ช่องทางรับฟังความคิดเห็น     คลังเอกสาร     คำถามที่พบบ่อย     ถาม-ตอบ      มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี    

ความสำเร็จของการพัฒนางาน ด้านเทคนิควิเคราะห์ ทางกายภาพและเคมี by แวว ถนอมวงค์

ชื่อผลงาน : ความสำเร็จของการพัฒนางาน ด้านเทคนิควิเคราะห์ ทางกายภาพและเคมี สำหรับทดสอบน้ำดื่ม และน้ำแข็ง ตามระบบมาตรฐาน ISO/IEC17025:2017

                                              ผู้ถ่ายทอด : แวว ถนอมวงค์  และคณะ  ถ่ายทอด : วันที่ 17 กันยายน 2563
   

1. บทนำ

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี นอกจากจะมีบทบาทหน้าที่หลักในการผลิตบัณฑิตสาขาเภสัชศาสตร์ การค้นคว้าวิจัยหาองค์ความรู้ใหม่แล้ว คณะเภสัชศาสตร์ยังได้ให้ความสำคัญในการให้บริการวิชาการแก่สังคม จึงได้มีการจัดตั้งหน่วยทดสอบคุณภาพและมาตรฐานผลิตภัณฑ์สุขภาพขึ้น และมีการดำเนินงานตามระบบมาตรฐาน ISO/IEC 17025 ในการทดสอบคุณภาพน้ำดื่มและน้ำแข็ง และมีการพัฒนาคุณภาพบริการตามมาตรฐาน ISO/IEC 17025 เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเพื่อเพิ่มศักยภาพการบริการวิชาการ หน่วยทดสอบคุณภาพและมาตรฐานผลิตภัณฑ์สุขภาพ จึงได้ดำเนินการยื่นขอการรับรอง ISO/IEC 17025:2017 และได้รับการตรวจประเมิน เมื่อวันที่ 17-18 มีนาคม 2563 ในขอบข่ายการทดสอบหาความเป็นกรด-ด่าง, ความกระด้าง, คลอไรด์, ปริมาณซัลเฟต และปริมาณไนเตรทในตัวอย่างน้ำดื่มและน้ำแข็ง จากสำนักบริหารและรับรองห้องปฏิบัติการ กรมวิทยาศาสตร์บริการ  ทั้งนี้หน่วยทดสอบฯ ได้รับการรับรองตามมาตรฐาน ISO/IEC 17025:2017ในวันที่ 24 สิงหาคม 2563 ทำให้สามารถรองรับความต้องการของผู้ประกอบการน้ำดื่ม หน่วยงานราชการ เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบลต่าง ๆ ในจังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดใกล้เคียง ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และครอบคลุมมากขึ้นในเขตสุขภาพที่ 10

      ทั้งนี้กุญแจสำคัญที่ทำให้การพัฒนางานตามระบบคุณภาพประสบความสำเร็จ คือ ทีมผู้บริหาร ทีมผู้วิเคราะห์ ทีมงานด้านระบบเอกสาร และทีมผู้เชี่ยวชาญ ในการขับเคลื่อนและดำเนินงานตามกระบวนการ จนได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO/IEC 17025:2017

วัตถุประสงค์

     เพื่อพัฒนาห้องปฏิบัติการหน่วยทดสอบคุณภาพและมาตรฐานผลิตภัณฑ์สุขภาพให้เป็นมาตรฐานสากล

เป้าหมายของห้องปฏิบัติการหน่วยทดสอบฯ หลังจากได้รับการรับรองมาตรฐานสากล

2. เทคนิคที่สำคัญในการผลักดันให้เกิดความสำเร็จ ได้แก่

      “การทำงานเป็นทีม” โดย “ทีม”นั้น หมายถึงการร่วมแรงร่วมใจกัน ด้วยความมุ่งมั่น บนพื้นฐานความเข้าใจในระบบมาตรฐานสากลร่วมกัน อันได้แก่

            2.1 ทีมผู้บริหาร

2.1.1 ผู้บริหารมีการเฝ้าระวัง กำกับดูแลการทำงานอย่างใกล้ชิด

2.1.2 มีความเข้าใจในระบบมาตรฐาน   ISO/IEC 17025:2017พร้อมทั้งมีนโยบายความเป็นกลางร่วมกันกับคณะทำงาน เห็นความสำคัญของระบบการบริหารงานตามมาตรฐาน จึงส่งเสริมด้านงบประมาณ การจัดซื้อเครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ จัดหาบุคลากรในการดำเนินงาน และช่วยแก้ปัญหาทุกอย่างได้ทันท่วงที

2.1.3 มีการดำเนินงานปรับปรุง และบริหารการจัดการความเสี่ยง ทำให้สามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสบความสำเร็จ

2.2 ทีมผู้วิเคราะห์/ทดสอบ

       2.2.1 มีการศึกษาข้อกำหนด ISO/IEC 17025:2017 และข้อกำหนดต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องโดยมีการจัดทำแผนการฝึกอบรม และดำเนินการตามแผนที่กำหนดไว้

       2.2.2 มีการเตรียมสภาวะแวดล้อม ให้เหมาะสมในการวิเคราะห์ทดสอบ โดยมีปรับปรุงห้องปฏิบัติการให้มีสภาวะที่เหมาะสม มีการตรวจสอบสภาวะแวดล้อม ได้แก่ ไฟฟ้า น้ำ อุณหภูมิและความชื้น พร้อมทั้งลงบันทึกผลการตรวจสอบเป็นประจำทุกครั้งที่มีการวิเคราะห์ทดสอบ เพื่อให้ผลการทดสอบที่ได้มีความถูกต้อง

       2.2.3 วัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือ มีการสอบเทียบและทวนสอบ พร้อมประเมินผลการสอบเทียบตามเกณฑ์ที่กำหนด ให้มีความพร้อมก่อนที่จะดำเนินการวิเคราะห์ทดสอบ

       2.2.4 จัดทำวิธีทดสอบ ตามมาตรฐานอ้างอิงที่เป็นปัจจุบัน (AWWA) และจัดทำคู่มือขั้นตอนการดำเนินในเรื่องที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ขั้นตอนการดำเนินการใช้งานเครื่องมือต่าง ๆ , ขั้นตอนการดำเนินการควบคุมคุณภาพภายใน, ขั้นตอนการดำเนินงานการตรวจสอบความใช้ได้ของวิธี และขั้นตอนการดำเนินงานการหาค่าความไม่แน่นอนของการทดสอบ

       2.2.5 ดำเนินการด้านเทคนิคของขอบข่าย โดยมีการตรวจสอบความใช้ได้ของวิธีทดสอบ และ มีการควบคุมคุณภาพภายใน ให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด

       2.2.5 ดำเนินการทดสอบสมรรถนะ โดยการเข้าร่วมทดสอบความชำนาญระหว่างห้องปฏิบัติการ (PT)  และเปรียบเทียบฝีมือภายใน ซึ่งผลการทดสอบความชำนาญ ด้านกายภาพและเคมี รายการหาความเป็นกรด-ด่าง, ความกระด้าง, คลอไรด์, ซัลเฟต และไนเตรท ผ่านเกณฑ์ที่กำหนด คือมีค่า Z-Score น้อยกว่า 2

      2.2.6 มีการตรวจติดตามคุณภาพภายใน และทบทวนกระบวนงานทางด้านเทคนิควิเคราะห์ทดสอบ พร้อมทั้งแจ้งให้กับผู้บริหารได้รับทราบอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

2.3 ทีมงานด้านระบบเอกสาร

        2.3.1 การดำเนินงานให้ประสบความสำเร็จจะต้องอาศัยทีมงานด้านระบบเอกสาร ในการจัดทำเอกสารด้านการเงิน พัสดุ การรวบรวมเอกสารต่าง ๆ โดยใช้ระบบการสื่อสารโดยตรง ทำให้การดำเนินงานสะดวก รวดเร็วขึ้น

        2.3.2 มีการจัดทำขั้นตอนการดำเนินงาน ให้มีความสะดวก รวดเร็วในการทำงาน สามารถแก้ไขงานได้ทันท่วงที และเป็นไปตามระบบมาตรฐาน

       2.3.3 มีการทบทวนเอกสารตามระบบมาตรฐานทุก 6 เดือน เพื่อให้มั่นใจว่ามีการดำเนินงานตามระบบมาตรฐาน

2.4 ทีมผู้เชี่ยวชาญ

       2.4.1 ทีมผู้เชี่ยวชาญเป็นกุญแจสำคัญในการช่วยส่งเสริมศักยภาพของนักทดสอบ ทางเทคนิควิเคราะห์ ให้เป็นไปตามข้อกำหนด ISO/IEC17025:2017 โดยผู้เชี่ยวชาญต้องมีความเข้าใจในรายการทดสอบที่เกี่ยวข้อง เพื่อถ่ายทอด แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้ทดสอบ

      2.4 2 มีความตระหนักและเห็นความสำคัญของการปรับปรุง พัฒนา เทคนิควิเคราะห์ทดสอบให้เป็นปัจจุบัน

     2.4.3 มีการทบทวน ตรวจสอบและปรับปรุง เทคนิคที่เกี่ยวข้องร่วมกันกับผู้ทดสอบเป็นประจำทุกปี และรายงานต่อผู้บริหารให้ทรา

         จากการพัฒนางานโดยอาศัยเทคนิคดังกล่าว สามารถทำให้เกิดความสำเร็จจนได้รับการรับรองมาตรฐานสากล บรรลุตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่ตั้งไว้ จะเห็นได้ว่ารายได้ของหน่วยทดสอบฯ เพิ่มขึ้นอัตราร้อยละ 101 จากปี 2561 และจำนวนตัวอย่างเพิ่มขึ้นอัตราร้อยละ 52 (ดังแสดงในตารางที่ 1)  และจากผลการประเมินความพึงพอใจของผู้ใช้บริการด้านผลการทดสอบ อยู่ในระดับดีมากที่สุดร้อยละ 70 (ดังแสดงในตารางที่ 2) แสดงให้เห็นว่าผู้ใช้บริการเกิดความมั่นใจในคุณภาพ และความน่าเชื่อถือในรายงานผลการทดสอบของหน่วยทดสอบฯ

ประโยชน์ที่ได้จากความสำเร็จในการดำเนินงานตามระบบมาตรฐาน ISO/IEC 17025:2017

  1. เพิ่มขีดความสามารถของห้องปฏิบัติการให้เป็นที่ยอมรับ
  2. เพิ่มโอกาสของผู้ประกอบการน้ำดื่ม น้ำแข็งในการเข้าถึงบริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพ เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรม น้ำดื่ม และน้ำแข็ง
  3. ส่งเสริมคุณภาพมาตรฐานการบริการของห้องปฏิบัติการ
  4. ส่งเสริมภาพลักษณ์ของคณะเภสัชศาสตร์ในการให้บริการวิชาการ และบทบาทด้านงานคุ้มครองผู้บริโภค
  5. ทำให้เกิดความมั่นใจในคุณภาพ และความน่าเชื่อถือในรายงานผลการทดสอบจากห้องปฏิบัติการ
  6. รายได้ของหน่วยทดสอบฯ เพิ่มขึ้น

3. ตารางและรูปภาพ

      3.1 ตาราง

ตารางที่ 1 เปรียบเทียบจำนวนตัวอย่าง และรายได้ของหน่วยทดสอบคุณภาพและมาตรฐานผลิตภัณฑ์สุขภาพ ปีงบประมาณ 2561-2563

ตารางที่ 2 แสดงสรุปผลการประเมินความพึงพอใจของผู้ใช้บริการด้านผลการทดสอบ ปีงบประมาณ 2562 (จำนวนแบบสอบถามทั้งหมด 129 ชุด)

4. สรุป

       หน่วยทดสอบคุณภาพและมาตรฐานผลิตภัณฑ์สุขภาพ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มีความมุ่งมั่นในการพัฒนางานทดสอบด้านกายภาพและเคมีสำหรับทดสอบน้ำดื่ม และน้ำแข็ง และตระหนักถึงความสำคัญในการคงไว้และพัฒนาคุณภาพบริการตามมาตรฐาน ISO/IEC17025ให้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเพื่อเพิ่มศักยภาพการบริการวิชาการ หน่วยทดสอบฯ ได้ดำเนินการตามข้อกำหนดของระบบคุณภาพได้ครบถ้วน ทั้งด้านบริหารและด้านวิชาการ ซึ่งกุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จของการทำงานด้านเทคนิคตามมาตรฐาน ISO/IEC17025คือการทำงานร่วมกันเป็น”ทีม” อันได้แก่การทำงานร่วมกันของ ผู้บริหาร  ผู้วิเคราะห์/ทดสอบ  เจ้าหน้าที่ด้านระบบเอกสาร และผู้เชี่ยวชาญ ในการขับเคลื่อนและดำเนินงานตามกระบวนการ จนได้รับการรับรองมาตรฐานห้องปฏิบัติการ  ISO/IEC 17025:2017 ทั้งนี้หน่วยทดสอบฯ ได้ยึดมั่นการทำงานใดๆ ต้องเป็นไปตามนโยบายความเป็นกลาง มีการรักษาความลับของลูกค้า ปราศจากผลประโยชน์ทับซ้อน ความกดดันทางด้านการค้า การเงิน และอิทธิพลต่าง ๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพ และความถูกต้องของผลการทดสอบ

5. ปัจจัยความสำเร็จ

       การจัดทำระบบคุณภาพมาตรฐานห้องปฏิบัติการหน่วยทดสอบคุณภาพและมาตรฐานผลิตภัณฑ์สุขภาพ  จนได้รับการรับรองมาตรฐานห้องปฏิบัติการ ISO/IEC 17025:2017ในครั้งนี้ เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ทั้งนี้ต้องขอขอบพระคุณคณบดี คณะเภสัชศาสตร์ ที่ได้ให้ความอนุเคราะห์และอำนวยความสะดวกทุกขั้นตอน ขอขอบพระคุณโครงการจัดตั้งอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เครือข่ายมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ที่สนับสนุนงบประมาณการจัดทำระบบคุณภาพ ขอขอบพระคุณ ผศ.ดร. อุษณา พัวเพิ่มพูลศิริ, ผศ.ทรงพร จึงมั่นคง,   ผศ.ดร.ปรีชา บุญจูง, รศ.ดร.ระวิวรรณ  แก้วอมตวงศ์ และขอขอบคุณเจ้าหน้าที่หน่วยทดสอบฯ นางสาวทิพย์มณฑา  ฤกษ์ใหญ่,  นางกฤตติญารัตน์ พิมพ์พงษ์ และนางเย็นฤดี แม่นมั่น ที่มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาหน่วยทดสอบฯ จนได้การรับรองมาตรฐานห้องปฏิบัติการ ISO/IEC17025:2017

ดาวน์โหลดไฟล์นำเสนอ