ช่องทางรับฟังความคิดเห็น     คลังเอกสาร     คำถามที่พบบ่อย     ถาม-ตอบ      มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี    

ระบบลงทะเบียนการเข้าเรียนรายวิชาปฏิบัติการผ่านการสแกน QR-CODE by ขวัญฟ้า มหาสิทธิ์

ชื่อผลงาน : ระบบลงทะเบียนการเข้าเรียนรายวิชาปฏิบัติการผ่านการสแกน QR-CODE

                                           ผู้ถ่ายทอด : ขวัญฟ้า มหาสิทธิ์   ถ่ายทอด : วันที่ 9 กันยายน 2564
   

1. บทคัดย่อ

     ระบบลงทะเบียนการเข้าเรียนรายวิชาปฏิบัติการผ่านการสแกน QR-CODE ถูกพัฒนาขึ้นมาในรูปแบบเว็บฟอร์มโดยใช้โปรแกรมภาษา PHP script และฐานข้อมูล MySQL ซึ่งอาศัยเซิร์ฟเวอร์หลักจากสำนักคอมพิวเตอร์และเครือข่าย มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เพื่อรองรับกับสถานการณ์การระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสและลดการแออัดของการเข้าแถวต่อคิวลงทะเบียนเข้าเรียน ซึ่งมีรูปแบบการสแกนลิงก์ผ่าน QR-Code ลงทะเบียนเข้าเรียน (Check in) และลงทะเบียนออกจากห้องเรียน (Check Out) ซึ่งได้นำรูปแบบการสแกนเข้าสอบของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีมาพัฒนาต่อ และยังสามารถตรวจเช็คจำนวนผู้เข้าเรียนได้อย่างรวดเร็วผ่าน QR-Code หรือผ่านลิงก์ได้เช่นเดียวกัน สามารถเพิ่มรายวิชา ตารางเรียน และกำหนดตารางเรียนในวันเวลาที่ต้องการได้ เมื่อถึงเวลาที่กำหนดระบบสามารถทำงานอัตโนมัติโดยสามารถรายงานผลการลงทะเบียนเข้า การลงทะเบียนออก และการเข้าเรียนสายกรณีเช็คเข้าไม่ทันได้ และระบบยังสามารถนำออกรายชื่อการเข้าเรียนออนไลน์ ในรูปแบบไฟล์ *.csvได้เช่นกัน ในขั้นต้นนี้กำลังทดลองใช้งานระบบกับรายวิชา 1103113 ปฏิบัติการฟิสิกส์ทั่วไป 1 ประจำปีการศึกษา 2564 อยู่ระหว่างการศึกษาและพัฒนาต่อยอด

2. บทนำ

     ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มาวิทยาลัยอุบลราชธานี มีรูปแบบการเรียนการสอนทั้งในแบบบรรยาย แบบปฏิบัติการ และรูปแบบผสมผสานทั้งปฏิบัติการและบรรยาย ในปัจจุบันการเรียนการสอนอยู่ภายใต้สภาวะการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ส่งผลกระทบให้รายวิชาต่าง ๆ ต้องปรับรูปแบบการจัดการเรียนการสอนต่างไปจากภาวะปกติ โดยต้องปรับตัวตามแนวปฏิบัติ D-M-H-T-T ที่กระทรวงสาธารณสุขแนะนำ ในลักษณะการเรียนการสอนของรายวิชาปฏิบัติการก่อนจะมีการระบาดของโรคติดเชื้อโคโรนา 2019 การลงทะเบียนเข้าเรียนต้องต่อเข้าแถวเข้าคิวเพื่อลงชื่อเข้าเรียนโดยใช้กระดาษและปากกาด้ามเดียวกัน แม้จะลดจำนวนนักศึกษาต่อคาบเรียนลงก็ยังคงมีความเสี่ยงอยู่มาก ดังนั้นการลงทะเบียนโดยลดการสัมผัส และการเว้นระยะห่างตามแนวปฏิบัติเป็นเรื่องจำเป็นในสถานการณ์ปัจจุบัน

     ระบบการลงทะเบียนผ่าน QR-Code ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยในการแก้ปัญหาได้เป็นอย่างมาก และหากมีระบบที่สามารถเก็บข้อมูลการบันทึกเวลาเข้าและออกห้องเรียนได้หลากหลายติดตามง่าย สามารถตรวจทานย้อนกลับเพื่อนำมาใช้ร่วมเป็นเกณฑ์ประเมินในการเข้าเรียนก็จะลดภาระการจัดเก็บเอกสารการเข้าเรียนและช่วยให้สามารถติดตามข้อมูลได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ

3. วัตถุประสงค์

      3.1 เพื่อสร้างเครื่องมือในการเก็บข้อมูลในการเข้าเรียนออนไลน์ สำหรับรายวิชาปฏิบัติการฟิสิกส์ 1

     3.2 เพื่อแก้ปัญหาการต่อแถวลงทะเบียนเข้าเรียน ลดการสัมผัสและอยู่ชิดกันช่วงเวลาปฏิบัติการ ลดความเสี่ยงในสถานะการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

4. วิธีการ / เครื่องมือ

     ระบบลงทะเบียนการเข้าเรียนรายวิชาปฏิบัติการผ่านการสแกน QR-CODE ถูกพัฒนาขึ้นมาในรูปแบบเว็บฟอร์มโดยใช้โปรแกรมภาษา PHP script และฐานข้อมูล MySQLได้รับความอนุเคราะห์เซิร์ฟเวอร์หลักจากสำนักคอมพิวเตอร์และเครือข่าย มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีในการพัฒนาระบบนี้ได้ศึกษาต้นแบบการสแกน QR-Code เพื่อเช็ดชื่อเข้าสอบที่ถูกพัฒนาโดยคุณณัฐพงษ์ สืบสุขและฝ่ายงานทะเบียน มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีจัดทำขึ้นเพื่อใช้ในช่วงการระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา มาพัฒนาต่อให้สามารถรองรับรูแบบการเรียนการสอนในรายวิชาปฏิบัติการโดยมีเครื่องมือและวิธีออกแบบการดำเนินงาน ดังนี้

     4.1 เครื่องมือ

            4.1.1 ระบบเซิร์ฟเวอร์ ได้รับความอนุเคราะห์จากสำนักงานคอมพิวเตอร์และเครือข่าย มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

            4.1.2 ภาษาโปรแกรม PHP และ โปรแกรม Notpad++

            4.1.3 คอมพิวเตอร์ ระบบปฏิบัติการ Window10 Ram 4GB หน่วยประมวลผล Intel(R) Core(TM) i3-8145 CPU 2.1 GHz 2.3GHz x64 bit

      4.2 การออกแบบฐานข้อมูล

     การทำงานของระบบจำเป็นต้องมีการบันทึกข้อมูลและสามารถติดตามได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้นระบบลงทะเบียนการเข้าเรียนรายวิชาปฏิบัติการผ่านการสแกน QR-CODE ได้ออกแบบระบบให้มีสามารถจัดเก็บข้อมูลหลายระเบียนซึ่งแยกเก็บข้อมูลแต่ละส่วนเพื่อให้ง่ายแก่การเข้าถึงและการค้นหาได้รวดเร็ว สามารถวาดโครงสร้างได้ดังรูปที่ 1

รูปที่ 1 แสดงการออกแบบฐานข้อมูลเพื่อใช้ในการออกแบบระบบลงทะเบียนการเข้าเรียนรายวิชาปฏิบัติการผ่านการสแกน QR-CODE

     การออกแบบฐานข้อมูลแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลัก ๆ ซึ่งใช้ความสัมพันธ์แต่ละระเบียนโดยมีใช้คีย์ร่วมกันและเรียงลำดับข้อมูลโดยใช้ Index key ซึ่งมีรายละเอียดแต่ละส่วนหลัก ๆ หลักดังนี้

         ส่วนแรก  ใช้สำหรับการเก็บข้อมูลของนักศึกษา ซึ่งแบ่งเป็น 2 ระเบียนย่อย โดยระเบียนแรก ใช้ในการเก็บข้อมูลส่วนตัวและข้อมูลสำหรับยืนยันตัวตนของนักศึกษา ระเบียนที่สอง เป็นส่วนเก็บข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับรายวิชาและกลุ่มการเรียนที่นักศึกษามีอยู่

         ส่วนที่สอง ใช้สำหรับการเก็บข้อมูลรายวิชา และกลุ่มการเรียนแบ่งออกเป็น 4 ระเบียนย่อยโดย ระเบียนแรก ใช้ในการเก็บข้อมูลรายวิชา ซึ่งจะเก็บข้อมูลรหัสรายวิชา ชื่อและปีการศึกษาของรายวิชาที่ระบุรวมทั้งรายละเอียดปลีกย่อยอื่น ๆที่เกี่ยวข้อง ระเบียนที่สอง ใช้ในการเก็บข้อมูลกลุ่มการเรียน(SECTION) โดยโยงถึงรายวิชา ระเบียนที่สาม ใช้ในการเก็บข้อมูลกลุ่มย่อยโดยเชื่อมโยงกับกลุ่มการเรียนและรายวิชา ระเบียนที่สี่ ใช้ในการเก็บตารางกำหนดการ วันที่และเวลาที่ใช้ในการเรียนการสอนของคาบเรียน กิจกรรม หรือรายชื่อปฏิบัติการโดยอิงไปถึงกลุ่มการเรียนและรายวิชา

        ส่วนที่สามใช้สำหรับเก็บข้อมูลการสแกนลงทะเบียนเข้าและลงทะเบียนออกโดยบันทึกผลข้อมูลโดยอ้างถึงตารางกำหนดการในส่วนที่ระเบียนที่สี่ดังที่กล่าวมาแล้ว

     4.3 การออกแบบขั้นตอนการทำงานของระบบ

          การทำงานของระบบถูกออกแบบให้มีความสามารถดำเนินการ 2 ระดับ คือส่วนของผู้ดูแลระบบหรือระดับผู้จักการรายวิชา ซึ่งมีหน้าที่ในการจัดการรายวิชา ตาราง และสามารถนำเข้าข้อมูลนักศึกษารวมไปถึงการนำออกข้อมูลนักศึกษาได้ และส่วนของนักศึกษาจะสามารถเข้าถึง QR-Code เพื่อสแกนลงทะเบียนเข้าเรียนในตารางที่กำหนด และสามารถดูประวัติการลงทะเบียนเข้า-ออกได้ สามารถแสดงขั้นตอนต่าง ๆ ตามระดับได้ดังนี้

           4.3.1 ระดับสิทธิ์การดำเนินการสำหรับผู้ดูแล

                     1. การเพิ่มรายวิชาเข้าในระบบ สามารถแสดงขั้นตอนได้ดังรูปที่ 2 ซึ่งสามารถแสดงขั้นตอนการนำเข้าข้อมูลในระบบดังรูปที่ 2 ซึ่งประกอบไปด้วยการเพิ่มรายวิชา การเพิ่มกลุ่มการเรียนหลัก กลุ่มการเรียนย่อย และการเพิ่มตารางเรียนเข้าสู้ระบบโดยผ่านหน้าเพจการจัดการของผู้ดูแล

รูปที่ 2 แสดงขั้นตอนการทำงานของระบบในส่วนเพิ่มรายวิชา กลุ่มการเรียนและกลุ่มย่อยเข้าในระบบ

                  2. การนำเข้าข้อมูลนักศึกษาในฐานข้อมูล ในการนำเข้าข้อมูลสามารถนำเข้าโดยวิธีการอัพโหลดข้อมูลเข้าสู่ระบบ ก่อนการนำเข้าควรแปลงไฟในรูปแบบนามสกุลไฟล์ *.csv (UTF-8) และสามารถนำเข้าสู่ระบบได้ผ่านหน้าเพจระบบ การนำเข้าจะมีสองส่วนคือส่วนที่เป็นข้อมูลส่วนตัวนักศึกษาและส่วนข้อมูลที่ระบุความสัมพันธ์ของนักศึกษากับรายวิชาซึ่งต้องสอดคล้องกับข้อมูลรายวิชาที่ถูกเพิ่มไปก่อนแล้ว หากยังไม่มีรายวิชาที่ถูกเพิ่มจะไม่สามารถเพิ่มข้อมูลนักศึกษาได้ แสดงขั้นตอนการอัพโหลดข้อมูลดังรูปที่ 3

รูปที่ 3 แสดงขั้นตอนเพิ่มข้อมูลนักศึกษาโดยวิธีการอัพโหลดข้อมูลเข้าสู่ระบบ

รูปที่ 4 แสดงการออกแบบขั้นตอนของการสแกน QR-Code ของระบบลงทะเบียน

4.3.2 ระดับสิทธิ์การเข้าใช้งานของนักศึกษา ในขั้นตอนการสแกนQR-Code “ระบบลงทะเบียนการเข้าเรียนรายวิชาปฏิบัติการผ่านการสแกน QR-CODE” ได้สร้างรหัส QR-code ออนไลน์ผ่านหน้าเพจใช้บริการที่กลูเกิลให้การสนับสนุน เมื่อนักศึกษาสแกนลิงก์ผ่าน QR-code จะปรากฎเพจนำเข้าสู่หน้าลงทะเบียนเข้าระบบลงทะเบียน ผู้ใช้จะต้องกรอกรหัสนักศึกษาและอิเมล์ของมหาวิทยาลัยเพื่อใช้ในการยืนยันตัวตนในระบบ ซึ่งหากสามารถตรวจสอบข้อมูลนักศึกษาได้ ก็สามารถทำการส่งข้อมูลเพื่อลงทะเบียนเข้าเรียนหรือลงทะเบียนออกได้ แสดงดังรูปที่ 4 โดยระบบลงทะเบียนนั้นได้ตั้งเวลาการดำเนินการออกเป็น 3 กรณีดังนี้

- กรณีสแกนลงทะเบียนก่อนเวลา 20 นาที จนถึงหลังเวลาเริ่ม 20 นาที จะบันทึกเวลาและกำหนดเป็นการลงทะเบียนเข้าเรียน “Check IN”

- กรณีสแกนลงทะเบียนหลังเวลาเริ่ม 20 นาที จนถึง20นาทีก่อนหมดเวลาตามตารางเรียนจะบันทึกเวลาและกำหนดเป็นการลงทะเบียนเข้าเรียนแบบเข้าสาย “Check IN” + “สาย”

- กรณีสแกนลงทะเบียนก่อนหมดเวลา 20 นาที จนถึงหลังเวลาหมดคาบตามตารางเรียน 20 นาที จะบันทึกเวลาและกำหนดเป็นการลงทะเบียนออกห้องเรียน “Check OUT”

แต่ในกรณีที่สแกน QR-Code ผิดจะแสดงผลให้ทราบทำการตรวจสอบข้อมูลแต่จะไม่สามารถลงทะเบียนเรียนในคาบเวลาเรียนตาม QR-Code ได้

5. ผลการดำเนินงาน ประกอบด้วย

      5.1 ระบบสำหรับผู้ดูแลระบบหรือผู้จัดการรายวิชา

                   5.1.1 หน้าเพจสำหรับเข้าระบบของสิทธิ์ผู้ดูแล ในการเข้าถึงระบบลงทะเบียนเข้าเรียนรายวิชาปฏิบัติการผ่าน QR-Code โดยดึงข้อมูลที่ใช้ในการเข้าระบบจะใช้ฐานข้อมูลอาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ ซึ่งแสดงหน้าเพจสำหรับเข้าระบบได้ดังรูปที่ 5

รูปที่ 5 แสดงหน้าต่างแสดงผลสำหรับเข้าระบบผู้ดูแล และหน้าเพจสำหรับการจัดการระบบ

                 5.1.2 หน้าเพจสำหรับการเพิ่มข้อมูลและการแสดงผลในส่วนต่าง ๆ

รูปที่ 6 ก).แสดงหน้าเพจสำหรับการเพิ่มรายวิชาในระบบ ข).หน้าเพจสำหรับปฏิบัติการเข้าไปยังในรายวิชาโดยจะมีการสร้างไอดีคีย์สำหรับปฏิบัติการอัตโนมัติ ค).แสดงหน้าแพจการเพิ่มกลุ่มการเรียน และ ง).แสดงการเพิ่มกลุ่มการเรียนย่อย

รูปที่ 7 ก). แสดงหน้าเพจสำหรับเพิ่มตารางปฏิบัติการ ข-ค).หน้าเพจแสดงผลหลังมีการเพิ่มข้อมูลเข้าสู่ระบบ

        จะเห็นได้ว่าเมื่อเราเพิ่มข้อมูลเข้าสู่ระบบข้อมูลทั้งหมดจะถูกรวบรวมและจัดเรียงดังรูปที่ 7 ข.) ซึ่งสามารถตรวจเช็ครายชื่อนักศึกษาเป็นลักษระกลุ่มใหญ่ และกลุ่มย่อยได้ ปฏิบัติการ/กิจกรรมที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงตรวจสอบข้อมูลกลุ่มการเรียนได้และสามารถเพิ่มข้อมูลตารางกิจกรรม/ปฏิบัติการเข้าสู่ระบบได้ จากรูปที่ 7 ค).เป็นหน้าเพจที่ใช้จัดการในส่วนกลุ่มการเรียนย่อยผู้ดูแลสามารถเรียกดู QR-Code ของตารางกิจกรรมได้และสามารถนำไปใช้สำหรับการสแกนเข้าระบบลงทะเบียนของนักศึกษาได้ และเมื่อต้องการตรวจสอบการลงทะเบียนเข้าเรียนก็สามารถตรวจเช็คได้ตลอดเวลาแสดงดังรูปที่ 10 ซึ่งสามารถตรวจเช็คในรูปแบบรายปฏิบัติการสำหรับกลุ่มย่อย และสามารถตรวจเช็คข้อมูลแบบรวมทุกปฏิบัติการในลักษณะกลุ่มใหญ่ได้  

     5.2 ระบบสำหรับนักศึกษา

รูปที่ 8 แสดงตัวอย่างการนำ QR-Code ไปใช้งาน และหน้าเพจสำหรับการลงทะเบียนเข้าเรียนหลังสแกน QR-Code

รูปที่ 9 แสดงตัวอย่างหน้าเพจในการลงทะเบียนของนักศึกษา ก). กรณีมีข้อมูลตามตาราง ข).กรณีมีเช็คข้อมูลไม่ตรงตาราง ค). แสดงการตอบกลับกรณีบันทึกข้อมูลสำเร็จ ง).แสดงกรณีไม่สามารถบันทึกข้อมูลได้

รูปที่ 10 แสดงหน้าเพจสำหรับตรวจเช็ครายชื่อนักศึกษาที่ลงทะเบียนในรูปแบบกลุ่มย่อยและกลุ่มใหญ่ทุกปฏิบัติการ

6. สรุป

      ระบบลงทะเบียนการเข้าเรียนรายวิชาปฏิบัติการผ่านการสแกน QR-CODEได้พัฒนาขึ้นโดยใช้โครงสร้างภาษาโปรแกรม PHP บันทึกผลข้อมูลรายวิชาและข้อมูลการลงทะเบียนโดยใช้ฐานข้อมูล MySQL ออกแบบสิทธิ์สำหรับผู้ดูแลที่สามารถเพิ่มข้อมูลในส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องและสามารถกำหนดตารางกิจกรรม/ตารางปฏิบัติการสำหรับใช้ในการลงทะเบียนเข้าเรียนในรายวิชาที่มีเรียนการสอนในสถานการณ์การระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 นักศึกษาสามารถเข้าระบบเพื่อลงทะเบียนโดยการสแกนลิงก์ผ่านระบบ QR-Code เพื่อลดการสัมผัส เว้นระยะห่างตามมาตรการ D-M-H-T-Tและสามารถติดตามผลการลงทะเบียนเรียนผ่านหน้าเพจหรือสามารถดาวน์โหลดข้อมูลเพื่อใช้ในการประเมินผลการเข้าเรียนได้เช่นเดียวกัน

7. ความสามารถในการนำผลงานไปใช้ประโยชน์ หรือต่อยอดเพื่อให้บุคคลหรือหน่วยงานอื่นไปใช้ประโยชน์ได้ในวงกว้าง (impact)

     ในขั้นต้นนี้ระบบลงทะเบียนการเข้าเรียนรายวิชาปฏิบัติการผ่านการสแกน QR-CODE กำลังทดลองใช้งานสำหรับรายวิชาปฏิบัติการฟิสิกส์ทั่วไป 1 รหัสวิชา 1103113 โดยใช้งานควบคู่กับการตรวจเช็ครายชื่อโดยอาจารย์ผู้สอนในรายวิชา ซึ่งมีผลตอบรับค่อนข้างดี(ยังไม่ได้เก็บผลประเมินเนื่องจากเพิ่งเริ่มใช้งานเมื่อต้นเทอม 1/2564) แต่จากการประเมินโดยผู้ดำเนินโครงการคาดหวังเป็นอย่างมากว่าระบบนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้งานร่วมกับรายวิชาบรรยาย กิจกรรมอบรม หรือแม้กระทั้งใช้สำหรับการตรวจเช็คกิจกรรมที่มีตารางในประเภทต่าง ๆ และทางผู้จัดทำได้ทำการพัฒนาให้ระบบมีความสเถียรภาพ และรูปแบบการรองรับที่ยืดหยุ่นเพื่อรองรับรายวิชาอื่น ที่มีรูปแบบการเรียนแตกต่าง อย่างต่อเนื่อง

ดาวน์โหลดไฟลฺ์นำเสนอ