ช่องทางรับฟังความคิดเห็น     คลังเอกสาร     คำถามที่พบบ่อย     ถาม-ตอบ      มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี    

เหตุผลและความจำเป็นที่ต้องมีมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ

ในอดีตที่ผ่านมา การบริหารมหาวิทยาลัยของรัฐที่เป็นส่วนราชการ ซึ่งมีฐานะเทียบเท่ากรม ได้ยึดโยงอยู่กับระบบราชการอย่างหนักแน่น ส่งผลให้แนวทางการปฏิบัติราชการของมหาวิทยาลัยที่เป็นส่วนราชการ ต้องดำเนินการภายใต้แนวทางการปฏิบัติราชการเดียวกันกับกรม และกระทรวงอื่น ๆ อาทิระบบการบริหารงานบุคคล การบริหารงบประมาณ การเงินและพัสดุ รวมถึงการจัดตั้งส่วนราชการภายในที่มีฐานะเทียบเท่าคณะ หรือแบ่งส่วนราชการในคณะเป็นภาควิชา หรือเทียบเท่าภาควิชา โดยมีระบบการควบคุมและกำกับดูแลที่เป็นไปภายใต้กฎเกณฑ์ของระบบราชการที่ถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด และไม่สามารถบริการจัดการได้ด้วยตนเอง ซึ่งในหลายกรณีก่อให้เกิดปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อการบริหารของมหาวิทยาลัย อันขัดกับลักษณะการบริหารมหาวิทยาลัยที่ต้องการความยืดหยุ่น ความคล่องตัว และความฉับไวในการดำเนินงาน นอกจากนี้ภารกิจของมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นสถาบันอุดมศึกษานั้นมีความแตกต่างกับภารกิจของส่วนราชการประเภทอื่น ๆ เนื่องจากสถาบันอุดมศึกษามีหน้าที่ในการผลิตบัณฑิตระดับอุดมศึกษาซึ่งเป็นกำลังคนที่สำคัญของประเทศ มีหน้าที่ในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมต่าง ๆ รวมถึงการเผยแพร่องค์ความรู้ทางวิชาการต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนทุกภาคส่วนในสังคมในการพัฒนา ฉะนั้น การดำเนินงานของมหาวิทยาลัย จึงต้องอาศัยความคล่องตัว ความเป็นอิสระ (autonomy) และเสรีภาพทางวิชาการ (academic freedom) เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการแสวงหาวิธีการทำงานที่เหมาะสมกับบริบทของแต่ละมหาวิทยาลัยในแต่ละพื้นที่ ประกอบกับการที่มหาวิทยาลัยของรัฐยังอยู่ภายใต้ระบบราชการที่ต้องดำเนินการตามกฎระเบียบของราชการที่ใช้ครอบคลุมทุกส่วนราชการในประเทศ จึงทำให้มหาวิทยาลัยของรัฐที่เป็นส่วนราชการมีข้อจำกัดบางประการที่อาจทำให้การดำเนินงาน ไม่สามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

ดังนั้น จึงเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเปลี่ยนสถานภาพมหาวิทยาลัยจากส่วนราชการไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ เพื่อแก้ไขปัญหาและอุปสรรคดังกล่าวข้างต้น ซึ่งการปรับเปลี่ยนสถานภาพมหาวิทยาลัยดังกล่าวสอดคล้องกับบทบัญญัติในมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ที่บัญญัติให้สถานศึกษาที่จัดการศึกษาระดับปริญญาเป็นนิติบุคคล และอาจจัดตั้งเป็นส่วนราชการหรือหน่วยงานในกำกับของรัฐ รวมถึงสอดคล้องกับมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2562 ที่กำหนดให้ สถาบันอุดมศึกษาของรัฐในสังกัดของกระทรวง สามารถดำเนินการได้ในรูปแบบของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่ไม่ใช่ส่วนราชการได้ โดยความเป็นนิติบุคคลของมหาวิทยาลัยดังกล่าวนั้น เกิดขึ้นภายใต้กฎหมายปกครอง ดังนั้นสถานะของมหาวิทยาลัยจึงเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายมหาชน ซึ่งส่งผลให้การจัดตั้งมีความแตกต่างจากนิติบุคคลตามกฎหมายเอกชน โดยนิติบุคคลตามกฎหมายมหาชนจะต้องจัดตั้งโดยกฎหมายระดับพระราชบัญญัติหรือกฎหมายอื่นที่อาศัยอำนาจตามกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ สถานะของนิติบุคคลตามกฎหมายมหาชนซึ่งมีอำนาจเหนือเอกชนบางประการหรือได้รับสิทธิพิเศษบางประการ เช่น สิทธิในการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ หรือสิทธิในการได้รับการยกเว้นภาษีบางประเภท และมีอำนาจพิเศษในการออกกฎเกณฑ์ต่าง ๆ เพื่อบังคับใช้กับเอกชน เช่น การออกข้อบังคับเกี่ยวกับวินัยนักศึกษาและบุคลากร เป็นต้น ทั้งนี้การกำหนดให้มหาวิทยาลัยหรือส่วนราชการมีฐานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายมหาชนนั้น ก็โดยมุ่งหมายที่จะให้หน่วยงานของรัฐดังกล่าวมีอำนาจรัฐหรืออำนาจเหนือเอกชนบางประการ เพื่อที่จะสามารถจัดทำบริการสาธารณะด้านต่าง ๆ ให้สำเร็จและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

อย่างไรก็ตาม ในการดำเนินการดังกล่าวไม่สามารถดำเนินการในทางบริหารงานของมหาวิทยาลัยหรือองค์กรฝ่ายบริหารเองได้ เนื่องจากการกำหนดสถานภาพของมหาวิทยาลัยดังกล่าวซึ่งมีฐานะเป็นนิติบุคคล จำเป็นต้องดำเนินการโดยตราเป็นกฎหมายระดับพระราชบัญญัติเท่านั้น และในการจัดทำร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว จะต้องคำนึงถึงความสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ สังคม การพัฒนากำลังคนของประเทศ รวมถึงกรอบวินัยการเงินการคลังของรัฐตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ตลอดจนสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนปฏิรูปประเทศ และแผนงานด้านการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศด้วย

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี พ.ศ. .... ต่อคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2564 ซึ่งคณะรัฐมนตรี ได้มีมติให้ความเห็นชอบในหลักการ และมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตรวจพิจารณาต่างพระราชบัญญัติ โดยรับความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปประกอบการพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎร ต่อไป