ช่องทางรับฟังความคิดเห็น     คลังเอกสาร     คำถามที่พบบ่อย     ถาม-ตอบ      มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี    

นักศึกษาภูมิภาคลุ่มน้ำโขงศึกษา ม.อุบลฯ เดินทางแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ณ หมู่เกาะฟิลิปปินส์


โพสโดย เทอดภูมิ ทองอินทร์     โพสวันที่ 2 เมษายน 2562 ,     (อ่าน 1,804 ครั้ง)  


นักศึกษาภูมิภาคลุ่มน้ำโขงศึกษา ม.อุบลฯ

เดินทางแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ณ หมู่เกาะฟิลิปปินส์

          ระหว่างวันที่ 21 – 28 มีนาคม 2562 นายพงษ์เทพ บุญกล้า นักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา หลักสูตรภูมิภาคลุ่มน้ำโขงศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ลงพื้นที่เรียนรู้ชุมชนและร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับคนรุ่นใหม่ ณ เมือง Dingalan Aurora  (ดินกาลัน ออรอร่า) ประเทศฟิลิปปินส์ เพื่อดำเนินกิจกรรมสร้างการตระหนักในการรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติและการอนุรักษ์ทรัพยากรดิน น้ำ ป่า

          หลังจากที่ นายพงษ์เทพ บุญกล้า ได้เข้าร่วมโครงการ HANDs! Project for Disaster and Environmental Education พร้อมกับตัวแทนคนรุ่นใหม่ประเทศไทยรวม 5 คน ภายใต้การสนับสนุนจาก ASIA CENTER JAPANFOUNDATION (ประเทศไทย) ในปี พ.ศ.2560แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเครือข่ายคนรุ่นใหม่จากหลากหลายประเทศ และลงพื้นที่ภาคสนามเรียนรู้ประเด็น “ภัยพิบัติทางธรรมชาติ: การป้องกัน รับมือ และแก้ไขปัญหาซึ่งเกิดขึ้นจากภัยพิบัติ” ประกอบด้วย การจัดการน้ำในพื้นที่เกษตรกรรมและการรับมือกับเหตุแผ่นดินไหว ณ เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย, การจัดกระบวนการเรียนรู้ชุมชนและการรับมือกับพายุ ณ กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์, การจัดการปัญหาน้ำป่าไหลหลากและการรับมือกับเหตุแผ่นดินไหว ณ เมืองโกเบ ประเทศญี่ปุ่น, และการบริหารจัดการชุมชนหลังจากเกิดเหตุภัยพิบัติคลื่นยักษ์สึนามิ ณ จังหวัดภูเก็ต ประเทศไทย จากนั้นได้ดำเนินกิจกรรมกับชุมชนในพื้นที่รับผลกระทบจากน้ำท่วมซ้ำซาก จังหวัดอุบลราชธานี มีการนำกระบวนการจากหารเรียนรู้ในโครงการมาปรับใช้ให้เหมาะกับบริบทพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี

          พงษ์เทพ กล่าวว่า “หลังจากเข้าร่วมกระบวนการเรียนรู้ในโครงการระยะที่หนึ่ง ได้กลับมาลงพื้นที่ชุมชนแถบลุ่มน้ำมูลพบว่า ชุมชนมีความเดือดร้อนจากปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากช่วงฤดูฝน บางครอบครัวต้องอพยพย้ายขึ้นไปอาศัยหลับนอนด้วยการสร้างเพิงพักชั่วคราวริมถนนอย่างไม่มีทางเลือก รวมทั้งพื้นที่ประมงพื้นบ้าน พื้นที่เลี้ยงสัตว์ และพื้นที่เกษตรกรรมได้รับผลกระทบอย่างหนัก แม้หน่วยงานภาครัฐหลายหน่วยมีความพยายามดำเนินการแก้ไขปัญหา แต่เนื่องด้วยจำนวนครอบครัวที่อาศัยริมฝั่งแม่น้ำมูลในจังหวัดอุบลราชธานีมีจำนวนมาก ส่งผลให้หน่วยงานเหล่านั้นดูแลไม่ทั่วถึงและไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการที่จำเป็นได้ โดยการลงพื้นที่ดำเนินกิจกรรมได้ทำให้มีการรวบรวมข้อมูลผ่านการสัมภาษณ์ ระดมความคิดเห็นอย่างมีส่วนร่วม และการเดินสำรวจชุมชน รวมถึงการถอดชุดข้อมูลออกมาเป็นบทความเชิงวิชาการ นอกจากนั้นมีการจัดกิจกรรมสร้างความตระหนักให้ชุมชนได้เตรียมความพร้อมในการรับมือกับปัญหาภัยพิบัติน้ำท่วมซึ่งอาจเกิดขึ้นในทุกๆ ปี และพยายามดึงความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายจากภายนอกเข้ามามีส่วนร่วมพร้อมกัน”

          นอกจากนั้น หลังจากนี้จะเป็นการดำเนินการระยะที่สอง โดยการประสานความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายดังกล่าวทั้งภายในและภายนอกประเทศ ซึ่งประกอบด้วยคนรุ่นใหม่ในโครงการจากประเทศฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น กัมพูชา ลาว และประเทศไทย ในชื่อโครงการ ARC Project : ART FOR LISILENT COMMUNITIESภายใต้การสนับสนุนงบประมาณดำเนินกิจกรรมจาก ASIA CAETER JAPANFOUNDTION (ประเทศไทย) ปี พ.ศ.2562 ดำเนินกิจกรรมในชุมชนเป้าหมาย 3 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนท่ากกแห่,ชุมชนกุดปลาขาว,และชุมชนบูรพา 2 จังหวัดอุบลราชธานี โดยการปรับใช้เครื่องมือจากการลงพื้นที่แลกเปลี่ยนจากประเทศฟิลิปปินส์ คือ 1) Participatory Photography 2) Music Performance3) Participatory 3D Mappingและการจัดเวทีสาธารณะร่วมกับสถาบันทางวิชาการระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอุดมศึกษา หน่วยงานภาครัฐในท้องถิ่น และองค์กรพัฒนาเอกชน/นักพัฒนาเอกชน NGOs

          พงษ์เทพ เล่าเกี่ยวกับประสบการณ์การลงพื้นที่ภาคสนามที่ประเทศฟิลิปปินส์อีกว่า “นอกจากการลงพื้นที่เรียนรู้เรื่องการปรับตัวและการรับมือปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติ (พายุใต้ฝุ่น) ที่เกิดขึ้นในเมืองชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกแล้ว ยังเป็นโอกาสอันดีในการลงเดินสำรวจพื้นที่ชุมชนประมงชายฝั่งทะเล,ชุมชนกลุ่มชนพื้นเมือง “ดูมากัซ” และชุมชนที่ตั้งห่างจากเมืองซึ่งประกอบอาชีพสวนมะพร้าว ได้เรียนรู้วิถีชีวิต สภาพสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม การเมือง และผลกระทบซึ่งเกิดขึ้นจากภัยพิบัติพายุใต้ฝุ่น ดินภูเขาถล่ม และคลื่นยักษ์สึนามิ อีกทั้งทำให้เข้าใจประเด็นความหลากหลายทางพหุวัฒนธรรมของประเทศหมู่เกาะ ที่จะนำไปสู่การปรับใช้ประสบการณ์ที่ได้กับการทำงานร่วมกับชุมชนริมฝั่งแม่น้ำมูลและชุมชนในประเทศแถบลุ่มแม่น้ำโขงต่อไป”

          นอกจากนี้ พงษ์เทพ บุญกล้า ยังขอเชิญชวนคนรุ่นใหม่ร่วมเป็นอาสาสมัคร หน่วยงานที่สนใจเข้าร่วมเป็นภาคีเครือข่ายในการดำเนินกิจกรรมซึ่งจะเกิดขึ้นในชุมชนริมฝั่งแม่น้ำมูลดังกล่าวช่วงเดือนสิงหาคม 2562 บุคคลที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดการดำเนินกิจกรรมได้โดยตรงที่ E-mail: arkom.utopia2015@gmail.comหรือโทร 085-3404927



Search
ลิ้งค์ข่าวสาร