มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี : Ubon Ratchathani University
 นักศึกษา    บุคลากร    ศิษย์เก่า   UBU English      




ม.อุบลฯ ลงพื้นที่ศึกษาชุมชนเขตเทศบาลเมืองวารินชำราบ ทดลองเปิดตลาด น้ำโจ๊กสุขใจ ใช้ประโยชน์พื้นที่สวนสาธารณะ พัฒนาเศรษฐกิจชุมชนบนฐานวัฒนธรรมรองรับสังคมสูงวัย


โพสต์โดย : ทิพย์วรรณ เวฬุวนาธร     วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 , 10:11:51     (อ่าน 1,696 ครั้ง)  



ม.อุบลฯ ลงพื้นที่ศึกษาชุมชนเขตเทศบาลเมืองวารินชำราบ ทดลองเปิดตลาด “น้ำโจ๊กสุขใจ”

ใช้ประโยชน์พื้นที่สวนสาธารณะ พัฒนาเศรษฐกิจชุมชนบนฐานวัฒนธรรมรองรับสังคมสูงวัย

 -----------------------------------------

        เมื่อวันอาทิตย์ที่ 14 กุมภาพันธ์ 2564 มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ร่วมกับ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) พร้อมทีมคณะวิจัยจากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี นักวิจัยชุมชน และทีมเจ้าหน้าที่จากเทศบาลเมืองวารินชำราบ ทดลองเปิดตลาด “น้ำโจ๊กสุขใจ” ณ สวนสาธารณะน้ำโจ๊ก อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ลงพื้นที่โครงการวิจัย “การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนบนฐานวัฒนธรรม กรณีศึกษา ชุมชนในเขตเทศบาลเมืองวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี” ภายใต้ชุดโครงการ การพัฒนาเมืองเพื่อรองรับสังคมสูงวัย อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นชุดนักวิชาการ จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ยกระดับคุณภาพเศรษฐกิจและสร้างมูลค่าให้แก่ภูมิปัญญาและวัฒนธรรมท้องถิ่น ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยมี นายอุดมศักดิ์  นวลศิริ ปลัดอำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี เป็นประธานเปิดและ ดร.กาญจนา  คุ้มทรัพย์ หัวหน้าโครงการและทีมคณะวิจัยฯ กล่าวรายงานและวัตถุประสงค์การวิจัยและเปิดตลาดครั้งนี้ เพื่อศึกษาถึงสถานภาพและศักยภาพของชุมชนในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจชุมชนบนฐานวัฒนธรรม ในการศึกษาสถานการณ์ สถานภาพของการใช้ประโยชน์พื้นที่สวนสาธารณะน้ำโจ้ก และเพื่อค้นหารูปแบบการใช้ประโยชน์พื้นที่สวนสาธารณะน้ำโจ้กเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนบนฐานวัฒนธรรมในการรองรับสังคมสูงวัย จากนั้นเป็นการแสดง “บอกรักน้ำโจ๊ก” ของนักเรียนโรงเรียนเทศบาลวารินวิชาชาติ และการแสดงของกลุ่มช่างฟ้อนวัดผาสุการาม สำหรับโครงการดังกล่าวเริ่มดำเนินการวิจัยเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2563 ถึงวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 รวมระยะเวลา 1 ปี 3 เดือน

          ดร.กาญจนา  คุ้มทรัพย์ หัวหน้าโครงการและทีมคณะวิจัยฯ กล่าวว่า ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ที่สนับสนุนทุนวิจัย รวมทั้ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์นภาพร  หงษ์ภักดี อาจารย์ประจำคณะบริหารศาสตร์ ดร.คำล่า  มุสิกา อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี นักวิจัยชุมชน และทีมเจ้าหน้าที่จากเทศบาลเมืองวารินชำราบ นำทีมโดย นางพฤกษา  ตั้งกิจวนิชกุล ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม ที่ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของทีมคณะวิจัย สำหรับโครงการวิจัยนี้ ต้องการศึกษาถึงรูปแบบการใช้ประโยชน์ของพื้นที่สาธารณะเพื่อให้ประชาชนทุกวัยได้เข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดกฎ กติกา แนวทางของการใช้ประโยชน์เพื่อนำคุณค่าในเชิงวัฒนธรรม ภูมิปัญญาของแต่ละชุมชนมาสร้างให้เกิดมูลค่าในทางเศรษฐกิจ โดยคำนึงถึงอัตลักษณ์ของชุมชน จุดเด่นของวัฒนธรรมในแต่ละชุมชนและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การศึกษาวิจัยใช้กระบวนการวิจัยชุมชนเพื่อให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมกันเพื่อพัฒนาพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สำหรับคนทุกกลุ่มวัยและเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจของชุมชนอย่างเป็นองค์รวมเพื่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีเตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย คณะนักวิจัยได้ศึกษาดูงานพื้นที่ตลาดสีเขียว จังหวัดมหาสารคาม และนำมาพัฒนาเพื่อวางแผนเตรียมการทดลองเปิดตลาด “น้ำโจ้กสุขใจ” ที่สะท้อนวิถีชีวิต วัฒนธรรมและแสดงให้เห็นถึงอัตลักษณ์ของเมืองวารินชำราบ มีการคัดเลือกตัวแทนของทั้ง 28 ชุมชนในเขตเทศบาลเมืองวารินชำราบมาเป็นคณะกรรมการตลาดเพื่อร่วมกันกำหนดกฎกติกาการบริหารจัดการตลาด มีการเปิดรับสมัครและคัดเลือกร้านค้าที่จะมาร่วมจำหน่ายสินค้าของชุมชน ประมาณกว่า 50 ร้านค้า โดยกำหนดร่วมกันและทดลองเปิดตลาดทั้งในช่วงวันธรรมดาและวันหยุด คือทุกวันพุธและวันอาทิตย์ โดยครั้งที่ 1 ทดลองเปิดในวันอาทิตย์ที่ 14 กุมภาพันธ์ 2564 และครั้งที่ 2 ในวันพุธที่ 17 กุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งคณะนักวิจัยจะนำผลที่ได้จากการทดลองเปิดตลาดมาวิเคราะห์เพื่อแก้ไขปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้นและหวังว่าเมื่องานวิจัยปิดเล่มลง ชุมชนสามารถที่จะร่วมกันบริหารจัดการตลาดให้สามารถเป็นแหล่งสร้างรายได้และก่อให้เกิดการหมุนเวียนระบบเศรษฐกิจของชุมชนได้อย่างยั่งยืน ถึงแม้ว่างานวิจัยจะสิ้นสุดลงแล้วก็ตาม คณะนักวิจัยจะยังคงอยู่เป็นที่ปรึกษาให้แก่ชุมชนต่อไป

----------------------------------------

ทิพย์วรรณ  เวฬุวนาธร นักประชาสัมพันธ์ ชำนาญการ ม.อุบลฯ ภาพ/ข่าว




SDG Hashtag :

Tag อื่นๆ :