โพสต์โดย : ทิพย์วรรณ เวฬุวนาธร วันที่ 27 เมษายน 2567 , 18:09:15 (อ่าน 928 ครั้ง)
คณะเกษตรศาสตร์ ม.อุบลฯ เพิ่มศักยภาพการผลิตพืชและสัตว์เศรษฐกิจ
พัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรปลอดภัยและแบบอินทรีย์
----------------------------------------
มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดย คณะเกษตรศาสตร์ จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ“การอบรมทางด้านการเพิ่มศักยภาพการผลิตพืชเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกร” เมื่อวันที่ 25 – 26 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา ณ คณะเกษตรศาสตร์ ภายใต้โครงการ“การเพิ่มศักยภาพในการผลิตพืชและสัตว์เศรษฐกิจเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกร” ให้กับเกษตรกรและชุมชนภาคีเครือข่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 4 อปท. และ โดยรอบมหาวิทยาลัย ประกอบด้วย เทศบาลตำบลเมืองศรีไค เทศบาลตำบลคำขวาง เทศบาลตำบลธาตุ และองค์การบริหารส่วนตำบลโพธิ์ใหญ่ โดยมี ดร.นิมมานรดี พรหมทอง หัวหน้าภาควิชาพืชสวน คณะเกษตรศาสตร์ และหัวหน้าโครงการ พร้อมทีมวิทยากรที่มีความรู้และประสบการณ์ในการพัฒนากลุ่มเกษตรกร เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ให้เกษตรกรผ่านการอบรมให้สามารถผลิตพืชผักที่มีคุณภาพ เกิดความปลอดภัยแก่ผู้บริโภคช่วยให้เกษตรกรผู้ปลูกผักมีสุขภาพอนามัยดีขึ้น เนื่องจากไม่มีการฉีดพ่นสารเคมีป้องกันและกำจัดศัตรูพืช ใช้สารจากธรรมชาติทำให้เกษตรกรปลอดภัยจากสารพิษตกค้างในดินและผัก เพื่อลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกร ลดค่าใช้จ่ายในการซื้อสารเคมีป้องกันและกำจัดศัตรูพืช และเพื่อให้เกษตรกรและผู้ที่สนใจมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเลี้ยงไก่พื้นเมือง สามารถผลิตไก่พื้นเมืองที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน เพิ่มผลผลิตเพียงพอต่อความต้องการของตลาดและจำหน่ายมีรายได้เพิ่มมากขึ้น เพื่อให้เกษตรกรได้เพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตรทั้งพืชและสัตว์ สามารถนำผลิตผลแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ได้ ซึ่งจะก่อให้เกิดรายได้จากการแปรรูปผลิตภัณฑ์ในอนาคต
ดร.นิมมานรดี พรหมทอง หัวหน้าภาควิชาพืชสวน คณะเกษตรศาสตร์ และหัวหน้าโครงการ กล่าวว่า คณะเกษตรศาสตร์ลงพื้นที่ประชุมร่วมกับตัวแทน 4 อปท. ที่ตั้งอยู่โดยรอบมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และตัวแทนชุมชนได้เสนอประเด็นในการพัฒนาด้านการเกษตรเพื่อให้มีผลผลิตทางเกษตรที่มีคุณภาพ สามารถจำหน่ายได้ในราคาที่สูงขึ้น มีรายได้มากขึ้น ซึ่งเป็นการยกระดับเศรษฐกิจฐานราก และเป็นการพัฒนาเกษตรกรให้สามารถทำการเกษตรในระบบปลอดภัยและแบบอินทรีย์ ตั้งแต่ต้นน้ำ (ระบบการผลิต การผลิตสารชีวภัณฑ์ การผลิตปุ๋ยอินทรีย์) กลางน้ำ (การแปรรูปผลผลิต) และปลายน้ำ (การจัดการธุรกิจการเกษตร) จึงเป็นประโยชน์ต่อชุมชนโดยตรงและสามารถที่จะเสริมสร้างคุณภาพชีวิตของสมาชิกในชุมชนให้ดีขึ้น เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งและเพิ่มศักยภาพของชุมชนและสังคม บนพื้นฐานความพอเพียง เพื่อการพัฒนาที่ยังยืน สำหรับเกษตรกรที่ผ่านการอบรมสามารถผลิตพืชผักได้และเป็นผักที่มีคุณภาพ ไม่มีสารพิษตกค้าง เกิดความปลอดภัยแก่ผู้บริโภค ส่งเสริมมีสุขภาพที่ดี และผลผลิตสามารถจำหน่ายหรือบริโภคในครัวเรือนเพื่อลดรายจ่ายหรือเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร โดยเฉพาะชุมชน อปท. รอบ ๆ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดยครั้งนี้เป็นการอบรมครั้งที่ 1 หลักสูตร “การเพิ่มศักยภาพในการผลิตพืชและสัตว์เศรษฐกิจเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกร” ซึ่งกำหนดจัดขึ้นเมื่อวันที่ 25 – 26 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา ณ อาคารเรือนเพาะชำ ได้รับความสนใจจากชุมชนและเกษตรกรจำนวนมาก เข้ารับการอบรมเชิงปฏิบัติการ ความรู้เบื้องต้น ในการปลูกพืชที่ปลอดภัยและเหมาะสม เตรียมแปลงและปัจจัยการผลิต การผลิตปัจจัยการผลิต วัสดุเพาะกล้า วัสดุปลูกวัสดุทดแทนดินการผลิตปุ๋ยหมักคุณภาพสูงจากวัสดุในท้องถิ่น การขยายพันธุ์พืชที่เหมาะสมกับพืชเศรษฐกิจ การขยายพันธุ์พืช (เพาะเมล็ด ติดตา ต่อกิ่ง ทางกิ่ง ตอนกิ่ง) การใช้ชีวภัณฑ์ในการป้องกันกำจัดโรคและแมลงศัตรูพืช การใช้ชีวภัณฑ์ในการป้องกันกำจัดโรคและแมลงศัตรูพืช ระบบน้ำที่เหมาะสมกับชนิดพืช การเพาะ แยกและย้ายกล้าผักเพื่อลงแปลงปลูกพร้อมติดตั้งระบบน้ำ
ปัจจุบันคณะเกษตรศาสตร์ ยังเปิดรับสมัครเกษตรกร นักเรียน และประชาชนทั่วไปในพื้นที่ 4 อปท. รอบ ๆ มหาวิทยาลัยที่สนใจเข้าร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการ 3 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรที่ 2 “การอบรมทางด้านการเพิ่มศักยภาพแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกร” อบรมในวันที่ 2 พฤษภาคม 2567 ณ อาคารโรงงานต้นแบบ PILOT PLANT หลักสูตรที่ 3“การอบรมทางด้านการเพิ่มศักยภาพการผลิตไก่พื้นเมืองให้ได้มาตรฐาน” อบรมในวันที่ 18 พฤษภาคม 2567 ณ หอประชุมกลางบ้าน ต.บ้านโพธิ์ใหญ่ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี และหลักสูตรที่ 4 “การอบรมทางด้านการเพิ่มศักยภาพพืชให้ได้มาตรฐาน” อบรมในวันที่ 25 - 26 พฤษภาคม 2567 ณ คณะเกษตรศาสตร์
สนใจติดต่อสอบถามรายละเอียดและสมัครได้ที่ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โทรศัพท์ 045-353500(ไม่เสียค่าใช้จ่ายในการอบรม ฟรี...ทุกหลักสูตร)
--------------------------------------
ทิพย์วรรณ เวฬุวนาธร นักประชาสัมพันธ์ ชำนาญการ ม.อุบลฯ ภาพ/ข่าว