ช่องทางรับฟังความคิดเห็น     คลังเอกสาร     คำถามที่พบบ่อย     ถาม-ตอบ      มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี    

เทียนพรรษา

เทียนพรรษา ภูมิปัญญาถิ่นอุบล

 

มะลิวัลย์ สินน้อย 

หัวหน้าฝ่ายหอสมุด สำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

 

ชาวอุบลฯได้คิดค้นต้นเทียนมาหลายรูปแบบ เช่น เทียนมณฑป ใช้เป็นเครื่องบริขารในการทอดกฐิน,เทียนปราสาทผึ้ง ทำเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษที่ล่วงลับ ใช้กาบกล้วยมาหักพับเป็นรูปสามเหลี่ยม แกะเผือกหรือมันเป็นพิมพ์รูปดอกไม้ จุ่มลงในขี้ผึ้งที่ต้มละลาย รอให้แข็งตัวจะได้ดอกผึ้งไปกลัดติดกับกาบกล้วยให้สวยงาม, เทียนพุ่ม ส่วนมากเป็นเทียนที่ฟั่นเสร็จ ตั้งในขันหรือพานไม้เพื่อถวายพระ,  เทียนมัดรวมนั้นพัฒนามาจากเทียนพุ่ม มีการใช้เชือกปอมารัดเป็นเปลาะให้ดูแปลกตา เหล่านี้คือเทียนโบราณที่ผูกพันกับชาวอุบลฯมาช้านาน

อาชีพหนึ่งที่ก่อเกิดขึ้นมากับเทศกาลงานบุญประจำเมืองก็คือช่างทำเทียน  และด้วยความเป็นศิลปะที่ สืบทอดกันจากรุ่นสู่รุ่นจึงนับได้ว่าช่างทำเทียน ไม่ได้เป็นแค่อาชีพ หากแต่เป็นปราชญ์ประจำท้องถิ่น แต่เดิมการแห่เทียนไมได้ใหญ่โตเช่นปัจจุบัน เพียงแต่ชาวบ้านร่วมกันบริจาคเทียนแล้วตกแต่งด้วย กระดาษจังโกที่เหมือนกระดาษทำว่าว ส่วนฐานต้นเทียน ใช้ไม้ตีเป็นแผ่นเรียบ หรือทำสูงขึ้นไปเป็นชั้นๆ ใช้เกวียนมีคนลากจูง เทียนพรรษาของจังหวัดอุบลราชธานี มีวิวัฒนาการไปตามยุคสมัย กระทั่งช่างเทียนมีการพัฒนาฝีมือ และรังสรรค์ผลงานให้วิจิตรบรรจงอลังการขึ้นเรื่อยๆ จากการพิมพ์ลายดอกผึ้ง มาเป็นการแกะสลัก โดยองค์ประกอบต้นเทียนส่วนใหญ่เป็นเรื่องราว เกี่ยวกับพุทธประวัติ ทศชาติชาดกที่ถูกหยิบยกมาเล่าเป็นบางช่วงบางตอน

พ.ศ. 2482 นายโพธิ์ ส่งศรี ช่างทำทองเริ่มทำลายไทยประดับบนต้นเทียนพรรษา มีการพิมพ์ดอกผึ้งเป็นลายต่างๆ เช่นลายประจำยาม กระจังตาอ้อย และใบเทศ ต่อมานายสวน คูณผล ซึ่งเป็นผู้มีฝีมือทางช่างและศิลปะหลายแขนง ได้คิดทำให้ลายนูนและสลับสีจนเห็นได้ชัด ผลงานเทียนได้รับรางวัลชนะเลิศอยู่บ่อยครั้ง กระทั่งในปี พ.ศ. 2497 มีการทำเทียนพรรษาติดพิมพ์ลงบนหุ่น เล่าเรื่องราวพุทธประวัติส่งเข้าประกวดโดยนายประดับ ก้อนแก้ว พร้อมทั้งตกแต่งขบวนเทียนของวัดมหาวนารามได้อย่างสวยงามจนรับรางวัลชนะเลิศ และในปี พ.ศ. 2502 นายคำหมา แสงงาม ได้ทำเทียนพรรษาแบบแกะสลักมาประกวดเป็นครั้งแรกคณะกรรมการตัดสินให้ได้รับรางวัลชนะเลิศ ปีต่อมาจึงได้มีการแยกประเภทการประกวดต้นเทียนเป็นสองแบบคือ ประเภทติดพิมพ์ และประเภทแกะสลักเรื่อยมาจนกระทั่งปี พ.ศ. 2511 นายอุตส่าห์ และนายสมัย จันทรวิจิตร ผู้ริเริ่มแบบต้นเทียนยุคหลังที่มีความใหญ่โต วิจิตรพิสดารมากขึ้น อันเป็นลักษณะของเทียนพรรษาขนาดใหญ่ที่ปรากฏในปัจจุบัน

ประเพณีแห่เทียนพรรษ อุบลราชธานี http://www.esanpedia.oar.ubu.ac.th/picture/?p=103