ช่องทางรับฟังความคิดเห็น     คลังเอกสาร     คำถามที่พบบ่อย     ถาม-ตอบ      มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี    

การปรับเปลี่ยนองค์กรสู่การเป็นองค์กรสีเขียวที่ยั่งยืน by ขนิษฐา จูมลี

ชื่อผลงาน : การปรับเปลี่ยนองค์กรสู่การเป็นองค์กรสีเขียวที่ยั่งยืน

                                             ผู้ถ่ายทอด : ขนิษฐา จูมลี  ถ่ายทอด : วันที่ 17 กันยายน 2563
   

1. บทนำ

      สำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (Office of Academic Resources, Ubon Ratchathani University) เป็นหน่วยสนับสนุนการเรียนการสอน และการวิจัยของมหาวิทยาลัย มีหน้าที่ จัดหา จัดเก็บและให้บริการทรัพยากรสารสนเทศ และสื่อการเรียนรู้ แก่ผู้ใช้บริการ ในการสนับสนุนภารกิจหลักของมหาวิทยาลัยด้านการผลิตบัณฑิต โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2560-2564 เน้นการพัฒนาการเรียน การสอนและการเรียนรู้แบบ Active Learning  และการจัดสภาพการเรียนรู้ (Learning Environment) เพื่อเป็นแหล่งการเรียนรู้ร่วมกันของผู้ใช้บริการ มีสภาพแวดล้อมที่ดีจะส่งผลต่อประสิทธิภาพและการเรียนรู้          

ห้องสมุด สำนักวิทยบริการ เป็นห้องสมุดที่ให้ความสำคัญในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับตัวอาคาร พื้นที่โดยรอบอาคาร ปรับปรุงระบบต่างๆ ให้เป็นอิเล็กทรอนิกส์ การจัดการห้องสมุดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีนโยบายที่ครอบคลุมการรักษาสภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกโดยการลดมลพิษ ลดการใช้พลังงานและการใช้ทรัพยากรในห้องสมุดเพื่อสร้างความมั่นใจได้ว่า การใช้ห้องสมุดจะมีผลกระทบต่อสุขภาพน้อยที่สุด และปรับปรุงพื้นที่สำหรับการปฏิบัติงานของบุคลากรให้เป็นสถานที่ที่น่าอยู่ น่าทำงาน มีความสะอาด สะดวกสบาย ปลอดภัยและมีความสุขในการทำงาน

ดังนั้น เพื่อปรับปรุงพื้นที่การให้บริการ และจัดระบบการบริการของสำนักวิทยบริการ จึงดำเนินการปรับปรุงการบริการ ประกอบด้วย 1) การจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ ภายใต้แนวคิด Green Library Green Office นโยบายการเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว (Green University) และนโยบายการเป็นองค์กรสีเขียวของสำนักวิทยบริการ 2) การก้าวสู่การเป็นห้องสมุดดิจิทัล (Digital Library) และ 3) การเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม

2. วัตถุประสงค์

1. เพื่อจัดสภาพแวดล้อมการบริการที่เอื้อต่อการเรียนรู้

2. เพื่อเข้าสู่การเป็นห้องสมุดดิจิทัล (Digital Library)

3. เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม                  

3. ขั้นตอนและวิธีการดำเนินงาน

     3.1 จัดสภาพแวดล้อมการบริการที่เอื้อต่อการเรียนรู้

            1) กำหนดนโยบายด้านการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม ให้เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายการบริหารงาน โดยกำหนดในแผนกลยุทธ์ระยะ 5 ปี พ.ศ. 2560 -2564 จัดทำแผนการดำเนินงานตามเกณฑ์มาตรฐานห้องสมุดสีเขียว (Green Library) เกณฑ์มาตรฐานสำนักงานสีเขียว (Green Office)

            2) แต่งตั้งคณะกรรมการ คณะทำงาน เพื่อพัฒนาหน่วยงานให้มีพื้นที่ ที่เอื้อต่อการเรียนรู้ การอนุรักษ์พลังงาน ภายใต้แนวคิด ผู้บริหาร บุคลากร พนักงานจ้างเหมา ทุกคนมีส่วนร่วม และได้รับความร่วมมือจากคณะ/หน่วยงานในมหาวิทยาลัยในการขับเคลื่อนการดำเนินงาน   

           3) ปรับปรุงพื้นที่การให้บริการ โดยคำนึงข้อเสนอแนะจากผู้รับบริการ ความปลอดภัยในการปฏิบัติงานของบุคลากร เน้นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การใช้พลังงานทดแทน 

ภาพที่ 1 ปรับปรุงพื้นที่ทั้งภายในและภายนอก

            4) สร้างบรรยากาศให้เป็น Green Library เพิ่มพื้นที่สีเขียว และจัดทำห้องสมุดในสวน สร้างความผ่อนคลายในการเรียนรู้ของผู้รับบริการ  

ภาพที่ 2 พื้นที่นั่งอ่าน ภายนอกอาคาร

ภาพที่ 3 พื้นที่ห้องสมุดในสวน

      ทั้งนี้มีการประเมินความพึงพอใจของผู้รับบริการ ด้านด้านสถานที่และสิ่งอำนวยความสะดวก ปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ผลประเมินระดับ 4.49 ปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ผลประเมินระดับ 4.63 ปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ผลประเมินระดับ 4.52

     3.2 การเป็นห้องสมุดดิจิทัล (Digital Library)

              สำนักวิทยบริการ ได้ดำเนินการปรับรูปแบบการบริการเพื่อเป็นห้องสมุดเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตามองค์ประกอบของห้องสมุดดิจิทัล ที่สำคัญดังนี้

            1) คอลเลคชันดิจิทัล สำนักวิทยบริการ จัดทำแผนการดำเนินงานไว้ที่ประเภทฉบับพิมพ์ต่อดิจิทัล คือ ร้อยละ 30.00 ต่อ 70.00 ทั้งนี้สำนักวิทยบริการได้มีการจัดทำ Weeding และ Inventory ตามอายุหนังสือและวารสารเพื่อให้ทรัพยากรสารสนเทศที่มีอยู่มีความพร้อมใช้งาน และเป็นปัจจุบันให้มากที่สุด

           2) กระบวนการจัดเก็บสารสนเทศ มีการจัดเก็บสารสนเทศ ด้วยระบบห้องสมุดอัตโนมัติ Walai Autolib 2.0 และระบบสืบค้นข้อมูลสารสนเทศผ่าน Web OPAC และ Ebsco Discovery Service (EDS)

          3) บริการสารสนเทศ การบริการสารสนเทศ งานหลัก คือ งานบริการเทคนิค หรืองานวิเคราะห์สารสนเทศ และงานบริการผู้ใช้บริการซึ่งผลการประเมินความพึงพอใจจากผู้รับบริการด้านทรัพยากรและสิ่งอำนวยความสะดวก ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 เฉลี่ยระดับ 4.61

          4) ผู้ใช้บริการ ผู้ใช้บริการในปัจจุบันส่วนใหญ่คือกลุ่มผู้ใช้ที่อยู่ใน Gen Z สำนักวิทยบริการ จึงได้พัฒนารูปแบบการบริการให้เป็นแบบดิจิทัลให้ได้มากที่สุดเพื่อรองรับการใช้บริการของคนกลุ่มนี้

          5) เทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักวิทยบริการ ได้มีการโอนถ่ายข้อมูลต่างๆของเครื่องแม่ข่ายที่เคยประจำอยู่ที่สำนักวิทยบริการ ไปไว้ที่สำนักคอมพิวเตอร์และเครือข่าย เพื่อให้บริการระบบเครือข่ายที่พร้อมใช้งานตลอด 24 ชั่วโมง   

     3.3 เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม

            สำนักวิทยบริการ เป็นหน่วยงานแรกในมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ที่เข้าร่วมโครงการ Green Library โดยผ่านการประเมินในปีงบประมาณ 2561 คะแนน 89 จาก 100 คะแนน และเข้าร่วมโครงการส่งเสริมสำนักงานสีเขียวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Office) โดยผ่านการประเมินในปีงบประมาณ 2562 ระดับดีเยี่ยม (G ทอง)จึงคำนึงถึงการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องและเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน กล่าวคือ

            1) การปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง โดยการวางนโยบายการเป็นองค์กรสีเขียว กำหนดในค่านิยมองค์กร OAR SMILE(S =Service mind การบริการที่ดีM = magnificent Organization องค์กรชั้นเลิศ I = Integrity  สุจริต โปร่งใส มีจริยธรรม L= learning Technology and innovation มุ่งเน้นพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเรียนรู้ E =Environmental Focus ใส่ใจสิ่งแวดล้อม)  ในแผนกลยุทธ์สำนักวิทยบริการ ระยะ 5 ปี พ.ศ. 2563-2567 ได้ กำหนดเป้าประสงค์ในการมีทรัพยากรดิจิทัลสนับสนุนการเรียนรู้  สัดส่วนของงบประมาณที่จัดหาทรัพยากรรูปแบบดิจิทัลต่อรูปเล่ม ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 คือ 80:20 กำหนดยุทธศาสตร์ที่ 4 บริหารจัดการองค์กรสู่ความเป็นเลิศ กำหนดตัวชี้วัด คือ ร้อยละความสำเร็จของการดำเนินงานตามเป้าหมายสิ่งแวดล้อม

          2) เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม โดยการขยายผลไปสู่ชุมชน ทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย ในการเป็นแหล่งศึกษาดูงานจากหน่วยงานอื่น อบรมให้ความรู้ด้านการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม แก่นักศึกษามหาวิทยาลัยอุบลราชธานีผ่านกิจกรรม “ส่งเสริมการรู้สารสนเทศ” จัดโครงการ Green Library for life ไปยังโรงเรียนต่าง ๆ

ภาพที่ 4 การเข้าเยี่ยมชม และศึกษาดูงาน Green Office และการให้บริการของสำนักวิทยบริการ

ภาพที่ 5 การอบรมการรู้สารสนเทศ และโครงการ Green Library for life

4. สรุป

            สำนักวิทยบริการ ได้ดำเนินการปรับเปลี่ยนการบริการ ในการจัดสภาพการเรียนรู้ (Learning Environment) ภายใต้แนวคิด ห้องสมุดสีเขียว (Green Library) และ สำนักงานสีเขียว (Green Office) รวมทั้งนโยบายการเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว (Green University) โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเพิ่มพื้นที่นั่งอ่านหนังสือ อำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการ สร้างบรรยากาศให้เป็นห้องสมุดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม  และก้าวสู่การเป็นห้องสมุดดิจิทัล (Digital Library) โดยเน้นการบริการอิเล็กทรอนิกส์ พัฒนาสื่อ สิ่งสนับสนุนการเรียนรู้ เหมาะสมกับบริบทของหลักสูตร กลุ่มผู้เรียน และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งสอดคล้องกับกลยุทธ์ของมหาวิทยาลัยในการพัฒนาการเรียนการสอน และการเรียนรู้แบบ Active Learning รวมทั้งเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมโดยการสร้างจิตสำนึกไปยังบุคลากร นักศึกษา ภายในมหาวิทยาลัย รวมทั้งโรงเรียนในเครือข่ายผ่านกิจกรรม “ส่งเสริมการรู้สารสนเทศ และ Green Library for life” สอดคล้องกับนโยบายการเป็นองค์กรสีเขียว (Green Organization) ของสำนักวิทยบริการซึ่งจะนำไปสู่การเป็นองค์กรสีเขียวที่ยั่งยืนต่อไป 

5. ปัจจัยความสำเร็จ

  1. มีการกำหนดนโยบายที่ชัดเจน
  2. ผู้บริหาร บุคลากร แสดงจุดมุ่งมั่นและมองเป้าหมายเดียวกัน
  3. บุคลากรทุกคนมีความร่วมมือ มีความรับผิดชอบร่วม
  4. มีความร่วมมือกับเครือข่ายทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย
  5. มีการกำกับ ติดตามผลการดำเนินงานอย่างสม่ำเสมอ
  6. มีการนำผลการประเมินมาปรับปรุงแก้ไขเพื่อพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น
  7. ส่งเสริมและสนับสนุนให้บุคลากรเพิ่มพูน ความรู้
  8. มีการแลกเปลี่ยน เรียนรู้แนวปฏิบัติระหว่างบุคลากร

ดาวน์โหลดไฟล์นำเสนอ