ช่องทางรับฟังความคิดเห็น     คลังเอกสาร     คำถามที่พบบ่อย     ถาม-ตอบ      มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี    

ระบบกรอกประเมินภาระงาน คณะวิทยาศาสตร์ by นัฐพงษ์ สืบสุข

ชื่อผลงาน  : ระบบกรอกประเมินภาระงาน คณะวิทยาศาสตร์

                                   ผู้ถ่ายทอด : นัฐพงษ์  สืบสุข   ถ่ายทอด : วันที่ 9 กันยายน 2564
   

1. บทคัดย่อ

            คณะวิทยาศาสตร์ ได้จัดทำระบบกรอกประเมินภาระงาน สำหรับบุคลากรสายวิชาการและสายสนับสนุน โดยมีการนำไปใช้งานในการรายงานและประเมินผลการปฏิบัติราชการของบุคลากรคณะวิทยาศาสตร์ ครั้งแรกเมื่อ รอบประเมิน 1/2559 จนถึงรอบปัจุบัน ( กำลังจะเข้าสู่ รอบประเมินที่ 2/2564) นับรวม 11 รอบประเมิน ตลอดระยะเวลา 6 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้การดำเนินการของคณะในส่วนการประเมินผลการปฏิบัติราชการของบุคลากร มีความสะดวก รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ช่วยการลดค่าใช้จ่ายในการจัดพิมพ์และจัดเก็บเอกสาร อีกทั้งยังสะดวกในการดึงข้อมูลไปใช้งานทั้งในส่วนบุคคลและภาพรวมของคณะฯในภายหลัง เช่นการขอตำแหน่งทางวิชาการ การนำส่งรายงานต่อมหาวิทยาลัย หรือตอบโจทย์งานประกันคุณภาพ เป็นต้น

2. บทนำ

           การประเมินผลการปฏิบัติราชการ เป็นเครื่องมือของฝ่ายบริหารในการกำกับ ติดตามเพื่อให้ส่วนราชการ สามารถบรรลุเป้าหมาย ตามวิสัยทัศน์ พันธกิจ และวัตถุประสงค์อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ตามหลักการ “การบริหารผลการปฏิบัติงาน” เพื่อระบุความแตกต่าง ระหว่างผู้มีผลงานดีเด่น ปานกลาง และต่ำกว่ามาตรฐานผู้บังคับบัญชาสามารถนำผลการประเมินการปฏิบัติราชการไปใช้ประกอบการพิจารณาเลื่อนเงินเดือน อันจะเป็นการสร้างขวัญกำลังใจและแรงจูงใจในการพัฒนาผลงานของบุคลากร

            การรายงานและประเมินผลการปฏิบัติราชการในรูปแบบเดิม ได้มีการจัดทำในรูปแบบเอกสารเป็นหลัก เป็นการสิ้นเปลืองกระดาษในการจัดพิมพ์เอกสาร รวมถึงต้องใช้ระยะเวลาในการประเมินค่อนข้างมาก ทั้งในส่วนของผู้ปฏิบัติงานและผู้บังคับบัญชาในการรายงาน รวบรวม ตรวจสอบและประเมินภาระงาน เมื่อการประเมินภาระงานเสร็จคณะยังมีภาระในการจัดเก็บเอกสารการประเมินและการทำลายเอกสาร รวมถึงข้อมูลภาระงานที่อยู่ในตัวเอกสารไม่สามารถนำไปใช้งานได้ ซึ่งหากต้องมีการสรุปข้อมูลจากภาระงานของบุคลากรในภาพรวมจำเป็นต้องขอข้อมูลกับบุคลากรใหม่เป็นคราว ๆ ไป ซึ่งถือเป็นการทำงานซ้ำซ้อนและไม่มีประสิทธิภาพ

            ดังนั้น เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว คณะวิทยาศาสตร์ จึงได้มีแนวคิดที่จะพัฒนาระบบกรอกประเมินภาระงานสำหรับบุคลากรสายวิชาการ และสายสนับสนุนขึ้นมา โดยมอบหมายให้งานคอมพิวเตอร์และเครือข่าย คณะวิทยาศาสตร์ เป็นผู้ดำเนินการพัฒนา ตามระเบียบกฏเกณฑ์ที่คณะฯ กำหนด

3. วัตถุประสงค์

           3.1 เพื่อพัฒนาระบบกรอกประเมินภาระงาน สำหรับบุคคลากรสายวิชาการและสายสนับสนุน คณะวิทยาศาสตร์

           3.2 เพื่อผู้บังคับบัญชาสามารถนำผลการประเมินภาระงานในระบบ ไปใช้ประกอบการพิจารณาเลื่อนเงินเดือนของบุคลากรภายในคณะในแต่ละรอบประเมินได้

4. วิธีการพัฒนา

           พัฒนาระบบด้วยโปรแกรมภาษา HTML5, CSS, JavaScript, PHP และโปรแกรมจัดการฐานข้อมูล MySQL

5. ผลการดำเนินงาน

          ระบบกรอกประเมินภาระงานคณะวิทยาศาสตร์ ดำเนินการพัฒนาแล้วเสร็จและเริ่มใช้งานตั้งแต่รอบประเมินที่ 1/2559 และดำเนินการปรับปรุงระบบมาโดยตลอดเพื่อให้ครอบคลุมและตอบโจทย์การนำไปใช้งานในมิติต่าง ๆ ของคณะ ฯ  โดยมีความสามารถนำไปใช้ในการรายงานผลการปฏิบัติงานของบุคลากรภายในคณะฯ ทั้งสายวิชาการและสายสนับสนุนวิชาการ รวมทั้งสามารถตรวจประเมินภาระงานของบุคลากร ในคณะ ฯ ผ่านระบบได้ โดยมีตัวอย่างหน้าจอสำหรับ กรอกประเมินภาระงานสายวิชาการแสดงดังรูปที่ 1 และรูปที่ 2  ตัวอย่างหน้าจอสำหรับกรอกประเมินภาระงานสายสนับสนุนวิชาการแสดงดังรูปที่ 3 และรูปที่ 4  ตัวอย่างหน้าจอสำหรับผู้บริหาร/ผู้ตรวจประเมินแสดงดังรูปที่ 5

6. สรุป

       ระบบกรอกประเมินภาระงาน คณะวิทยาศาสตร์ สามารถนำไปใช้ในการรายงานผลการปฏิบัติงานของบุคลากรภายในคณะฯ ทั้งสายวิชาการและสายสนับสนุนวิชาการ รวมทั้งสามารถตรวจประเมินภาระงานของบุคลากร ในคณะ ฯ ผ่านระบบได้จริง  ช่วยให้การดำเนินการของคณะในส่วนการประเมินผลการปฏิบัติราชการของบุคลากร มีความสะดวก รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการจัดพิมพ์ จัดเก็บและทำลายเอกสาร รวมถึงข้อมูลที่จัดเก็บในระบบสามารถสืบค้นเพื่อนำไปใช้งานในรูปแบบต่าง ๆ ได้ทั้งส่วนบุคคลที่เป็นเจ้าของข้อมูลเอง หรือในส่วนของคณะที่ต้องการข้อมูลในภาพรวม

7. ความสามารถในการนำผลงานไปใช้ประโยชน์  หรือต่อยอดเพื่อให้บุคคลหรือหน่วยงานอื่นไปใช้ประโยชน์ได้ในวงกว้าง (impact)

        ระบบกรอกประเมินภาระงาน สามารถพัฒนาต่อยอดเพื่อนำไปใช้กับคณะฯ หรือหน่วยงานอื่น ภายในมหาวิทยาลัยฯ โดยต้องมีการปรับเกณฑ์ในการกรอกและประเมินให้สอดคล้องกับบริบทของหน่วยงาน/คณะที่ต้องการนำไปใช้  อย่างไรก็ตามการนำไปใช้งานในเชิงปฏิบัติต้องใช้เวลาทำความเข้าใจกับบุคลากรในหน่วยงานนั้น ๆ พอสมควร เนื่องจากการประเมินผลปฏิบัติราชการเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและมีผลกระทบต่อขวัญและกำลังใจของบุคลากรในหน่วยงานเป็นอย่างมาก

ดาวน์โหลดไฟล์นำเสนอ