โพสต์โดย : ทิพย์วรรณ เวฬุวนาธร วันที่ 25 เมษายน 2568 , 12:56:04 (อ่าน 454 ครั้ง)
อว. ร่วมกับ มอบ. จัดกิจกรรม “15th SCiUS Forum”
มหกรรมแสดงผลงานวิจัยและนวัตกรรมนักเรียนมัธยมปลาย
---------------------------------
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มอบหมาย มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ร่วมกับโรงเรียนลือคำหาญวารินชำราบ เป็นเจ้าภาพจัดกิจกรรม “15th SCiUS Forum” มหกรรมแสดงผลงานวิจัยและนวัตกรรมของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจากโครงการห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนภายใต้การกำกับดูแลของมหาวิทยาลัย (โครงการ วมว.) ถือเป็นเวทีแสดงศักยภาพของนักเรียนในโครงการ วมว. ระหว่างวันที่ 25 – 27 เมษายน 2568 ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ร่วมกับโรงเรียนลือคำหาญวารินชำราบเป็นเจ้าภาพจัดกิจกรรม SCiUS Forum ครั้งที่ 15 นับเป็นเวทีใหญ่อันดับ 1 ของประเทศที่รวมเอาผลงานจาก 16 มหาวิทยาลัย 19 โรงเรียน 30 ห้องเรียน พร้อมครูและนักเรียนต่างชาติจากญี่ปุ่นและสปป.ลาว เข้าร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมโดยมี นายศุภชัย ใจสมุทร ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ให้เกียรติเป็นประธาน ว่าที่พันตรี อดิศักดิ์ น้อยสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี รองศาสตราจารย์ ดร.ชุตินันท์ ประสิทธิ์ภูริปรีชา อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวต้อนรับคณะผู้บริหาร คณะกรรมการดำเนินโครงการ อาจารย์ผู้แทนศูนย์ นักเรียนโครงการ วมว. และแขกผู้มีเกียรติ และนางสาววราภรณ์ รุ่งตระการ รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวรายงานและวัตถุประสงค์การจัดกิจกรรมครั้งนี้ เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวิชาการ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างนักเรียนในโครงการ วมว. ทั้ง 16 มหาวิทยาลัย 19 โรงเรียน และนักเรียนนานาชาติ จากโรงเรียนวิทยาศาสตร์และโรงเรียนมัธยมในต่างประเทศ พร้อมครูและนักเรียนต่างชาติจากญี่ปุ่นและสปป.ลาว เข้าร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อพัฒนาทักษะกระบวนการทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ของนักเรียนในโครงการ วมว. ทั้ง 16 มหาวิทยาลัย 19 โรงเรียน ทั้งนี้ เพื่อให้นักเรียนได้เพิ่มพูนประสบการณ์ รับฟังคำแนะนำ ตลอดจนข้อคิดเห็นต่าง ๆ ในการทำ โครงงานวิทยาศาสตร์จากนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัยและอาจารย์ในสาขาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และเพื่อเป็นเวทีในการคัดเลือกโครงงานวิทยาศาสตร์ในการเข้าประกวดระดับนานาชาติ
นายศุภชัย ใจสมุทร ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า กิจกรรม SCiUS Forum ครั้งที่ 15 มีความหลากหลายและมุ่งหวังในการพัฒนาบุคลากรรวมถึงบ่มเพาะนักเรียนโครงการ วมว. ผ่านการเพิ่มบทบาทและการมีส่วนร่วมในมิติการพัฒนากลุ่มเป้าหมายแต่ละกลุ่ม โดยเฉพาะการพัฒนาครูอาจารย์ผ่านกิจกรรม Committee observer และการมีส่วนร่วมของหน่วยงานภายนอกในการพิจารณาประเมินโครงงานของนักเรียนเพื่อให้รางวัลพิเศษจากหน่วยงาน อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงที่่สำคัญที่สุดในปีนี้ คือ การเปิดโอกาสให้บุคคลที่สนใจเข้าร่วมงานผ่านกิจกรรม SCiUS Public Day ซึ่งจะเป็นกิจกรรมที่จะทำให้ประชาชนทั่วไปได้รู้้จักและเห็นศักยภาพของนักเรียนโครงการ วมว. และเป็นการประชาสัมพันธ์โครงการ วมว. ให้ประชาชนทั่วไปได้รู้จักมากขึ้น กิจกรรม SCiUS Forum ถือเป็นเวทีแสดงศักยภาพของนักเรียนในโครงการ วมว. ซึ่งผ่านการบ่มเพาะทั้งทักษะทางวิชาการและการวิจัย โดยความร่วมมือกับคู่ศูนย์มหาวิทยาลัยเป็นระยะเวลา 2 ปี ให้สามารถนำผลงานที่สมบูรณ์มานำเสนอให้ทุกท่านรับชมและรับฟัง จึงอาจกล่าวได้ว่า SCiUS Forum เป็นเวทีทางวิชาการเวทีแรกของนักเรียนโครงการ วมว. ซึ่งจะมีส่วนช่วยสั่งสมประสบการณ์เพื่อก้าวสู่เวทีในระดับที่สูงขึ้น นอกจากนี้ ยังเป็นพื้นที่แห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวิชาการและประสบการณ์การทำงานวิจัย และการได้รับฟังข้อเสนอแนะในการปรับปรุงผลงานจากผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งจะเป็นการสร้างแรงบันดาลใจในการพัฒนาผลงาน นำไปสู่นวัตกรรมที่สร้างประโยชน์ต่อสังคมและ ประเทศชาติในอนาคต
ตลอดระยะเวลาดำเนินโครงการ 18 ปีที่ผ่านมา โครงการ วมว. ได้มีการพัฒนากิจกรรมบ่มเพาะนักเรียนและเพิ่มการมีส่วนร่วมของบุคลากรในมิติที่หลากหลายอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีเป้าหมายไปสู่การสร้างฐานกำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ ววน. ของประเทศให้แข็งแกร่ง และมีส่วนสำคัญในการพัฒนาการเรียนการสอนสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษด้าน ววน. ของประเทศ โดยหนึ่งในการดำเนินนโยบายของโครงการ วมว. ระยะที่ 3 เพื่อสนับสนุนเป้าหมายดังกล่าว คือ การนำกลไก SCiUS Academy มาขับเคลื่อนและยกระดับโครงการ วมว. อย่างเป็นองคาพยพเดียวกันในทุกมิติ กระทรวง อว. มีภารกิจสำคัญในการพัฒนากำลังคนด้าน ววน. และมีความพร้อมด้านระบบนิเวศที่เหมาะสมต่อการพัฒนากำลังคนศักยภาพสูง ตั้งแต่ระดับฐานถึงระดับเชี่ยวชาญ เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า นักเรียนโครงการ วมว. จะเติบโตและก้าวมาเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาประเทศร่วมกัน โดยกิจกรรม SCiUS Forum ในวันนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญสำหรับการเติบโตอย่างเข้มแข็งในอนาคต ผมขอชื่นชมและเป็นกำลังใจให้นักเรียนทุกคนได้ใช้พื้นที่และโอกาสในครั้งนี้ ในการแสดงศักยภาพและผลักดันตนเองอย่างเต็มที่เปิดรับประสบการณ์จากการเข้าร่วมกิจกรรมด้วยจิตใจที่มุ่งมั่น เพื่อเตรียมพร้อมสู่เวทีระดับนานาชาติ และเปิดประตูสู่การเป็นพลเมืองโลกต่อไป
รองศาสตราจารย์ ดร.สุระ วุฒิพรหม ผู้อำนวยการโครงการ วมว. ศูนย์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี - โรงเรียนลือคำหาญวารินชำราบ กล่าวว่า “SCiUS Forum ไม่ใช่แค่เวทีนำเสนอผลงาน แต่เป็นพื้นที่สร้างแรงบันดาลใจ สร้างเครือข่าย และขับเคลื่อนเยาวชนให้เติบโตสู่การเป็นผู้นำทางวิทยาศาสตร์ในอนาคต”การจัดกิจกรรมครั้งนี้ ภายใต้แนวคิด “Rising Scientist: Creative Thinking for Global Leadership”มุ่งส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์และทักษะการทำโครงงานวิจัย เพื่อยกระดับศักยภาพของเยาวชนไทยให้พร้อมแข่งขันในเวทีระดับนานาชาติ และเปิดประตูสู่การเป็นพลเมืองโลกต่อไป การจัดกิจกรรม SCiUS Forum ครั้งนี้ มีกิจกรรมหลากหลาย อาทิ การนำเสนอโครงงาน 379 โครงงาน ทั้งแบบบรรยาย (Oral Presentation) และแบบโปสเตอร์ (Poster Presentation) Pitching Project: Student Research to Business เวทีพิเศษเพื่อส่งเสริมการต่อยอดผลงานจากโครงงานสู่เชิงพาณิชย์ การบรรยายพิเศษ โดยนักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญระดับประเทศที่มีผลงานโดดเด่น เพื่อเสริมสร้างมุมมองด้านวิชาการและการทำวิจัย Poster Popular Vote เพื่อส่งเสริมการวิพากษ์ผลงานอย่างสร้างสรรค์ กิจกรรมทัศนศึกษาสำหรับครู นักเรียน และผู้บริหารต่างชาติ เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ รางวัลพิเศษกว่า 50 รางวัล จาก 12 หน่วยงานวิชาการชั้นนำ รวมถึงรางวัลโครงงานจากความสงสัยใคร่รู้ (Curiosity-based Project) และรางวัล “นักเรียนผู้มีส่วนร่วมเข้าชมโครงงานสูงสุด” สำหรับนักเรียนผู้เข้าชมโครงงานมากที่สุด 15th SCiUS Forum ไม่เพียงเปิดเวทีให้นักเรียนได้พัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ การแก้ปัญหา และการทำงานวิจัยเชิงลึกเท่านั้น แต่ยังเตรียมความพร้อมด้านการสื่อสาร การทำงานเป็นทีม และการปรับตัวสู่โลกยุคใหม่ อันเป็นทักษะสำคัญของนักวิทยาศาสตร์ในศตวรรษที่ 21 คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานมากกว่า 1,500 คนต่อวัน ตลอดระยะเวลา 3 วันของกิจกรรม พร้อมเปิดให้ประชาชนทั่วไปที่สนใจสามารถเข้าร่วมชมงานฟรี งานนี้นับเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของโครงการ วมว. ในการยกระดับ “SCiUS Forum” ให้ก้าวสู่เวทีวิชาการระดับนานาชาติ และขับเคลื่อนศักยภาพของเยาวชนไทยให้กลายเป็นผู้นำด้านวิทยาศาสตร์บนเวทีโลกอย่างแท้จริง
---------------------------------------
ทิพย์วรรณ เวฬุวนาธร นักประชาสัมพันธ์ ชำนาญการ ม.อุบลฯ ภาพ/ข่าว