ช่องทางรับฟังความคิดเห็น     คลังเอกสาร     คำถามที่พบบ่อย     ถาม-ตอบ      มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี    

การจัดการเรียนการสอนโดยใช้เกมส์ สื่อวีดีทัศน์ และบทบาทสมมุติ by รจนา คำดีเกิด

ชื่อผลงาน : การจัดการเรียนการสอนโดยใช้เกมส์ สื่อวีดีทัศน์ และบทบาทสมมุติ

                              ผู้ถ่ายทอด : อาจารย์รจนา  คำดีเกิด  ถ่ายทอด : วันที่ 17 กันยายน 2563
   

1. บทนำ

          ในศตวรรษที่ 21 ที่บริบทต่าง ๆ ทั้งเทคโนโลยี สังคม องค์ความรู้ และสิ่งแวดล้อม มีความเปลี่ยนแปลงไป ดังนั้นในการจัดการเรียนการสอนจึงจำเป็นต้องมีการปรับตัวและพัฒนาเพื่อให้มีความน่าสนใจมากขึ้น โดยคำนึงถึงความรู้และทักษะที่นักศึกษาควรจะได้รับที่ไม่ใช่เพียงแค่การจดจำได้ แต่หมายรวมถึงทักษะอื่น ๆ ได้แก่ ความเข้าใจ ความสามารถในการเชื่อมโยง การคิดวิเคราะห์ การสังเคราะห์ การประยุกต์ใช้ การออกแบบเพื่อการแก้ไขปัญหาและพัฒนาในองค์การและชุมชน รวมทั้งทักษะในการปฏิบัติด้านต่าง ๆ โดยทักษะดังกล่าว ไม่สามารถเกิดขึ้นได้จากวิธีการจัดการเรียนการสอนแบบบรรยายเพียงอย่างเดียว จำเป็นที่จะต้องสร้างกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน โดยใช้นักศึกษาเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ และอาจารย์ผู้สอนมีบทบาทในการสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ในด้านต่าง ๆ ให้เกิดขึ้นผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย เช่น การใช้สื่อวีดีทัศน์ เกมส์ตอบคำถาม กิจกรรมโต้วาที การประกวดสุนทรพจน์ กิจกรรมบทบาทสมมุติ เป็นต้น ซึ่งการเรียนรู้ในกิจกรรมต่าง ๆข้างต้น สามารถใช้รูปแบบเดี่ยว กลุ่มเล็ก 2-5 คน และกลุ่มใหญ่ 10-15 คน สลับกันได้ เพื่อสร้างบรรยากาศในการเรียนรู้ เพื่อให้เกิดการฝึกการทำงานเป็นทีม ทักษะภาวะผู้นำ การปรับตัว การระดมสมอง และการรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างของผู้อื่น อันเป็นค่านิยมสำคัญของการเรียนรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์

2. เทคนิคการจัดการเรียนการสอน

     2.1 การจัดการเรียนการสอนโดยใช้สื่อวีดีทัศน์

       การจัดการเรียนการสอนโดยใช้สื่อวีดีทัศน์ประกอบ เป็นการนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ในการจัดการเรียนการสอนให้เกิดความน่าสนใจ โดยรูปแบบสื่อวีดีทัศน์เป็น Infographic ที่เล่าเรื่องราวแนวคิดทฤษฎีให้เข้าใจง่าย ใช้ภาษาธรรมดาในการเล่าเรื่อง ผ่านการพากย์เสียงเองของผู้สอนและคณาจารย์ท่านอื่น ๆ โดยสื่อวีดีทัศน์ดังกล่าวมาจากโครงการวีดีทัศน์เพื่อการศึกษารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ในศตวรรษที่ 21 ซึ่งประกอบด้วย 12 หัวข้อ 12 คลิปวีดีโอ ความยาวคลิปวีดีโอละประมาณ 10 นาที โดยผู้สอนสามารถใช้ในการอธิบายเนื้อหาเบื้องต้นในรายวิชาที่เกี่ยวข้องได้ 

ภาพสื่อการสอน 12 หัวข้อ และ QR CODE ในการเข้าถึงสื่อการเรียนรู้

      2.2 การจัดการเรียนการสอนโดยใช้กิจกรรมและเกมส์

            - การละลายพฤติกรรมในคาบเรียน การละลายพฤติกรรมมีความสำคัญมากในการสร้างบรรยากาศในการจัดการเรียนการสอน โดยใช้กิจกรรมและเกมส์ ซึ่งการละลายพฤติกรรมดังกล่าว เป็นการละลายพฤติกรรมระหว่างนักศึกษาเอง เพื่อให้สามารถทำงานเป็นทีมได้ และกล้าที่จะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน นอกจากนั้นการละลายพฤติกรรมระหว่างนักศึกษากับผู้สอน ก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน เนื่องจากจะเป็นการสร้างบรรยากาศที่นักศึกษาอยากจะพูดคุย แสดงความคิดเห็น ถามคำถามกับผู้สอนได้อย่างสบายใจ โดยผู้สอนต้องวางตัวเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนการสอนอย่างแท้จริง

ภาพกิจกรรมระหว่างเรียน

- เกมส์ตอบคำถาม สามารถทำได้ในรูปแบบเดี่ยวหรือกลุ่มเล็ก 2-5 คน ในการตอบคำถามในคาบเรียนโดยใช้วิธีการยกมือตอบหรือเขียนตอบ ซึ่งจะสร้างบรรยากาศการช่วยกันคิดและตอบคำถาม มีการปรึกษาหารือกันในกลุ่ม โดยผู้สอนจะใช้คำถามเป็นการเปิดเรื่อง หรือเป็นการทบทวนเนื้อหาท้ายคาบเรียนก็ได้ เพื่อกระตุ้นให้นักศึกษาสนใจเนื้อหามากขึ้น และเมื่อสนใจเนื้อหา ก็จะสามารถลดระยะเวลาในการอ่านหนังสือก่อนสอบได้อีกด้วย เพราะมีการทวนเนื้อหาอยู่เป็นประจำในคาบเรียน

ภาพกิจกรรมการตอบคำถามในห้องเรียน

- กิจกรรมโต้วาที  เป็นกิจกรรมที่ฝึกให้นักศึกษามีทักษะในการพูด และทักษะการโต้แย้งเชิงเหตุผล โดยมีประเด็นให้นักศึกษาเลือกเพื่อโต้วาที ในรายวิชาจริยธรรมสาธารณะ โดยแบ่งเป็นกลุ่มละ 3-5 คน และแต่ละกลุ่มจับคู่กันเลือกประเด็นในการโต้วาที เช่น “ประเทศไทยควรให้มีการทำแท้งถูกกฎหมายหรือไม่” กลุ่มที่จับคู่กันก็เลือกเป็นฝ่ายค้านและฝ่ายสนับสนุน โดยเตรียมเนื้อหามาพูดกลุ่มละ 3 ยก ภายในเวลาที่กำหนด โดยกลุ่มนักศึกษาที่ฟังก็สามารถที่จะถามคำถามทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายสนับสนุนได้ เป็นต้น

ภาพกิจกรรมการโต้วาที

            - กิจกรรมประกวดสุนทรพจน์เป็นภาษาอีสาน  เป็นกิจกรรมที่ฝึกให้นักศึกษามีทักษะการคิดวิเคราะห์ ยกเหตุผล และนำเสนอประเด็นทางการเมืองผ่านการพูดในที่สาธารณะ โดยใช้ภาษาอีสาน ซึ่งเป็นการบูรณาการการจัดการเรียนการสอนวิชาการเมืองท้องถิ่นกับการพัฒนาประชาธิปไตยกับโครงการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมของมหาวิทยาลัย

ภาพกิจกรรมการประกวดสุนทรพจน์ภาษาอีสาน

     2.3 การจัดการเรียนการสอนโดยใช้บทบาทสมมุติ

            - บทบาทสมมุติการเมืองท้องถิ่น  เป็นการเล่นเกมส์โดยสมมุตินักศึกษาเป็นกลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ ที่มีข้อเรียกร้องเชิงนโยบายและงบประมาณ โดยแต่ละกลุ่มต้องผลักดันแข่งขันให้ผู้บริหารท้องถิ่นดำเนินการแก้ไขในประเด็นข้อเรียกร้องของตน ขณะที่ผู้บริหารที่มาจากการเลือกตั้งของกลุ่มเหล่านั้น ต้องตัดสินใจภายใต้งบประมาณที่จำกัด ไม่สามารถสนับสนุนทุกข้อเรียกร้องได้ ต้องจัดลำดับความสำคัญและมีหลักในการพิจารณาที่มีเหตุผล เพื่อไม่ให้เสียคะแนนเสียงในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ซึ่งกิจกรรมนี้จะทำให้นักศึกษาเข้าใจบทบาทของกลุ่มผลประโยชน์และการเมืองท้องถิ่นมากขึ้น

ภาพกิจกรรมบทบาทสมมุติเพื่อเรียนรู้การเมืองท้องถิ่น

            - บทบาทสมมุติการสัมภาษณ์งาน  เป็นการสมมุติสถานการณ์ให้นักศึกษาสมัครงาน โดยเตรียมเอกสารการสมัครและเข้าสัมภาษณ์งาน โดยแต่งกายเสมือนจริง ต้องตอบคำถามจริงจากกรรมการสอบสัมภาษณ์ โดยเป็นกิจกรรมที่บูรณาการกับโครงการเตรียมความพร้อมนักศึกษาในการสมัครงานของคณะรัฐศาสตร์ ซึ่งกิจกรรมนี้จะฝึกให้นักศึกษามีประสบการณ์การเตรียมการสมัครงานและสัมภาษณ์งานทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ และรู้แนวทางการเตรียมความพร้อมในการสมัครงานจริงในอนาคต

ภาพกิจกรรมทดสอบสัมภาษณ์งาน

3. สรุป

          การสร้างกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลายดังกล่าว ทำให้บรรยากาศในการจัดการเรียนการสอนมีความสนุกสนานมากขึ้น ผู้เรียนกลายเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการเรียนรู้และฝึกทักษะจากรูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่ออกแบบโดยผู้สอน และกิจกรรมต่าง ๆ ดังกล่าวยังผ่านการสังเคราะห์และออกแบบให้ง่ายต่อการนำสาระและทักษะการปฏิบัติไปประยุกต์ใช้

4. ปัจจัยความสำเร็จ

          ปัจจัยความสำเร็จ ประกอบด้วย

            4.1 การปรับทัศนคติใหม่ของผู้สอน ให้มีใจที่เปิดกว้างมากขึ้น ทั้งต่อความเปลี่ยนแปลงเชิงสังคมและเทคโนโลยี อันนำไปสู่การปรับกระบวนการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้น

            4.2 สิ่งอำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ เช่น ห้องเรียนที่สามารถเคลื่อนย้ายเก้าอี้และโต๊ะได้ สัญญาณอินเตอร์เน็ต ระบบคอมพิวเตอร์ ห้องโถงในการทำกิจกรรม เทคโนโลยีสารสนเทศในการผลิตสื่อการสอน เป็นต้น

            4.3 งบประมาณจากโครงการต่าง ๆ ของคณะรัฐศาสตร์และมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ในการทำกิจกรรมต่าง ๆ และผลิตสื่อวีดีทัศน์ในการสอน

            4.4 การอบรมให้ความรู้ในการจัดการเรียนการสอน และการผลิตสื่อออนไลน์ ทั้งจากกองบริการการศึกษา สำนักคอมพิวเตอร์ และสำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

            4.5 นักศึกษาที่ให้ความร่วมมือ ให้ข้อคิดเห็น และเติมเต็มกิจกรรมให้มีความน่าสนใจจากความคิดสร้างสรรค์ของนักศึกษาเอง

            4.6 คณาจารย์ในคณะรัฐศาสตร์ที่ให้ความร่วมมือ ช่วยคิดและทำกิจกรรมในโครงการต่าง ๆ ที่บูรณาการกับการจัดการเรียนการสอนของผู้สอน

ดาวน์โหลดไฟล์นำเสนอ