ช่องทางรับฟังความคิดเห็น     คลังเอกสาร     คำถามที่พบบ่อย     ถาม-ตอบ      มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี    

อักษรโบราณล้านช้าง

อักษรโบราณล้านช้าง

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ณัชวินนท์ แสงศรีจันทร์ 

คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

          จากหลักฐานทางจารึกและเอกสารโบราณประเภทต่าง ๆ ที่พบในภาคอีสานรวมทั้งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (ที่เรียกกันว่าอาณาจักรล้านช้างซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่หลวงพระบางและเวียงจันทน์) กล่าวได้ว่า อักษรท้องถิ่นที่กลุ่มคนวัฒนธรรมไทยลาวใช้บันทึกเรื่องราวทั้งคดีธรรมและคดีโลก เช่น ประวัติศาสตร์ คัมภีร์ทางพุทธศาสนา ตำรายา ตำราพิธีกรรม โหราศาสตร์ นิทานชาดก นิทานพื้นบ้าน วรรณกรรมคำสอน ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 21 เป็นต้นมาคืออักษร 2 ชนิด ได้แก่ อักษรธรรมล้านช้าง (อักษรธรรมอีสานหรืออักษรธรรลาวก็เรียก) และอักษรไทน้อย   

          อักษรธรรมล้านช้างนิยมเรียกว่า อักษรตัวธรรม อักษรธรรม หรือหนังสือธรรมมีรูปสัณฐานกลมมนคล้ายอักษรมอญ อักษรพม่า และอักษรธรรมล้านนาซึ่งมีใช้อยู่ทางภาคเหนือของไทย ซึ่งศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร กล่าวว่า ล้านนาใช้อักษรธรรมเขียนภาษาไทยอย่างน้อยตั้งแต่พ.ศ. 2008 ดังหลักฐานคือจารึกที่ฐานพระพุทธรูปวัดเชียงหมั้น จังหวัดเชียงใหม่  อักษรธรรมนั้นได้ดัดแปลงมาจากอักษรมอญยุคใหม่ ซึ่งใช้อยู่ที่ลำพูนเมื่อพ.ศ. 1793-1843  อักษรธรรมในล้านช้างรวมทั้งภาคอีสานของไทยได้แบบอย่างมาจากอักษรธรรมของอาณาจักรล้านนา ซึ่งสันนิษฐานว่า อาณาจักรล้านช้างนำเอาอักษรธรรมมาใช้ในดินแดนลุ่มแม่น้ำโขงแล้วภาคอีสานได้รับอิทธิพลด้านรูปของอักษรธรรมล้านนาผ่านมาทางอาณาจักรล้านช้างอีกครั้งหนึ่ง  ต่อมาได้วิวัฒนาการตามลำดับเป็นอักษรธรรมที่ใช้แพร่หลายในอาณาจักรล้านช้างรวมทั้งภาคอีสานของไทยด้วยจากหลักฐานศิลาจารึกในอาณาจักรล้านช้างและภาคอีสานพบว่า ศิลาจารึกที่เป็นอักษรธรรมเก่าแก่ เช่น จารึกฐานพระพุทธรูปวัดสีสะเกด เวียงจันทน์ (พ.ศ. 2033) จารึกวัดบ้านสังคโลก หลวงพระบาง (พ.ศ.2070)  จารึกฐานพระพุทธรูปพระประธานในพระอุโบสถวัดพระธาตุพนม จังหวัดนครพนม (พ.ศ. 2046)

อักษรไทน้อย (หรือไทยน้อย) มีรูปสัณฐานเหมือนกับอักษรไทยปัจจุบัน อักษรลาวของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และเหมือนกับอักษรฝักขามที่ใช้อยู่ทางภาคเหนือของไทย ซึ่งศาสตราจารย์ประเสริฐ ณ นคร กล่าวว่า “อักษรฝักขามมีรูปลักษณะยาวซึ่งกลายมาจากตัวอักษรของพ่อขุนรามคำแหง  อักษรฝักขามมีรูปลักษณะใกล้เคียงกับตัวอักษรไทน้อยของอีสานและของประเทศลาว ต่อมาประเทศลาวเปลี่ยนชื่อจากตัวอักษรไทน้อยเป็นอักษรลาว” 

จากข้อความข้างต้นอาจกล่าวได้ว่า อักษรไทน้อยมีพัฒนาการมาจากอักษรไทยสุโขทัย ซึ่งศาสตราจารย์ธวัช ปุณโณทก สรุปว่า อักษรไทน้อยที่เข้ามาแพร่หลายในอาณาจักรล้านช้างและภาคอีสานนั้น น่าจะมีอยู่ 2 ลักษณะ คือ อักษรไทยน้อยแพร่เข้าสู่อาณาจักรล้านช้างโดยตรง และอักษรไทยสุโขทัยแพร่เข้ามายังอาณาจักรล้านนาก่อนแล้วจึงเข้าสู่อาณาจักรล้านช้าง ดังหลักฐานทางประวัติศาสตร์ คือพระเจ้ากือนาแห่งอาณาจักรล้านนาทรงส่งราชฑูตมานิมนต์พระสุมนเถระจากอาณาจักรสุโขทัยในสมัยพระยาลิไทย เพื่อไปเผยแผ่พุทธศาสนานิกายลังกาวงศ์ที่อาณาจักรล้านนา  พระสุมนเถระได้นำคัมภีร์ศาสนาเข้ามาด้วย อักษรไทยสุโขทัยจึงน่าจะแพร่เข้ามาในครั้งนี้ด้วย ภายหลังรูปแบบของตัวอักษรมีวิวัฒนาการและแตกต่างไปจากเดิมมาก เรียกชื่อใหม่ว่า “อักษรไทน้อย” อักษรไทน้อยใช้กันอย่างกว้างขวางในดินแดนลุ่มแม่น้ำโขง และแพร่เข้าสู่ภาคอีสานนับแต่นั้นมา ตามหลักฐานศิลาจารึก พบว่า ในภาคอีสาน ศิลาจารึกที่เป็นอักษรไทน้อยได้แพร่หลายตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 21 เป็นต้นมา เช่น จารึกวัดแดนเมือง อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย (พ.ศ.2073)

          โดยทั่วไป อักขรวิธีของอักษรโบราณดังกล่าวไม่ปรากฏรูปวรรณยุกต์ ผู้อ่านต้องอาศัยบริบทของคำจึงจะเข้าใจ ดังที่เรียกกันว่า “หนังสือหนังหา” หมายความว่า ผู้อ่านต้องหาใส่วรรณยุกต์เอง อย่างไรก็ตาม ในสมัยหลังเริ่มมีการกำกับรูปวรรณยุกต์เอก วรรณยุกต์โทอยู่บ้างในบางคำเพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจมากขึ้น

          ในปัจจุบัน แม้ว่าเอกสารที่บันทึกด้วยอักษรโบราณจะได้รับการถ่ายถอดและ/หรือปริวรรตเป็นอักษรไทย และมีการศึกษาบ้างแล้วก็ตาม แต่เอกสารโบราณ โดยเฉพาะเอกสารใบลานยังมีอยู่เป็นจำนวนมากในวัดต่าง ๆ ที่ยังไม่มีการถ่ายถอดและปริวรรตหรือแปลเป็นภาษาไทย เหตุคนอ่านออกมีน้อยมากนั่นเอง