มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี : Ubon Ratchathani University
 นักศึกษา    บุคลากร    ศิษย์เก่า   UBU English      




คณะวิทยาศาสตร์ ม.อุบลฯ จัดการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 2565 Sci-Tech Symposium 2022


โพสต์โดย : ทิพย์วรรณ เวฬุวนาธร     วันที่ 20 มีนาคม 2565 , 23:27:49     (อ่าน 1,013 ครั้ง)  



คณะวิทยาศาสตร์ ม.อุบลฯ จัดการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 2565

Sci-Tech Symposium 2022

-------------------------------------

                เมื่อวันศุกร์ที่ 18 มีนาคม 2565 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จัดโครงการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 2565 (Sci-Tech Symposium 2022)ภายใต้ประเด็นหลักของการจัดงาน “วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการเป็นผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยีอย่างยั่งยืน” Science and Technology for Sustainable Technopreneurshipเป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาและนักเรียนโครงการ วมว. ได้เพิ่มพูนความรู้และทักษะทางวิชาการจากการฟังบรรยายโดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิและจากนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา รวมทั้งสร้างเสริมประสบการณ์ในการนำเสนอผลงานวิชาการทั้งแบบปากเปล่าและแบบโปสเตอร์ โดยได้ตระหนักถึงความสำคัญของการเผยแพร่งานวิจัย เพื่อการนำไปใช้ประโยชน์ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างคณาจารย์ นักศึกษา และนักเรียน อันจะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพบัณฑิต และการพัฒนาผลงานทางวิชาการและงานวิจัยต่อไปในอนาคต โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.ศิริพร  จึงสุทธิวงษ์ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ เป็นประธาน และ รองศาสตราจารย์ ดร.ศักดิ์ศรี  สุภาษร รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวรายงานและวัตถุประสงค์การจัดโครงการครั้งนี้ เพื่อเพิ่มพูนความรู้ด้านการวิจัย ให้แก่นักศึกษาและคณาจารย์ โดยการรับฟังบรรยายพิเศษจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ และเป็นเวทีให้นักศึกษา นักเรียน คณาจารย์ ได้มีโอกาสเผยแพร่ผลงานวิจัย ซึ่งเป็นองค์ความรู้ที่ได้จากงานวิจัยสู่สาธารณชนและผู้เกี่ยวข้องได้นำไปใช้ประโยชน์ โดยเปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความรู้ด้านการวิจัยระหว่างนักวิจัยและผู้สนใจทั่วไป จากนั้นเป็นการแนะนำวิทยากรบรรยายพิเศษ โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ปุริม  จารุจำรัส รองคณบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ในการบรรยายพิเศษ หัวข้อ How to – ตั้งธุรกิจสตาร์ทอัพสายเทคโนโลยีจากมหาวิทยาลัย” โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธีรเกียรติ์  เกิดเจริญ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลให้เกียรติเป็นวิทยากร และการบรรยายพิเศษ หัวข้อ “วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับการปรับตัวของการประกอบการธุรกิจเทคโนโลยีระหว่างการระบาดและหลังการระบาดของ COVID-19” โดย ดร.สวนิต  บุญญาสุวัฒน์ ศรีเลิศฟ้า บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด ให้เกียรติเป็นวิทยากร ผ่านระบบ Zoom สำหรับรูปแบบในการจัดกิจกรรมครั้งนี้ เป็นการนำเสนอผลงานแบบ Oral presentationและแบบ Poster presentationจำแนกเป็น 6 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มสาขาวิชาเคมี และเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ กลุ่มสาขาวิชาจุลชีววิทยา และชีววิทยา กลุ่มสาขาวิชาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย และวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม กลุ่มสาขาวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาการคอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีสารสนเทศ กลุ่มสาขาวิชาฟิสิกส์ และกลุ่มนักเรียนโครงการ วมว. โดยมีนักศึกษาและนักเรียนได้ส่งผลงานเข้าร่วมนำเสนอทั้งสิ้น จำนวน 262 ผลงาน จำแนกเป็นการนำเสนอผลงานแบบปากเปล่า จำนวน 37 ผลงาน และเป็นการนำเสนอผลงานแบบโปสเตอร์ จำนวน 225 ผลงาน และเพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจ และให้กำลังใจแก่นักศึกษาที่เข้าร่วมนำเสนอผลงาน คณะกรรมการจัดการประชุมได้พิจารณาให้รางวัลสำหรับผู้ที่มีความสามารถในการนำเสนอทั้ง 2 ประเภท จำแนกเป็น รางวัลดีเด่น จำนวน 12 รางวัล และรางวัลดี จำนวน 24 รางวัล มูลค่ารวม 16,800 บาท ครอบคลุมทุกสาขาวิชา ณ ห้องประชุม Sc138 อาคารวิจัย คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

          ศาสตราจารย์ ดร.ศิริพร  จึงสุทธิวงษ์ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า สำหรับการจัดโครงการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 2565 (Sci-Tech Symposium 2022) ครั้งนี้ ที่แสดงให้เห็นแล้วว่า เป็นส่วนสำคัญยิ่งในการพัฒนาด้านการเรียนการสอน เป็นการเปิดโอกาสให้นักศึกษาระดับปริญญาตรี และนักเรียนโครงการ วมว. ได้นำเสนอผลงานทางวิชาการ งานวิจัยและนวัตกรรม เป็นการเพิ่มพูนความรู้ ทักษะทางวิชาการ นักศึกษาและคณาจารย์ ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ แนวคิด และประสบการณ์ ซึ่งอาจนำไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนางาน พัฒนาตนเองให้เป็นบุคลากรที่มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น การที่นักศึกษาและนักเรียนได้มีโอกาสร่วมแสดงความคิดเห็น ร่วมจัดทำกิจกรรม จะเป็นการเพิ่มพูนทั้งความรู้และประสบการณ์ ในการนำเสนอผลงานทางวิชาการต่อที่ประชุม และสามารถนำความรู้และแนวคิดที่ได้รับ ไปประยุกต์ใช้และพัฒนางานวิจัยหรือโครงงานวิทยาศาสตร์ของตนให้เป็นที่ยอมรับในระดับชาติและระดับนานาชาติ ต่อไป 

ท่านสามารถดาวน์โหลดรูปภาพกิจกรรม (เพิ่มเติม) ได้ที่ https://drive.google.com/drive/folders/1WPhsRjYvhq3E1vF1_--bM5My7ZccQ6Kv

-----------------------------------------

ทิพย์วรรณ  เวฬุวนาธร นักประชาสัมพันธ์ ชำนาญการ ข่าว/ภาพ คณะวิทยาศาสตร์ ม.อุบลฯ



รายละเอียดเพิ่มเติม : รายละเอียด 1


SDG Hashtag :

Tag อื่นๆ :