ช่องทางรับฟังความคิดเห็น     คลังเอกสาร     คำถามที่พบบ่อย     ถาม-ตอบ      มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี    

สักขาลาย

สักขาลาย สัญญะแห่งความเป็นชายอ้ายลาว

ติ๊ก แสนบุญ คณะศิลปประยุกต์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ 

           การสักถือเป็นวัฒนธรรมร่วมอันเก่าแก่ของมวลมนุษย์ทุกหมู่เหล่าที่นิยมกันอย่างแพร่หลาย    ในบริบทแถบถิ่นสุวรรณภูมิ มีข้อมูลจากหนังสือเรื่องของชาติไทย  ที่เขียนโดย พระยาอนุมานราชธน กล่าวถึงกำเนิดชาติอ้ายลาว (คำว่าอ้ายลาวหมายถึง ชนชาติไทยคือลแต่โบราณนานมาเรียกกันว่า”อ้ายลาว”  มานิต  วัลลิโภดม  2521.)ได้มาจากจดหมายเหตุของจีนและญวน มีข้อความตอนหนึ่งว่า “ชาวอ้ายลาวสักรูปมังกรที่ร่างกาย นุ่งผ้ามีหางห้อยอยู่ข้างหลัง“และมีอีกตอนหนึ่งว่า “พวกเหล่านี้ทั้งหมดสักขาหมึกเป็นรูปช้าง รูปมังกร นุ่งผ้ามีสายกระเบนห้อยข้างหลัง”  นอกจากนี้วัฒนธรรมการสักในบริบทดังกล่าวยังถูกตีความโดยนักวิชาการจีนว่า พวก เยะ สมัยโบราณนับถือ กบเป็นเทพ ที่ให้ความคุ้มครองป้องกันพวกเขา จึง นิยมสักลายกบไว้ตามตัว ชาวจ้วงทางภาคใต้ของกวางสี ชาวหลีที่เกาะไหหลำ และตระกูลไทย-ลาวบางกลุ่ม(เช่นลาวพุงดำหรือลาวน้ำหมึก)ล้วนนิยมสักตามตัวเรียก “สักหมึก.” เพราะเป็นสีดำหรือ”สักลายขากบเพราะลายเหล่านั้นคล้ายกับลายที่ขากบ”(สุจิตต์ วงษ์เทศ,คนไทยอยู่ที่นี่ที่อุษาคเนย์ 2537 .หน้า64)พวกอ้ายลาวนิยมสักตัวด้วยหมึก และมณฑลยูนานกับไกวเจานั้น จีนเลยเรียก ขึ่นหมาน แปลว่างูใหญ่ ความข้อนี้นำไปพิเคราะห์เปรียบเทียบกับพงศาวดารญวนเล่าว่า พระเจ้าหลากกองลุน เป็นเชื้อสายพระยานาค และทรงประกาศบังคับให้พลเมืองสักเป็น รูปนาค รูปงู เพื่อป้องกันอสรพิษนั้น ก็ได้ความรู้ว่าชนเหล่านั้นคือพวกอ้ายลาว  ต่อมาชนเผ่าอ้ายลาวที่เคลื่อนตัวมาอยู่ทางอาณาจักรลานนา และลานช้างยังนิยมทำการสักตัวด้วยหมึกอยู่ เนื่องจากได้รับ  อิทธิพลทางศาสนาจากอินเดีย   มากขึ้นกว่าเดิม จึงเปลี่ยนลวดลายการสักจาก รูปนาค รูปงู  เป็น สัตว์ป่าหิมพานต์ตามคติของอินเดียเช่น รูปมอม(สิงห์โต)และรูปนก เป็นต้น   และในหนังสือนิทานโบราณคดี ของ สมเด็จฯกรมพระดำรงราชานุภาพ  มีความตอนหนึ่งว่า ตั้งแต่ก่อนมานั้น ชนชาวกรุงเทพฯ สำคัญชน ชาวอีสานว่าเป็นลาว ครั้งประวัติศาสตร์แพร่หลายต่อมาจึงรู้กันมากแล้วว่าเป็นไทย มิใช่ลาว

        เช่นเรียก ชาวมณฑลพายัพว่า ลาวพุงดำ เพราะผู้ชายชอบสักมอมแมมตั้งแต่พุงลงไปจนถึงเขา เรียก มณฑลอีสาน และอุดรว่า ลาวพุงขาว เพราะไม่ได้สักมอมแมมอย่างนั้น(ความจริงสักเหมือนกัน แต่ไม่สักเลยขึ้นถึงพุง คือ สักตั้งแต่หัวเข่าจนถึงโคนขาและตะโพกเท่านั้น  แม้แต่ชนเผ่าอ้ายลาวที่เคลื่อนตัวมาตั้งราชธานีอยู่ทางใต้เช่น กรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรีและกรุงเทพฯทางราชการก็ยังใช้การสักด้วยหมึกอยู่ คือ เมื่อชายฉกรรจ์มีอายุครบ20ปีบริบูรณ์จะต้องทำหน้าที่เป็นไพร่หลวงสังกัดมูลนายโดยให้มีการสักเลก เมื่อก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 นั้น บรรดาชายที่ถูกเกณฑ์ให้เป็นทหารจะต้องมีการสักด้วยหมึก ที่ท้องแขนด้านซ้ายด้วย (หนังสืองานศพ จารุบุตร เรืองสุวรรณ 2527 หน้า107)ในคติพุทธก็มีเรื่องราวเกี่ยวเนื่องกับวัฒนธรรมการสัก ตอนตำนานพุทธประวัติตอนเสด็จดับขันธปรินิพพานว่า เมื่อถวายพระเพลิงพระบรมศพแล้ว ก็มีการแจกจ่ายพระบรมสารีริกธาตุ เพื่อนำไปบรรจุในสถูปเจดีย์กัน แต่มีปัญหาว่ากษัตริย์เมืองยูนนาน หนองแส และแคว้นสิบสองจุไทไม่ได้รับแจก จึงนำแต่พระอังคารธาตุกลับเมือง แล้วมีการอธิษฐานพระอังคารธาตุจงแทรกซึมเข้าตามเนื้อตัวกษัตริย์ด้วยอิทธิฤทธิ์ทำให้คงกระพันชาตรี มีกำลังเหมือนช้างสาร สามารถกระโดดสูงได้ถึง 100 องคาพยพ จึงทำให้  ไทย ยูนนาน สิบสองจุไท น่านเจ้า ไทยใหญ่ ไทยเข ไทยยาง ไทยลื้อ ไทยเขิน นิยมการสักลาย (ไพโรจน์ สโมสร.พระอริยานุวัตรกับการสักลาย ใน ศิลปวัฒนธรรม : 2524) อนึ่งค่านิยมการสักในวัฒนธรรมไทย-ลาวยังมีนัยยะความหมายทางสังคมโดยสะท้อนผ่านผญาอีสานโบราณ เช่นขาลายแล้วทางแอวตั้งซ่อ แอวตั้งซ่อแล้วทางแข่งตอกทอง ขาลายแล้วแอวบ่ลายกะบ่ค่อง คันบ่สักนกน้อยงอยแก้มกะบ่คือ สิบผืนผ้าซาวผืนผ้าบ่ท่อขาลายเคืออ้ายขึ้นก่าย  ขาลายเคืออ้ายขึ้นก่ายแล้วปานผ้าหมื่นแสน ขาลายบ่อจำเหงาอย่าหวังเอาลูกสาวเพิ่น  ขาลายบ่จำเบี้ยงอย่าขันเลี้ยงแม่ผู้สาว ขาขาว นุ่งผ้าฝ้าย ขาลายมอม นุ่งผ้าเข็นก่อม ขาลาย ขึ้นชั้นฟ้า ขาขาวนั่น เกือกขี้ตม ขาขาวมานั่งใกล้เหม็นคาวฮากสิออก ขาลายมานั่งใกล้พอปานอ้มหมื่นสวน ขาลายนอนในส่วม (ห้องนอนลูกสาวในเฮือนอีสานโบราณ) ขาขาวนอนฮกไก่

สักเพื่ออะไร  1เพื่อความสวยงามเรียกร้องความสนใจจากผู้อื่นหรือเพศตรงข้ามและต้องการการยอมรับตามกระแสรสนิยมในสังคมที่มีต่อการสักในเชิงสร้างสรรค์  2 เพื่อเสริมสร้างความมั่นใจผ่านพิธีกรรมด้วยรูปแบบคาถาอาคมผ่านครูบาอาจารย์ที่นับถือ 3 เพื่อแสดงความมีตัวตนมีสังกัดในโครงสร้างทางสังคมเก่า4 เพื่อแสดงความเป็นพวกเดียวกัน  5 เพื่อการรักษาโรคภัยไข้เจ็บที่เรียกกันว่าสักน้ำมันซึ่งจะไม่ปรากฏสีในอีสานจะสักเพื่อรักษาโรคปะดง   โดยทั้งหมดนี่จะเห็นถึง  วัตถุประสงค์ของวัฒนธรรมการสักในเชิงสร้างสรรค์  และในทางตรงกันข้าม การสักยังถูกใช้ในเชิงลบ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการประจานผู้กระทำความผิดทั้งทางโลกและทางธรรมโดยจะใช้ในกรณีคนต้องโทษหลวง หรือผู้ทีต้องโทษปาราชิก โดยจะสักเป็นเครื่องหมายหรืออักขระที่หน้าผาก   เพื่อประจานคนๆนั้นกับสังคมให้เห็นเป็นเยียงอย่าง

สักอย่างไรในสมัยก่อนจะใช้ วัสดุอุปกรณ์ง่ายๆที่มีลักษณะปลายแหลมก็เพียงพอแล้ว โดยเฉพาะ “หนามหวายต่อมาพัฒนาเป็นเหล็กแหลม บ้างก็ใช้เข็มหมุดหรือเข็มเย็บผ้าโดยนำมาเสียบด้ามไม้เรียงต่อกัน2-3เล่มเพื่อให้ได้รอยสักมากขึ้น   ทั้งนี้ต้องมีอุปกรณ์เสริมเช่น ฝิ่นที่จะช่วยลดความเจ็บปวด แต่ถ้ามั่นใจว่าทนได้ก็ไม่ต้องเคี้ยวฝิ่นก็จะใช้  ผ้าขาวม้าหรือเชือก  มาเป็นตัวช่วยยึดจับเพื่อให้การสักลุร่วงไปได้ด้วยดี การสักมีทั้งใช้ปากาลูกลื่นร่างหรือใช้กระดาษร่างแล้วทาบลงโดยดึงส่วนที่สักให้ตึงและใช้เข็มจุ่มหมึกแล้วแทงตามแบบ สูตรน้ำหมึก ช่างบางคนใช้ใบมันแกวเคี่ยวใส่เขม่าควันไฟให้มีสีดำผสมกับบี (ดี) หมู ซึ่งจะทำให้ลวดลายดำสนิทขึ้นมันดี และไม่มีสีแดงแซมขึ้นมา บางทีก็ใช้บี(ดี)ควาย ซึ่งบางท่านเล่าว่า ถ้าใช้บีควายด่อน(เผือก)แล้วเวลาลงน้ำจะปวดฉี่ทันทีนอกจากนี้อาจจะใช้บี(ดี)สัตว์อื่นๆอีกก็ได้เช่นบีวัว บีหมี บีงู แม้กระทั่งบีปลาค่อ(ปลาช่อน)ซึ่งส่วนมากช่างที่รับสักจะเตรียมทำสำเร็จรูป โดยเคี่ยวให้แห้งเป็นแท่งแข็งไว้ก่อนแล้ว พอถึงเวลาจะใช้จึงนำมาฝนผสมกับน้ำอีกทีหนึ่ง แล้วทำการสักหรือกระทุ้งเบาๆลงที่ผิวหนังพอให้เลือดออกและสีดำซึมลงไปได้(หนังสืองานศพ จารุบุตร เรืองสุวรรณ 2527)ค่าสักเมื่อกว่า80ปีที่แล้วถ้าเป็นสักขาลายบั้งปลาแดก(สักเพียงเหนือเข่าขึ้นมาเล็กน้อยไม่ถึงเอว)จะคิดขาละสองสลึงรวมสองขาเป็นหนึ่งบาท ถ้าสักขาลายเต็มรูปแบบจะคิดขาละหนึ่งบาทรวมเป็นสองบาทมาสมัยหลังเพิ่มเป็นข้างละสี่บาท ก็มีปรากฏโดยจะสักทีละขาโดยแต่ละขาใช้เวลาตก10วันรวมทั้งสองขาใช้เวลาร่วม20วันเพราะการสักแต่ละขาต้องมีระยะเวลาพักฟื้นไม่ให้เกิดการอักเสบ

ช่างสักขาลายคือใคร…จากการสอบถามผู้เฒ่าเจ้าของลายสัก และลูกหลานชาวกุลาในอีสานส่วนใหญ่กล่าวว่า หมอสัก เป็นชาวกุลา (กุลาในอีสานเป็นชื่อเรียกพ่อค้าเร่ที่เข้ามาค้าขายด้วยการเดินเท้า  ซึ่งเขาบอกว่าเขาเป็น ไทยใหญ่มาจากพม่า)ในบางพื้นที่เรียกพวกเขาว่า  กุลาขาก่าน (ขาลาย)ซึ่งนิยมมารับงานสักในช่วงฤดูหนาวเพราะไม่เป็นอุปสรรคต่อการรักษาแผลจากการสัก   ต่อมาคนท้องถิ่นที่เป็นคนที่เคยสักและมีฝีมือบวกกับความกล้าพอ ก็ผันตนเองมาเป็นผู้สัก ซึ่งมีทั้งที่เป็นพระสงฆ์และฆราวาส

เอกลักษณ์ของลายสัก จำแนกเป็น3กลุ่มคือ 1 สักรูป เช่นรูปสัตว์โดยเฉพาะตัวมอมหรือสิงห์ดำเป็นที่นิยมมากสุดที่เน้นเรื่องความสวยงามมากกว่าคาถาอาคมส่วนหงส์จะเป็นเรื่องเมตตามหานิยมมากกว่าถ้าเน้นเรื่องคาถาอาคมจะเป็นรูป เสือ นกอินทรีย์ หนุมาน หรือลิงลมและมังกรเป็นต้น  2 สักลาย เน้นสักเพื่อความสวยงามมีทั้งลายบัวเครือ ลายแข้งหมาตาย ลายใบหมากขาม หรือ  ลายดอกผักแว่นโดยเฉพาะผู้หญิงส่วยนิยมสักมาก   นอกจากนี้ยังมีการสักลายธรรมสิงโตที่ใช้แสดงความเป็นพวกเดียวกัน 3 สักอักขระ ถือได้ว่าเป็นที่นิยมมากที่สุดโดยจะเน้นเรื่องคาถาอาคมเป็นรูปยันต์ประเภทต่างๆมีการใช้กลุ่มภาษาศักดิ์สิทธ์เช่นภาษาเขมรเข้ามาเกี่ยวข้อง(สมชาย นิลอาธิ. สมบัติชนบทอีสาน เล่ม3 2531 หน้า50)   ลักษณะของ รูปแบบการสักขาลาย นี้นักวิชาการตะวันตกมักเรียกว่าการสักรูปกางเกงหรือการสักรูปกางเกงขาสั้น และเชื่อว่าเป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมของพม่าโดยเฉพาะกลุ่มไทยใหญ่   

           ดังนั้นวัฒนธรรมการสักขาลายน่าจะเป็นอีก  หนึ่งลักษณะร่วมของคนสุวรรณภูมิในอดีต ที่มีการถ่ายไปเทมาผสมผสานเป็นวัฒนธรรมที่หลากหลากในยุคที่ไม่มีเส้นแบ่งของความเป็นรัฐชาติ   วัฒนธรรมการสักไม่ว่าจะในบริบท อดีตหรือปัจจุบันล้วนมีเงื่อนไขตัวแปรอื่นๆที่มีความซับซ้อน ทางสังคมที่ต่างกัน หากแต่ในแง่นัยยะเชิงสัญลักษณ์จะเห็นได้ว่าการสักไม่ว่าจะอยู่ในสภาวะเงื่อนไขใดนิยามความหมาย ของการสักยังสะท้อนวิถีชีวิตในฐานะวัตถุทางวัฒนธรรมที่เป็นสัญลักษณ์แห่งความเชื่อต่ออำนาจเหนือธรรมชาติในนิยามความหมาย โหด เลว ดี และสุนทรีย์ ของโลกียะแห่งความเป็นมนุษย์ปุถุชนธรรมดาที่ต้องอ่อนน้อมต่อธรรมชาติและแสวงหาที่พึ่งทางใจเพื่อเสริมสร้างความมั่นใจในวิถีแห่งตน