ช่องทางรับฟังความคิดเห็น     คลังเอกสาร     คำถามที่พบบ่อย     ถาม-ตอบ      มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี    

ก่องข้าว

 ก่องข้าวถึง กระติ๊บข้าว:สัญญะทางสังคมวัฒนธรรมอีสาน

ติ๊ก แสนบุญ คณะศิลปประยุกต์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

         

ก่องข้าวและกระติบข้าวในมิติความหมายแห่ง สัญญะ ของงานช่าง ในสังคมปัจจุบันที่เป็นเสมือนตัวแทนของคนใน วัฒนธรรมไทย-ลาวอีสาน ด้วย วิถีการกินข้าวเหนียว ดังมีคำกล่าวที่ว่า “อยู่เฮือนสูง นุ่งซิ่น กินข้าวเหนียว เคี้ยวปลาร้า สักขาลาย แม่นแล้วคือ ลาว ” วลีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงวิถีทางวัฒนธรรมได้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะงานช่างที่เป็น อัตลักษณ์อีกประเภทหนึ่งของคนอีสาน    แต่ในความเป็นจริงผู้คนในอุษาคเนย์โดยเฉพาะกลุ่มวัฒนธรรมทางภาษาไทย-ลาว มีวัฒนธรรมกิน “ข้าวเหนียว”หลายพันปีมาแล้ว จวบจนมาถึงยุคปัจจุบัน โดยในประวัติศาสตร์โบราณคดีกล่าวถึงวัฒนธรรมการกินข้าวเหนียวว่าเป็นอาหารหลักเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยและสุวรรณภูมิ แต่พอมาถึงเรื่องภาชนะที่ใส่ข้าวเหนียวหรือหีบห่อบรรจุกับไม่ค่อยได้มีการกล่าวถึง มีเพียงหลักฐานทางโบราณคดีว่าเป็นภาชนะดินเผาลายจักสานที่พบที่บ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี ดังนั้น เมื่อกล่าวถึงหัตถกรรมไม้ไผ่ประเภทบรรจุภัณฑ์ที่อยู่ในวิถีชีวิตของผู้คนในวัฒนธรรมนี้แล้วรูปแบบของ ก่องข้าว กระติ๊บข้าว และแอบข้าว ถือเป็นนวัตกรรมอันเป็นภูมิปัญญาของบรรพชน      แต่ในด้านรูปแบบแน่นอนย่อมมีความแปลกแตกต่างกันไปตามปัจจัยแวดล้อมทางด้านวัสดุและคตินิยมของสังคมนั้นๆ

   ก่องข้าวได้ถูกนำไปใช้ในพิธีกรรมความเชื่อเกี่ยวกับ ขวัญ  อันเป็นที่มาของประเพณีสูตร(สูด,สู่)ขวัญก่อง ซึ่งเป็นพิธีกรรมความเชื่อ ในวัฒนธรรมไทยลาวโดยเฉพาะในบริบทอีสาน ในอดีตยุคสมัยที่การคมนาคมและการแพทย์สาธารณสุขยังไม่เจริญก้าวหน้าเฉกเช่นในปัจจุบัน เมื่อมีคนเจ็บไข้ได้ป่วยไม่สบาย หรือได้ใช้วิธีการรักษาในแบบแผนปัจจุบันแล้วไม่ดีขึ้น สังคมวัฒนธรรมอีสาน ก็มีวิธีการจัดการแก้ไขปัญหาดังกล่าวตามแบบที่เป็นพิธีกรรมทางความเชื่อ  ที่เชื่อว่าจะเป็นการต่ออายุหรือต่อชะตาให้คนป่วย  ซึ่งมีพิธีกรรมอยู่หลายอย่างหลายประเภทอาทิเช่น การสู่ขวัญก่อง สู่ขวัญหลวง สวดชะตา สวดธาตุ เป็นต้น โดยเฉพาะ   พิธีสู่ขวัญก่อง   มักใช้กับผู้ป่วยที่มีอาการ  กินไม่ได้นอนไม่หลับ ที่มักฝันร้ายชนิดขวัญหนีดีฝ่อ อาการมีร่างกายผอมเหลืองไปทั้งตัว อีสานเรียกว่า “ขวัญหนีเนื้อหนีคีง” ญาติพี่น้องแนะนำ  ให้พระสงฆ์สวดขวัญก่องให้โดยมีเครื่องประกอบพิธีสำคัญคือ

        ก่องข้าว ๑ ก่อง (สูงเท่าศอกของผู้ป่วย) ถ้าหากเป็นผู้ชายจะจัดเอาหวี แป้งหอม น้ำหอม ผ้าเช็ดหน้า แหวน กระจกเงา เครื่องแต่งตัวของผู้ชายใส่ลงไปในก่องข้าว พร้อมทั้งเขียนชื่อผู้ป่วยและปัจจัยเท่าอายุ เทียนรอบหัว เทียนยาวแค่ตัววัดแต่สะดือถึงลูกกระเดือก ผ้านุ่ง ผ้าอาบของผู้ป่วยใส่ภาชนะขัน ๕-๘ ดอกไม้ ธูปเทียน ข้าวตอก หมากพลู บุหรี่ นำไปถวายเจ้าอาวาส และถ้าเป็นผู้หญิง มีช่องหวี สร้อยคอ กำไลมือ กระจอนหู ต่างหู แป้งหอม น้ำหอมและเขียนชื่อผู้ป่วยใส่ลงในก่องข้าว นอกนั้นเหมือนกันกับของผู้ชาย     พิธีกรรมดังกล่าว เป็นการรักษาในแง่จิตวิทยา(ปรีชา พิณทอง, ประเพณีโบราณไทยอีสาน , 2534 )   

ก่องข้าวชนิดนี้จะมีขนาดเล็กและสูงเด่นจำหลักตกแต่งสวยงามพิเศษมากกว่าจะมุ่งเน้นเรื่องประโยชน์ใช้สอย ส่วนกระติ๊บข้าวมีส่วนฐานตีนเป็นรูปทรงกลมทรงกระบอก(เป็นความแตกต่างระหว่างก่องข้าวกับกระติ๊บข้าว)ไม่นิยมตกแต่งยอดฝาปิด โดยจะปาดเรียบเป็นทรงกระบอก แต่ทั้ง 2 ชนิดจะมีสายสำหรับหิ้วเหมือนกัน ส่วนแอบข้าวจะมีเอกลักษณ์สำคัญคือไม่มีส่วนฐานที่เป็นตีนเหมือนกับก่องข้าวและกระติ๊บข้าวแต่มีความคล่องตัวในการใช้งาน นอกจากนี้ยังมี “กระติ๊บข้าวจังหัน”บ้านทรายขาว เมืองเลย(หรือกระติ๊บข้าวจอมบ้านทรายขาวก็เรียก)ที่มีการตกแต่งยอดเป็นพุ่มๆ นิยมใช้ถวายข้าวเหนียวแก่พระสงฆ์ โดยฆราวาสจะไม่นำมาใช้ในชีวิตประจำวัน

อนึง“ภาชนะบรรจุภัณฑ์”นี้ซึ่งเป็นงานหัตถกรรมที่อยู่ในวิถีชีวิตไท-ลาวอาจมีรูปแบบรายละเอียด ปลีกย่อยและชื่อเรียกที่แปลกแตกต่างกันไปเช่น จังหวัดลำปาง เรียกก่องข้าวดอกหรือจะเป็นก่องข้าวใบตาล (นิยมทำในภาคเหนือ) และในกลุ่มวัฒนธรรมเขมรบริเวณอำเภอพนมสารคาม เรียกลักษณะ “ก่องข้าว”ว่า “กระชุก”แม้จะมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันไปแต่ทั้งหลายทั้งปวงก็สะท้อนให้เราเห็นถึงภูมิปัญญาสร้างสรรค์ในการ “ถนอมอาหาร”ได้อย่างแยบคายทั้งในเรื่องการเก็บรักษาอุณหภูมิความร้อนที่สมดุลผ่านกระบวนลายสานและวัสดุที่เป็นธรรมชาติ ปัจจุบันงานหัตถกรรมเหล่านี้กำลังถูกแทนที่ด้วยกระติกน้ำพลาสติกโหลๆจากโรงงาน ส่งผลต่อวัฒนธรรมการกินและอรรถรสของข้าวเหนียวด้อยลงไปทั้งในด้านกลิ่นหอมของไม้ไผ่และรสชาดที่แตกต่างโดยเฉพาะเมล็ดข้าวที่ชื้นแฉะไม่จำเป็นตัว

                  แต่ทั้งก่องข้าวและกระติบข้าว ก็ล้วนแล้วแต่ถูกตีความร่วมกับข้าวเหนียวในมิติทางวัฒนธรรมของความเป็นลาว มักแฝงนัยยะแห่งการเหยียดทางชาติพันธุ์ ในฐานะบ่าวผู้รับใช้หรือลูกไล่  ก่องข้าว กระติบข้าว ในวิถีวัฒนธรรมไทยลาวชาวอีสานยังคงสถานภาพ “ความเป็นตัวตนที่มีเอกลักษณ์”ในด้านกายภาพ ในฐานะบรรจุภัณฑ์และภาชนะฑ์ที่ห่อหุ้ม “เนื้อข้าวเหนียวสุก” ที่พกพาได้ในวิถีชีวิตสังคมเมืองและวิถีชนบท แต่ในโครงสร้างสังคมใหม่ที่มีความก้าวหน้าแห่งเทคโนโลยีด้านวัสดุหีบห่อบรรจุภัณฑ์ ทำให้ผลิตภัณฑ์งานช่างเหล่านี้กำลังถูกท้าทายและทดลองตามครรลองในวิถีวัฒนธรรมใหม่ที่มีความซับซ้อนย้อนแย้งทางความคิดอ่าน อย่างไม่หยุดนิ่ง และกำลังถูกปรับเปลี่ยนสถานภาพ เช่นปัจจุบันร้านอาหารอีสานหลายแห่งโดยเฉพาะในเขตเมืองซึ่ง ที่ต้องการเพิ่มยอดขายและความสะดวกรวดเร็วทั้งขนาดความจุที่มากขึ้นทำให้บรรจุภัณฑ์  กระติกน้ำพลาสติก จากสินค้าโรงงานราคาถูกเข้ามาแทนที่โดยได้ถูกปรับบทบาทหน้าที่ใช้สอยใหม่   กลายเป็นบรรจุภัณฑ์และสำหรับเก็บรักษาอุณภูมิความร้อนของข้าวเหนียวแทนกระติบข้าวก่องข้าว