มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี : Ubon Ratchathani University
 นักศึกษา    บุคลากร    ศิษย์เก่า   UBU English       |      




ทีมผู้วิจัย ม.อุบลฯ สืบสานและต่อยอดทุนทางวัฒนธรรมโขงเจียมเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน ร่วมงานโขงเจียมถักทอศิลป์ กินริมโขง อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี


โพสต์โดย : ทิพย์วรรณ เวฬุวนาธร     วันที่ 29 เมษายน 2568 , 22:04:26     (อ่าน 70 ครั้ง)  



ทีมผู้วิจัย ม.อุบลฯ สืบสานและต่อยอดทุนทางวัฒนธรรมโขงเจียมเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน

ร่วมงาน “โขงเจียมถักทอศิลป์ กินริมโขง” อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี

---------------------------------

           มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดย ศาสตราจารย์ ดร.ทวนทอง  จุฑาเกตุ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มอบหมาย ดร.สมปอง  เวฬุวนาธร อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ และผู้วิจัยโครงการวิจัย “การสืบสานและต่อยอดทุนทางวัฒนธรรมโขงเจียมเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน” เป็นตัวแทนมหาวิทยาลัยพร้อมผู้วิจัย ลงพื้นที่และร่วมเป็นเกียรติพิธีเปิดโครงการพัฒนาสินค้าและผู้ประกอบการเพื่อการค้าการลงทุนสู่สากล กิจกรรม OTOP ภูมิภาค นวัตกรรมแห่งภูมิปัญญา 2568 ภายใต้ชื่องาน “โขงเจียมถักทอศิลป์ กินริมโขง” โดยมี ว่าที่พันตรีอดิศักดิ์  น้อยสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ให้เกียรติเป็นประธาน โดยมีวัตถุประสงค์การจัดงานครั้งนี้ เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการ OTOP และกลุ่มอาชีพในชุมชนให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ตลอดจนส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน ในระหว่างวันที่ 25 – 27 เมษายน 2568 ที่ผ่าน ณ ลานชมจันทร์ บริเวณริมแม่น้ำโขง ตำบลโขงเจียม อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี

           ในการนี้ คณะผู้วิจัยโครงการวิจัย “การสืบสานและต่อยอดทุนทางวัฒนธรรมโขงเจียมเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน” โดยการสนับสนุนทุนวิจัยจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ถือโอกาสนี้ ลงพื้นที่เพื่อจัดเก็บข้อมูลทุนทางวัฒนธรรม กิจกรรมการสำรวจสืบค้นหาทุนทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในพื้นที่อำเภอโขงเจียม ภายใต้การดำเนินงานโครงการวิจัยการสืบสานและต่อยอดทุนทางวัฒนธรรมโขงเจียมเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน จังหวัดอุบลราชธานี ทั้งนี้ เพื่อพบปะสัมภาษณ์และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกับผู้ประกอบที่มาออกร้านในงาน มากกว่า 60 ร้าน รวมทั้งบันทึกภาพ สังเกตการณ์ และเก็บข้อมูลทุนทางวัฒนธรรมด้านผู้ประกอบการทางวัฒนธรรมในพื้นที่ และการประกวดศิลปะการแสดงท้องถิ่นจากศิลปินพื้นบ้านที่มีชื่อเสียงในพื้นที่อำเภอโขงเจียม พร้อมสัมภาษณ์ผู้ประกอบการวัฒนธรรม/วิสากิจชุมชน/กลุ่มอาชีพวิถีชีวิตริมโขง อาทิ “บ้านกุ่ม” ชุมชนเล็ก ๆ ที่มีชื่อเสียงด้านผ้าฝ้ายทอมือย้อมสีธรรมชาติ โดยการใช้วัตถุดิบจากพืชพื้นถิ่น เช่น มะเกลือ ฝาง สมอไทย คราม และขนุน ผ่านภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น กลุ่มทอผ้าบ้านกุ่มไม่เพียงรักษาวัฒนธรรมดั้งเดิมแต่ยังสร้างรายได้ให้ชุมชน ลดการใช้สารเคมี และส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ถือเป็นตัวอย่างของการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยคนในท้องถิ่น “บ้านท่าล้ง” เป็นหมู่บ้านที่มีความเงียบสงบริมแม่น้ำโขง ใกล้อุทยานแห่งชาติผาแต้ม เป็นถิ่นฐานของชนเผ่าบรูที่อพยพจากลาวมากว่าร้อยปี ปัจจุบันยังคงรักษาภาษาและวัฒนธรรมดั้งเดิมไว้ ชาวบ้านมีฝีมือจักสานไม้ไผ่ ใบเตย ผลิตเป็นกระติ๊บ ปิ่นโต เสื่อ และกระเป๋าที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวเป็นแหล่งเรียนรู้วิถีชีวิตเรียบง่ายและภูมิปัญญาท้องถิ่นที่น่าสนใจ “บ้านตามุย” เป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ริมแม่น้ำโขงที่มีเสน่ห์ทั้งธรรมชาติและวัฒนธรรม เป็นหนึ่งในหมู่บ้าน OTOP เพื่อการท่องเที่ยว ชุมชนมีอาชีพหลักคือประมง ควบคู่กับการทำนา ทอผ้าฝ้าย ทอสื่อใบเตย และแปรรูปอาหาร ผลิตภัณฑ์เด่น ได้แก่ ผ้าฝ้ายย้อมสีธรรมชาติ เสื่อเตย ดอกกระเจียว ปลาร้า และเครื่องมือประมงพื้นบ้าน ส่วนอาหารพื้นบ้านมีทั้งเมนูตามฤดูกาล เช่น แกงหน่อไม้ แกงเห็ด และเมนูประจำถิ่นจากปลาแม่น้ำโขง กิจกรรมท่องเที่ยวเด่น เช่น ล่องเรือชมเก้าพันโบก เยี่ยมชมวัดป่าภูตามุย และร่วมเทศการงานบุญต่าง ๆ ในส่วนของ “หมอลำ” ซึ่งเป็นศิลปะการแสดงพื้นบ้านของภาคอีสานที่เน้นการขับกลอนเป็นทำนองพร้อมท่าทางประกอบมีพัฒนาการจากการเล่านิทานสู่การแสดงที่มีดนตรีและเครื่องแต่งกาย แบ่งเป็นหลายประเภท เช่น หมอลำกลอน ลำซิ่ง และลำหมู่/ลำเพลิน หมอลำชื่อดังจากอุบลราชธานี ได้แก่ ป. ฉลาดน้อย และอังคนางค์  คุณไชย ผู้ก่อตั้งคณะอุบลพัฒนา และหมอลำจากโขงเจียม เช่น ชบา  เพ็งดี และสมาน  หงษา ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการอนุรักษ์ และเผยแพร่หมอลำในระดับภูมิภาค “งานจักสาน” ของจังหวัดอุบลราชธานีเป็นหัตถกรรมท้องถิ่นที่สะท้อนความคิดสร้างสรรค์และทักษะช่างฝีมือ โดยการใช้วัสดุจากธรรมชาติ เช่น ไม้ไผ่และหญ้า ผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่น ได้แก่ ตะกร้า เสื่อ กระติกข้าว หมวก และเครื่องมือเกษตร พื้นที่สำคัญในการผลิตคือ อำเภอโขงเจียม วารินชำราบ และอำเภอพิบูลมังสาหาร ซึ่งเป็นผลงานที่ละเอียด ทนทาน และได้รับความนิยมทั้งในท้องถิ่นและระดับประเทศ อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ยังมี  “อาหาร” หลากหลายรองรับนักท่องเที่ยว ทั้งไทย จีน ตะวันตก และอาหารพื้นเมืองที่สะท้อนวัฒนธรรมท้องถิ่นอย่างลึกซึ้ง เมนูพื้นบ้านเด่น ๆ ได้แก่ ลาบ ก้อย อ่อม หมก อู๋ และแจ่ว ส่วนเมนูเฉพาะถิ่นที่ห้าพลาดคือ ต้มปลาแม่น้ำโขง ปลาส้ม ปลาเผาเกลือ และไข่มดแดงต้มยำ โดยใช้วัตถุดิบสดจากธรรมชาติ อาหารเหล่านี้ไม่เพียงแต่อร่อยแต่ยังถ่ายทอดวิถีชีวิตและเอกลักษณ์ของคนริมโขงได้อย่างชัดเจน

---------------------------------

ทิพย์วรรณ  เวฬุวนาธร นักประชาสัมพันธ์ ชำนาญการ ม.อุบลฯ ภาพ/ข่าว




SDG Hashtag :

Tag อื่นๆ :