ช่องทางรับฟังความคิดเห็น     คลังเอกสาร     คำถามที่พบบ่อย     ถาม-ตอบ      มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี    

การศึกษาปัจจัยที่ทำให้นักศึกษาระดับปริญญาตรี มีสภาพรอพินิจ by เกษสุดา จันดาพันธ์

ชื่อผลงาน :  รายงานวิจัยสถาบัน เรื่อง การศึกษาปัจจัยที่ทำให้นักศึกษาระดับปริญญาตรี มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีมีสภาพรอพินิจ (The Factors affecting to academic probation of UbonratchathaniUniversity’s undergraduate students)

                                        ผู้ถ่ายทอด : เกษสุดา จันดาพันธ์   ถ่ายทอด : วันที่ 17 กันยายน 2563
   

1.บทนำ  

ความสำคัญและที่มาของปัญหาที่ทำการวิจัย   

      ภารกิจหลักที่สำคัญของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี คือ การจัดการศึกษาเพื่อการผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพ มาตรฐาน มุ่งสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการและวิชาชีพ แต่จากผลการดำเนินงานที่ผ่านมาพบว่าในแต่ละปีการศึกษามหาวิทยาลัยมีทั้งนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาและไม่สำเร็จการศึกษา เนื่องจากมีผลการเรียนหรือเกรดไม่ถึงระดับเกณฑ์มาตรฐานที่มหาวิทยาลัยกำหนด ทำให้มีสถานภาพถูกถอนชื่อจากการเป็นนักศึกษา ดังรายงานจำนวนนักศึกษาระดับปริญญาตรีที่ถูกถอนชื่อ เนื่องจากผลการเรียนต่ำกว่าเกณฑ์ ในปีการศึกษา 2558 มีจำนวนนักศึกษาจากทุกคณะที่เปิดสอนในปีการศึกษา 2558 ถูกถอนชื่อเพราะมีเกรดเฉลี่ย (GPAX.) น้อยกว่า 2.00 จำนวนประมาณ 214 คน (ข้อมูลจากงานทะเบียนและประมวลผล ณ วันที่ 23 สิงหาคม 2559) ซึ่งการตกออกของนักศึกษาดังกล่าว ก่อให้เกิดความเสียหายต่อมหาวิทยาลัย สร้างความสูญเปล่าทางการศึกษาของรัฐผู้รับผิดชอบในการนำงบประมาณของประเทศมาใช้ในการพัฒนาการศึกษา รวมทั้งการที่ผู้เรียนมีผลการเรียนที่ต่ำเกินไป นอกจากจะทำให้มีโอกาสสำเร็จการศึกษาน้อยแล้ว ยังเป็นการสูญเสียเงินค่าใช้จ่าย ทรัพย์สิน เวลา รวมทั้งยังทำให้ขาดสิทธิและโอกาสในชีวิตอีกหลายประการ เช่น การขาดโอกาสในการพัฒนาศักยภาพของตนเอง การไม่มีโอกาสได้เข้าทำงานในหน่วยงานที่มีชื่อเสียงและมั่นคงที่ใช้ผลการเรียนประกอบการพิจารณารับเข้าทำงาน หรือการเข้าศึกษาต่อในสถาบันการศึกษาที่สูงขึ้นที่ส่วนใหญ่ได้ใช้ผลการเรียนระดับปริญญาตรี ประกอบการรับนักศึกษา ซึ่งสอดคล้องกับอุทุมพร  จามรมาน (2538)  ที่ให้ความสำคัญของเกรดเฉลี่ยว่า   การที่นักศึกษาได้เกรดเฉลี่ยสูงขึ้นเรื่อยๆ มาตั้งแต่ปีที่ 1 จนถึงปีที่ 4 เป็นการประสบความสำเร็จในการเรียนมหาวิทยาลัย และผลการเรียนในระดับปริญญาตรีจะเป็นเครื่องพิจารณาการสมัครเข้าเรียนในระดับปริญญาโทและเอกทั้งในและต่างประเทศ  และการศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษาบางสาขาต้องการผู้ที่ได้เกรดคะแนนเฉลี่ยอย่างน้อย  2.75  จึงจะมีสิทธิสมัครเข้าเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น นอกจากนี้แล้ว การที่จะได้รับพิจารณาให้ได้รับการสนับสนุนทุนการศึกษาในระดับอุดมศึกษา สถาบันการศึกษาจะพิจารณาจากเกรดเฉลี่ยสะสม เช่น ทุนสำหรับนักศึกษาที่เรียนดีแต่ยากจน  ฉะนั้นผู้ที่ได้เกรดต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดก็อาจจะไม่มีโอกาสได้รับเงินทุนสนับสนุนเพื่อการศึกษาเลย

      ในการศึกษาจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา ผลการเรียนจึงมีความสำคัญและมีความหมายต่อผู้เรียนทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาสำหรับนักศึกษาระดับปริญญาตรีของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคณะ/สาขาวิชาที่ผลิตบัณฑิตทางวิชาชีพที่ต้องอาศัยความรู้ ทักษะ ความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง และมีเกณฑ์มาตรฐานวิชาชีพที่สูง นักศึกษาต้องมีความตั้งใจและมีความพยายามในการเรียนเพื่อให้ได้เกรดที่ดีที่สุดในแต่ละรายวิชา เพื่อรวมเป็นเกรดเฉลี่ยสะสมให้ได้ตามเกณฑ์มาตรฐานและเงื่อนไขการสำเร็จการศึกษาที่หลักสูตรและมหาวิทยาลัยกำหนด เนื่องผลการเรียนหรือเกรดของนักศึกษาเป็นตัวกำหนดโอกาสของการสำเร็จการศึกษา และเป็นตัวบ่งชี้ความสามารถทางการเรียนของนักศึกษา ตลอดทั้งใช้เป็นเกณฑ์ประกอบการพิจารณาโอกาสการเข้าทำงานและศึกษาต่อของนักศึกษา ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น การเรียนให้สำเร็จการศึกษาและให้มีเกรดเฉลี่ยที่สูง นับได้ว่าเป็นเป้าหมายหลักของนักศึกษาทุกคน แต่การที่จะเรียนให้ประสบความสำเร็จนั้นอาจขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญหลายประการที่ส่งผลต่อผลการเรียน เช่น ปัจจัยด้านพื้นฐานและลักษณะเฉพาะส่วนบุคคลของนักศึกษาเอง เช่น ประวัติและภูมิหลัง เจตคติและแรงจูงใจต่อการเรียนและพฤติกรรมการเรียนของนักศึกษา ตัวแปรด้านการจัดการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้แก่ หลักสูตร คุณภาพการสอนและพฤติกรรมการสอนของอาจารย์ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้และกระบวนการเรียนการสอน การวัดและประเมินผลและการซ่อมเสริมในชั้นเรียน และปัจจัยด้านสิ่งสนับสนุนการเรียนรู้ สิ่งแวดล้อม และบริการด้านวิชาการเพื่อส่งเสริมการเรียนของมหาวิทยาลัย ตลอดทั้งปัจจัยด้านครอบครัวและเพื่อนร่วมชั้นเรียน เป็นต้น

      ดังนั้น ผู้ศึกษาในฐานะที่เป็นผู้ทำงานด้านวิชาการและบริการการศึกษาของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีได้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหานักศึกษาระดับปริญญาตรีบางส่วนไม่ประสบความสำเร็จทางการศึกษาทำให้มีผลการเรียนต่ำกว่าเกณฑ์ มีสภาพรอพินิจ และถูกถอนชื่อออกจากการเป็นนักศึกษา บางส่วนต้องเรียนซ้ำชั้น ไม่สามารถเรียนจบหลักสูตรในระยะเวลาที่กำหนดได้ ส่งผลให้เกิดปัญหาหลายด้านต่อมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัจจุบันมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีกำลังเผชิญกับสภาวการณ์วิกฤติอุดมศึกษาที่อัตราการเกิดของประชากรของประเทศมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยโครงสร้างอายุประชากรที่จำนวนนักเรียนจะลดลงอย่างรวดเร็ว จากจำนวนเด็ก 16 ล้านคนในปี 2548 ลดเหลือจำนวน 11 ล้านคนในปี 2578 ส่วนจำนวนผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นจาก 6 ล้านคนในปี 2548 เพิ่มเป็น 16 ล้านคนในปี 2578 (กนก วงษ์ตระหง่าน : 2562)  ดังนั้น จำนวนนักศึกษาของมหาวิทยาลัยจึงมีแนวโน้มจะลดลงอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง และมหาวิทยาลัยต้องแข่งขันกับสถาบันการศึกษาต่างๆ ที่มีจำนวนมาก ส่งผลกระทบทำให้จำนวนการรับนักศึกษาบางคณะบางหลักสูตรลดลงไม่เป็นไปตามแผนการรับที่วางไว้ รวมทั้งปัญหานักศึกษาระดับปริญญาตรีบางส่วนที่กำลังศึกษาอยู่ก็มีผลการเรียนต่ำกว่าเกณฑ์ จนถูกถอนชื่อออกจากการเป็นนักศึกษาทุกปีการศึกษาทำให้จำนวนนักศึกษาลดลง ซึ่งอาจส่งผลต่อรายได้ของมหาวิทยาลัยต้องลดลงไม่เพียงพอต่อการบริหารจัดการตามภารกิจต่างๆ และอาจนำไปสู่การปิดหรือยุบบางหลักสูตร กระทบต่อชื่อเสียงภาพลักษณ์ของสถาบันในอนาคต

     มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีจึงจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง โดยการให้ความสำคัญต่อปัญหาจำนวนนักศึกษาที่จะลดลง เนื่องจากนักศึกษามีผลการเรียนต่ำกว่าเกณฑ์ มีสภาพรอพินิจ รวมทั้งนักศึกษากลุ่มเสี่ยงต่อการพ้นสภาพนักศึกษาเป็นนโยบายสำคัญที่ต้องแก้ไข การพัฒนาการศึกษาที่เน้นระดับปริญญาตรี เพื่อเป็นการยกระดับคุณภาพทางวิชาการให้เข้มแข็ง โดยการจัดการเรียนการสอนให้มีคุณภาพ เน้นความสำคัญของการให้บริการการศึกษา จัดสิ่งสนับสนุนการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักศึกษาให้สามารถเรียนจนสำเร็จการศึกษาตามเกณฑ์และระยะเวลาที่หลักสูตรกำหนดไว้  

     ดังนั้น ผู้ศึกษาจึงได้ทำการศึกษาปัจจัยที่ทำให้ผลการเรียนของนักศึกษาระดับปริญญาตรี มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีมีสภาพรอพินิจ เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ต่อผลการเรียนของนักศึกษา  โดยศึกษาปัจจัยด้านข้อมูลพื้นฐานส่วนบุคคล ปัจจัยด้านลักษณะเฉพาะตนของนักศึกษา ปัจจัยด้านการจัดการศึกษา และปัจจัยด้านครอบครัวและเพื่อน เพื่อให้ทราบสภาพปัญหาของนักศึกษาที่มีผลการเรียนต่ำกว่าเกณฑ์และมีสภาพรอพินิจ ศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อความสำเร็จทางการเรียน ปัจจัยที่มีผลมากที่สุดต่อความสำเร็จทางการเรียน และข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง  ทั้งนี้ เพื่อนำผลการศึกษาไปใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อการวางแผนการจัดการศึกษาตามหลักสูตรของคณะ/สาขาวิชาที่เปิดสอนในมหาวิทยาลัย และเพื่อเป็นแนวทางการดำเนินงานลดจำนวนของนักศึกษาที่ถูกถอนชื่อ เนื่องจากมีผลการเรียนต่ำกว่าเกณฑ์ พัฒนาการเรียนการสอนให้มีคุณภาพ และเพิ่มอัตราการสำเร็จการศึกษาของนักศึกษาระดับปริญญาตรีต่อไป

2. วัตถุประสงค์ของการศึกษา

ในการศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ของการศึกษา คือ

      1. ศึกษาสภาพปัญหาของนักศึกษาที่มีผลการเรียนต่ำกว่าเกณฑ์และมีสภาพรอพินิจ

      2. ศึกษาปัจจัยพื้นฐานส่วนบุคคล ปัจจัยลักษณะเฉพาะบุคคล ปัจจัยด้านการจัดการศึกษาและปัจจัยด้านครอบครัวและเพื่อนที่ทำให้ผลการเรียนของนักศึกษามีสภาพรอพินิจ

      3. เพื่อเสนอแนวทางในการปรับปรุงแก้ไขและส่งเสริมให้นักศึกษามีผลการเรียนที่สูงขึ้น

3. ความสำคัญของงานวิจัย/ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

      1. ทราบถึงปัจจัยด้านที่ทำให้ผลการเรียนของนักศึกษาระดับปริญญาตรี มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีมีสภาพรอพินิจ

      2. เป็นแนวทางในการปรับปรุงแก้ไขนักศึกษาที่มีผลการเรียนต่ำกว่าเกณฑ์จนถูกถอนชื่อ และพัฒนาระบบการจัดการเรียนการสอนระดับปริญญาตรี ระบบอาจารย์ที่ปรึกษา สิ่งสนับสนุนการเรียนรู้และการบริการการศึกษาให้มีคุณภาพ มหาวิทยาลัยสามารถนำผลการศึกษาและข้อมูลที่เกี่ยวข้องมาเป็นแนวทางในการวางแผนพัฒนาการศึกษา เพื่อส่งเสริมผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนให้นักศึกษาสามารถสำเร็จการศึกษาได้ตามระยะเวลาที่หลักสูตรกำหนด

     3. คณะ/สาขาวิชาสามารถนำรายงาน ผลการศึกษาไปใช้ประโยชน์ในการศึกษาวิจัยหรือทำวิจัยชั้นเรียนเพื่อวางแผนแก้ไขปรับปรุงปัญหานักศึกษามีผลการเรียนต่ำกว่าเกณฑ์ให้เหมาะสมตามธรรมชาติและบริบทของคณะ/สาขาวิชา

ขอบเขตของการศึกษา

            กลุ่มเป้าหมาย: นักศึกษาระดับปริญญาตรีที่กำลังศึกษาชั้นปีที่ 1 – 4 (หลักสูตร 4 ปี) และนักศึกษาชั้นปีที่ 1 - 6 (หลักสูตร 6 ปี)  ประจำปีการศึกษา 2561 ที่ได้คะแนนเฉลี่ยต่ำกว่า 2.00 เมื่อสิ้นภาคการศึกษาและนักศึกษามีสภาพรอพินิจ โดยทำการศึกษาความสัมพันธ์ของปัจจัยร่วมที่ทำให้นักศึกษามีผลการเรียนต่ำกว่าเกณฑ์และมีสภาพรอพินิจ ได้แก่1. ปัจจัยพื้นฐานส่วนบุคคลและลักษณะเฉพาะบุคคลของนักศึกษา 2. ปัจจัยด้านการจัดการศึกษา 3. ปัจจัยด้านครอบครัวและเพื่อน

            ระยะเวลาในการทำวิจัย : ดำเนินงานในปีการศึกษา 2562 (ตั้งแต่เดือนมีนาคม – กันยายน 2562 และขยายเวลาดำเนินงานในเดือนตุลาคม – ธันวาคม 2562) โดยใช้ผลการเรียนเฉลี่ยของนักศึกษาในปีการศึกษา 2561 (เนื่องจากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีเปิดภาคการศึกษา ปีการศึกษา 2562 ในวันที่ 24 มิถุนายน 2562 ในช่วงการเก็บรวมรวมและวิเคราะห์ข้อมูลจึงไม่มีข้อมูลผลการเรียนของนักศึกษาประจำปีการศึกษา 2562)

นิยามศัพท์เฉพาะ

ปัจจัย หมายถึง เหตุอันเป็นทางที่ทำให้นักศึกษามีผลการเรียนต่ำกว่าเกณฑ์และเงื่อนไขการศึกษาที่ข้อบังคับระดับปริญญาตรีของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีกำหนด ทำให้นักศึกษามีสภาพรอพินิจ ซึ่งปัจจัยร่วมที่ส่งผลกระทบทำให้ผลการเรียนต่ำจนมีสภาพรอพินิจ อาจแบ่งออกเป็น 3 ประการ ดังนี้

  1. ปัจจัยพื้นฐานส่วนของนักศึกษาได้แก่ เพศ คณะ/สาขาวิชา ประเภทนักศึกษา (ภาคปกติ/

โครงการพิเศษ) ชั้นปี วิธีรับเข้า ที่ตั้งโรงเรียนที่สำเร็จการศึกษา (ในเมือง/นอกเขต) ภูมิลำเนาของนักศึกษา เป็นต้น รวมทั้งปัจจัยด้านลักษณะส่วนบุคคล หมายถึง ปัจจัยเบื้องต้นในการดำรงชีวิตที่เหมาะสมของแต่ละบุคคล เพื่อที่พร้อมจะเกิดการเรียนรู้ ประกอบด้วย เจตคติและแรงจูงใจต่อการเรียนของนักศึกษา และพฤติกรรมการเรียนของนักศึกษา

  2. ปัจจัยด้านการจัดการศึกษาหมายถึง สภาพหรือสถานการณ์ต่างๆ ขณะทำการสอนใน

ชั้นเรียน ตลอดจนสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเรียนการสอนของหลักสูตรระดับปริญญาตรีของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ที่ส่งผลต่อมีผลการเรียน ได้แก่ หลักสูตร   คุณภาพการสอนและพฤติกรรมการสอนของอาจารย์ เช่น สื่อ เทคโนโลยีการศึกษาและนวัตกรรมการเรียนรู้ หนังสือ ตำราและเอกสารประกอบการสอน การจัดกิจกรรมและกระบวนการการจัดการเรียนการสอน การวัดและประเมินผลและการสอนซ่อมเสริมในชั้นเรียน เป็นต้น  สิ่งสนับสนุนการเรียนรู้ สิ่งแวดล้อมของมหาวิทยาลัย เช่น  ห้องเรียน/ปฏิบัติการ อาคารเรียนและสิ่งแวดล้อม และบริการด้านวิชาการเพื่อส่งเสริมการเรียนของมหาวิทยาลัย เช่น บริการอินเทอร์เน็ตและระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ งานทะเบียนและประมวลผลนักศึกษา งานแนะแนวการศึกษาและการให้คำปรึกษาด้านการเรียน เป็นต้น

  3. ปัจจัยด้านครอบครัวและเพื่อนหมายถึง การสนับสนุนส่งเสริมจากครอบครัว ความสัมพันธ์

และการช่วยเหลือด้านการเรียนของเพื่อนร่วมชั้นเรียน

ผลการเรียนที่ต่ำกว่าเกณฑ์จนทำให้นักศึกษามีสภาพรอพินิจ   หมายถึง  ผลการประเมินความรู้ความสามารถในการเรียนทุกรายวิชาในรูปเกรดเฉลี่ยสะสม (Grade Point Average) ของนักศึกษาระดับปริญญาตรีทุกชั้นปี ทุกหลักสูตรที่เปิดสอนของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ประจำปีการศึกษา 2561 ที่ได้คะแนนเฉลี่ยต่ำกว่า 2.00 เมื่อสิ้นภาคการศึกษาที่อยู่ในภาวะรอพินิจ  ซึ่งนำข้อมูลและรายงานผลการเรียนนักศึกษาจากระบบทะเบียนออนไลน์ (REG UBU)มาศึกษาและวิเคราะห์

กรอบแนวคิดที่ใช้ในการวิจัย ศึกษาหาความสัมพันธ์ของปัจจัยเชิงสาเหตุที่เป็นปัจจัยร่วมที่ทำให้นักศึกษามีผลการเรียนต่ำและมีสภาพรอพินิจ คือ ใช้วิจัยเชิงปริมาณในการศึกษาวิจัยด้านพื้นฐานและภูมิหลังของนักศึกษา ได้แก่ เพศ คณะ/สาขาวิชา ประเภท (ภาคปกติ/โครงการพิเศษ) ชั้นปี วิธีรับเข้า ที่ตั้งโรงเรียนที่สำเร็จการศึกษา (ในเมือง/นอกเขต) ภูมิลำเนาของนักศึกษา การเข้าร่วมกิจกรรมของมหาวิทยาลัย และใช้วิจัยเชิงคุณภาพในการศึกษาวิจัยปัจจัยเฉพาะบุคคล ได้แก่ เจตคติและแรงจูงใจต่อการเรียนของนักศึกษา พฤติกรรมการเรียนของนักศึกษา ปัจจัยด้านการศึกษา ได้แก่ หลักสูตร คุณภาพการสอนและพฤติกรรมการสอนของอาจารย์ การจัดกระบวนการเรียนการสอนและการวัดประเมินผลรายวิชา การใช้สื่อ เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ส่งเสริมการเรียนรู้ การสอนซ่อมเสริมในชั้นเรียน สิ่งสนับสนุนการเรียนรู้ สิ่งแวดล้อมของมหาวิทยาลัย และปัจจัยด้านครอบครัวและเพื่อน

4. สรุปผลการวิจัย

            1.  ผลการวิเคราะห์ข้อมูลภาพรวมพื้นฐาน นักศึกษาที่มีสภาพรอพินิจ ประจำปีการศึกษา 2561 พบว่า นักศึกษาส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง จำนวน 1198 คน คิดเป็นร้อยละ 54.21 นักศึกษาส่วนใหญ่มีภูมิลำเนามาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 2140 คน คิดเป็นร้อยละ 96.83 โดยมาจากจังหวัดอุบลราชธานีมากที่สุด จำนวน 749คน คิดเป็นร้อยละ 33.89นักศึกษาส่วนใหญ่อาศัยอยู่นอกเขตเมือง จำนวน 1252 คน คิดเป็นร้อยละ 56.65 นักศึกษาส่วนใหญ่รับเข้าด้วยวิธีโควต้ารับตรงตามพื้นที่อีสาน จำนวน 518 คน คิดเป็นร้อยละ 23.66 นักศึกษาส่วนใหญ่ศึกษาอยู่/เคยศึกษาในคณะวิศวกรรมศาสตร์ จำนวน 486 คน คิดเป็นร้อยละ 21.99 นักศึกษาส่วนใหญ่ศึกษาอยู่/เคยศึกษาในสาขาวิชานิติศาสตร์ จำนวน 289 คน คิดเป็นร้อยละ 13.08 นักศึกษาส่วนใหญ่ศึกษาอยู่/เคยศึกษาในชั้นปีที่ 2จำนวน 1236 คน คิดเป็นร้อยละ 55.93  นักศึกษาส่วนใหญ่ศึกษาอยู่/เคยศึกษาอยู่ในภาคการศึกษาที่ 2จำนวน 1122 คน คิดเป็นร้อยละ 50.77นักศึกษาส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาภาคปกติ จำนวน 2175 คน คิดเป็นร้อยละ 98.42นักศึกษาส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาที่มีสถานภาพการเตือนในระดับ Dจำนวน 753 คน คิดเป็นร้อยละ 34.07 นักศึกษาส่วนใหญ่มีเกรดเฉลี่ยในเทอมต่ำสุด 0.00 โดยจำนวนที่มีเกรดเฉลี่ยในเทอม 0.00 จำนวน 288 คน คิดเป็นร้อยละ 13.03

           2.  ผลการวิเคราะห์ข้อมูลตามสมมุติฐาน จากการวิเคราะห์ตามสมมติฐานทางการวิจัยที่กำหนดไว้ โดยมีผลการวิเคราะห์ ดังต่อไปนี้

   1) การเปรียบเทียบเกรดเฉลี่ยในเทอมและเกรดเฉลี่ยรวมของนักศึกษาที่มีสถานภาพรอพินิจจำแนกตามเพศ พบว่า นักศึกษาที่มีสถานภาพรอพินิจที่มีเพศแตกต่างกัน มีเกรดเฉลี่ยในเทอมแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ และนักศึกษาที่มีสถานภาพรอพินิจที่มีเพศแตกต่างกัน มีเกรดเฉลี่ยรวมแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ                                                                               

   2) การเปรียบเทียบเกรดเฉลี่ยในเทอมและเกรดเฉลี่ยรวมของนักศึกษาที่มีสถานภาพรอพินิจ จำแนกตามที่อยู่อาศัยจำแนกตามที่อยู่อาศัย (ในเขตเมือง/นอกเขตเมือง) พบว่า นักศึกษาที่มีสถานภาพรอพินิจที่มีที่อยู่อาศัยแตกต่างกัน มีเกรดเฉลี่ยในเทอมไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ และนักศึกษาที่มีสถานภาพรอพินิจที่มีที่อยู่อาศัยแตกต่างกัน มีเกรดเฉลี่ยรวมไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ  

   3) การเปรียบเทียบเกรดเฉลี่ยในเทอมและเกรดเฉลี่ยรวมของนักศึกษาที่มีสถานภาพรอพินิจ จำแนกตามภูมิลำเนา (จังหวัด) พบว่า นักศึกษาที่มีสถานภาพรอพินิจที่มาจากภูมิลำเนา (จังหวัด) แตกต่างกัน มีเกรดเฉลี่ยในเทอมไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ  และนักศึกษาที่มีสถานภาพรอพินิจที่มาจากภูมิลำเนา (จังหวัด) แตกต่างกัน มีเกรดเฉลี่ยรวมแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ 

   4) การเปรียบเทียบเกรดเฉลี่ยในเทอมและเกรดเฉลี่ยรวมของนักศึกษาที่มีสถานภาพรอพินิจ จำแนกตามภูมิลำเนา (ภาค) พบว่า นักศึกษาที่มีสถานภาพรอพินิจที่มาจากภูมิลำเนา (ภาค) แตกต่างกัน มีเกรดเฉลี่ยในเทอมไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ

   5)  การเปรียบเทียบเกรดเฉลี่ยในเทอมและเกรดเฉลี่ยรวมของนักศึกษาที่มีสถานภาพรอพินิจ จำแนกตามคณะวิชา พบว่า นักศึกษาที่มีสถานภาพรอพินิจที่มาจากคณะวิชาแตกต่างกัน มีเกรดเฉลี่ยในเทอมแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ                        

   6)  การเปรียบเทียบเกรดเฉลี่ยในเทอมและเกรดเฉลี่ยรวมของนักศึกษาที่มีสถานภาพรอพินิจจำแนกตามคณะวิชา พบว่า นักศึกษาที่มีสถานภาพรอพินิจที่มาจากสาขาวิชาแตกต่างกัน มีเกรดเฉลี่ยในเทอมแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ 

  7)  การเปรียบเทียบเกรดเฉลี่ยในเทอมและเกรดเฉลี่ยรวมของนักศึกษาที่มีสถานภาพรอพินิจ จำแนกตามชั้นปี พบว่า นักศึกษาที่มีสถานภาพรอการพินิจที่มาจากชั้นปีแตกต่างกัน มีเกรดเฉลี่ยในเทอมแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ 

  8) การเปรียบเทียบเกรดเฉลี่ยในเทอมและเกรดเฉลี่ยรวมของนักศึกษาที่มีสถานภาพรอพินิจ จำแนกตามภาคการศึกษา พบว่า นักศึกษาที่มีสถานภาพรอพินิจที่มาจากภาคการศึกษาแตกต่างกัน มีเกรดเฉลี่ยในเทอมแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ       

  9)  การเปรียบเทียบเกรดเฉลี่ยในเทอมและเกรดเฉลี่ยรวมของนักศึกษาที่มีสถานภาพรอพินิจ จำแนกตามวิธีรับเข้า พบว่า นักศึกษาที่มีสถานภาพรอการพินิจที่มาจากวิธีรับเข้าแตกต่างกัน มีเกรดเฉลี่ยในเทอมแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ

10) การเปรียบเทียบเกรดเฉลี่ยในเทอมและเกรดเฉลี่ยรวมของนักศึกษาที่มีสถานภาพรอพินิจ จำแนกตามสถานภาพการเตือน พบว่า นักศึกษาที่มีสถานภาพรอการพินิจที่มาจากสถานภาพการเตือนแตกต่างกัน มีเกรดเฉลี่ยในเทอมแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ

     3. ผลการวิเคราะห์ข้อมูลจากการศึกษาวิจัยเชิงคุณภาพโดยการสัมภาษณ์ความคิดเห็นของนักศึกษาเพื่อศึกษาปัจจัยเชิงสาเหตุ ซึ่งเป็นปัจจัยร่วมที่มีความสัมพันธ์กับผลการเรียนของนักศึกษาสภาพรอพินิจ เพื่อประกอบการศึกษาร่วมกับข้อมูลพื้นฐานส่วนบุคคลนักศึกษา ได้ผลการศึกษา ดังนี้                                                   

      1)  ด้านเฉพาะบุคคลของนักศึกษา พฤติกรรมทางการเรียนของนักศึกษาเป็นปัจจัยที่มีควาสัมพันธ์กับผลการเรียน ได้แก่ แรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์และความกระตือรือร้นในการเรียน ความตั้งใจและความพยายามในการเรียน ความถนัดทางการเรียนและพื้นฐานความรู้ทางวิชาการ สอดคล้องกับงานวิจัยของ มงคล จำรูญ (2548 : 34) ที่พบว่า ปัญหาเกี่ยวกับผู้เรียน ความพร้อมในการเรียนรู้ ปัญหายาเสพติด สภาพแวดล้อม เนื้อหาวิชายากเกินไป การปรับตัวเข้ากับสภาพการเรียนใหม่ไม่ได้ แบ่งเวลาเรียนไม่เหมาะสม ขาดความพยายาม ขาดความตั้งใจในการเรียน เข้าร่วมกิจกรรมมากเกินไป ปรับตัวเข้ากับเพื่อนๆ ไม่ได้ข้อมูลเฉพาะบุคคลของนักศึกษาที่มีสภาพรอพินิจ ที่ผู้วิจัยตั้งข้อสังเกตเพิ่ม คือ นักศึกษาที่มีผลการเรียนต่ำจำนวนมากกำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 2 ที่ต้องเรียนวิชาพื้นฐานหรือวิชาบังคับของคณะตามหลักสูตร ซึ่งนักศึกษาส่วนใหญ่มีความเห็นว่าเรียนยากเป็นปัจจัยเชิงสาเหตุที่สำคัญที่ทำให้นักศึกษาสอบไม่ผ่านและมีผลการเรียนต่ำ รวมทั้งข้อมูลจากการสัมภาษณ์นักศึกษา พบว่า นักศึกษาไม่ถนัดและไม่ชอบเรียนในคณะ/สาขาวิชาที่กำลังเรียนอยู่ ส่วนใหญ่จึงเรียนเพื่อรอสอบเปลี่ยนไปเรียนคณะ/สถาบันการศึกษาใหม่ที่ต้องการเรียนมากกว่า สอดคล้องกับผลการวิจัยของอุทัย  ลือสกุล (2553 : 90-95) และคณะ ซึ่งได้ศึกษาเกี่ยวกับการออกกลางคันของนักเรียนนักศึกษาพบว่า สาเหตุของการเสี่ยงออกลางคัน ด้านพฤติกรรมของนักเรียนนักศึกษา ได้แก่ สาเหตุการไม่ได้เรียนในสาขาที่ต้องการหรือไม่สอดคล้องกับระดับสติปัญญาและความพร้อมของตน ทำให้ไม่ตั้งใจเรียนหรือเรียนไม่ทันเพื่อน

ปัจจัยเฉพาะตนของนักศึกษาด้านแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์และความกระตือรือร้นในการเรียนเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อผลการเรียน สอดคล้องกับงานวิจัยของชุลีพรรณ  พลชำนิ (2547: บทคัดย่อ) ศึกษาปัจจัยเชิงสาเหตุที่มีอิทธิพลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักศึกษาระดับปริญญาตรี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม พบว่า แรงจูงใจใผ่สัมฤทธิ์ เจตคติต่อวิชาเรียน และการปรับตัวมีอิทธิพลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักศึกษา

      3)  ด้านครอบครัวและเพื่อน ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับผลการเรียน ได้แก่ ผู้ปกครองมีความคาดหวังกับการเรียนของนักศึกษา การเข้ากลุ่มติวและความช่วยเหลือด้านการเรียนกับเพื่อนร่วมชั้นเรียน ความสัมพันธ์ที่ดีและกำลังใจจากครอบครัว และการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเรียนของผู้ปกครอง สอดคล้องกับงานวิจัยของโกมล ไพศาล (2549) ศึกษาเรื่อง ปัจจัยเชิงสาเหตุที่มีอิทธิพลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักศึกษาโปรแกรมคณิตศาสตร์ระดับปริญญาตรีในมหาวิทยาลัยราชภัฏกลุ่มรัตนโกสินทร์ พบว่า มีตัวแปรที่มีอิทธิพลที่สอดคล้องกับการศึกษาครั้งนี้ ได้แก่ ความรู้พื้นฐานเดิม บรรยากาศในชั้นเรียนแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ ความสัมพันธ์ทางครอบครัว ฐานะเศรษฐกิจ สภาพแวดล้อมในมหาวิทยาลัย คุณภาพการสอน และความสัมพันธ์กับกลุ่มเพื่อน           

     4) ปัจจัยด้านการจัดการศึกษา ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับผลการเรียน ได้แก่ ความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาวิชาและความสามารถในการเรียนของนักศึกษา การให้คำปรึกษาช่วยเหลือจากอาจารย์ประจำวิชาหรืออาจารย์ที่ปรึกษา การสอนซ่อมเสริม ความรู้ความสามารถในการจัดการเรียนการสอนของอาจารย์ การใช้สื่อ/เทคโนโลยีการศึกษาและนวัตกรรมการเรียนรู้ รวมทั้งสิ่งสนับสนุนการเรียนรู้ ของมหาวิทยาลัยทั้งด้านวิชาการและกิจการนักศึกษา สอดคล้องกับงานวิจัยอำนาจ  วังจีน (2557 : บทคัดย่อ) ศึกษาเรื่อง ปัจจัยเชิงสาเหตุที่ทำให้นักศึกษาปริญญาตรีในเขตกรุงเทพมหานครมีสภาพรอพินิจ พบว่า ปัจจัยสาเหตุที่ทำให้นักศึกษามีสภาพรอพินิจทั้ง 8 ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อสภาพนักศึกษาอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ได้แก่ ความรู้พื้นฐานทางวิชาการก่อนเข้าศึกษา สภาพแวดล้อมทางสังคมภายในมหาวิทยาลัย สภาพแวดล้อมทางสังคมภายนอกมหาวิทยาลัย เศรษฐกิจของครอบครัว สภาพสังคมของครอบครัว แรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ หลักสูตรและการจัดการเรียนการสอน

            จากการศึกษาพบว่า คณะ/สาขาวิชาที่ไม่มีนักศึกษารอพินิจ ประจำปีการศึกษา 2561 เป็นคณะ/สาขาวิชาที่สอนวิชาชีพที่มีระบบอาจารย์ที่ปรึกษาที่มีคุณภาพ มีการกำหนดภาระงานอาจารย์ที่ปรึกษาเพื่อดูแลช่วยเหลือนักศึกษาในสายรหัสที่รับผิดชอบชัดเจน มีการดำเนินงานให้คำปรึกษาแนะแนวนักศึกษาอย่างจริงจัง เช่น อาจารย์ประจำวิชาตรวจสอบพบว่ามีนักศึกษาที่สอบได้คะแนนไม่ผ่านเกณฑ์ให้แจ้งอาจารย์ที่ปรึกษาของนักศึกษาทันที อาจารย์ที่ปรึกษารายงานประธานหลักสูตร/หัวหน้าภาควิชา รายงานรองคณบดีฝ่ายวิชาการ หรือผู้บริหารฝ่ายวิชาการ/กิจการนักศึกษาผ่านงานวิชาการของคณะ เพื่อเสนอคณบดีทราบตามลำดับ ผู้บริหารและผู้ที่เกี่ยวข้องศึกษาปัญหาเพื่อหาสาเหตุต่างๆ ที่อาจส่งผลทำให้นักศึกษามีปัญหาการเรียน และให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวนี้ มีการปรึกษาหารือ ประสานงานร่วมกันหาแนวทางแก้ไขทั้งอาจารย์ประจำวิชา ผู้ปกครอง รุ่นพี่ เพื่อน นักจิตวิทยา เป็นต้น 

ข้อวิจารณ์

จากผลการศึกษาปัจจัยที่ทำให้นักศึกษามีสภาพรอพินิจระดับปริญญาตรีของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ประจำปีการศึกษา 2561 ผู้วิจัยมีข้อสังเกตและข้อคิดเห็นเกี่ยวกับปัจจัยด้านข้อมูลพื้นฐานส่วนบุคคลของนักศึกษา ดังนี้

1)  ปัจจัยด้านพื้นฐานส่วนบุคคล ซึ่งเป็นการศึกษาประวัติและภูมิหลังของนักศึกษา ผู้วิจัยมีข้อสังเกตและข้อคิดเห็นเพิ่มเติมว่า ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ได้แก่ เพศ ที่ตั้งโรงเรียนที่สำเร็จการศึกษา และภูมิลำเนา อาจเป็นปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับผลการเรียนของนักศึกษาค่อนข้างน้อยหรือไม่มีเลย เพราะถึงแม้ว่าผลการศึกษาเปรียบเทียบกลุ่มนักศึกษาที่มีสถานภาพรอพินิจที่มีเพศ ที่ตั้งโรงเรียนที่สำเร็จการศึกษา ภูมิลำเนาของนักศึกษาที่แตกต่างกัน มีเกรดเฉลี่ยรวมที่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่การศึกษาปัจจัยด้านพื้นฐานและภูมิหลังนักศึกษาครั้งนี้ เป็นการวิจัยเชิงสำรวจภาพรวมหลายคณะ ปัจจัยเกี่ยวกับเพศของนักศึกษาอาจไม่เป็นสาเหตุที่ทำให้นักศึกษามีสภาพรอพินิจ

เนื่องจากปัจจุบันการจัดการเรียนการสอนของคณะต่างๆ ที่เปิดสอนในมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีได้เน้นผู้เรียนทุกคนเป็นสำคัญ นักศึกษาทุกเพศทุกคนมีสิทธิในการเรียนเท่าเทียมกันตามศักยภาพของตน กระบวนการเรียนการสอนเปิดโอกาสให้นักศึกษาทั้งเพศหญิงและชายทุกคนได้มีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนรู้ในชั้นเรียน มีการแสดงความคิดเห็นแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันอย่างมีอิสระทางวิชาการ นักศึกษามีช่องทางในการติดต่อสื่อสารกับอาจารย์ประจำวิชาหรืออาจารย์ที่ปรึกษาทางสื่อสังคมออนไลน์ผ่านเทคโนโลยีการที่ทันสมัย รวมทั้งคณะ/มหาวิทยาลัยได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบและกลไกการจัดการศึกษาที่ส่งเสริมการเรียนการสอนเพื่อพัฒนานักศึกษา ดังนั้น ปัจจัยดังกล่าวนี้ส่งผลให้ให้ผลการเรียนของนักศึกษาเพศหญิงและชายไม่แตกต่างกัน สอดคล้องกับงานวิจัยของโพยม เพียรล้ำเลิศ (2556 : บทคัดย่อ) ได้ศึกษาเรื่อง ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาคณิตศาสตร์พื้นฐานของนักศึกษามหาวิทยาลัยกรุงเทพ โดยตัวแปรที่ทำการศึกษา คือ เพศ พบว่า เพศของนักศึกษาไม่มีความสัมพันธ์กับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และปัจจัยพื้นฐานนักศึกษาด้านที่ตั้งโรงเรียนที่สำเร็จการศึกษา ภูมิลำเนาและประเภทของนักศึกษาก็อาจไม่มีผลที่เป็นสาเหตุที่ทำให้นักศึกษามีสภาพรอพินิจเช่นกัน 

ทั้งนี้ ผู้วิจัยตั้งข้อสังเกตว่า ผลการศึกษาปัจจัยด้านพื้นฐานและภูมิหลังของนักศึกษาที่แตกต่างกันมีความสัมพันธ์ต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนแตกต่าง เป็นการศึกษาเพื่อเปรียบเทียบและวิเคราะห์ข้อมูลภาพรวมของนักศึกษาไม่ได้วิเคราะห์แยกคณะ รวมทั้งบริบทของนโยบายการจัดการศึกษา หรือการกำหนดคุณสมบัติการรับนักศึกษาของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีมีการปรับเปลี่ยนไปทุกปีการศึกษา ภายใต้การแข่งขันในการรับนักศึกษาของทุกมหาวิทยาลัยค่อนข้างสูง อาจทำให้เกณฑ์และเงื่อนไขการรับเข้าศึกษาของบางคณะ/หลักสูตรมีการเปิดกว้าง เพื่อเพิ่มโอกาสให้นักศึกษาผ่านการคัดเลือกเข้ามาศึกษาได้หลากหลายรูปแบบวิธีมากขึ้น ทำให้ปัจจัยด้านพื้นฐานและภูมิหลังของนักศึกษาไม่ได้แตกต่างกันมากนัก ยกเว้นกรณีใช้ข้อมูลนักศึกษาเปรียบเทียบแยกคณะ

ดังนั้น ปัจจัยพื้นฐานบางอย่างอาจไม่ได้เป็นสาเหตุและปัจจัยสำคัญที่มีผลทำให้ผลการเรียนต่ำกว่าเกณฑ์ เช่นเดียวกับปัจจัยเกี่ยวกับเพศ ได้แก่ ที่ตั้งโรงเรียนที่สำเร็จการศึกษา (ใน/นอกเขตอำเภอเมือง) ภูมิลำเนาของนักศึกษา เป็นต้น สอดคล้องกับงานวิจัยของปราการ ภิรมย์กิจ (2545 : บทคัดย่อ) ได้ศึกษาเรื่อง ปัจจัยที่มีผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ประจำปีการศึกษา 2544 พบว่า ที่ตั้งโรงเรียนที่สำเร็จการศึกษา ภูมิลำเนาของนักศึกษาไม่มีผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ซึ่งอาจมีเหตุผลจากการแนวทางการจัดการศึกษาของประเทศไทยปัจจุบัน การเรียนการสอนทุกระดับในโรงเรียนมุ่งเน้นพัฒนาคุณภาพผู้เรียน และความเจริญก้าวหน้าทางการเทคโนโลยีทางการศึกษาในยุคดิจิทัล ตลอดจนนโยบายเพิ่มโอกาสทางการศึกษาของรัฐบาลทำให้นักเรียนที่มาจากโรงเรียนทั้งในและนอกเขตอำเภอเมืองส่วนใหญ่มีพัฒนาการและมีผลสัมฤทธิ์ด้านการเรียนที่ไม่แตกต่างกันมากนัก  นอกจากนั้นธรรมชาติของแต่ละคณะมีรายละเอียดและบริบทที่แตกต่างกัน ผู้วิจัยจึงนำผลการศึกษาด้านข้อมูลพื้นฐานและภูมิหลังมาใช้ประกอบการศึกษาร่วมกับปัจจัยด้านอื่นๆ ที่อาจมีผลต่อผลการเรียนของนักศึกษาเพิ่มเติม 

ข้อเสนอแนะ

        1. มหาวิทยาลัย/คณะควรตระหนักและให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหานักศึกษามีสภาพรอพินิจและนักศึกษาตกออกเป็นนโยบายที่สำคัญและเร่งด่วนเนื่องจากจำนวนนักศึกษาดังกล่าวนี้มีจำนวนมาก กระจายไปเกือบทุกคณะ/สาขาวิชา และมีแนวโน้มจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปีการศึกษา หากนักศึกษากลุ่มนี้ตกออกและพ้นสภาพการเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีจะทำให้จำนวนนักศึกษาระดับปริญญาตรีลดลง และส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคณะที่เป็นคณะในกำกับที่ไม่ได้รับการสนับสนุนเงินงบประมาณจากรัฐ และส่งผลให้มหาวิทยาลัยอาจสูญเสียเงินรายได้จากค่าธรรมเนียมการศึกษาต่อปีจำนวนมาก ดังข้อมูลที่แสดงในตาราง ดังนี้     

ตาราง : แสดงประมาณการจำนวนเงินรายได้ค่าธรรมเนียมการศึกษาที่คณะ/มหาวิทยาลัยที่อาจจะสูญเสียไปกรณีนักศึกษาสภาพรอพินิจถูกถอนชื่อและพ้นสภาพนักศึกษา 

 

2. มหาวิทยาลัยควรให้ความสำคัญกับระบบอาจารย์ที่ปรึกษาและพัฒนาระบบให้คำปรึกษาและแนะแนวด้านวิชาการเพื่อช่วยเหลือนักศึกษาด้านการเรียนเนื่องจากอาจารย์ที่ปรึกษาเป็นผู้ที่สำคัญที่สุดในการให้คำปรึกษาและแนะแนวด้านการเรียนกรณีนักศึกษามีปัญหา เช่น อาจารย์ที่ปรึกษาควรกำหนด Office Hours เพื่อให้นักศึกษาสามารถนัดหมายเวลาขอเข้าพบอาจารย์ที่ปรึกษาได้ หรือเพิ่มช่องทางในการติดต่อสื่อสารกับนักศึกษาผ่านทั้งโทรศัพท์ อีเมล์ หรือสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ เพื่อให้นักศึกษาได้ขอคำปรึกษาแนะนำ อาจารย์ที่ปรึกษาส่วนใหญ่ก็ทำหน้าที่เป็นอาจารย์ผู้สอนรายวิชาต่างๆ ที่นักศึกษาเรียนด้วยที่คณะจึงเป็นผู้ที่ทราบปัญหาและสามารถรายงาน ส่งต่อผู้ที่เกี่ยวข้องได้เร็ว เพื่อจะได้ช่วยกันวิเคราะห์หาสาเหตุ หาทางช่วยเหลือนักศึกษาได้อย่างทันการ หรือกรณีนักศึกษากลุ่มเสี่ยงต้องการความช่วยเหลือด้านอื่นๆ ที่อาจารย์ที่ปรึกษาอยู่ในวิสัยที่สามารถช่วยเหลือได้ก็ควรดูแล หากปล่อยไว้อาจส่งผลกระทบให้เกิดปัญหาการเรียนจนเกินแก้ การช่วยจัดการความเสี่ยงของนักศึกษากลุ่มนี้ทัน ก็อาจจะทำให้จำนวนนักศึกษาที่มีสภาพรอพินิจ กำลังพ้นสภาพจากการเป็นนักศึกษา จบช้ามีจำนวนลดลงได้ โดยอาจดำเนินการร่วมกับผู้ปกครองของนักศึกษา เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิชาการ นักจิตวิทยา กรณีที่อาจารย์ที่ปรึกษาหรือประธานหลักสูตรไม่สามารถดำเนินการช่วยเหลือได้ หรือเกินกำลังให้รายงานผู้บริหารฝ่ายวิชาการ หรือผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาตามขั้นตอน

    ปัจจุบันถึงแม้ว่ามหาวิทยาลัยจะได้ดำเนินงานระบบอาจารย์อยู่แล้ว การให้คำปรึกษาและช่วยเหลือนักศึกษาด้านการเรียนสามารถช่วยแก้ปัญหาให้นักศึกษาในระดับหนึ่ง ทั้งด้านการเรียนโดยตรง หรือปัญหาทางอ้อม แต่จากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและรุนแรงของทางเศรษฐกิจ สังคมและเทคโนโลยี อาจเป็นสาเหตุทำให้นักศึกษาที่เป็นวัยรุ่นเกิดปัญหาการอื่นๆ นอกจากปัญหาการเรียน เช่น ปัญหาเรื่องเงิน ปัญหาเรื่องเพื่อนหรือความรัก ปัญหายาเสพติด ปัญหาการติดเกมส์หรือสื่อสังคมออนไลน์ ปัญหาสุขภาพกายและสุขภาพจิต ตลอดจนปัญหาส่วนตัวอื่นๆ ที่นักศึกษาส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นอาจยังไม่มีวุฒิภาวะพอ ไม่สามารถแก้ไขเองได้ การแก้ไขปัญหาให้นักศึกษาดังกล่าวจึงควรเน้นการทำงานแบบบูรณาการ โดยบุคลากรของทั้งคณะและส่วนกลางทุกฝ่ายได้แก่ เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิชาการหรือกิจการนักศึกษาของคณะ/ส่วนกลาง อาจารย์ประจำวิชา/อาจารย์ที่ปรึกษาของนักศึกษา รวมทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องควรทำงานประสานและร่วมมือกัน โดยผู้บริหารมีหน้าที่กำกับดูแลและสนับสนุนเชิงนโยบายอำนวยการให้การทำงานทุกฝ่ายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

     ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานดังกล่าวนี้ สามารถช่วยเหลือนักศึกษาได้ทั้งจากกรณีงานวิชาการคณะ/กองบริการการศึกษาตรวจสอบพบว่ามีนักศึกษากลุ่มเสี่ยง เช่น เมื่อสิ้นภาคการศึกษาเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดขอบระบบทะเบียนนักศึกษาออนไลน์ (REG) ประมวลผลพบว่ามีนักศึกษาที่มีผลการเรียนต่ำ (GPAX. ต่ำกว่า 2.00) ให้กองบริการการศึกษาสรุปและส่งรายชื่อ รวมทั้งข้อมูลที่เกี่ยวข้องของนักศึกษากลุ่มเสี่ยงที่มีผลการเรียนต่ำกว่าเกณฑ์ทุกภาคการศึกษาให้คณะทราบเพื่อหาทางแก้ปัญหาได้ทันที โดยไม่ต้องรอให้นักศึกษามีผลการเรียนต่ำจนถูกตักเตือนครั้งที่ 1 และ 2 (W1 และ W2) ก่อนจึงทำประกาศมหาวิทยาลัยแจ้งคณะ เพราะอาจทำให้แก้ไขปัญหานักศึกษาช้าเกินไป หากอาจารย์ที่ปรึกษาทราบปัญหาและให้การช่วยเหลือนักศึกษาวางแผนการเรียน แนะนำเทคนิคการเรียนได้เร็ว ย่อมช่วยให้นักศึกษาปรับปรุงการเรียนให้ดีขึ้นได้

    หรือกรณีนักศึกษามาขอคำแนะนำที่งานวิชาการคณะหรือกองบริการการศึกษา หรือขอคำปรึกษากับอาจารย์โดยตรง ผู้ที่มีหน้าที่ควรให้ความปรึกษาอย่างมีเมตตาเหมือนดูแลลูกหลาน หรือคนครอบครัวเดียวกัน โดยเน้นการช่วยเหลือนักศึกษากลุ่มเสี่ยงที่มีผลการเรียนต่ำ กลุ่มที่มีสภาพถูกตักเตือนและรอพินิจเป็นเรื่องเร่งด่วน ส่วนกลุ่มที่มีพฤติกรรม ลักษณะนิสัยที่เสี่ยงต่อการเกิดปัญหาการเรียนในอนาคตที่อาจารย์สามารถสังเกตพบในชั้นเรียน เช่น การมาเรียนสาย ขาดเรียน ไม่เข้าสอบ ไม่ส่งการบ้านหรืองานที่ได้รับมอบหมาย คะแนนสอบย่อย สอบประจำภาคไม่ผ่านเกณฑ์และเงื่อนไขรายวิชา หรือมีปัญหาสุขภาพจิต เป็นต้น กลุ่มเสี่ยงเหล่านี้หากอาจารย์ประจำวิชาพบในชั้นเรียน สามารถตักเตือนให้คำแนะนำเพื่อให้นักศึกษาปรับปรุงตัวได้ทันที โดยเฉพาะนักศึกษาที่เป็นนักศึกษาใหม่ที่ยังปรับตัวกับการเรียนในมหาวิทยาลัยไม่ได้ หรือนักศึกษาชั้นปีที่ 2 ที่เรียนวิชาพื้นฐานหรือวิชาบังคับตามวิชาชีพของคณะที่ยากขึ้นกว่าการเรียนวิชาศึกษาทั่วไป  ดังนั้น อาจารย์ที่ปรึกษาและอาจารย์ประจำวิชาควรสังเกตพฤติกรรม ช่วยสอนเพื่อสร้างลักษณะนิสัยที่ดี และสร้างวินัยในการเรียนให้นักศึกษาพัฒนาศักยภาพด้านการเรียนจนสำเร็จการศึกษาได้

    มหาวิทยาลัยควรให้ความสำคัญต่อการพัฒนาระบบอาจารย์ที่ปรึกษาให้มีประสิทธิภาพอย่างจริงจังและต่อเนื่อง นอกจากการกำหนดให้เป็นหน้าที่รับผิดชอบในภาระงานของอาจารย์ควบคู่กับภาระงานอื่น เช่น การสอนให้ชัดเจนแล้ว มหาวิทยาลัยควรมีระบบกระตุ้นและสนับสนุนให้อาจารย์ที่ปรึกษาในการทำงาน เช่น ให้คะแนนภาระงานเพื่อประกอบการประเมินเลื่อนเงินเดือนประจำปี การขอตำแหน่งทางวิชาการ รวมทั้ง มอบรางวัลอาจารย์ที่ปรึกษาดีเด่นประจำปีการศึกษา เพื่อเชิดชูและประกาศเกียรติคุณให้อาจารย์ที่ปรึกษาที่ทำงานจริงจังและมีประสิทธิภาพ เป็นการสร้างกำลังใจให้อาจารย์ที่ปรึกษาได้ช่วยเหลือดูแลนักศึกษาที่มีปัญหาด้านการเรียนต่อไป

3. มหาวิทยาลัย/คณะควรพิจารณาให้ความสำคัญกับบุคลากรที่เกี่ยวข้องและพัฒนาระบบให้คำปรึกษาและช่วยเหลือนักศึกษาด้านการเรียน

   โดยเน้นให้งานทะเบียนและประมวลผลนักศึกษาส่วนกลาง (REG) ซึ่งทำหน้าที่รับผิดชอบด้านการลงทะเบียนเรียนและประเมินผลนักศึกษาโดยตรงทำหน้าที่ตรวจสอบข้อมูล ประสานงานให้การดำเนินงานดังกล่าวเป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยให้ความสำคัญกับการให้คำปรึกษาด้านการเรียน  (UBU Student Care Center) เพื่อสำรวจข้อมูลนักศึกษาที่มีผลการเรียนต่ำ และส่งข้อมูลรายชื่อ จำนวน คณะ/สาขาวิชา ชั้นปี สถานภาพทางการเรียนหรือข้อมูลพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง เมื่อสิ้นสุดการเรียนการสอนในแต่ละภาคการศึกษาจากระบบทะเบียนออนไลน์ (Reg.) หรือจากคำร้องของนักศึกษา เพื่อให้คณะที่นักศึกษาสังกัดได้ทราบ งานวิชาการคณะประสานงานกับอาจารย์ที่ปรึกษา ผู้บริหารฝ่ายวิชาการ คณบดีหรือที่ผู้เกี่ยวข้อง ได้ทราบปัญหา ติดตามและดูแลนักศึกษากลุ่มเสี่ยงมากขึ้น โดยเน้นการทำงานประสานงานกันแบบบูรณาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ปกครองจะเป็นผู้ที่ทราบและให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับปัญหาของนักศึกษาได้ดีที่สุด การเชิญผู้ปกครองมาประชุม ร่วมกิจกรรมในวันปฐมนิเทศนักศึกษาใหม่ของมหาวิทยาลัย/คณะ กองบริการการศึกษา/งานวิชาการคณะมีการรายงานผลการเรียนประจำภาค หรือรายงานปัญหาของนักศึกษาที่พบขณะเรียน ก็จะช่วยให้ผู้ปกครองมีความรู้ ความเข้าใจในระบบการเรียนการสอนและการใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัย ได้ทราบแนวทางดูแลนักศึกษาและประสานงานร่วมกับมหาวิทยาลัยได้มากขึ้น ก็จะช่วยซ่อมเสริมด้านการเรียน ส่งเสริมให้นักศึกษามีพัฒนาการด้านวิชาการและอาจจะทำให้มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่สูงขึ้น จนผ่านเกณฑ์และเงื่อนไขของรายวิชาที่กำหนด หรือเป็นไปตามข้อบังคับการศึกษาของมหาวิทยาลัย ช่วยให้นักศึกษาสามารถเรียนจนสำเร็จการศึกษาตามระยะเวลาที่หลักสูตรกำหนดได้ต่อไป

            4. มหาวิทยาลัยควรดำเนินงานโครงการ/กิจกรรมที่พัฒนาด้านการเรียนการสอน เพื่อเน้นการส่งเสริมผลสัมฤทธิ์การเรียนและพัฒนาคุณลักษณะที่ดีของนักศึกษาให้เป็นบัณฑิตที่มีคุณภาพหรือเพื่อเพิ่มโอกาสทางการศึกษา เช่น

            4.1 โครงการเตรียมความพร้อมทางวิชาการสำหรับนักศึกษาใหม่

            จากการศึกษาผลการทดสอบทางวิชาการของนักศึกษาที่ผ่านการคัดเลือกเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี พบว่า นักศึกษาส่วนใหญ่มีผลการทดสอบทางวิชาการ คือ วิชาคณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษต่ำ นักศึกษาบางคณะ/สาขาวิชามีผลการเรียนแรกเข้าต่ำกว่าเกณฑ์หลายวิชา แต่เนื่องจากสถานการณ์วิกฤตอุดมศึกษาที่มหาวิทยาลัยรับนักศึกษาไม่ได้ตามแผนบางคณะ/หลักสูตร ต่อเนื่องกันมาหลายปีการศึกษา ทำให้บางบางคณะ/หลักสูตรมีความจำเป็นต้องปรับลดเกณฑ์และเงื่อนไขการรับลง เช่นไม่กำหนดเกรดเฉลี่ย (GPAX.) ที่สำเร็จการศึกษา ม.6 ไม่กำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำของคะแนนผลการทดสอบทางวิชาการ เป็นต้น ล้วนเป็นปัจจัยนำเข้า (Input) ที่ทำให้มหาวิทยาลัยรับนักศึกษาบางคนที่ยังขาดความรู้พื้นฐานทางวิชาการที่จำเป็นต่อการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาเข้ามาเรียน เป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลกระทบทำให้ปัจจุบันเกิดปัญหานักศึกษามีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำกว่าเกณฑ์ มีสภาพรอพินิจจำนวนมาก

            ดังนั้น มหาวิทยาลัยควรดำเนินงานโครงการเตรียมความพร้อมทางวิชาการสำหรับนักศึกษาใหม่อย่างต่อเนื่องทุกปีการศึกษา และควรเพิ่มความเข้มข้นของเนื้อหารวมทั้งจำนวนชั่วโมงที่เรียนวิชาดังกล่าวนี้ให้มากขึ้น นอกเหนือจากวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนานักศักษาให้มีความรู้และทักษะที่เพียงพอแล้ว ในอนาคตมหาวิทยาลัยอาจขยายผลเป็นวิชาที่นักศึกษากลุ่มเก่งสามารถเรียนผ่านเกณฑ์และเงื่อนไขที่รายวิชากำหนด สามารถลงทะเบียนเรียน เพื่อเก็บสะสมหน่วยกิต หรือให้เกรดแก่นักศึกษากลุ่มนี้ได้ เพื่อกระตุ้นให้นักศึกษาสนใจและให้ความสำคัญในการเรียนและเข้าร่วมกิจกรรมโครงการนี้มากขึ้น นอกเหนือจากการช่วยปรับพื้นฐานความรู้ในวิชาที่นักศึกษาใหม่ได้คะแนนต่ำวิชาคณิตศาสตร์และภาษาอังกฤษแล้ว มหาวิทยาลัยอาจสำรวจข้อมูลจำนวนวิชาที่นักศึกษาใหม่ได้คะแนนน้อยหรือสอบตกเป็นจำนวนมากเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มจำนวนวิชาพื้นฐาน และเนื้อหาที่นักศึกษาจำเป็นต้องเรียนให้เหมาะสมมากขึ้น โดยเน้นความรู้ เนื้อหาและทักษะทางวิชาการให้นักศึกษาสามารถนำความรู้พื้นฐานเดิม จากการเรียนตามโครงการเตรียมความพร้อมนี้ไปใช้ในการศึกษาต่อในระดับที่ยากและสูงขึ้น นอกจากจะช่วยพัฒนาด้านวิชาการให้นักศึกษาแล้ว โครงการควรจัดกิจกรรมที่ช่วยสอนเกี่ยวกับเทคนิคการเรียน การเตรียมตัวสอบ การปรับตัวในการเรียนและใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยที่มีรูปแบบการเรียนการสอนที่เปลี่ยนไปจากเดิม ตลอดทั้งควรเน้นกิจกรรมที่ส่งเสริมทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 สร้างทัศนคติที่ดีในการเรียนคณะหรือสาขาวิชา ซึ่งเป็นปัจจัยที่จะสนับสนุนให้นักศึกษาสามารถประสบความสำเร็จได้ในอนาคต

4.2  โครงการเพิ่มโอกาสทางการเรียนที่หลากหลายรูปแบบ

      มหาวิทยาลัยอาจจัดทำหลักสูตรรูปแบบใหม่ให้หลากหลายมากขึ้น เพื่อสร้างทางเลือกที่หลากหลายสำหรับนักศึกษา เช่น "UBU Frontier School" ซึ่งเป็นหลักสูตรปริญญาตรีแบบใหม่ที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนเรียนปริญญาตรีแบบไม่มีสังกัดคณะ ในภาคเรียนที่ 1-3 ตามความสนใจเพื่อค้นหาความถนัดและทักษะทางการเรียนก่อนจึงจะเลือกคณะ/หลักสูตรที่ชอบในภาคเรียนที่ 4 เป็นต้น โดยการเรียนแบบไม่สังกัดหลักสูตร เป็นหลักสูตรที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาเข้ามาศึกษาในช่วงแรกก่อนเลือกคณะ เพื่อให้นักศึกษาสามารถเลือกเรียนและออกแบบหลักสูตรตามเป้าหมายตัวเอง และค้นหาสาขาวิชาที่สอดคล้องกับความถนัดและความสามารถทางการเรียน โดยไม่ติดกรอบของหลักสูตรใดเป็นการเฉพาะ เน้นการลงทะเบียนเรียนอิสระเพื่อค้นหาตัวตนในภาคการเรียนที่ 1–3 และ ในภาคเรียนที่ 4 เป็นต้นไปจะให้นักศึกษาเลือกคณะที่เหมาะสมกับตนเองที่สุดตามที่มหาวิทยาลัยกำหนดไว้ โดยจะมีเกณฑ์และเงื่อนไขรับเข้าศึกษาในหลักสูตรตอนภาคการเรียนที่ 4 อีกครั้ง เช่น กำหนดเกรดหรือคะแนนสอบรายวิชาที่นักศึกษาลงทะเบียนเรียน เป็นต้น

             มหาวิทยาลัยควรเตรียมเปิดหรือพัฒนาหลักสูตรในอนาคตที่สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาอย่างรวดเร็วและรุนแรงในอนาคตในระยะเวลา 5 – 10 ปีข้างหน้า เช่น

1. หลักสูตรที่รองรับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยรวมทั้งนโยบายของรัฐที่เปิดกว้างทางการศึกษาที่เน้นการเรียนรู้ตลอดชีวิต

ในอนาคตอาจมีนักศึกษาที่เป็นกลุ่มคนทำงาน กลุ่มผู้สูงอายุมาเรียนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาจไม่สามารถเรียนตามหลักสูตรที่มีเนื้อหาแบบหลักสูตรปกติได้ หลักสูตรควรปรับหัวข้อ เนื้อหาวิชา รวมทั้งการปรับการวัดและประเมินผลให้เหมาะสม สอดคล้องกับอายุ ความรู้พื้นฐานเดิมความถนัดและความสามารถในการเรียนของผู้เรียนมากขึ้น  โดยควรเพิ่มการเปิดสอนหลักสูตรระยะสั้นตามความสนใจของผู้เรียน หลักสูตรทุกสาขาที่เปิดสอนควรเน้นพัฒนาทักษะเทคโนโลยีสารสนเทศ การใช้ภาษาอังกฤษ หรือภาษาต่างประเทศที่ใช้ในสากลโลก เป็นต้น เพื่อรองรับตลาดแรงงานข้ามประเทศหรือการทำงานในรูปแบบออนไลน์ที่กำลังแพร่หลายในปัจจุบัน

2. มหาวิทยาลัยควรเพิ่มการสร้างความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาทั้งในและต่างประเทศเปิดหลักสูตรทางเลือกระยะสั้น

เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสและทางเลือกให้แก่นักศึกษาจากหลักสูตรเดิมที่เน้นการเรียนการสอนสาขาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีหรือวิชาชีพ ซึ่งนักศึกษาบางส่วนเข้ามาเรียนแล้วอาจไม่ถนัด ขาดความความสามารถในการเรียนหลักสูตรที่เลือกครั้งแรก หรือมีผลการเรียนต่ำจนอาจไม่มีโอกาสจบการศึกษาระดับปริญญา บางคนสอบหรือเรียนต่อหลักสูตรในประเทศไม่ได้ต้องไปศึกษาต่อต่างประเทศ เป็นต้น

มาเลือกเรียนหลักสูตรทางเลือกที่มหาวิทยาลัยเปิดเพิ่มเติมร่วมกับสถาบันการศึกษาต่างประเทศ เพื่อให้เรียนตามความสนใจและรับประกาศนียบัตร เช่น หลักสูตรระยะสั้นที่เน้นพัฒนาทักษะภาษาต่างประเทศ หลักสูตรระยะสั้นที่เน้นทักษะการทำงาน หลักสูตรสายอาชีพ เป็นต้น การที่สถาบันการศึกษาต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศร่วมมือกันปรับหลักสูตร แบ่งปันข้อมูล ร่วมกันพัฒนาการศึกษาระหว่างสถาบันที่มีธรรมชาติและบริบทที่คล้ายคลึงกัน เป็นการยกระดับการศึกษาปรับทัศนคติจากการเรียนให้ได้ปริญญา เป็นการเรียนและฝึกปฏิบัติงาน โดยปรับหลักสูตรให้เป็นสากลเน้นทักษะการทำงานในตลาดงานต่างประเทศ เช่น โครงการแลกเปลี่ยน (Exchage) นักศึกษา ปรับรูปแบบการเรียนการสอนอย่างเดียวในห้องเรียนแบบเดิมที่น่าเบื่อ เป็นการเรียนรูปแบบ Blended Learning ที่จัดการศึกษาออนไลน์ในห้องเรียน โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย ผู้สอนเป็นอาจารย์หรือผู้เชี่ยวชาญชาวต่างประเทศสาขาวิชาต่างๆ ผู้เรียนเป็นนักศึกษาจากต่างประเทศที่เป็นเครือข่ายความร่วมมือกัน เพื่อเตรียมคนที่มีทักษะการทำงานแบบสากลไว้รองรับการทำงานข้ามชาติในอนาคต

3. มหาวิทยาลัยควรเปิดหลักสูตรใหม่ หรือพัฒนาหลักสูตรในรูปแบบหลักสูตร 2 ปริญญา/สาขา การเรียนข้ามศาสตร์หรือหลักสูตรสายอาชีพ ตามความต้องการของตลาดงาน

สืบเนื่องจากอิทธิพลของเทคโนโลยีที่ช่วยทำให้คนทั่วโลกได้เชื่อมต่อกัน การเข้าถึงความรู้และข้อมูลทุกสาขาทำได้ง่าย สะดวกและเครื่องมือเช่น Smartphone ระบบเครือข่าย Internet ราคาถูกลง การเปิดหลักสูตรย่อยที่เป็น Micro – learning ได้แก่ หัวข้อ หรือ วิชาที่สามารถนำไปใช้ในการทำงาน พัฒนาคุณภาพชีวิต หรือหัวข้อตามความสนใจ ผ่านการเรียนการสอนออนไลน์ทางเทคโนโลยีสารสนเทศรูปแบบต่างๆ  เพื่อทำให้การเรียนรู้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน ผู้เรียนไม่ต้องมานั่งเรียนในห้องเรียนใช้เวลา 4 – 6 ปีตามที่หลักสูตรกำหนดแบบเดิม มาเป็นนักศึกษาที่สามารถเรียนระดับปริญญาได้ทุกที่ ทุกเวลา สะสมหน่วยกิต รายวิชา หรือเรียนควบคู่ 2 ปริญญาหรือย้ายโอนจากการเรียนสาขาวิชาเดิมที่ไม่ถนัดไปเรียนสาขาใหม่ตามความสามารถและทักษะของผู้เรียน หรืออาจพิจารณารูปแบบการเรียนการสอนที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาที่มีผลการเรียนต่ำในบางรายวิชา เช่น วิชาบรรยายบางหัวข้อ เนื้อหาที่นักศึกษาพยายามเรียนแล้วหรือเรียนซ้ำวิชาเดิมหลายครั้งแต่สอบไม่ผ่านเพราะไม่ถนัด สามารถใช้ทักษะหรือความสามารถทางวิชาชีพที่ถนัดและสอดคล้องกับหลักสูตรได้ทำรายงาน โครงงาน หรือเพิ่มชั่วโมงฝึกปฏิบัติงานให้นักศึกษาเรียนทดแทน โดยนักศึกษามีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เกิดการเรียนรู้ตามหลักสูตรไม่แตกต่างจากการทดสอบแบบการวัดประเมินผลแบบปกติ เป็นต้น

4.3  โครงการเรียนล่วงหน้า หรือการเรียนการสอนออนไลน์

มหาวิทยาลัยควรพัฒนาปรับรูปแบบกระบวนการเรียนการสอนแบบเดิม เป็นการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ (Active Learnning) รวมทั้งส่งเสริมให้อาจารย์เปิดสอนออนไลน์ผ่านการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ของมหาวิทยาลัย (UBU LMS) ให้มากขึ้น เน้นการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเป็นเครื่องมือและเป็นสื่อการสอน เพื่อรองรับระบบ ICT และ AI ที่กำลังเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว เนื่องจากปัจจุบันเป็นยุคดิจิทัลที่เทคโนโลยีเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็วและรุนแรง ทำให้ความรู้ ข้อมูลทางวิชาการทุกศาสตร์ สาขาสามารถค้นหาจากระบบ Internet ผ่านสื่อออนไลน์ที่หลากหลายได้ง่าย สะดวกรวดเร็ว ไม่มีค่าใช้จ่ายหรือค่าใช้จ่ายถูก เพื่อเปรียบเทียบกับการเรียนในมหาวิทยาลัยระบบเดิม ปัจจุบันนักศึกษาสามารถเรียนผ่านระบบ Online ได้จากทั่วโลกได้ทุกเวลาและทุกสถานที่เมื่อต้องการ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้กำลังเปลี่ยนความคิดและทัศนคติของนักเรียนนักศึกษาต่อการเรียนมหาวิทยาลัยไปจากเดิม จากค่านิยมต้องสำเร็จปริญญาในมหาวิทยาลัยจึงจะสามารถหางานทำหรือประสบความสำเร็จในชีวิต เป็นทำไมต้องได้รับปริญญาสาขานี้ เรียนวิชาหรือหลักสูตรนี้แล้วนำไปใช้ประโยชน์ในการทำงานหรือพัฒนาคุณภาพชีวิตได้อย่างไร ดังนั้น มหาวิทยาลัยจะต้องปรับเปลี่ยนการสอนที่ให้ผู้เรียนสามารถเรียนได้ตลอดชีวิตในทุกเวลาและสถานที่ เนื้อหาวิชาที่สอนควรปรับเปลี่ยนให้ตรงและสอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียน โดยเฉพาะที่จะช่วยให้ทำงานและใช้ชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพและคุณภาพสูงขึ้น แทนการสอนที่เน้นทฤษฎีและหลักการมากเกินไป มหาวิทยาลัยจึงควรสนับสนุนและพัฒนาการเรียนการสอนออนไลน์ เพื่อเปิดโอกาสให้กลุ่มผู้เรียนที่เป็นนักเรียนระดับมัธยมที่มีความรู้พื้นฐานเพียงพอได้มีโอกาสเรียนวิชาที่เปิดสอนในมหาวิทยาลัยล่วงหน้า สะสมหน่วยกิตและกรณีต้องการเรียนต่อสามารถเทียบโอนหน่วยกิตและรายวิชาได้ การเรียนวิชาในมหาวิทยาลัยควบคู่กับการเรียนในชั้นเรียนปกติ นอกจากจะเป็นการช่วยพัฒนาความรู้ให้นักเรียนได้เร็วขึ้นแล้ว ยังอาจช่วยลดปัญหานักศึกษามีปัญหาด้านการเรียนได้ในอนาคต เนื่องจากผู้เรียนมีความรู้พื้นฐานทางวิชาการเพียงพอก่อนเข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษา ซึ่งสามารถดำเนินงานโดยความร่วมมือของโรงเรียนและมหาวิทยาลัยจัดการศึกษาร่วมกันให้นักเรียนสามารถเลือกเรียนวิชาที่สนใจ หรือถนัดล่วงหน้าข้ามระดับชั้นเรียนตามวิชาที่มหาวิทยาลัยกำหนด โดยได้รับหน่วยกิตจากมหาวิทยาลัยในวิชาที่สอบผ่านเพื่อสะสมหน่วยกิตและรายวิชาไว้เทียบโอนเมื่อเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัย เป็นต้น

            นอกจากนั้นแล้ว การเรียนการสอนออนไลน์ยังอาจช่วยแก้ไขปัญหานักศึกษาด้านการเรียนได้อีกทางหนึ่ง โดยเฉพาะนักศึกษาที่สอบไม่ผ่านวิชาที่ต้องเรียนมาก่อน (Pre-requisite) และต้องเรียนซ้ำชั้น มหาวิทยาลัยสามารถช่วยเหลือนักศึกษากลุ่มนี้ได้โดยการสำรวจวิชาที่มีนักศึกษาที่สอบตกจำนวนมากแล้ว ควรพิจารณาเปิดสอนทางระบบออนไลน์ (UBU LMS) หรือจัดทำบทเรียนออนไลน์เพื่อซ่อมเสริมในเนื้อหาที่นักศึกษาเรียนไม่ทันในห้องเรียน โดยการจัดทำสื่อการสอนในรูปแบบต่างๆ เช่น บันทึกเทปการสอนของอาจารย์ในชั้นเรียน จัดทำสื่อรายวิชาวีดิโอ Power Point เอกสารประกอบการสอนรายวิชา รวมทั้งสื่อการสอนอื่นๆ ให้นักศึกษาสามารถเข้าไปทบทวนเนื้อหาผ่านระบบการเรียนการสอนออนไลน์ได้ตลอดเวลา การเรียนการสอนออนไลน์อาจช่วยแก้ไขปัญหานักศึกษาเรียนซ้ำซ้อนได้ หากนักศึกษาสามารถลงทะเบียนเรียนซ้ำวิชาที่มีPre-requisite ควบคู่กับการเรียนวิชาที่ต้องเรียนในชั้นปีที่สูงขึ้นแต่ต้องผ่านกระบวนการเรียนการสอนการวัดและประเมินผลตามเกณฑ์และเงื่อนไขรายวิชาจึงจะได้หน่วยกิตและผลการเรียนเหมือนการเรียนการสอนปกติ เป็นต้น ซึ่งมหาวิทยาลัยสามารถพัฒนาเป็นการจัดการศึกษาระบบเปิด (UBU MOOC) เพื่อรองรับนโยบายการเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัล (Digital University) ได้ในอนาคต

4.4 โครงการ/กิจกรรมซ่อมเสริมในรูปแบบเพื่อนช่วยเพื่อน พี่ช่วยน้อง 

การเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ซึ่งส่วนมากเป็นหลักสูตรที่สอนวิชาชีพที่เน้นคุณภาพการศึกษาเพื่อผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพ นักศึกษาทุกคณะ/สาขาวิชาที่มีปัญหาด้านการเรียนส่วนใหญ่มักต้องพบกับปัญหาอุปสรรค์ต่างๆ ในหลายๆ ด้าน เช่น  ความเบื่อหน่ายท้อแท้ ความกดดันจากการเรียน ความรับผิดชอบที่มากขึ้นต้องเรียนให้ผ่านและจบตามเวลา การที่ต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับรูปแบบการเรียนการสอนของอาจารย์แต่ละท่านที่แตกต่างกันออกไป เป็นต้น ส่งผลให้นักศึกษาส่วนใหญ่ เกิดความเครียด เกิดคำถามข้อสงสัย หรือ เกิดความคับข้องใจอันเกิดจากการที่ต้องมุ่งเอาตัวรอดในระบบการศึกษาอาจนำไปสู่โรคซึมเศร้า โรคเครียดหรือการฆ่าตัวตาย ตามข่าวหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมและกำลังแพร่หลายในปัจจุบัน ดังนั้น หากมหาวิทยาลัยได้จัดกิจกรรมให้รุ่นพี่นักศึกษาที่ประสบความสำเร็จในการเรียนมาก่อน รวมถึงเพื่อนๆในชั้นปีเดียวกันที่เคยมีประสบการณ์ผ่านความซับซ้อนยุ่งยากในการบริหารความรู้ เวลา มาช่วยเหลือคอยให้คำปรึกษาคำแนะนำ รวมไปถึงการตอบคำถามหรือข้อสงสัยใดที่เกิดจากการเรียนและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่ตนเองเคยผ่านมา ก็จะสามารถช่วยบรรเทาความกังวลใจหรือคลายความอึดอัดคับข้องใจ รุ่นพี่หรือเพื่อนที่เคยผ่านประสบการณ์เหล่านี้มาแล้ว ยังสามารถช่วยเหลือในด้านการให้กำลังใจและการสร้างความมั่นใจให้กับนักศึกษาที่กำลังเรียนในรุ่นต่อๆไปด้วย  นอกจากนี้การที่นักศึกษารุ่นพี่  รุ่นน้องและเพื่อนๆได้มีโอกาสพบปะพูดคุยกัน ยังสามารถช่วยสร้างสายสัมพันธ์อันดีระหว่างนักศึกษา แต่ละชั้นปีได้อีกด้วย

4.5  มหาวิทยาลัยปรับปรุงพัฒนาระบบการให้บริการและสิ่งสนับสนุนการเรียนรู้แก่นักศึกษา

มหาวิทยาลัยควรพิจารณาระบบปรับปรุงการจัดการศึกษา การให้บริการและสิ่งสนับสนุนการเรียนรู้ของนักศึกษาด้านต่างๆ เป็นนโยบายสำคัญและต้องดำเนินการให้ต่อเนื่อง เพื่อให้บริการแก่นักศึกษา หรือผู้มาขอรับบริการทั่วไปที่เจ้าหน้าที่ต้องบริการด้วยความยิ้มแย้มแจ่มใส เต็มใจบริการและช่วยเหลือนักศึกษาเสมือนลูกหลานหรือคนในครอบครัวของตน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของการให้บริการการศึกษาทั้งด้านวิชาการและกิจการนักศึกษาทั้งระดับคณะและส่วนกลาง การทำงานควรเป็นแบบ One Stop Service ที่ลดขั้นตอนการทำงานที่มากเกินไป จนแก้ไขปัญหาให้นักศึกษาไม่ทันการ หรือไม่สามารถให้คำปรึกษาช่วยเหลือนักศึกษาได้จนต้องลาออก พ้นสภาพการเป็นนักศึกษาและส่งผลให้นักศึกษา ผู้ปกครอง เกิดทัศนติที่ไม่ดีต่อมหาวิทยาลัยที่อาจทำให้เสียชื่อเสียงภาพลักษณ์ต่อไป บุคลากรทุกฝ่ายของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ควรทำงานในหลักการ “ม.อุบลห่วงใย ใส่ใจนักศึกษา” เป็นต้น

4.6  คณะ/สาขาวิชาควรศึกษาหรือทำวิจัยชั้นเรียนเพื่อพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน

เนื่องจากการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวกับนักศึกษาเป็นเรื่องละเอียด และต้องศึกษาวิเคราะห์ด้วยเหตุผลประกอบหลักการ ทฤษฎีและอ้างอิงผลการศึกษาที่เกี่ยวข้อง เพื่ออธิบายและรายงานข้อค้นพบดังกล่าวประกอบกันหลายด้าน ข้อค้นพบจากการศึกษาเรื่องนี้ ทั้งปัจจัยด้านพื้นฐานและภูมิหลังของนักศึกษาที่มีความสัมพันธ์ต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักศึกษา รวมทั้งผลการศึกษาปัจจัยทุกด้านที่เกี่ยวข้อง เป็นการวิจัยเชิงสำรวจและเป็นการวิเคราะห์ข้อมูลภาพรวมของนักศึกษาเฉพาะปีการศึกษา 2561 ไม่ได้วิเคราะห์แยกคณะ ซึ่งแต่ละคณะมีรายละเอียดและบริบทของสาขาวิชาที่แตกต่างกัน ผลที่ได้จากการศึกษาจึงเป็นผลการสำรวจข้อมูลพื้นฐานเท่านั้น คณะ/สาขาวิชาควรนำข้อมูลที่ค้นพบนี้ไปศึกษาวิจัยต่อ เช่น สำรวจรายวิชาที่มีนักศึกษาสอบตก หรือซ้ำชั้นจำนวนมากส่งผลทำให้นักศึกษามีผลการเรียนต่ำกว่าเกณฑ์มาวิเคราะห์ หรือทำวิจัยชั้นเรียน เพื่อหาสาเหตุว่าเกิดจากปัจจัยการศึกษาด้านใดบ้าง เช่น กระบวนการเรียนการสอน กิจกรรม การใช้สื่อและเทคโนโลยีการเรียนการสอน ระบบการวัดและประเมินผล เป็นต้น

ปัจจัยสำคัญที่สุดที่ควรเน้นศึกษาหาสาเหตุเพิ่มเติม คือปัญหาด้านลักษะเฉพาะของนักศึกษาเองที่ส่งผลให้เกิดพฤติกรรม วินัยในการเรียน หรือลักษณะนิสัยที่บกพร่อง รวมกับปัญหาส่วนตัวด้านอื่นๆ ของนักศึกษาที่ทำให้มีปัญหาการเรียน เพื่อจะได้หาแนวทางแก้ไขและพัฒนานักศึกษา เช่น อาจารย์ประจำวิชาที่มีนักศึกษาสอบตกจำนวนมาก อาจนำปัญหาที่พบจากการสอนในห้องเรียนมาทำวิจัยชั้นเรียนร่วมกับอาจารย์ที่ปรึกษา อาจารย์ที่ปรึกษาปรับทัศนคติที่ว่านักศึกษามหาวิทยาลัยเป็นผู้ใหญ่แล้วควรวางแผนการเรียนและดูแลตัวเอง มาให้ความสำคัญใส่ใจกับนักศึกษาในสายรหัสบางคนที่ยังขาดวุฒิภาวะ ไม่สามารถเรียนและปรับตัวให้เข้ากับสภาพการเรียนในมหาวิทยาลัยเองได้ โดยการสังเกตและดูแลลูกศิษย์อย่างใกล้ชิด สร้างสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกันด้วยความเมตตาต่อศิษย์ หากพบปัญหาให้รีบแก้ไขอย่างจริงจัง รวบรวมปัญหามาศึกษาวิเคราะห์เพื่อหาแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดกับนักศึกษารุ่นน้องในอนาคต ก็จะส่งผลดีต่อการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนและพัฒนานักศึกษาของมหาวิทยาลัยได้ต่อไป

ข้อเสนอแนะในการทำวิจัยครั้งต่อไป

  1. คณะ/สาขาวิชาควรมีการศึกษาวิจัยปัจจัยที่ส่งผลทำให้นักศึกษามีปัญหาด้านการเรียน ผลการ

เรียนต่ำและออกจากการเรียนกลางคัน โดยเน้นปัจจัยด้านลักษณะเฉพาะของนักศึกษา เช่น แรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ ทัศนคติและลักษณะนิสัยที่ส่งผลต่อพฤติกรรม วินัยในการเรียนของนักศึกษา ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักศึกษา เพื่อหาสาเหตุและแนวทางการปรับพฤติกรรมและแก้ไขปัญหาให้นักศึกษาที่เหมาะสมตามธรรมชาติและบริบทของคณะ/สาขาวิชา

  1. ควรได้มีการศึกษาระบบให้คำปรึกษาและให้การแนะแนวด้านการเรียน โปรแกรมการช่วยเหลือ

นักศึกษาที่มีผลการเรียนต่ำ หรือนักศึกษากลุ่มเสี่ยงที่จะมีปัญหาด้านการเรียน รวมทั้งโปรแกรมช่วยพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักศึกษาให้สูงขึ้น

 

หมายเหตุ เนื่องจากผลงานดังกล่าวเป็นรายงานวิจัยสถาบันที่ได้รับสนับสนุนจากสำนักวิจัยฯ ให้ดำเนินงานในปีงบประมาณ 2562 และจัดทำแล้วเสร็จ/นำเสนอต่อคณะกรรมการฯวิจัยฯ/KM กับงานวิชาการทุกคณะในเดือนกรกฎาคม 2563 ซึ่งมีบางคณะได้นำไปทดลองปรับใช้ในกิจกรรมแนะแนวของคณะ แต่ยังไม่ได้ทำการติดตามและประเมินผล ผู้นำเสนอจึงยังไม่มีรายงานผลการนำไปใช้ประโยชน์

4.สรุป     สรุปผลการวิจัย ดังรายละเอียดในบทนำ

5. ปัจจัยความสำเร็จ เนื่องจากกองบริการการศึกษาอยู่ในระหว่างการประสานงานกับคณะเพื่อเตรียมดำเนินการตามแผนการนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ ปัจจัยความสำเร็จจะเป็นไปตามผลการประเมินตามแผน ดังนี้

แผนการนำการวิจัยไปใช้ประโยชน์

1.  เผยแพร่รายงานวิจัยให้คณะ/หลักสูตรของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีที่เปิดสอนระดับปริญญาตรี เพื่อนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาการเรียนการสอน แก้ไขปัญหานักศึกษามีผลการเรียนต่ำกว่าเกณฑ์และส่งเสริมให้นักศึกษามีผลการเรียนที่สูงขึ้น สามารถสำเร็จการศึกษาได้ตามระยะเวลาที่หลักสูตรกำหนด

2.  งานวิชาการคณะและส่วนกลาง คือ กองบริการการศึกษาศึกษา วางแผนพัฒนาระบบงานให้คำปรึกษาและช่วยเหลือนักศึกษาด้านการเรียน ซึ่งจะดำเนินงานโดยประสานงานกับอาจารย์ที่ปรึกษาของนักศึกษา งานวิชาการ หรืองานกิจการนักศึกษาของคณะต่างๆ เพื่อเป็นงานแนะแนวการศึกษา เน้นการช่วยเหลือและดูแลนักศึกษาที่มีปัญหาด้านการเรียน เช่น นักศึกษาที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการถูกถอนชื่อเนื่องจากผลการเรียนต่ำกว่าเกณฑ์ นักศึกษาที่มีสถานภาพทางการเรียนรอพินิจ นักศึกษาที่มีปัญหาลักษณะนิสัยและพฤติกรรมที่บกพร่องด้านการเรียน รวมทั้งนักศึกษาที่ต้องการคำปรึกษาแนะแนวด้านการเรียนเพื่อพัฒนาให้มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่สูงขึ้น เป็นต้น

 

งานให้คำปรึกษาและช่วยเหลือนักศึกษาด้านการเรียนจะทำหน้าที่รับผิดชอบ ประสานงานกับงานวิชาการคณะ อาจารย์ที่ปรึกษาและผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยประสานกับงานทะเบียนและประมวลผลนักศึกษาในการสำรวจข้อมูล/จำนวน/รายชื่อ/ผลการเรียนและสถานภาพทางการเรียนในแต่ละภาคการเรียนจากระบบทะเบียนและประมวลผลนักศึกษาออนไลน์ (UBU REG)หรือจากคำร้องของนักศึกษา เพื่อติดตามและดูแลนักศึกษาทุกคณะที่มีปัญหาผลการเรียน ประสานงานกับอาจารย์ที่ปรึกษา ผู้บริหารฝ่ายวิชาการ/กิจการนักศึกษา หรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องของคณะ/สาขาวิชาที่นักศึกษาสังกัด เพื่อให้คำปรึกษาและซ่อมเสริมด้านการเรียนจนนักศึกษามีลักษณะนิสัยหรือพฤติกรรมที่เอื้อต่อการเรียน มีพัฒนาจนผลการเรียนสูงขึ้น จนผ่านเกณฑ์และเงื่อนไขที่หลักสูตรกำหนด หรือเป็นไปตามข้อบังคับการศึกษาของมหาวิทยาลัย

ดาวน์โหลดไฟล์นำเสนอ