ช่องทางรับฟังความคิดเห็น     คลังเอกสาร     คำถามที่พบบ่อย     ถาม-ตอบ      มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี    

ฮูปแต้มอีสาน

ฮูปแต้มอีสาน  

         ติ๊ก แสนบุญ คณะศิลปประยุกต์และสถาปัตยกรรมศาสตร์

 

                                         

 

การศึกษาภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทยจะมองในรูปแบบศิลปะไม่ได้ จะต้องมองในแง่การประกอบพิธีกรรม อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม อธิบายไว้ในหนังสือ แอ่งอารยธรรมอีสาน  เกี่ยวกับภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์ว่า “...ข้าพเจ้าคิดว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากการประกอบพิธีกรรม เพื่อความอุดมสมบูรณ์ (Fertility ritual) ซึ่งนับเป็นสิ่งที่พบมากในบรรดาคนในสมัยก่อนประวัติศาสตร์และคนที่มีระดับความเจริญทางเทคโนโลยีต่ำ ไม่อาจควบคุมธรรมชาติได้ ความต้องการที่จะมีอาหารกินอย่างสม่ำเสมอนั้น จำต้องอาศัยการทำพิธีกรรม ซึ่งมีทั้งการอ้อนวอนและบังคับธรรมชาติให้อำนวยความสมบูรณ์พูนสุขในเรื่องอาหารได้ ดังนั้นการที่มาร่วมกันเขียนภาพบนหน้าผาเช่นนี้ก็เท่ากับเห็นการมาร่วมมือกันทั้งอ้อนวอนและบังคับสิ่งนอกเหนือธรรมชาติให้บันดาลความสมบูรณ์พูนสุขในเรื่องอาหารการกินแก่พวกตน...การเขียนรูปตามผนังถ้ำ หรือ เพิงหินมีหลายแบบ มีทั้งเขียนเฉพาะเส้นโครงนอก เขียนเป็นเงาทึบ และใช้สองแบบผสมกัน การเขียนรูปคนจะมีทั้งรูปหน้าตรง และรูปด้านข้าง ส่วนรูปมือที่ปรากฏอยู่หลายแห่งนั้นใช้วิธีทำหลายวิธี เช่น เอามือชุบสีแล้วทาบลงบนผนังหิน เอามือทาบบนผนังหินก่อนแล้วใช้วัสดุซึ่งอาจเป็นปล้องไม้หรือปากพ่นสี เอามือทาบแล้วเอาสีเขียนเป็นเส้นไปรอบ ๆ รวมทั้งเขียนด้วยฝีมืออิสระ สีที่ใช้ส่วนใหญ่เป็นสีแดงซึ่งได้จากดินแดง หรือดินเทศ มีลักษณะเป็นก้อนสีแดง นำมาบดให้ละเอียดแล้วผสมยางไม้หรือไขสัตว์ หรือสารธรรมชาติอื่น ๆ ที่มีคุณสมบัติคล้ายกาว บางแห่งใช้สีน้ำตาล ดำ ขาว และสีเทา เครื่องมือที่ใช้ก็มีทั้งการใช้มือจุ่มสีแล้ววาดและใช้พู่กันซึ่งอาจเป็นพู่กันจากเปลือกไม้ หรือขนสัตว์

 

      

 

   โดยเนื้อหาของศิลปะผนังถ้ำจะถ่ายทอดเรื่องราวของการล่าสัตว์ การรื่นเริง การเกษตรกรรม พิธีกรรม บางส่วนเป็นรูปเขียนในเชิงสัญลักษณ์ภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์หรือจะเรียกว่าศิลปะงานช่างสุวรรณภูมิในเมืองไทยได้ส่งต่อเป็นรากเหง้าของการขีดเขียนรูปเล่าเรื่องต่อมาอย่างในสมัยหลัง เช่น ปูนปั้นประดับศาสนคารแห่งพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะในรูปแบบ จิตรกรรมที่ปรากฎอยู่ตามผนังโบสถ์วิหารต่างๆ ซึ่งชาวอีสานเรียกว่า “ฮูปแต้ม”

ลักษณะร่วมระหว่างฮูปแต้มบนพื้นผิวศาสนาคาร (ฮูปแต้มอีสานในปัจจุบัน) กับฮูปแต้มตามผนังถ้ำ (ศิลปะสุวรรณภูมิ)

  1. ทำขึ้นเพื่อสนองรับใช้ศรัทธาต่อลัทธิความเชื่อทางจิตวิญญาณที่เหนือธรรมชาติ
  2. เป็นสื่อสาธารณ์ที่สนองทั้งความเชื่อและความบันเทิง
  3. เป็นสถานที่ทำกิจกรรมสาธารณ์ทางความเชื่อของชุมชน
  4. บอกเล่าวิถีทางวัฒนธรรมและความเป็นอยู่ในโลกแห่งจินตนาการและโลกของความบันเทิง
  5. สะท้อนพัฒนาการทางสังคมวัฒนธรรมร่วมสมัยแห่งความเป็นปัจจุบันขณะในแง่ของสุนทรียภาพความงามและคุณค่า ความหมายทางสังคมระหว่างคนกับคน และคนกับธรรมชาติ
  6. ใช้ทักษะพื้นฐานของการใช้ภาพประกอบเล่าเรื่องด้วยทักษะและเทคนิคตามยุคสมัย

                          

         ฮูปแต้ม เป็นคำพื้นเมืองในภาษาถิ่นวัฒนธรรมลาวชาวอีสานโบราณ ฮูป หมายถึง รูป และคำว่าแต้มหมายถึง การขีดเขียนหรือการระบายสีเพื่อให้เกิดลักษณะอย่างรูป  รวมกันจึงหมายถึง ภาพเขียนหรือรูปเขียน  โดยต่อมาถูกนักวิชาการใช้เรียกในความหมายเดียวกันกับงาน  จิตรกรรม   ในวัฒนธรรมหลวง โดย ช่างผู้สร้างงานเหล่านี้ภาษาพื้นเมืองอีสานเรียกว่า ช่างแต้ม หรือช่างเขียนรูป เมื่อเทียบกับคำหลวงก็คือ จิตรกร นั้นเอง

          ฮูปแต้มอีสานอยู่ที่ไหน  ในแง่พัฒนาการกล่าวได้ว่าฮูปแต้มนั้นมีพัฒนามาจากการวาดฮูปบนผืนผ้าผะเหวด  ซึ่งถือเป็นอุปลักษณ์อย่างหนึ่งที่สำคัญในงานบุญผะเหวดหรือที่เรียกงานบุญเดือนสี่ โดยมีสาระในรูปที่เป็นการถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับพระเวสสันดรกัณฑ์ต่างๆจำนวน 13 กัณฑ์ต่อมาได้พัฒนามาสู่ผืนผนังศาสนาคาร  ตามพัฒนาการทางสังคมวัฒนธรรมที่มีการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมเช่น เทคโนโลยีด้านวัสดุแบบก่ออิฐถือปูนอันเป็นเทคโนโลยีนำเข้าจากชาวจีนที่นิยมสร้างตึกดินเป็นที่อยู่อาศัยโดยช่างพื้นบ้านอีสานได้นำเทคนิคดังกล่าวมาปรับประยุกต์ใช้และพัฒนาเทคนิคให้สอดคล้องกับภูมิปัญญาของตนโดยนำมาใช้กับอาคารสาธารณะทางศาสนาในส่วนที่เป็นโครงสร้างเรือนผนังแบบที่เรียกว่าผนังก่ออิฐถือปูน  เช่นสิม หอแจก โดยงาน ฮูปแต้ม นอกจากจะนิยมเขียนอยู่ตามผนังสิม (โบสถ์) บางแห่งก็เขียนไว้บริเวณคอสองของผนังหอแจกที่เป็นแบบก่ออิฐถือปูน หรือวิหารรวมถึงผนังตัวเรือนของหอธรรมาสน์ ก็มีปรากฏด้วยเช่นกัน แต่สิ่งที่ฮูปแต้มอีสานแตกต่างจากที่อื่นๆ คือ ช่างแต้มนิยมเขียนฮูปแต้มไว้ที่ผนังด้านนอกตัวอาคาร (แต่ก็มีบางส่วนที่นิยมเขียนอยู่ภายในสิมหรือเขียนทั้งภายนอกและภายใน) คตินี้น่าจะสอดคล้องกับจารีตอีสานที่ไม่ให้ผู้หญิงเข้าไปในสิม และทั้งนี้หากพิจารณาในด้านของประโยชน์ใช้สอยแล้วถือว่ามีความเหมาะสมในการเผยแพร่เข้าถึงเนื้อหาเรื่องราวในฮูปเขียนที่ทุกคนทุกเพศทุกวัยสามารถเดินชมฮูปแต้มได้อย่างสะดวกโดยมีหลังคากันสาดหรือหลังคาปีกนกปกคลุมป้องกันแดดฝนโดยรอบ

 

                

 

      งานฮูปแต้มอีสานในอดีต   เป็นงานช่างที่มีคุณค่าความหมายที่ให้ผลโดยตรงและจริงใจต่อผู้ได้พบ ถึงความบริสุทธิ์สะอาดและตรงต่อความตั้งใจของผู้ผลิต โดยปราศจากการล้อมกรอบของทฤษฏีใดๆแสดงออกซึ่งจิตอันเสรีและพลังของความตั้งใจที่จะผลักเอาความรู้สึกความคิดของตนออกมาโดยตรงไม่บิดเบือน    อันเป็นสุนทรียะทางความงามที่รู้สึกขึ้นในจิตใจของผู้ดู หรือผู้สร้างผลงานเอง เรียกว่า “จิตวิสัย” หรือจัดเป็นกลุ่มคตินิยมแบบอัตวิสัย (subjectivity) ซึ่งเน้นในเรื่องของอารมณ์ (emotion) และความเกินพอดี (excess) ผ่านการแสดงออกทางเส้นสายลายมือโดยไม่จำเป็นต้องเน้นหรือเก็บรายละเอียดส่วนต่างๆให้มีความประณีตบรรจงเสมอไป ช่างแต้มอาจทำงานอย่างหยาบและรวดเร็วแต่เปี่ยมด้วยอารมณ์และความมีชีวิตจิตใจ  อีกสิ่งหนึ่งที่เราจะพบในงานศิลปกรรมชาวบ้าน คือ ผลงานที่ทำขึ้นโดยปราศจากการยึดตัวเองเป็นใหญ่ ดังเช่นงานของศิลปิน (ปิกาสโซ่ ฟ.ล.ไรท์-คริสเตียน ดิออร์ ) ผู้ผลิตมีความปรารถนาอันแรงกล้าที่จะเห็นงานของตนสำเร็จออกมาตามปรารถนา แต่ไม่เคยคิดเลยว่า จะถูกสังคมจดจำตน และยกย่องฐานเป็นผู้ผลิตงานชิ้นนั้นๆความถ่อมตัวอันละเมียดละไม เป็นคุณสมบัติอันติดประจำกับงานประเภทนี้อยู่เสมอ   ผู้ดูจะวางอารมณ์ของตนได้เป็นกลาง  ปราศจากการเกาะเกี่ยวกับนามของผู้กระทำ และทั้งผู้ผลิตและผู้เสพผลิตผลนั้น ก็บรรลุถึงความมีสัจจะในผลงานอย่างเต็มที่  อีกทั้งคุณลักษณะทางความงามที่ผสมผสานกลมกลืนไปกับสภาพแวดล้อมภายในแห่งที่ว่าง ทางสถาปัตยกรรมแบบพื้นถิ่นที่ผนวกเข้ากับงานฮูปแต้มและประติมากรรมชาวบ้านที่ปรากฏอยู่ในองค์พระประธาน ทั้งหมดได้หลอมรวมผสมกลมกลืนทางด้านฝีมือในแบบฉบับ “ศิลปะพื้นบ้าน” ที่สัมพันธ์เป็นหนึ่งเดียวกันและที่สำคัญคือ สามารถสื่อสารกับชาวบ้านได้อย่างเป็นธรรมชาติตามฐานานุรูปทางสังคมและวัฒนธรรมในลักษณะง่ายงามตามวิถีไทยบ้าน