มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี : Ubon Ratchathani University
 นักศึกษา    บุคลากร    ศิษย์เก่า   UBU English      




ประกาศมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เรื่อง มาตรการป้องกันและเฝ้าระวังการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) (ฉบับที่ ๑) พ.ศ. ๒๕๖๕


โพสต์โดย : เทอดภูมิ ทองอินทร์     วันที่ 10 พฤษภาคม 2565 , 10:04:16     (อ่าน 4,566 ครั้ง)  



 

ประกาศมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

เรื่อง มาตรการป้องกันและเฝ้าระวังการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)

(ฉบับที่ ๑)

พ.ศ. ๒๕๖๕

____________

          ด้วยนายกรัฐมนตรี ได้มีประกาศ ลงวันที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๕ เรื่อง การขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ ทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ ๑๗) และให้ประกาศที่คณะรัฐมนตรีกำหนด ข้อกำหนด ประกาศ และคำสั่งที่นายกรัฐมนตรีกำหนด ตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินยังคงมีผลใช้บังคับต่อไป รวมถึงมีประกาศ เรื่อง การให้ข้อกำหนด ประกาศ และคำสั่งที่นายกรัฐมนตรีกำหนด ตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินยังคงมีผลใช้บังคับต่อไป โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๕ ถึงวันที่ ๓๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๕ ประกอบกับ ปัจจุบันได้มีการตราข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกำหนดการการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ (ฉบับที่ ๔๔) โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๕ โดยได้ผ่อนคลายมาตรการในการควบคุมแบบเข้มงวด และปรับปรุงมาตรการควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 แบบบูรณาการให้เป็นไปอย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ เพื่อให้ประชาชนสามารถดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมได้อย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับมาตรการ
ด้านสาธารณสุขเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

          ดังนั้น เพื่อให้การป้องกัน เฝ้าระวัง และควบคุมโรคของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีสอดคล้องกับประกาศและข้อกำหนดดังกล่าวข้างต้น มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีโดยความเห็นชอบของ คณะกรรมการศูนย์ประสานงานเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรควิด-19 มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ในการประชุมครั้งที่ ๓/๒๕๖๔ เมื่อวันที่ ๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๕ จึงออกประกาศกำหนดมาตรการป้องกันและเฝ้าระวังการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) พ.ศ. ๒๕๖๕ ดังนี้

 

                ข้อ ๑ ให้ยกเลิก ประกาศมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เรื่อง มาตรการป้องกันและเฝ้าระวังการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ระลอกใหม่ (ฉบับที่ ๑๑) : มาตรการปลอดภัยสำหรับองค์กร (COVID free Setting) ฉบับลงวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๔

 

                ข้อ ๒ ในประกาศนี้

                “ผู้ติดเชื้อ” หมายความว่า ผู้ป่วยหรือผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่มีผลเป็นบวกจากการคัดกรองโรคด้วยวิธี ATK หรือ RT-PCRและเข้ารับการรักษาในระบบบริการของกระทรวงสาธารณสุข

                “ผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูง” หมายความว่า ผู้ที่เจ้าพนักงานควบคุมโรคมีคำสั่งให้กักตัว เนื่องจากไม่สวมหน้ากากตามมาตรฐานตลอดช่วงเวลาที่มีการสัมผัสผู้ติดเชื้อ และ

                (๑) ใกล้ชิดพูดคุยกับผู้ติดเชื้อ ในระยะ 2 เมตร นานกว่า 5 นาที หรือ ถูกไอจามรดจากผู้ติดเชื้อ หรือรับประทานอาหารและเครื่องดื่มร่วมกับผู้ติดเชื้อ ในระยะเวลา 2 วัน ก่อนผู้ติดเชื้อมีอาการเจ็บป่วย หรือ

                (๒) อยู่ในสถานที่ระบบปิดและไม่มีอากาศถ่ายเทร่วมกับผู้ติดเชื้อ นานกว่า 30 นาที

 

มาตรการด้านการเรียนการสอน

                ข้อ ๓ ให้คณะ วิทยาลัย สำนัก หรือหน่วยงานที่มีหน้าที่จัดการเรียนการสอน จัดการเรียนการสอนในที่ตั้ง โดยจัดให้มีมาตรการควบคุม ป้องกัน และเฝ้าระวังโรค ตามมาตรการดังต่อไปนี้

                (๑) ให้นักศึกษา และอาจารย์ผู้สอน สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา และหลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดขณะจัดการเรียนการสอน

                (๒) จัดให้มีเครื่องวัดอุณหภูมิสำหรับผู้เข้าออกอาคารเรียน และจัดเตรียมจุดล้างมือหรือจุดบริการเจลแอลกอฮอล์สำหรับล้างมือก่อนเข้าอาคารและก่อนเข้าห้องเรียน

                (๓) จัดให้มีการทำความสะอาดห้องเรียนและอาคารทุกวัน และโดยเฉพาะบริเวณที่มีการใช้งานหรือสัมผัสร่วมกันให้ทำความสะอาดด้วยแอลกอฮอล์หรือน้ำยาฆ่าเชื้อเข้มข้น

                (๔) หากนักศึกษาหรือบุคลากรมีอาการเจ็บป่วยหรือเข้าข่ายสงสัยว่าจะติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ให้งดเข้าห้องเรียนและให้พักสังเกตอาการตนเอง ณ ที่พักอาศัย

                (๕) หากนักศึกษาเป็นผู้ติดเชื้อ หรือเป็นผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูง ให้แนบหลักฐานการติดเชื้อ หรือ หลักฐานการได้รับคำสั่งจากเจ้าพนักงานควบคุมโรคให้กักตัว เพื่อใช้ยื่นเพื่อลาเรียน ทั้งนี้ให้ถือว่าวันลาเรียนดังกล่าวไม่เป็นวันขาดเรียน และให้ดำเนินการดังนี้

                     (๕.๑) ให้อาจารย์ผู้สอนจัดเตรียมเอกสารประกอบการเรียนรู้ให้พร้อมสำหรับนักศึกษาที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือนักศึกษาผู้สัมผัสเสี่ยงสูง เพื่อให้สามารถเรียนชดเชยได้ด้วยตนเอง

                     (๕.๒) กรณีมีการสอบย่อย (Quiz) ระหว่างจัดการเรียนการสอน ให้นักศึกษายื่นคำขอต่ออาจารย์ผู้สอนเพื่อขอสอบชดเชยได้

                     (๕.๓) กรณีรายวิชาปฏิบัติการที่ต้องลงมือปฏิบัติในห้องปฏิบัติการ หรือรายวิชาที่นักศึกษาต้องไปฝึกปฏิบัติในแหล่งฝึกหรือหน่วยงานภายนอกมหาวิทยาลัย ให้อยู่ในดุลยพินิจของอาจารย์ผู้สอนพิจารณาจัดฝึกปฏิบัติการชดเชย หรือฝึกปฏิบัติในแหล่งฝึกหรือหน่วยงานภายนอกในภายหลัง

                (๖) ให้คณะ วิทยาลัย สำนัก หรือหน่วยงานที่มีหน้าที่จัดการเรียนการสอน จัดเตรียมชุดตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ด้วยวิธี ATK สำหรับการคัดกรอง เฉพาะกรณีนักศึกษามีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อ หรือมีอาการเข้าข่ายว่าติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

 

มาตรการด้านการปฏิบัติตนของนักศึกษาและบุคลากร

 

                ข้อ ๔ ให้นักศึกษาและบุคลากรที่เดินทางเข้าพื้นที่มหาวิทยาลัยเป็นครั้งแรก รายงานตัวเพื่อประเมินความเสี่ยง พร้อมกับบันทึกผลการรับวัคซีนและผลการตรวจคัดกรองด้วยชุดตรวจหาเชื้อชนิด ATK ผ่านระบบสำรวจการเดินทางและประเมินความเสี่ยงเพื่อการควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ผ่านแอปพลิเคชัน HugUBUซึ่งเข้าถึงได้จาก http://hugubu.ubu.ac.th

 

                ข้อ ๕ นักศึกษาและบุคลากรที่เป็นผู้ติดเชื้อ ให้ติดต่องานควบคุมโรค มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ทางหมายเลขโทรศัพท์ 045-3531-000 (วันราชการ เวลา 08.00-20.00 น. วันหยุดราชการ 08.00-16.00 น.) หรือผ่านทาง Official Line “งานควบคุมโรค รพ.ม.อุบลฯ” ID Line : @935qxcsi โดยแพทย์จะเป็นผู้ประเมินอาการและความเสี่ยง รวมถึงแนวทางการรักษาแบบผู้ป่วยนอก (Self-Isolation) หรือ การรักษาในลักษณะอื่น ทั้งนี้ระยะเวลาในการรักษา
ให้เป็นไปตามคำสั่งเจ้าพนักงานคุ้มครองโรคกำหนด

 

                ข้อ ๖ นักศึกษาและบุคลากรที่ใกล้ชิดเสี่ยงสูงกับผู้ติดเชื้อ ให้รายงานตัวต่องานควบคุมโรค มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ผ่านทาง Official Line “งานควบคุมโรค รพ.ม.อุบลฯ” ID Line : @935qxcsiเพื่อดำเนินการสอบสวนโรคทุกกรณี ให้นักศึกษาและบุคลากรถือปฏิบัติตามคำสั่งหรือคำแนะนำของเจ้าพนักงานควบคุมโรคโดยเคร่งครัด อนึ่ง ในกรณีที่นักศึกษาและบุคลากร
ผู้เป็นสัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูง ให้ปฏิบัติดังนี้

                (๑) แยกกักตัว ณ ที่พัก เป็นระยะเวลา ๕ วัน เพื่อตรวจสอบอาการป่วย

                (๒) หากมีอาการ ให้ตรวจคัดกรองโรคด้วยวิธี ATK ทันที ทั้งนี้หากมีผลเป็นบวกให้ดำเนินการตามข้อ ๕

                (๓) ตรวจคัดกรองโรคด้วยวิธี ATK ครั้งที่ ๑ ในวันที่ ๕ หลังสัมผัสใกล้ชิดผู้ติดเชื้อเป็นครั้งสุดท้าย

                (๓.๑) หากมีผลเป็นบวกให้ดำเนินการตามข้อ ๕

                (๓.๒) หากมีผลเป็นลบ ให้สังเกตอาการเป็นระยะเวลา 5 วัน ทั้งนี้นักศึกษาและบุคลากร สามารถเดินทางมายังมหาวิทยาลัยได้ โดยให้แยกพื้นที่การปฏิบัติงานหรือการทำกิจกรรมจากผู้อื่น ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโดยเคร่งครัด งดไปพื้นที่สาธารณะ งดร่วมกิจกรรมรวมกลุ่มกับผู้คนเป็นจำนวนมาก และงดใช้ขนส่งสาธารณะที่หนาแน่น

                (๔) ตรวจคัดกรองโรคด้วยวิธี ATK ครั้งที่ ๒ ในวันที่ ๑๐ หลังสัมผัสใกล้ชิดผู้ติดเชื้อเป็นครั้งสุดท้าย หากมีผลเป็นบวกให้ดำเนินการตามข้อ ๕

 

                ข้อ ๗ กรณีที่บุคลากรเป็นผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูง หรือเป็นผู้ติดเชื้อ ที่ไม่มีอาการรุนแรงและได้รับคำสั่งรักษาแบบผู้ป่วยนอก (Self-Isolation) และได้รับคำสั่งให้กักตัวหรือทำการรักษา ณ ที่พักอาศัย หากผู้บังคับบัญชาพิจารณาแล้วเห็นว่า จำเป็นต้องให้บุคลากรดังกล่าวปฏิบัติงานนอกที่ตั้ง (Work From Home) เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการปฏิบัติงานและป้องกันมิให้เกิดความเสียหายต่อการบริหารราชการของมหาวิทยาลัย ให้หน่วยงานต้นสังกัดพิจารณามอบหมายงานที่เหมาะสมกับสถานการณ์ และเสนอเรื่องต่ออธิการบดี เพื่อพิจารณาอนุมัติ

 

                ข้อ ๘ ขอความร่วมมือให้นักศึกษาและบุคลากรเข้ารับวัคซีน ณ โรงพยาบาลหรือจุดให้บริการที่ใกล้เคียง และขอให้นักศึกษาและบุคลากรปฏิบัติตามมาตรการป้องกันตนเองขั้นสูงสุดแบบครอบจักรวาล (Universal Prevention)

 

                ข้อ ๙ ให้โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ดำเนินการตรวจคัดกรองบุคลากรและนักศึกษาที่ยังไม่ได้รับวัคซีน หรือได้รับวัคซีนยังไม่ครบโดส ด้วยชุดตรวจหาเชื้อด้วยวิธี ATK
ทุก ๑๕ วัน รวมถึงเตรียมความพร้อมในการตรวจคัดกรองบุคลากรและนักศึกษา กรณีมีความเสี่ยงหรือมีอาการ

 

มาตรการด้านการจัดกิจกรรมและอาคารสถานที่

 

                ข้อ ๑๐ การจัดกิจกรรมที่ไม่ใช่การจัดการเรียนการสอนทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยที่มีการรวมกลุ่มให้ทุกหน่วยงานสามารถดำเนินการได้ภายใต้จำนวนคนและมาตรการป้องกันและควบคุมโรคที่นายกรัฐมนตรี หรือศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ประกาศกำหนด โดยอย่างน้อยต้องปฏิบัติตามมาตรการ DMHT-RCดังนี้

                (๑) จัดกิจกรรมโดยเว้นระยะห่างของบุคคล ๑-๒ เมตร

                (๒) ผู้เข้าร่วมกิจกรรมต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่อยู่ในพื้นที่จัดกิจกรรม

                (๓) จัดจุดคัดกรองวัดอุณหภูมิร่างกายก่อนเข้าร่วมกิจกรรม

                (๔) จัดให้มีการเข้าออกอาคารทางเดียว และอนุญาตให้เฉพาะผู้ที่สวมหน้ากากเข้าพื้นที่จัดกิจกรรม

                (๕) จัดให้มีการลงทะเบียนเข้าออกพื้นที่จัดกิจกรรม

                (๖) จัดให้มีจุดบริการเจลแอลกอฮอล์หรือจุดล้างมือในพื้นที่จัดกิจกรรม

                (๗) จัดให้มีจุดทิ้งขยะประเภทหน้ากากอนามัย หรือกระดาษชำระเป็นการเฉพาะ
ในพื้นที่จัดกิจกรรม

                (๘) หากจำเป็นต้องมีการรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มในระหว่างจัดกิจกรรม
ให้ดำเนินการจัดรูปแบบของอาหารหรือเครื่องดื่มในรูปแบบที่สามารถรับประทานส่วนบุคคลได้

 

                ข้อ ๑๑ ให้คณะ วิทยาลัย สำนัก หรือหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัยที่มีจุดบริการน้ำดื่ม ดำเนินการตรวจคุณลักษณะทางกายภาพ สี กลิ่น และสิ่งเจือปนในจุดบริการน้ำดื่มภายในอาคารนั้น ๆ ให้ได้คุณภาพตามที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนด โดยดำเนินการอย่างน้อยเดือนละ
๒ ครั้ง

 

                ข้อ ๑๒ ให้ทุกหน่วยงานในมหาวิทยาลัย ผู้ประกอบการ ร้านค้า ร้านอาหาร ร้านเช่าภายในมหาวิทยาลัย ดำเนินการให้มีมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันการระบาดของโรค ดังนี้

                (๑) จัดจุดคัดกรองวัดอุณหภูมิร่างกายก่อนเข้าอาคาร

                (๒) จัดให้มีการเข้าออกอาคารทางเดียว และอนุญาตให้เฉพาะผู้ที่สวมหน้ากากเข้าอาคารเท่านั้น

                (๓) จัดให้มีการลงทะเบียนเข้าออกพื้นที่

                (๔) จัดให้มีจุดบริการเจลแอลกอฮอล์หรือจุดล้างมือ

                (๕) จัดให้มีการทำความสะอาดพื้นผิวห้องสุขาและสุขภัณฑ์อย่างสม่ำเสมอ

                (๖) จัดการขยะโดยการคัดแยกขยะแต่ละประเภทตามมาตรฐานด้านการจัดการขยะ

                (๗) จัดให้มีจุดส่งอาหาร เครื่องดื่ม หรือส่งสินค้าเป็นการเฉพาะ

                (๘) จำกัดจำนวนคนเข้าใช้บริการในแต่ละช่วงเวลา และการรักษาระยะห่างทางสังคม เพื่อลดความเสี่ยงของการแพร่เชื้อ

                (๙) ในกรณีมีการใช้เครื่องปรับอากาศในอาคาร ให้เปิดหน้าต่างหรือช่องลมเพื่อระบายอากาศ ก่อนเปิดหรือปิดเครื่องปรับอากาศล่วงหน้าไม่น้อยกว่า ๑ ชั่วโมง

                (๑๐) หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มร่วมกัน

                (๑๑) จัดให้มีมาตรการ DMHT-RC โดยเคร่งครัด ได้แก่ D : Social Distancing เว้นระยะห่าง ๑-๒ เมตร เลี่ยงการอยู่ในที่แออัด M : Mask Wearing สวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยตลอดเวลา H : Hand Washing ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์  T : Testing การตรวจวัดอุณหภูมิและตรวจหาเชื้อโควิด-19 ในกรณีที่มีอาการเข้าข่าย R : Reducingการลดการแออัด และ C: Cleaning การทำความสะอาด

 

                ข้อ ๑๓ ในการจัดตลาดสด หรือตลาดนัดภายในมหาวิทยาลัย ให้ดำเนินการภายใต้มาตรการป้องกันและควบคุมโรคตามที่กำหนดไว้ในข้อกำหนด ประกาศ คำสั่งของนายกรัฐมนตรี หรือศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี

 

                ข้อ ๑๔ ในกรณีที่คณะ วิทยาลัย สำนัก หรือหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัยหน่วยงานใดได้รับรายงานว่า มีผู้ติดเชื้อเข้าใช้พื้นที่ภายในอาคาร ให้ปิดพื้นที่ที่เกี่ยวข้องดังกล่าวเป็นระยะเวลาอย่างน้อย ๑ วัน เพื่อฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อ และทำความสะอาดตามมาตรฐานทางสาธารณสุข และให้งดการเข้าใช้พื้นที่ดังกล่าว ตลอดจนการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ในระหว่างปิดทำการ และให้หน่วยงานนั้น แจ้งไปยังโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีเพื่อดำเนินการสอบสวนโรค และแจ้งไปยังสำนักบริหารกายภาพและสิ่งแวดล้อมเพื่อฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโดยเร็ว สำหรับบุคลากรที่ปฏิบัติงานในอาคารหรือพื้นที่ที่ปิดทำการ ให้รองอธิการบดี ผู้ช่วยอธิการบดี คณบดี ผู้อำนวยการสำนัก หรือหัวหน้าหน่วยงานนั้น ๆ พิจารณากำหนดรูปแบบการทำงานและมอบหมายงานในวันที่ปิดทำการตามที่กำหนดในวรรคหนึ่งให้เหมาะสมกับสถานการณ์ โดยให้คำนึงถึงประสิทธิภาพและความต่อเนื่องในการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยเป็นสำคัญ

 

                ข้อ ๑๕ นอกเหนือจากที่กำหนดไว้ในประกาศนี้ ให้นักศึกษาและบุคลากร ปฏิบัติตามมาตรการและแนวทางในการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามประกาศ ข้อกำหนด หรือคำสั่งของนายกรัฐมนตรีหรือคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีที่ออกตามความในพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘
หรือตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. ๒๕๕๘ หรือของทางราชการที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัด ตลอดจนตระหนักและคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมในการป้องกันและเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เป็นสำคัญ

 

 

                การปฏิบัติตามกฎหมาย กฎ ประกาศ หรือคำสั่งดังกล่าวข้างต้นถือเป็นส่วนหนึ่งในการรักษาวินัยของเจ้าหน้าที่รัฐ และนักศึกษา ทั้งนี้ให้ผู้บังคับบัญชาหรือคณบดี กำชับ ติดตามดูแลให้มีการปฏิบัติตามกฎหมาย กฎ ประกาศ หรือคำสั่งโดยเคร่งครัด

 

                ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลง

                    ประกาศ  ณ  วันที่          พฤษภาคม  พ.ศ.  ๒๕๖๕

 

(ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชุตินันท์ ประสิทธิ์ภูริปรีชา)

อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี



ไฟล์แนบ : ไฟล์ 1


SDG Hashtag :

Tag อื่นๆ :