ช่องทางรับฟังความคิดเห็น     คลังเอกสาร     คำถามที่พบบ่อย     ถาม-ตอบ      มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี    

สถานะและรูปแบบของมหาวิทยาลัยในต่างประเทศและประเทศไทย

สถานะและรูปแบบของมหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษาในต่างประเทศนั้น มีการกำหนดรูปแบบองค์กรในการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา ไว้หลากหลาย อาทิ เช่น ในสหรัฐอเมริกา หน่วยงานด้านการศึกษา มีการจัดแบ่งตามลักษณะภารกิจและรูปแบบ ซึ่งอาจแบ่งเป็น การศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา (Primary and Secondary School) การศึกษาในระดับที่สูงขึ้น (Higher Education) ระดับวิทยาลัยหรือมหาวิทยาลัยของรัฐ (State College or University) ระดับวิทยาลัยหรือมหาวิทยาลัยเอกชน (Private College or University) ซึ่งวิทยาลัยหรือมหาวิทยาลัยของรัฐนั้น ได้รับการสนับสนุนและดำเนินการโดยรัฐบาลในท้องถิ่น (ระดับมลรัฐ) และถือว่าเป็นหน่วยงานที่มีอิสระในการจัดการศึกษาตามภารกิจและรูปแบบของตน

ส่วนในสาธารณรัฐฝรั่งเศสนั้น จัดตั้งมหาวิทยาลัยของรัฐ ในรูปแบบขององค์การมหาชน หรือที่เรียกว่า Établissement public (EP)[1] ซึ่งถือเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายมหาชนที่ได้รับเงินทุนอุดหนุนในการบริหารจากรัฐเพื่อดำเนินงานในกิจการที่เกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะหรืองานบริการสาธารณะ โดยมีเพื่อวัตถุประสงค์ในการดำเนินกิจการตามหลักการกระจายอำนาจทางปกครอง ที่เรียกว่าการกระจายอำนาจตามกิจการ (Décentralisation fonctionnelle)[2] โดยส่วนใหญ่องค์การมหาชนในกลุ่มนี้ จะมีภารกิจความรับผิดชอบในกิจการเกี่ยวกับบริการสาธารณะด้านเศรษฐกิจและสังคม อาทิ งานด้านสาธารณสุข เช่น สำนักงานบริจาคโลหิต งานด้านการศึกษา เช่น มหาวิทยาลัย โรงเรียนมัธยมศึกษา งานด้านวัฒนธรรม เช่น พิพิธภัณฑ์ เป็นต้น

นอกจากนี้ในประเทศนิวซีแลนด์ ซึ่งถือเป็นประเทศแรก ๆ ของโลกที่ปฏิรูประบบบริหารงานภาครัฐ (Public Sector Reform) ในปลายทศวรรษที่ 1980 และรับเอากระแสแนวคิดในกลุ่มการจัดการภาครัฐแนวใหม่ (New Public Management) มาปรับใช้อย่างกว้างขวาง โดยประเทศนิวซีแลนด์ได้ปรับโครงสร้างองค์กร โดยยุบเลิกส่วนราชการหลายหน่วยงานเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในการบริหารงานภาครัฐ และเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารมากขึ้น โดยจัดตั้ง องค์การมหาชนที่เรียกว่า “องค์การบริหารงานอิสระของรัฐ” หรือ “Crown Entities”[3] ซึ่งมีอยู่ 6 ประเภทด้วยกัน อาทิ องค์กรที่ดำเนินการในเชิงพาณิชย์ องค์กรด้านกองทุนและการจัดการทรัพย์สินของรัฐ องค์กรด้านกิจกรรมสาธารณะ องค์กรที่จัดทำบริการสาธารณะโดยตรง และองค์กรด้านการจัดการศึกษา เช่น สถานศึกษา โรงเรียน มหาวิทยาลัย เป็นต้น

สำหรับประเทศไทย เมื่อพิจารณาจากพระราชบัญญัติจัดตั้งมหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษาหลายฉบับที่ตราออกมาเพื่อปรับเปลี่ยนสถานภาพจากส่วนราชการไปเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ ในช่วงปี พ.ศ. 2550 เป็นต้นมา จะกำหนดให้มหาวิทยาลัยมีฐานะเป็นนิติบุคคล ซึ่งความเป็นนิติบุคคลดังกล่าวนั้นถือว่าเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายมหาชน ซึ่งมีหลักการสำคัญคือต้องจัดตั้งโดยกฎหมายระดับพระราชบัญญัติหรือกฎหมายอื่นที่อาศัยอำนาจจากกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ นอกจากนี้ยังกำหนดให้มหาวิทยาลัยมีฐานะเป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐ ซึ่งไม่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน กฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ หรือกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และกฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม และไม่เป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณและกฎหมายอื่น และการที่มหาวิทยาลัยทั้งที่เป็นส่วนราชการและเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐมีฐานะเป็นนิติบุคคล ส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างบุคลากรกับมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นพนักงานที่มีสัญญาจ้างกับมหาวิทยาลัยเป็นสัญญาทางปกครอง นอกจากนี้มหาวิทยาลัยยังมิสิทธิเข้าทำนิติกรรมสัญญาต่าง ๆ กับเอกชน หรือหน่วยงานของรัฐอื่น รวมถึงมีสิทธิถือครองกรรมสิทธิ์และทรัพย์สินต่าง ๆ ตลอดจนสามารถมีเงินรายได้เป็นของมหาวิทยาลัยเอง และเมื่อมหาวิทยาลัยเป็นนิติบุคคล จึงสามารถฟ้องร้องหรือถูกฟ้องร้องในทางคดีได้ด้วย

อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาจากรูปแบบจากการจัดโครงสร้างหน่วยงานของรัฐในประเทศไทย ที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการกำหนดแล้ว[4] จะสามารถแยกประเภทหน่วยงานของรัฐในประเทศไทยออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และหน่วยบริการรูปแบบพิเศษ (Service Delivery Unit หรือ SDU) ซึ่งเมื่อนำรูปแบบการจัดโครงสร้างหน่วยงานของรัฐดังกล่าว มาพิจารณาร่วมกับแนวคิดและหลักการในการการเปลี่ยนสถานภาพมหาวิทยาลัยของรัฐจากส่วนราชการไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญคือ ต้องการให้มหาวิทยาลัยมีอิสระในการบริหารจัดการองค์กรและพัฒนาความเป็นเลิศทางวิชาการ เกิดความคล่องตัวภายใต้การกำกับดูแลและสนับสนุนงบประมาณในรูปแบบเงินอุดหนุนจากรัฐ และสามารถตอบสนองต่อเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทันต่อสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งจะพบว่า สถานะและรูปแบบมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐในประเทศไทยจะมีลักษณะคล้ายคลึงและสามารถเทียบเคียงได้กับองค์การมหาชน (Établissement Public: EP) ในสาธารณรัฐฝรั่งเศส

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาจากบทบัญญัติของพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี พ.ศ. 2533[5] และพระราชบัญญัติจัดตั้งมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ในช่วงปี พ.ศ. 2541 พ.ศ. 2550-2551 และช่วงปี พ.ศ. 2558-2559 ซึ่งกำหนดให้ มหาวิทยาลัยมีฐานะเป็นนิติบุคคล และมีฐานะเป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐ ที่ไม่ใช่ส่วนราชการ และรัฐวิสาหกิจแล้ว จะพบว่า สถานะของมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐนั้นมีลักษณะที่สามารถจัดอยู่ในประเภทหน่วยงานของรัฐได้ในกลุ่มประเภทองค์การมหาชน แต่โดยที่มหาวิทยาลัยมีภารกิจเฉพาะด้านในการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา การทำวิจัย หรือสร้างนวัตกรรมชั้นสูง ประกอบกับแต่ละมหาวิทยาลัยถูกจัดตั้งโดยกฎหมายระดับพระราชบัญญัติของมหาวิทยาลัยนั้น ๆ มิได้ถูกจัดตั้งโดยพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. 2542[6] หรือจัดตั้งโดยพระราชบัญญัติตั้งองค์การมหาชนอื่นเป็นการเฉพาะ ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ โดยแท้จริงแล้วเป็นองค์การมหาชนที่มีภารกิจเป็นการเฉพาะในการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา และเพื่อให้การจัดกลุ่มประเภทมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐสามารถแยกต่างหากจากองค์การมหาชนซึ่งจัดตั้งโดยพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. 2542 หรือจัดตั้งโดยพระราชบัญญัติอื่นเป็นการเฉพาะ จึงอาจเรียกสถานะของมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐได้ว่า เป็นหน่วยงานของรัฐรูปแบบอื่นที่มิใช่ส่วนราชการ หรือหน่วยงานในกำกับของรัฐนั้นเอง

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการจัดตั้งมหาวิทยาลัย ให้เป็นหน่วยบริการรูปแบบพิเศษ (SDU) นั้น ในปัจจุบันยังไม่สามารถกระทำได้ เนื่องจากระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารงานของหน่วยบริการรูปแบบพิเศษ พ.ศ. 2550 กำหนดให้ หน่วยบริการรูปแบบพิเศษ (SDU) ต้องจัดตั้งขึ้นในส่วนราชการที่มีฐานะต่ำกว่ากรมในส่วนราชการ ไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคล และอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของหัวหน้าส่วนราชการระดับกรม ดังนั้น หากมีการเปลี่ยนสถานภาพมหาวิทยาลัยเป็นไปหน่วยบริการรูปแบบพิเศษ (SDU) ก็จะส่งผลทำให้ การเปลี่ยนสถานภาพดังกล่าวขัดหรือแย้งต่อแนวคิดและหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้เคยกำหนดไว้ ทั้งนี้ สามารถสรุปสถานะและรูปแบบมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐเปรียบเทียบกับหน่วยงานของรัฐประเภทอื่น ๆ ได้ดังตารางต่อไปนี้
 

ตารางเปรียบเทียบสถานะ ความคล่องตัว และเป้าหมายของหน่วยงานของรัฐ

ประเภท

สถานะ

ความคล่องตัว

เป้าหมาย

ส่วนราชการ

นิติบุคคล

น้อย

ไม่แสวงหากำไร

องค์การมหาชนหรือ

หน่วยงานในกำกับของรัฐ

นิติบุคคล

มาก

ไม่แสวงหากำไร

รัฐวิสาหกิจ

นิติบุคคล

มาก

แสวงหากำไร

SDU

ไม่เป็นนิติบุคคล

ปานกลาง

ไม่แสวงหากำไร

 


               [1]คำว่า “Établissement public” เป็นคำในภาษาฝรั่งเศส ซึ่งหมายถึง “Public Organization” ในภาษาอังกฤษ และหมายถึง “องค์การมหาชน” ในประเทศไทย

               [2]คำว่า “Décentralisation Fonctionnelle” เป็นคำในภาษาฝรั่งเศส ซึ่งหมายถึง “Functionaldecentralization” ในภาษาอังกฤษ และหมายถึง “การกระจายอำนาจทางภารกิจหรือหน้าที่” ในประเทศไทย

               [3]คำว่า “Crown Entities” เป็นคำตามกฎหมาย Crown Entities Act, 2004 ของประเทศนิวซีแลนด์ ซึ่งหมายถึงหน่วยงานระดับสูงในเครือจักรภพ (from the Commonwealth term Crown)

               [4]หนังสือสำนักงาน ก.พ.ร. ที่ นร 1200/ว 1 ลงวันที่ 25 มกราคม 2562

               [5]พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี พ.ศ. 2533 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ให้จัดตั้งมหาวิทยาลัยของรัฐขึ้นในจังหวัดนครราชสีมาเรียกว่า “มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี””

               [6]พระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. 2542, มาตรา 5