มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี : Ubon Ratchathani University
 นักศึกษา    บุคลากร    ศิษย์เก่า   UBU English      




รองอธิการบดี ม.อุบลฯ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม ชื่นชมความสำเร็จแปลงนาวิจัย ข้าวเจ้าหอมวาริน


โพสต์โดย : เพลิน วิชัยวงศ์     วันที่ 2 กันยายน 2563 , 22:02:55     (อ่าน 1,365 ครั้ง)  



            เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2563 รองศาสตราจารย์ ดร.ชวลิต ถิ่นวงศ์พิทักษ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย นวัตกรรมและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ลงพื้นที่แปลงทดลองพืชไร่ สำนักงานไร่ฝึกทดลอง คณะเกษตรศาสตร์ ในโอกาสตรวจเยี่ยม ความสำเร็จผลงานวิจัยด้านการขยายเมล็ดพันธุ์ข้าวและงานวิจัยด้านข้าว โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.สุรีพร เกตุงาม อาจารย์ประจำภาควิชาพืชไร่ หัวหน้าโครงการวิจัย และนักศึกษา ให้การต้อนรับพร้อมนำชมพื้นที่แปลงนาวิจัย ซึ่งมีพื้นที่ 10 ไร่ แบ่งเป็นแปลงขยายเมล็ดพันธุ์ข้าวเจ้าหอมวาริน พื้นที่ 3 ไร่ และงานวิจัยของนักศึกษาพืชไร่ จำนวน 7 การทดลอง ดังนี้

         1. การศึกษาพันธุ์และเปรียบเทียบผลผลิตเบื้องต้นของข้าวเจ้าหอมสายพันธุ์ปรับปรุงต้านทานโรคไหม้ (BC2F7 และ BC2F8) จำนวน 45 สายพันธุ์ ต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล (BC2F4 และ BC2F5) จำนวน 39 สายพันธุ์ ต้านทานโรคไหม้และเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล (PY-F7 และ PY-F8) จำนวน 40 สายพันธุ์

          2. การศึกษาพันธุ์และเปรียบเทียบผลผลิตเบื้องต้นของข้าวเจ้าหอมสายพันธุ์ปรับปรุงต้านทานโรคไหม้ และโรคขอบใบแห้ง (F6) จำนวน 44 สายพันธุ์ ต้านทานโรคไหม้ โรคขอบใบแห้ง และเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล (F6) จำนวน 42 สายพันธุ์

         3. การประเมินผลผลิต และองค์ประกอบผลผลิตเบื้องต้นของข้าวเจ้าหอมสายพันธุ์ปรับปรุงต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล จำนวน 39 สายพันธุ์

         4. อิทธิพลของปุ๋ยโพแทสเซียมต่อผลผลิตและองค์ประกอบผลผลิตของข้าวเจ้าหอมวารินในดินทรายที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ

         5. การศึกษาเปรียบเทียบผลผลิตและองค์ประกอบผลผลิตของข้าวเจ้า จำนวน 8 พันธุ์/สายพันธุ์

         6. การศึกษาเปรียบเทียบผลผลิตและองค์ประกอบผลผลิตของข้าวเหนียว จำนวน 7 พันธุ์/สายพันธุ์

        7. การสืบค้นยีนสำคัญทางเศรษฐกิจโดยใช้เครื่องหมายดีเอ็นเอและการประเมินคุณภาพการหุงต้มของข้าวพื้นเมืองไทย

               รองศาสตราจารย์ ดร.ชวลิต ถิ่นวงศ์พิทักษ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยฯ กล่าวชื่นชมทีมนักวิจัย ที่สามารถพัฒนาสายพันธุ์ข้าวเจ้าหอมวาริน ซึ่งมีคุณสมบัติที่โดดเด่น สามารถตอบโจทย์เกษตรกรในพื้นที่ภาคอีสานได้เป็นอย่างดี มีการปรับปรุงสายพันธุ์ข้าว สามารถทนน้ำท่วมฉับพลัน ทนเเล้ง ต้านทานโรคไหม้ ให้ผลผลิตสูง ปรับตัวได้ดีในพื้นที่ปลูกข้าว อาศัยน้ำฝนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  ข้าวสุกมีกลิ่นหอม และมีความนุ่มเหนียวคล้ายข้าวดอกมะลิ 105 โดยความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ร่วมสนับสนุน นับว่าเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในอนาคตของเกษตรกรที่สนใจเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยพร้อมให้การสนับสนุนงบประมาณ ส่งเสริมพัฒนางานวิจัยสู่ชุมชนและสังคมอย่างมีสุข

             ผู้สนใจเข้าเยี่ยมชมแปลงนาทดลอง สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โทรศัพท์ 045-353500

เพลิน  วิชัยวงศ์ นักประชาสัมพันธ์ ม.อุบลฯ / ข่าว




SDG Hashtag :

Tag อื่นๆ :