ช่องทางรับฟังความคิดเห็น     คลังเอกสาร     คำถามที่พบบ่อย     ถาม-ตอบ      มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี    

ขันหมากอีสาน

วัฒนธรรมฟันดำ..สู่ขันหมากอีสาน

ติ๊ก แสนบุญ คณะศิลปประยุกต์และสถาปัตยกรรมศาสตร์

มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

        “คนไม่กินหมากปากยังกะนางผีกระสือ ปากขาว ฟันก็ขาว”หรือจะเป็น “หมานะซีที่มีฟันขาว”หรือจะเป็นคำขอพรที่ว่า“ขอให้ฟันดำเหมือนลูกหว้า ขอให้ปัญญาเหมือนมโหสถ”หลักฐานเกี่ยวกับความนิยม ฟันดำของผู้คนในสมัยอยุธยา จากบันทึกของ นาย นิโคลลาส แซร์แวส์ ชาวฝรั่งเศสซึ่งเข้ามาในสยามสมัย สมเด็จพระนารายณ์มหาราช บันทึกไว้ว่า “...คนไทยนิยมไว้ฟันดำ ด้วยการกินหมาก ไม่นิยมฟันขาว เพราะถือว่า ฟันขาวเป็นลักษณะของสัตว์...”  จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ เมื่อคนไทยเปิดประเทศคบค้าสมาคมกับชาวตะวันตก เห็นว่าการกินหมากปากแดงและฟันดำแสดงถึงความเป็นคนป่าเถื่อน อนารยชน และครั้งรัชกาลที่ 5 มีพระราชดำริ เสด็จประพาสยุโรป พ.ศ.2440 สิ่งหนึ่งที่ทรงปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม เพื่อไม่ให้เป็นที่ดูหมิ่นดูแคลนของชาวตะวันตก คือ เปลี่ยนฟันดำเป็นฟันขาวโดยทั้งหมดได้สะท้อนให้เราเห็นถึงค่านิยมในสังคมในวัฒนธรรมแห่งหมากวิถี

                   

วิถีวัฒนธรรมการกินอยู่หมาก  ในมิติความหมายทางภาษาคำว่า “หมาก”เป็นคำไทย หมายถึง ลูกไม้ โดยสมัยสุโขทัยใช้เรียกผลไม้ว่า “หมาก” นำหน้าชื่อเสมอโดยต่อมากร่อนเสียงตามยุคสมัยตามปากตามลิ้นจนกลายมาเป็นคำว่า “มะ” อย่างในสมัยหลัง เช่น มะม่วง มะขาม มะนาว  ความเป็นมาของวัฒนธรรมการกินหมากอย่างใน บริบทวัฒนธรรมอินเดีย  พระยาอนุมานราชธน ได้ให้ความเห็นไว้ว่า  อินเดียตอนใต้เป็นบ่อเกิดของหมากพลู  เป็นวัฒนธรรมที่แพร่หลายเข้ามาถึงชาติต่างๆ  ชาวอินเดียคงชอบกินหมากกันมาก  มิฉะนั้นคงไม่ตั้งชื่อ หมาก แทนความหมายว่า  บันเทิงใจ  แต่สิ่งใดที่ทำให้บันเทิงใจ  สิ่งนั้นก็อยู่ที่ใครชอบ  เราเองแต่ก่อนก็ชอบกินหมาก  จนคำว่า หมาก ซึ่งเดิมหมายถึง ผลไม้  จึงกลายมาเป็นความหมายเฉพาะหมาก  ชนิดที่กินกับพลู  เราพูดว่ากินหมาก  แต่ชาติต่างๆเรียกว่ากินพลู  เอาคำว่าพลูขึ้นหน้าทั้งนั้น 

 

       ในบริบทวัฒนธรรมจีนการกินหมากพลูในระยะเริ่มแรกนั้น ได้ถูกสงวนไว้สำหรับโอกาสพิเศษ เป็นต้นว่าพิธีฝังศพหรือพิธีแต่งงานเท่านั้น ในระหว่างสมัยราชวงศ์ซุ่ง สินค้าเข้าประเภทเครื่องหอมจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้กลายเป็นสิ่งสำคัญในวิถีชีวิตของชาวจีน และหมาก (Areca nuts) มักจะปรากฏอยู่ในบัญชีรายชื่อเครื่องบรรณาการที่ชาติต่างๆนำเข้ามาในจีนเสมอ

        แม้แต่ชาติตะวันตกที่เข้ามาในเอเชียก็มีการจดบันทึกที่ว่าในปี ค.ศ.๑๒๙๘ (พ.ศ.๑๘๔๑) มาร์โคโปโล (Marcopolo) เป็นนักสำรวจชาวยุโรปคนแรกที่กล่าวถึงการกินหมากพลูจนติดเป็นนิสัยของชาวเอเชีย ใน (กลางพุทธศตวรรษที่ ๒๑) นักเดินทางเกือบทุกคนที่เดินทางเข้ามายังเอเชีย ได้กล่าวถึงการกินหรือเคี้ยวหมากพลูรวมอยู่ด้วยเสมอ

      สังคมไทยที่ในอดีตล้วนมีวัฒนธรรมการกินหมากเช่นเดียวกันกับสังคมวัฒนธรรมอื่นๆ จนก่อเกิดนวัตกรรมการสร้างสรรค์สิ่งต่างๆในเชิงช่างดังปรากฏให้เห็นเป็น  สิ่งของเครื่องใช้ ประเภทต่างๆที่เอกลักษณ์เฉพาะถิ่นและตามมาด้วย รูปแบบแห่งพิธีการที่เกี่ยวเนื่อง ทั้งที่อยู่ในวิถีปกติและในเรื่องพิธีกรรมทางความเชื่อทั้งศาสนาผีและศาสนาพุทธของกลุ่มชนชั้นนำและในวิถีชาวบ้านในสมัยกรุงศรีอยุธยามีการใช้. หมากพลู. เป็นเครื่องประกอบพระอิสริยยศ. กันแล้ว. แต่ รูปแบบ จะเป็นอย่างไรนั้น. มาชัดเจน. ในสมัย. กรุงรัตนโกสินทร์. นั่นเองพานพระศรี. คือ เครื่องราชูปโภค. สำหรับทอดถวาย. ฯ. เมื่อครั้ง พระเจ้าแผ่นดิน เสด็จออกประกอบพระราชกรณียกิจ. ทุกครั้ง. และ. กลายเป็น. เครื่องยศ. พระราชทาน. ตามพระอิสริยยศ. เจ้านายต่างๆ. มีกฏเกณฑ์ ระเบียบแบบแผน

          โดยการกินหมากประกอบด้วยเครื่องกินที่สำคัญ4 อย่างคือ หมาก พลู ปูนแดง และยาเส้น อย่างไรก็ตามการกินหมากนั้น มีทั้งข้อดีและข้อเสีย เช่น ช่วยฆ่าเชื้อโรคในช่องปาก ลมหายใจหอม สดชื่น ส่วนผลเสีย คือทำให้เป็นแผลที่เหงือกและด้านในริมฝีปากหากกินหมากต่อเนื่องเป็นเวลานาน ๆ มักทำให้ลิ้นชาดังนั้นไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมหลวงรวมถึงวัฒนธรรมชาวบ้าน    วัฒนธรรมการกินหมาก ถือได้ว่าเป็นลักษณะร่วมทางวัฒนธรรมหรือสิ่งที่เป็นรสนิยมร่วมกันของคนในสังคมทุกระดับของชาวเอเชียโดยเฉพาะในอดีต ในช่วงปีพ.ศ.2482 สมัยนายกรัฐมนตรี จอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งเป็นยุคของการเปลี่ยนผ่านสู่ กระแสชาตินิยม และโดยเฉพาะการสร้างวัฒนธรรมประดิษฐ์   ที่มีอคติต่อวิถีวัฒนธรรมเดิมหลายอย่างและแน่นอนว่า หมากวิถี ก็ได้รับผลกระทบโดยตรง โดยมีประกาศห้ามการกินหมากและค้าขายหมาก โดยมองว่าเป็นสิ่งที่แสดงถึงความล้าหลังทางวัฒนธรรม  ซึ่งสร้างความเดือดร้อนแก่ผู้ที่กินหมากเป็นอย่างยิ่ง เป็นสาเหตุให้มีการลักลอบค้าขายในตลาดมืดทำให้หมากมีราคาแพงอันเป็นที่มาของสำนวนที่ว่า ข้าวยากหมากแพงแม้ในยุคหลังรัฐบาลจอมพลป.พิบูลสงคราม จะมีการผ่อนผัน แต่วัฒนธรรมดังกล่าวก็ได้ก้าวพ้น ความนิยมแห่งยุคสมัยไปแล้ว ดังนั้นวัฒนธรรมการกินหมากจึงไม่เป็นที่นิยม ภายใต้บรรยากาศของสังคมในยุคเปลี่ยนผ่าน

         ศิลปะงานช่างในวัฒนธรรมการกินหมาก  “เซี่ยนหมาก”เป็นของใช้งานช่างสำหรับเป็นที่วางเครื่องเชี่ยนหรือสิ่งของที่ต้องใช้ร่วมกันของกระบวนการกินหรือเคี้ยวหมาก เสมือนประหนึ่งชุดเครื่องปรุงอาหารหรือพวงพริกในการปรุงอาหาร โดยในวัฒนธรรมหลวงอย่างในภาคกลางนิยมเรียกว่า  เซี่ยนหมาก  แต่ในวัฒนธรรมลาวชาวอีสานหรือชาวล้านนา  นิยมเรียกเหมือนกันว่า ขันหมาก  (ในภาคเหนือมีทั้งที่ทำด้วยไม้ และทำด้วยหวาย โดยที่ทำด้วยไม้ไผ่สานลงรักปิดทองหรือเขียนลายที่เรียกว่า เครื่องเขิน)ถือเป็นภาษาปากของใครของมัน  ทั้งนี้รูปแบบและวัสดุก็ลดหลั่นตามฐานะทางเศรษฐกิจและฐานะทางสังคม  ทั้งวัสดุแบบเครื่องเงินเครื่องทองเหลืองด้วยเทคนิคการทำที่แตกต่าง ตามสายสกุลช่างแห่งรสนิยม โดยมีทั้งแบบช่างพื้นบ้านพื้นเมือง ดั่งมีคำผญาอีสานโบราณกล่าวถึง ขันหมาก ในมิติทางวัฒนธรรมที่ว่า “เสียดายขันหมากแก้ว…ลายเครือดอกผักแว่น…เด้…หนอ ซิไปตั้งแล่นแค่น…อยู่ตีนส่วม(ห้องนอนลูกสาว)…เผิ่นผู้ได๋…”  หรือจะเป็นบทกวีร่วมสมัยที่ อาจารย์วิโรฒ ศรีสุโร ได้รจนา ถึงขันหมากอีสาน ไว้ว่า หมากสดๆพลูปูนแก่นคูนสับ ยกสำรับไว้รับแขกแปลกหน้า เป็นขันเก่าเอาอวดโอ้โบราณมา มีคุณค่ากว่าของใหม่ไว้ค้ำคูณ โดยทั้งหมดแสดงให้เห็นถึงคุณค่าความหมาย ของผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมแขนงนี้

        ในบริบทอีสาน มิติทางด้านประวัติศาสตร์ มีการแพร่กระจายทางวัฒนธรรมงานช่างขันหมาก ซึ่งข้อมูลส่วนใหญ่ จะอ้างอิงนักมานุษยวิทยาชาวตะวันตกที่ชื่อDr.Howard kaufmanโดยกล่าวกันว่าได้เริ่มเข้ามาประมาณช่วงสมัยรัชกาลที่ ๔ ผ่านกลุ่มช่างไม้แถบจังหวัดมหาสารคาม แล้วค่อยๆแพร่หลายไปยังจังหวัดอื่นๆในภาคอีสาน โดยสมัยนั้นชาวบ้านจะนิยมทำไว้ใช้เองบ้าง หรือมีผู้จ้างวานให้ทำเพื่อนำไปมอบให้คู่หมั้น   ในสมัยรัชกาลที่ ๕ พระสงฆ์นิยมทำขันหมากแบบนี้ไว้ให้พ่อแม่หรือผู้มีบุญคุณ   จึงทำให้เป็นที่ นิยมกันในหมู่ช่างพระ   ในเวลาต่อมาเมื่อพระภิกษุเหล่านั้นลาสิกขาออกมาก็ได้นำเอาวิชาความรู้เหล่านั้นมาใช้ประกอบเป็นอาชีพเสริมหลังการทำนา    กล่าวกันว่าขันหมากอีสานเป็นงานฝีมือของผู้ชาย ส่วนผู้หญิงก็จะต่ำหูก(ทอผ้า)   จะเห็นได้ว่า เชี่ยนหมาก หรือ แอบหมาก เป็นการเรียกในภาพรวมตามภาชนะที่ใส่เครื่องเชี่ยนอย่างเช่นถ้าใส่ข้าวเหนียวเรียก แอบข้าว ต่อมาเหมารวมทั้งหมดเรียกว่า ขันหมากหรือเชี่ยนหมาก  นอกจากนี้ยังพบว่ามีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งในวัฒนธรรมลาวชาวอีสานคือที่เรียกว่า  ขันสลา  โดยคำว่าสลา หมายถึง หมาก เป็นภาษาเขมร ดัง ปรากฏอยู่ในผญาว่า “..ค่อยอยู่ดีเยอขันสลาพร้อมซองพลู แอบหมาก กูจักหนีไปตายผู้เดียวยาเศร้า...”  ขันหมากอีสาน มีอยู่หลายแบบ โดยมีทั้งแบบทรงกลมอย่างทรงกระบอก แบบนี้นิยมเรียกแอบหมากซึ่งลักษณะคล้ายๆกับแอบยาเส้น โดยภาคกลางเรียก  หีบหมาก ซึ่งจุดเด่นของแอบหมากจะอยู่ที่มีฝาปิดมิดชิด  ซึ่งในแง่การใช้งานถือว่ามีความสะดวกในแง่ของการพกพากว่ากระบะไม้    ส่วนขันหมากนั้นก็มีอยู่หลายแบบ โดยขันหมากที่ถือว่าโดดเด่น มากที่สุดในอีสานจะเป็นแบบทรงสี่เหลี่ยม องค์ประกอบส่วนนี้(ฮังผึ้ง)ในบางพื้นที่ของอีสานได้ถูกนำไปตีความหมายในเชิงสัญญะตาม กรอบแนวคิดแบบเพศสรีระ ของการแบ่งแยกความเป็นหญิงและความเป็นชายตามคุณลักษณะทางกายภาพ  เช่นถ้ามีจอมเป็นติ่งห้อยลงมาคล้ายอวัยวะเพศชายก็จะเรียกว่าเป็นขันหมากตัวผู้

          ถ้าไม่มีการตกแต่งจอมแบบอย่างฮังผึ้ง หรือปลอยไว้เรียบๆก็จะเรียกว่าขันหมากแบบตัวเมีย    ส่วนปากพานด้านบนจะถูกแบ่งเป็นช่องๆไว้ใส่เครื่องเชี่ยน บางแห่งทำฝาเลื่อนเปิดปิดได้ วัสดุลวดลายถ้าเป็นพานแบบชาวบ้านหลายแห่งนิยมที่จะใช้กระดูกซี่โครงควาย     มาตกแต่งเป็นลวดลาย แต่ทั้งนี้ถ้าอยากจะให้สวยงามมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะถ้าอยากให้ลวดลายมีสีขาวนวลเป็นพิเศษก็จะใช้กระดูกม้า เพราะว่าขาวนวลและคงทนกว่ากระดูกควาย โดยในส่วนลวดลายนี้ถือเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งที่สำคัญของ ขันหมากอีสาน โดยเฉพาะการแกะลวดลายแบบเรขาคณิต ลายสวัสดิกะ หรือลายประแจจีน ซึ่งล้วนสื่อความหมายในความเป็นมงคล โดยเฉพาะการใช้รูปสัญญะของนาคาคติ หรือรูปเรื่องอย่างง่ายๆตามจินตนาการช่าง ผ่านลวดลายแกะสลักและการใช้สีสันที่สดใส หรือการลงยางรักหรือน้ำเกลี้ยงสีดำ บางแห่งใช้ชาดสีแดงตกแต่งเพื่อเพิ่มอายุการใช้งานให้ยาวนานคงทน ทั้งหมดได้แสดงให้เห็นถึงความรุ่มรวยในเชิงช่างที่หลากหลาย ภายใต้วัฒนธรรมร่วมแห่ง หมากวิถี ที่ปัจจุบันได้ก้าวพ้นรสนิยมของยุคสมัยตนเองไปแล้ว เมื่อไม่มีคนกินหมากมากพอ  ก็ไม่มีการสร้างสรรค์ในเชิงช่าง ขันหมากจึงกลายเป็นของ สงวน สะสม หรือวัตถุทางวัฒนธรรมอยู่ตามพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านพื้นเมืองแทบทุกแห่ง