ช่องทางรับฟังความคิดเห็น     คลังเอกสาร     คำถามที่พบบ่อย     ถาม-ตอบ      มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี    

ทิศทางการจัดตั้งมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐในประเทศไทย

การจัดตั้งมหาวิทยาลัยของรัฐ ให้อยู่ในรูปแบบของหน่วยงานในกำกับของรัฐ ที่มีฐานะเป็นนิติบุคคล และไม่มีฐานะเป็นส่วนราชการนั้น มีสอดคล้องกับเหมาะสมกับสังคมไทยอย่างยิ่ง ดังจะเห็นได้จากในปัจจุบันสถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่เป็นสมาชิกของที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย จำนวน 34 แห่ง มีสถานภาพเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ซึ่งมีชื่อเรียกตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2562 เป็นการเฉพาะว่า “สถาบันอุดมศึกษาของรัฐในกำกับของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม”[1] มากถึง 27 แห่ง โดยมีสถาบันอุดมศึกษาที่เป็นสมาชิกของที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยอีกเพียง 8 แห่ง  ได้แก่ มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ มหาวิทยาลัยนครพนม และมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ที่ยังคงมีสถานภาพเป็นส่วนราชการ และในปัจจุบัน มหาวิทยาลัยจำนวน 8 แห่งดังกล่าวข้างต้น ที่ยังคงมีฐานะเป็นส่วนราชการ ดังกล่าวนั้น ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติเพื่อเปลี่ยนสถานภาพมหาวิทยาลัยจากส่วนราชการไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐต่อคณะรัฐมนตรี จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยนเรศวร[2] มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์[3] มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี[4] ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการของร่างพระราชบัญญัติแล้ว และอยู่ระหว่างกระบวนการตรวจพิจารณาร่างพระราชบัญญัติของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อส่งไปยังคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป

นอกจากนี้ นอกจากนี้มหาวิทยาลัยราชภัฏซึ่งเป็นสมาชิกของที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ อีกจำนวน 40 แห่ง และมหาวิทยาลัยที่เป็นสมาชิกของกลุ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล อีกจำนวน 9 แห่ง ซึ่งล้วนแล้วแต่มีสถานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายมหาชน และยังมีสถานะเป็นส่วนราชการในสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม[5] ได้ริเริ่มที่จะปรับเปลี่ยนสถานภาพมหาวิทยาลัยจากส่วนราชการไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ โดยในช่วงปี พ.ศ. 2558 มหาวิทยาลัยราชัฏสวนดุสิต[6]ได้เปลี่ยนสถานภาพจากส่วนราชการไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ เป็นมหาวิทยาลัยสวนดุสิต และในปัจจุบัน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติเพื่อปรับเปลี่ยนสถานภาพมหาวิทยาลัยจากส่วนราชการไปเป็นเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐต่อคณะรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบในหลักการของร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวแล้ว เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2564[7] นอกจากนี้มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ อยู่ระหว่างดำเนินการยกร่างและจัดทำพระราชบัญญัติเพื่อปรับเปลี่ยนสถานภาพมหาวิทยาลัยจากส่วนราชการไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐด้วยเช่นกัน

จากที่กล่าวมาข้างต้น จึงอาจเป็นเครื่องพิสูจน์ได้ว่าการปรับเปลี่ยนสถานภาพมหาวิทยาลัยจากส่วนราชการไปเป็นเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐนั้นมีประสิทธิภาพต่อการบริหารจัดการภาครัฐแนวใหม่ และเป็นแนวทางที่รัฐบาลให้ความสำคัญและสนับสนุนการดำเนินงาน โดยมีเป้าหมายสำคัญที่จะทำให้มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐมีระบบการบริหารจัดการที่มีความเป็นอิสระ คล่องตัวและสามารถจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษาที่มุ่งเน้นการพัฒนาด้านวิชาชีพชั้นสูง รวมทั้งตอบสนองทิศทางการพัฒนาประเทศในทุกมิติได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีรายมีความรับผิดชอบต่อสังคม ประเทศชาติ เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงและสามารถแข่งขันได้ในระดับสากล           



               [1]พระราชระเบียบบริหารราชการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2562, มาตรา 4

               [2]หนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ นร 0503/9801 ลงวันที่ 3 มีนาคม 2564

               [3]หนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ นร 0503/17574 ลงวันที่ 6 พฤษภาคม 2564

               [4]หนังสือสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่ อว 0201.2/10636 ลงวันที่ 24 สิงหาคม 2564

               [5]พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. 2547, มาตรา 4 และพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล

พ.ศ. 2548

               [6]พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสวนดุสิต พ.ศ. 2558, มาตรา 4

               [7]หนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ นร 0503/20680 ลงวันที่ 10 มิถุนายน 2564