ช่องทางรับฟังความคิดเห็น     คลังเอกสาร     คำถามที่พบบ่อย     ถาม-ตอบ      มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี    

บุญพระเวส

พิธีกรรมบุญผะเหวด

 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ณัชวินนท์ แสงศรีจันทร์

คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยลัยอุบลราชธานี

       

 

  คำว่า ผะเหวด หรือ เผวสเป็นภาษาลาว มาจากคำว่าพระเวสหรือพระเวสสันดร พิธีกรรมบุญผะเหวดก็คือพิธีกรรมการนำเอาเรื่องราวของพระเวสสันดรซึ่งมีแนวคิดสำคัญคือการบำเพ็ญทานบารมีมานำเสนอโดยผ่านพิธีกรรมการเทศน์ในรูปแบบการเทศน์แบบโบราณ คือการเทศน์ตามเนื้อหาในหนังสือผูกที่เป็นใบลานซึ่งบันทึกด้วยอักษรธรรมอีสาน (ในปัจจุบันนิยมใช้เอกสาร/คัมภีร์ที่บันทึกด้วยอักษรไทย) หรือการเทศน์แบบ 3 ธรรมาสน์ ซึ่งปัจจุบันได้รับความนิยมมากขึ้น เพราะใช้เวลาน้อยกว่าการเทศน์แบบโบราณ และเพราะผู้ฟังเข้าใจเรื่องราวทั้งหมดได้ง่ายกว่าแบบโบราณ

          ชาวอีสานถือว่าเป็นจารีตประเพณีที่สำคัญอย่างยิ่ง ชาวบ้านแทบทุกหมู่บ้านนิยมจัดขึ้นทุกปี ถือได้ว่าเป็นบุญใหญ่ประจำปีของหมู่บ้าน มักกระทำกันในช่วงเดือน 3-5 (กุมภาพันธ์ ถึง เมษายน) หลังจากที่ได้เก็บเกี่ยวข้าวและทำบุญคูณลานเสร็จเรียบร้อยแล้ว การนิยมจัดให้มีพิธีกรรมนั้นมีสาเหตุอยู่หลายประการ บ้างกล่าวว่าเนื่องมาจากความในมาลัยสูตร ซึ่งเป็นสูตรนอกคัมภีร์พระไตรปิฎก ความว่า “...พระศรีอริยเมตไตรยโพธิสัตว์สั่งพระมาลัยว่า ถ้าผู้ใดต้องการเกิดในศาสนาของท่านอย่าฆ่าตีพ่อแม่ สมณะ พราหมณาจารย์ อย่าทำลายพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อย่ายุยงให้พระสงฆ์แตกแยกจากกัน ให้ฟังเทศน์มหาชาติให้จบในวันเดียวจะได้เกิดในศาสนาของพระองค์ท่าน พระมาลัยได้ฟังเช่นนั้นจึงนำมาเล่าให้ชาวเมืองมนุษย์ฟัง และชาวเมืองก็ได้พากันประพฤติปฏิบัติตาม” ส่วนพระราชกิตติรังษี เจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า “...โบราณถือว่า ถ้าหมู่บ้านใดไม่จัดให้มีการฟังเทศน์มหาชาติประจำปี จะทำให้เกิดอาเพศ ฟ้าฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล และมีโรคภัยไข้เจ็บเกิดขึ้นในหมู่บ้าน...”  นอกจากนี้ในอานิสงส์ของการเทศน์มหาชาติได้ระบุไว้ในท้ายเรื่องว่า ผู้ที่ได้บูชามหาเวสสันดรชาดกทั้ง  13 กัณฑ์จะมีอายุหมั้นยืนยาว  มีฤทธานุภาพมาก มีทรัพย์สมบัติมาก และจะได้พบพระอริยเมตไตรยโพธิสัตว์เป็นต้น

          สำหรับวัตถุประสงค์ของการจัดพิธีบุญผะเหวดก็เพื่อธำรงจารีตประเพณีที่สืบทอดกันมาแต่โบราณกาล เพื่อสถาบันทางศาสนาใช้เป็นเครื่องมือในการอบรมให้ผู้ฟังมีความศรัทธาเลื่อมใสและปฏิบัติตามจริยาวัตรของ  พระเวสสันดรคือการรู้จักทำบุญให้ทาน เพื่อนำปัจจัยที่ได้บูรณะปฏิสังขรณ์ถาวรวัตถุในทางพุทธศาสนา ซึ่งเป็นการทำนุบำรุงศาสนาอีกทางหนึ่งด้วย เพื่อให้ฝนตกต้องตามฤดูกาลเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหาร นอกจากนี้เพื่อความรื่นเริงบันเทิงใจ สร้างความสัมพันธ์และความสามัคคีของกลุ่มคนที่มีวัฒนธรรมเดียวกันไว้

           ในพิธีกรรมดังกล่าวมีพิธีกรรมย่อยสำคัญที่จัดขึ้นอย่างมีขั้นตอน 6 พิธี ได้แก่ พิธีอัญเชิญพระอุปคุต  พิธีอัญเชิญพระเวสสันดรเข้าเมือง พิธีเจริญพุทธมนต์ พิธีแห่ข้าวพันก้อน พิธีเทศน์ผะเหวด และพิธีขอขมา ซึ่งพิธีกรรมเหล่านี้มีองค์ประกอบสำคัญ 3 อย่าง ได้แก่ ผู้ประกอบพิธีซึ่งอาจจะเป็นมัคนายก/หมอพราหมณ์หรือพระสงฆ์ก็ได้ ขึ้นอยู่กับแต่ละพิธีกรรม ผู้ร่วมพิธีซึ่งก็ได้แก่ชาวบ้านที่มีความศรัทธาในพุทธศาสนา และบทสวดหรือตัวบท/หนังสือเทศน์ (Text)

          อย่างไรก็ตาม ในบริบทของสังคมและวัฒนธรรมที่แตกต่างกันและในยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ความคิด ความเชื่อ และประสบการณ์ในการประกอบพิธีกรรมบุญผะเหวดในแต่ละพื้นที่อาจมีความแตกต่างกันอยู่บ้าง ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับผู้นำสงฆ์ ผู้นำชาวบ้าน ตลอดจนคนในชุมชนนั้น ๆ ว่าจะประกอบพิธีกรรมเพื่อจุดมุ่งหมายใด ส่งผลให้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบพิธีกรรมไปบ้าง แต่พิธีกรรมก็ยังคงอยู่และได้สะท้อนให้เห็นสังคมและวัฒนธรรมของชุมชนที่มีความสัมพันธ์กับคติความเชื่อทางพุทธศาสนาและความเชื่อที่สืบทอดต่อกันมานั่นเอง

 

ขอบคุณภาพส่วนหนึ่งจาก งานข้อมูลท้องถิ่นและจดหมายเหตุ สำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี