โพสต์โดย : ทิพย์วรรณ เวฬุวนาธร วันที่ 17 พฤษภาคม 2567 , 16:19:53 (อ่าน 676 ครั้ง)
วิศวกรรมศาสตร์ ม.อุบลฯ จัดประชุมวิชาการข่ายงานวิศวกรรมอุตสาหการ ครั้งที่ 42
พัฒนาวิศวกรไทย ให้มีศักยภาพเพื่อแข่งขันได้ในระดับโลก
---------------------------------------
มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดย ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ร่วมกับ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย หรือ วศท. และเครือข่ายวิศวกรรมอุตสาหการ เป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมวิชาการข่ายงานวิศวกรรมอุตสาหการ ครั้งที่ 42 ประจำปี 2567 ระหว่างวันที่ 15 – 17 พฤษภาคม 2567 ณ โรงแรมเซ็นทารา อุบลราชธานี ภายใต้แนวคิด “Next-Gen Manufacturing: Green and Smart Solutions for the Future” โดยมี นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานเปิด ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิศิษฐ์ แสง-ชูโต ประธานสาขาวิศวกรรมอุตสาหการ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย กล่าวต้อนรับ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เกรียงศักดิ์ แก้วกุลชัย รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวรายงานและวัตถุประสงค์การจัดงานประชุมวิชาการครั้งนี้ เพื่อเป็นเวทีในการเผยแพร่ผลงานวิชาการ และเป็นพื้นที่ให้นักวิชาการในด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสายงานวิศวกรรมอุตสาหการได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประเด็นต่าง ๆ ในด้านการวิจัยและการพัฒนานวัตกรรม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่สังคม ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและรู้เท่าทันเทคโนโลยี ตลอดจนสามารถนำเทคโนโลยีต่าง ๆ มาประยุกต์ในงานอาชีพของตนอย่างเหมาะสมในอนาคตต่อไป
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เกรียงศักดิ์ แก้วกุลชัย รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า ในนามผู้บริหารมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และคณะกรรมการจัดงานประชุมวิชาการข่ายงานวิศวกรรมอุตสาหการ ครั้งที่ 42 ไม่ได้เป็นเพียงเวทีในการนำเสนอความก้าวหน้าทางวิชาการเท่านั้น แต่ยังเป็นเวทีให้วิศวกรอุตสาหการได้มาพบปะ พูดคุย และแลกเปลี่ยนประสบการณ์วิชาชีพร่วมกัน เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายวิศวกรอุตสาหการ และร่วมกันผลักดันความก้าวหน้าด้านวิชาชีพต่อไป ทั้งนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมวิสัยทัศน์วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ให้เป็นศูนย์กลางด้านวิชาชีพ และวิชาการ ตลอดจนชี้นำด้านวิศวกรรมแก่สังคม โดยมีพันธกิจหลักในการเป็นศูนย์กลาง และแหล่งเผยแพร่ความรู้ด้านวิศวกรรมแก่วิศวกร และประชาชนทั่วไป เพื่อพัฒนาวิศวกรไทย ให้มีศักยภาพเพื่อแข่งขันได้ในระดับโลก จัดทำมาตรฐานทางวิชาชีพเพื่ออ้างอิง ศึกษา ติดตาม และชี้นำโครงการสำคัญที่มีผลกระทบต่อส่วนรวม และพัฒนาองค์กรอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับงานประชุมวิชาการครั้งนี้ มีบทความจำนวนกว่า 190 บทความที่ส่งเข้ามาพิจารณาโดยผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายมหาวิทยาลัย และมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 250 คนจากทั่วประเทศ โดยภายในงานกำหนดให้มีการนำเสนอผลงานวิชาการแบบปากเปล่า (oral presentation) การบรรยายพิเศษ หัวข้อ “เทคโนโลยีพลาสมากับการพัฒนาประเทศ” โดย รองศาสตราจารย์ ดร.คมกฤต เล็กสกุล อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ การบรรยายพิเศษ หัวข้อ “การออกแบบระบบโลจิสติกส์การขนถ่ายสินค้ากลางทะเล โดยใช้ระบบสารสนเทศและดิจิทัลแพลตฟอร์ม” โดย ศาสตราจารย์ ดร.กาญจนา เศรษฐนันท์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น การบรรยายพิเศษ หัวข้อ “Intelligent Machine & Manufacturing”โดย ศาสตราจารย์ ดร.สมเกียรติ ตั้งจิตสิตเจริญ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และการเสวนาพิเศษ “ศ.พบ ประชาชน” หัวข้อ “ทิศทางการวิจัยและการตีพิมพ์เพื่อขอตำแหน่งวิชาการ” โดย รองศาสตราจารย์ ดร.คมกฤต เล็กสกุล ศาสตราจารย์ ดร.สมเกียรติ ตั้งจิตสิตเจริญ ศาสตราจารย์ ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง และ ศาสตราจารย์ ดร.กาญจนา เศรษฐนันท์ เป็นผู้ร่วมเสวนา
ในนามคณะผู้จัดงานขอขอบคุณอาจารย์และนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ที่ให้ความร่วมมือในการจัดเตรียมงานและขอขอบคุณ Keynote speakers ตลอดจนผู้สนับสนุนทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย กรมทรัพย์สินทางปัญญา และบริษัทห้างร้านที่ให้การสนับสนุนการจัดงานครั้งนี้จนสำเร็จบรรลุวัตถุประสงค์ทุกประการ
--------------------------------------------
ทิพย์วรรณ เวฬุวนาธร นักประชาสัมพันธ์ ชำนาญการ ม.อุบลฯ ภาพ/ข่าว