ช่องทางรับฟังความคิดเห็น     คลังเอกสาร     คำถามที่พบบ่อย     ถาม-ตอบ      มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี    

หลักผีถึงหลักพุทธ

หลักผี ถึง หลักพุทธ

ติ๊ก แสนบุญ คณะศิลปประยุกต์และสถาปัตยกรรมศาสตร์

         เมื่อศาสนาเข้ามาหลังพ.ศ.๑๓๐๐ผู้คนอีสานโบราณ พบร่องรอยบางอย่างของพัฒนาการทางสังคมเก่า ที่มีความเชื่อเคารพนับถือหลักบ้านซึ่งเป็นวัฒนธรรมร่วมของทั้งชาวผู้ไท ชาวอีสานและชาวข่า ขมุ ที่นับถือผี(สมชาย นิลอาธิ, 2542 )โดยคติดังกล่าวแสดงให้เห็นการสืบเนื่องสัมพันธ์กับข้อมูลด้านประวัติศาสตร์โบราณคดี ในสังคมสมัยบุพกาลของคติวัฒนธรรมหินตั้งที่เป็นดั่งหลักที่ผูกวัวควายเพื่อฆ่าในพิธีเซ่นบูชาโดยมากเป็นหลักไม้ บางครั้งจึงเป็นหลักหิน (ชิน อยู่ดี, 2529)โดยวัฒนธรรมหินตั้งดังกล่าวนี้ได้ส่งต่อพัฒนาการมาถึงวัฒนธรรมใบเสมารุ่นแรกๆ ของชาวอุษาคเนย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ นิยมตั้งรอบๆ ที่ประกอบพิธี ซึ่งน่าจะได้แก่พิธีฆ่าคนหรือสัตว์บูชาเจ้าแม่ดินและบรรพบุรุษ ขอฝนฟ้าดีและความอุดมสมบูรณ์ (ไมเคิล ไรท์, 2550 )ซึ่งในปัจจุบันก็ยังมีพิธีนี้ปรากฏอยู่ในหลายวัฒนธรรมโดยเฉพาะกลุ่มลาวเทิงในสปป.ตอนใต้ ที่ยังคงวิถีแบบสังคมชนเผ่า ดั่งเช่นกลุ่ม ขมุ หรือ ลาวเทิง ของสปป.ลาว เป็นต้น

             คติเรื่องเสมาหินอันเป็นระบบความเชื่อในเรื่องการนับถือผีบรรพบุรุษที่ยังคงปฏิบัติกันอยู่ในบรรดาประชาชนพื้นเมืองของเอเชียอาคเนย์ตั้งแต่โบราณจนปัจจุบัน อย่างในอีสานที่สร้างที่บรรจุอัฐิของผู้ตายด้วยการสร้างเป็นรูปเสมาแบบสมัยทวารวดีและลพบุรีไว้ในเขตวัดหรือปักรอบๆ บริเวณวัดแทนการสร้างพระสถูปเล็กเช่นภาคกลาง(ศรีศักร วัลลิโภดม, 2546 )

      อย่างในอดีตที่อีสานและสปป.ลาว จะมีคติการสร้างเสาไม้ชนิดหนึ่งที่เรียกในภาษาถิ่นว่า เสาไม้หลักเส หรือบ้างก็เรียกว่า หลักเสฝังธาตุหรือ หลักจูมกร ก็เรียก (วิโรฒ ศรีสุโร, 2539 )โดย หลักเส นี้แต่เดิมเป็นหลักไม้ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้งานในเชิงสัญลักษณ์สำหรับแสดงตำแหน่งที่ตั้งบริเวณฝังหม้อกระดูกของผู้วายชน ซึ่งแต่เดิมชาวบ้านโดยทั่วไปมักจะฝังและทำไม้หลักเสอยู่ตามป่าช้า โดยในวัฒนธรรมลาวชาวอีสานไม่เก็บกระดูกคนตายไว้ที่บ้าน (บุญคง สายยนต์, 2554 : สัมภาษณ์)   อนึ่งไม้เสาหลักเส ที่ปักไว้แสดงอาณาเขตของศาสนาสถานไทบ้านเรียกว่า บือวัดหรือหลักกลางวัดบางวัดมีหอธรรม สร้างคู่กับหลักกลางวัด ซึ่งไม่มีช่องเก็บดูกเจาะไว้ โดยมักนำอัฐิใส่ขวดหรือหม้อฝังไว้ เรียกหลักเสฝังธาตุ โดยมักไม่ประณีตในการตกแต่งเท่าธาตุไม้ โดยทางเมืองร้อยเอ็ดนิยมเรียกว่า หลักสกอนหรือจะกอนก็เรียกตามสำเนียงแต่ละถิ่น ซึ่งจะเก็บอัฐิธาตุ2ปีแล้วนำไปบรรจุอยู่ในช่องเก็บอัฐิธาตุไม้ หรือซื้อหาสร้างธาตุปูนต่อ (สัมภาษณ์ เสถียร โพธิ์ไข อายุ68ปีผู้ให้ข้อมูลวันที่28มีค62)

          หลักเส ในยุคสมัยหลังได้มีการปรับเปลี่ยนคติมาเก็บและสร้างอยู่ในพื้นที่วัดพร้อมๆกับการเผาศพที่วัด (จากเดิมที่เผาและฝังกระดูก ไว้ในป่าช้า)โดยบริเวณด้านหลังสิม (ส่วนใหญ่เป็นบุคคลสำคัญอย่างอดีตเจ้าอาวาสรูปก่อนๆ)หรือที่นิยมมากคือบริเวณริมรั้ววัด บางแห่งก็นำไปรวมกันบริเวณพื้นที่ท้ายวัดโดยคติการนำกระดูกไปฝากวัดทำได้หลายวิธี แต่ที่เห็นกันมากก็คือเอาหม้อกระดูกฝังดินและสร้างเสาไม้หลักเส สูงประมาณเอวหรือมากกว่านั้น  บางคนนำก็เอาหม้อกระดูกไปฝากพระที่สนิทและเกรงใจกัน ท่านก็เก็บไว้บนกุฏิ ส่วนใหญ่ก็เอาเก็บไว้บนศาลาวัด นานๆเข้าท่านหาญาติไม่พบท่านก็เอาไปฝากไว้ตามโคนต้นโพธิ์ หรือเอาไปฝังดินให้ (ก่อ สวัสดิ์พาณิชย์, 2546 : 210)

        โดยคติดังกล่าวนี้ ส่งต่อพัฒนาการด้านรูปแบบของคตินิยม การสร้างธาตุไม้ ในเวลาต่อมาโดย หลักเส รวมถึง เสาหลักบือบ้าน ส่วนใหญ่มีหน้าตัดเป็นเสาไม้กลมและเสาไม้สี่เหลี่ยม (ในยุคหลังนิยมใช้เสาปูนทดแทนไม้ซึ่งมีข้อจำกัดด้านอายุการใช้งาน)โดยมีรูปลักษณะส่วนปลายไม้แหลม ตกแต่งส่วนเส้นลวดบัวคอเสือ  ส่วนตัวเรือนไม่มีการทำช่องเจาะใดๆ ซึ่งถือได้ว่าเป็นจุดต่างกับ ธาตุไม้  (ซึ่งมีลูกเล่นในเชิงช่างที่ซับซ้อนกว่าโดยเฉพาะการตกแต่งบัวหัวเสาแบบขันหมากเบ็งหรือลักษณะของการแตกหน่อไม้)ที่นิยมทำช่องเจาะสำหรับเป็นที่เก็บกระดูกผู้วายชน(โดยมีกระจกปิดที่สามารถถอดเปิดปิดได้)

        เสาหลักวัด หรือที่เรียกว่า บือวัด ซึ่งนักวิชาการบางกลุ่มใช้เรียกรวมในความหมายเดียวกับคำว่า หลักเส  ทั้งนี้ยังมี เสาเส  ที่ถูกสร้างขึ้นเป็นแนวเสารั้ววัดโดยเฉพาะปากทางเข้าออกหลักของซุ้มประตูโขง และในพื้นที่ของบ้านที่เป็นศูนย์กลางชุมชนก็จะมีเสา หลักบือบ้านที่เป็นศูนย์กลางทางความเชื่อของชุมชนในเชิงสัญลักษณ์และ ต่อมาเมื่อสังคมชุมชนขยายตัวมากขึ้นกลายเป็นเมืองจึงเกิดคติการสร้าง เสาหลักเมือง ซึ่งทั้งหมดล้วนก็มีที่มาจากลัทธิการนับถือผีสางเทวดามาก่อนที่จะก้าวไปสู่การนับถือศาสนาที่ละเอียดซึ่งก็คือพุทธศาสนา

                   กรณีของสังคมไทย จากคติบรรพบุรุษ หอผีประจำหมู่บ้าน ผีเรือนบนหิ้งเสาเอกนี้เองที่วิวัฒนาการเป็นศาลหลักเมืองดังที่เห็นในปัจจุบัน(ท.กล้วยไม้ ณ อยุธยา, 2525 :8-9) หรือที่ยังพบเห็นอยู่มาจนถึงปัจจุบันคือคติการทำเสาหลักฆ่าควาย ในกลุ่มวัฒนธรรมข่า กำมุ ที่เป็นหลักไม้ศักดิ์สิทธิ์ซึ่งมีทั้งหลักในระดับชุมชนและหลักในระดับครอบครัว ที่จะใช้หลักนี้ทำหน้าที่เป็นดังหลักประหารบูชายันต์สัตว์เพื่อสังเวยต่ออำนาจเหนือธรรมชาติหรือผีที่ตนนับถือจนต่อมาเมื่อมีการรับนับถือศาสนาใหม่ จึงได้บูรณาการความเชื่อเดิมที่นับถือผีผสมผสานสู่การรับนับถือพระพุทธศาสนาแบบชาวบ้าน  กลายมาเป็นหลักบือบ้าน หรือ หลักบือวัด โดยเฉพาะสังคมอีสาน

            ในวัฒนธรรมล้านนาซึ่งก็คือกลุ่มวัฒนธรรมลาว ของไทยก็มีคติการเคารพบูชาเสาหลักไม้ที่เรียกว่า เสาอินทขีล รวมถึงกลุ่มชนอื่นๆในแถบถิ่นอุษาคเนย์ก็ล้วนมีคติบูชาเสาหลักไม้ (หรือวัสดุอื่นๆ)ในรูปแบบต่างๆที่เป็นอัตลักษณ์ของตนเอง  โดยพัฒนาการด้านรูปแบบน่าจะมีการหยิบยืมนำรูปสัญลักษณ์ของหลักเส หลักบือบ้าน  หรือแม้แต่รูปลักษณะของ ธาตุไม้ (ซึ่งเป็นการสืบต่อวัฒนธรรมการเก็บกระดูกครั้งที่สอง)ซึ่งมีความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กันในแบบฉบับของวัฒนธรรมชาวบ้านที่อาศัยวัสดุทางธรรมชาติที่ใกล้ตัวอย่างไม้มาเป็นวัสดุหลัก ซึ่งทั้งหมดนี้น่าจะเป็นพัฒนาแรกเริ่มก่อนที่จะคลี่คลายรูปแบบไปสู่ลักษณะรูปแบบและวัสดุใหม่อย่างลักษณะของงานปูนปั้นแห่งวัฒนธรรมราชสำนักล้านช้าง (แบบสัตตบริภัณฑ์ราวเทียนหรือแบบลักษณะพระซุ้มโขงในเรือนปราสาทย่อส่วน)โดยมีตำแหน่งที่ตั้งที่สำคัญในเชิงสัญลักษณ์อย่างเดียวกัน