โพสต์โดย : เพลิน วิชัยวงศ์ วันที่ 29 สิงหาคม 2567 , 00:17:22 (อ่าน 111 ครั้ง)
.มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ร่วมจัดนิทรรศการผลงานวิจัยในงาน มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2567 (Thailand Research Expo 2024) ครั้งที่ 19“สานพลังวิจัย ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยอย่างยั่งยืน” ในกลุ่มงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG โดยนำเสนอผลงานวิจัย “ปลาดุกบิ๊กอุยเพิ่มกรดไขมันที่ไม่อิ่มตัวสูง ที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี” ซึ่งมี รองศาสตราจารย์ ดร.ธนาทิพย์ แหลมคม เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย โอกาสนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.ชุตินันท์ ประสิทธิ์ภูริปรีชา อธิการบดี เดินทางเข้าเยี่ยมชมและให้กำลังใจนักวิจัยในการนำผลงานวิจัยมหาวิทยาลัยสู่สาธารณะ ระหว่างวันที่ 26 – 30สิงหาคม 2567 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพ ฯ
รองศาสตราจารย์ ดร.ธนาทิพย์ แหลมคม หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่า คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้ดำเนินงานโครงการวิจัยปลาดุกบิ๊กอุยเพิ่มกรดไขมันที่ไม่อิ่มตัวสูง ที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดยมีการศึกษาลักษณะของยีน Fatty acyl desaturase และ Fatty acyl elongase ในปลาดุกบิ๊กอุย เพื่อศึกษาการแสดงออกของยีน และกระตุ้นการทำงานของยีนที่ทำหน้าที่ในการสร้างเอ็นไซม์ FAdes และ FAelon ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงกรดไขมันในอาหารให้เป็นกรดไขมันที่ไม่อิ่มตัวสูงและสะสมในกล้ามเนื้อ เพิ่มขึ้น 2-3 เท่า จากนั้นได้นำผลการศึกษาไปพัฒนาสูตรอาหารที่เหมาะสมต่อการสร้างและสะสมกรดไขมันที่ไม่อิ่มตัวสูงในกล้ามเนื้อสำหรับการเลี้ยงปลาดุกบิ๊กอุย จำนวน 3 สูตร ประกอบด้วย
1) สูตรอาหารสำหรับปลาดุกบิ๊กอุยขนาดเล็ก (อายุ 1-30 วัน)
2) สูตรอาหารสำหรับปลาดุกบิ๊กอุยขนาดกลาง (อายุ 31-60 วัน)
3) สูตรอาหารสำหรับปลาดุกบิ๊กอุยขนาดใหญ่ (อายุ 61-120 วัน)
นอกจากนี้ ได้พัฒนาระบบการเลี้ยงปลาด้วยการจัดการอัตราความหนาแน่น การจัดการคุณภาพน้ำ การจัดการการย่อยสลายของเสียด้วยจุลินทรีย์ จำนวน 2 ระบบ ประกอบด้วย
1) ระบบการเลี้ยงปลาดุกที่เพิ่มกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูง (โอเมกา-3) ในบ่อดินแบบไบโอฟาร์ม
2) ระบบการเลี้ยงปลาดุกที่เพิ่มกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูง (โอเมกา-3) แบบไบโอฟอล์ค
เมื่อนำระบบการเลี้ยงปลาร่วมกับการให้อาหารจากสูตรอาหารที่พัฒนาขึ้น 3 สูตร พบว่า คุณค่าทางโภชนาการของเนื้อปลามีระดับของโปรตีนเพิ่มขึ้น ระดับของไขมันและพลังงานรวมทั้งหมดลดลง จึงจัดเป็นอาหารฟังก์ชันและอาหารปลอดภัยที่เหมาะสมต่อผู้บริโภคผลผลิตที่เกิดจากการพัฒนาระบบการเลี้ยง ได้นำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ ได้แก่ ปลาทั้งตัวแช่แข็ง (Frozen Whole Fish) ปลาหั่นชิ้นแช่แข็ง (Frozen Fish Steak) ปลาแล่แช่แข็ง (Frozen Fish Fillet) ปลาดุกหยอง ปลาดุกแผ่น
ปลาแคลเรียส (Clarias Fish) นวัตกรรมและเทคโนโลยีการเลี้ยงปลาแคลเรียส หรือปลาดุกเพื่อสุขภาพ แบบไบโอฟาร์ม และไบโอฟอล์ค ด้วยอาหารเม็ดที่เพิ่มกรดไขมันที่ไม่อิ่มตัวสูง (Omega 3 พลัส) อนุสิทธิบัตรงานวิจัย มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และบริษัท โอเมกา แอนด์ ออร์แกนิค ฟาร์ม จำกัด สนับสนุนโดย หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) โครงการวิจัยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ
สำนักงานวิจัยฯ /ภาพและข่าว
Tag อื่นๆ : #การจัดการศึกษา#วิจัยและนวัตกรรม