจอุปกรณ์ดับเพลิงทางออนไลน์ในการเรียนการสอนพร้อมประเมินผลการเรียนรู้   

9) ประเมินความพึงพอใจการใช้แบบตรวจอุปกรณ์ดับเพลิงแบบกระดาษรายงานกับแบบตรวจทางออนไลน์ ด้วยแบบสอบถามความพึงพอใจในระบบออนไลน์

10) สรุปและวิเคราะห์ผลการเรียนการสอนด้วยแบบตรวจอุปกรณ์ดับเพลิงทางออนไลน์ และเปรียบเทียบความพึงพอใจการใช้แบบตรวจอุปกรณ์ดับเพลิงแบบกระดาษรายงานกับแบบตรวจทางออนไลน์

5.2 เครื่องมือที่ใช้เก็บข้อมูล

        - เก็บข้อมูลผลการเรียนรู้ โดยใช้แบบตรวจอุปกรณ์ดับเพลิงทางออนไลน์และแบบประเมินความพึงพอใจ

5.3 การวิเคราะห์ข้อมูล

        - วิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพในรูปแบบการบรรยาย และเชิงปริมาณโดยใช้โปรแกรม MicrosoftExcel

5.4 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล

               - วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณา หาค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน

6. ระยะเวลาดำเนินงาน

      เดือนมกราคม 2563  ถึง  เดือนกันยายน 2563

7. แผนการดำเนินงาน  

ตารางที่ 1 แผนการดำเนินงานพัฒนานวัตกรรมการเรียนการสอน

  

8. แบบตรวจอุปกรณ์ดับเพลิงทางออนไลน์

       8.1 แบบตรวจถังดับเพลิงทางออนไลน์  สามารถเข้าไปดูได้ในhttps://forms.gle/DpHk3TgBJDDFWRsu7 หรือ สแกน QR Code

รูปที่ 1 QR Codeแบบตรวจถังดับเพลิงทางออนไลน์

         8.2 แบบตรวจตู้เก็บสายฉีดน้ำดับเพลิงออนไลน์  สามารถเข้าไปดูได้ใน https://forms.gle/XxbpE4zRkqatcpH29 หรือ สแกน QR Code

รูปที่ 2 QR Codeแบบตรวจตู้เก็บสายฉีดน้ำดับเพลิงทางออนไลน์

9.สรุปผล

     จากผลการดำเนินงาน พบว่า ได้พัฒนานวัตกรรมรูปแบบการตรวจอุปกรณ์ดับเพลิงให้สอดคล้องกับศตวรรษที่ 21 โดยใช้แบบตรวจอุปกรณ์ดับเพลิงทางออนไลน์ส่งเสริมการเรียนรู้ของนักศึกษาให้สามารถตรวจอุปกรณ์ดับเพลิงได้สะดวก รวดเร็ว สามารถสืบค้นข้อมูลได้ง่าย นักศึกษามีความสนใจมากขึ้นและส่งเสริมทักษะการเรียนรู้แบบ UBU Active Learning ผลความพึงพอใจของนักศึกษาต่อการใช้แบบตรวจอุปกรณ์ดับเพลิงแบบกระดาษรายงาน มีค่าเฉลี่ย 2.35 (ระดับความพึงพอใจน้อย) และความพึงพอใจของนักศึกษาต่อแบบตรวจอุปกรณ์ดับเพลิงทางออนไลน์มีค่าเฉลี่ย 4.00 (ระดับความพึงพอใจมาก)

10. ปัจจัยความสำเร็จ

          10.1 การสนับสนุนจากทีมผู้บริหารของคณะที่อนุญาตให้ตรวจอุปกรณ์ดับเพลิงอย่างต่อเนื่องทุกปี

          10.2 ทักษะและความสามารถของผู้ร่วมดำเนินการ ในการสร้างแบบตรวจอุปกรณ์ดับเพลิงทางออนไลน์

          10.3 การได้รับความร่วมมือจากนักศึกษาใช้แบบตรวจอุปกรณ์ดับเพลิงทางออนไลน์

          10.4 การบูรณาการรูปแบบการตรวจอุปกรณ์ดับเพลิงกับการเรียนการสอนแบบ UBU Active Learning

          10.5 การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพระหว่างนักศึกษากับอาจารย์ผู้สอน

ดาวน์โหลดไฟล์นำเสนอ