มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี : Ubon Ratchathani University
 นักศึกษา    บุคลากร    ศิษย์เก่า   UBU English      




ม.อุบลฯ MOU ทางวิชาการในการพัฒนาบุคลากรวิจัยและนวัตกรรมระหว่างสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กับหน่วยงานเครือข่ายด้านการวิจัย สร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ (ลูกไก่)


โพสต์โดย : ทิพย์วรรณ เวฬุวนาธร     วันที่ 14 พฤษภาคม 2564 , 14:58:32     (อ่าน 1,132 ครั้ง)  



ม.อุบลฯ MOU ทางวิชาการในการพัฒนาบุคลากรวิจัยและนวัตกรรม

ระหว่างสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กับหน่วยงานเครือข่ายด้านการวิจัย “สร้างนักวิจัยรุ่นใหม่” (ลูกไก่)

ผ่านระบบประชุมทางไกลผ่านจอภาพ (Video Conference)

-------------------------------------

          เมื่อวันเสาร์ที่ 8พฤษภาคม 2564 มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการในการพัฒนาบุคลากรวิจัยและนวัตกรรม ภายใต้ โครงการฝึกอบรม “สร้างนักวิจัยรุ่นใหม่” (ลูกไก่) ระหว่างสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กับหน่วยงานเครือข่ายด้านการวิจัย ผ่านระบบประชุมทางไกลผ่านจอภาพ (Video Conference)ณ ห้องประชุม ศ.สัญญา ธรรมศักดิ์ ชั้น ๒ อาคาร วช. ๒ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ถนนพหลโยธิน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร โดยมี นายสมปรารถนา  สุขทวี รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวรายงานและความเป็นมาในการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ จากนั้น นางสาววิภารัตน์  ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)เป็นผู้กล่าวแถลงนโยบายในการพัฒนาบุคลากรวิจัยและนวัตกรรม : โครงการฝึกอบรม “สร้างนักวิจัยรุ่นใหม่” (ลูกไก่) และลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่าง วช. กับหน่วยงานเครือข่ายด้านการวิจัย ๑๓ หน่วยงาน ได้แก่ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดยมอบอำนาจให้ รองศาสตราจารย์ ดร.ชวลิต  ถิ่นวงศ์พิทักษ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย นวัตกรรมและบริการวิชาการ เป็นผู้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการครั้งนี้ ร่วมกับผู้รับมอบอำนาจจาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยนครพนม มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาลัยชุมชนระนอง และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต โดยมีวัตถุประสงค์ในการพัฒนาบุคลากรวิจัยและนวัตกรรม เพื่อเพิ่มจำนวนและคุณภาพนักวิจัยให้มีจำนวนมากขึ้นอย่างรวดเร็วทันต่อสถานการณ์การพัฒนาประเทศในปัจจุบัน และสามารถนำการวิจัยมาประยุกต์สู่การใช้ประโยชน์ในระดับพื้นที่และประเทศ วช. จึงได้จัดทำหลักสูตรการพัฒนาบุคลากรวิจัยและนวัตกรรมขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ รวมถึงส่งเสริมการพัฒนาทักษะด้านการวิจัยให้แก่นักวิจัยที่อยู่ในระบบวิจัยและนวัตกรรมให้มีความเป็นมืออาชีพ ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ นโยบายและยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. ๒๕๖๓ - ๒๕๗๐ และยุทธศาสตร์กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมในการผลิตกำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมที่มีคุณภาพสูง เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

           รองศาสตราจารย์ ดร.ชวลิต  ถิ่นวงศ์พิทักษ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย นวัตกรรมและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และเป็นผู้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการครั้งนี้ กล่าวว่า ในการนี้ วช. และหน่วยงานทั้ง 13 หน่วยงาน ที่ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือได้มีเจตจำนงที่จะร่วมมือกันในการพัฒนาบุคลากรด้านการวิจัยและนวัตกรรม โดยใช้หลักสูตรและรูปแบบการดำเนินการพัฒนาบุคลากรวิจัยและนวัตกรรม ที่ วช. กำหนดทั้งสองฝ่าย จึงได้จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการในการพัฒนาบุคลากรวิจัยและนวัตกรรมในด้านต่าง ๆ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวข้างต้น และมีขอบเขตความร่วมมือโดย วช. จะให้การสนับสนุนหลักสูตรในการพัฒนาบุคลากรวิจัยและนวัตกรรม ตามโครงการฝึกอบรม “สร้างนักวิจัยรุ่นใหม่” (ลูกไก่) และผู้ทรงคุณวุฒิในการติดตามและประเมิน ทำหน้าที่ในการประเมินวิทยากร (แม่ไก่) เพื่อให้การรับรอง การเป็น “วิทยากรหลักสูตรการพัฒนานักวิจัย” (แม่ไก่) ภาคบรรยาย ในโครงการฝึกอบรม “สร้างนักวิจัยรุ่นใหม่” (ลูกไก่) และให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะทางวิชาการที่เป็นประโยชน์ต่อการเป็นวิทยากรวิจัย รวมถึงให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะทางวิชาการเพื่อเติมเต็มเนื้อหาที่วิทยากรบรรยายให้มีความสมบูรณ์ตามความเหมาะสม และหน่วยงานทั้ง 13 หน่วยงานจะให้การสนับสนุนและความร่วมมือในการใช้หลักสูตรโครงการฝึกอบรม “สร้างนักวิจัยรุ่นใหม่” (ลูกไก่) ในการพัฒนาบุคลากรวิจัยและนวัตกรรมของ วช. การดำเนินงานตามที่คู่มือ “สร้างนักวิจัยรุ่นใหม่” (ลูกไก่) ของ วช. กำหนด โดยการสนับสนุนและอำนวยความสะดวกในการจัดฝึกอบรมในพื้นที่ของสถาบันการศึกษา หรือสถานที่อื่น ๆ ตามความเหมาะสม ซึ่งมีระยะเวลาของความร่วมมือตั้งแต่วันลงนามในบันทึกข้อตกลงจนถึง ๓๐ กันยายน ๒๕๖๔ ทั้งนี้หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีความประสงค์จะขอยกเลิก เปลี่ยนแปลงแก้ไข หรือขยายระยะเวลาความร่วมมือทางวิชาการ จะต้องแจ้งให้อีกฝ่ายทราบเป็นลายลักษณ์อักษรล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสามสิบวัน โดยความเห็นชอบจากทั้งสองฝ่าย

------------------------------------

ทิพย์วรรณ  เวฬุวนาธร นักประชาสัมพันธ์ ชำนาญการ ข่าว/ภาพ สำนักงานส่งเสริมบริหารงานวิจัยฯ ม.อุบลฯ




SDG Hashtag :

Tag อื่นๆ :