ช่องทางรับฟังความคิดเห็น     คลังเอกสาร     คำถามที่พบบ่อย     ถาม-ตอบ      มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี    

ม.อุบลฯ จัดอบรมเคมีคำนวณ ครั้งที่ 15 สร้างเครือข่ายนักวิจัยสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ


โพสโดย เพลิน วิชัยวงศ์     โพสวันที่ 9 พฤศจิกายน 2561 ,     (อ่าน 1,221 ครั้ง)  


             

               มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดยคณะวิทยาศาสตร์ จัด โครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเคมีคำนวณ ครั้งที่ 15 (15th-TS2C2)  เพื่อให้นักวิจัย คณาจารย์ นิสิตนักศึกษา ได้รับความรู้พื้นฐานจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ นำไปสู่ความร่วมมือด้านการศึกษาและการวิจัยในอนาคต โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชริดา ปุกหุตคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ เป็นประธานเปิดอบรม และ รองศาสตราจารย์ ดร.พรพรรณ พึ่งโพธิ์ หัวหน้าภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ กล่าวต้อนรับ ซึ่งได้รับความสนใจจาก นักวิจัยในสถาบันต่างๆ เข้าร่วมจำนวนมาก ณ สำนักคอมพิวเตอร์และเครือข่าย มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 7-9 พฤศจิกายน 2561 ที่ผ่านมา

             รองศาสตราจารย์ ดร.ศิริพร จึงสุทธิวงษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี ผู้รับผิดชอบโครงการ  กล่าวว่า ในส่วนของ โครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเคมีคำนวณ ครั้งที่ 15 (15th-TS2C2)ที่จัดขึ้นในครั้งนี้ โดยความร่วมมือจาก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี  คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  สมาคมวิทยาการและวิศวกรรมเชิงคอมพิวเตอร์ (Computational Science and Engineering Association, CSEA) และ ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ เพื่อพัฒนาความรู้และความเข้าใจทางด้านเคมีคำนวณให้กับนิสิต นักศึกษา คณาจารย์และนักวิจัย ทั้งความรู้พื้นฐานทางทฤษฎีและการนำมาประยุกต์ใช้ในงานวิจัย โดยมี Prof. Jun-ya Hasegawa เป็นวิทยากรหลัก และ ดร.มนัสดา รัตนศักดิ์ เป็นวิทยากรร่วมในภาคฝึกปฏิบัติ นอกจากนี้ผู้เข้าร่วมฝึกอบรมยังได้แลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ ข่าวสาร ที่เกี่ยวข้องกับงานด้านเคมีคำนวณซึ่งจะทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรร่วมกัน ทั้งในแง่ของบุคลากรและความช่วยเหลือด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวกับงานวิจัย โดยสิ่งเหล่านี้จะเป็นปัจจัยสำคัญในสร้างและพัฒนาอาจารย์และนักวิจัยรุ่นใหม่ในสาขาเคมีคำนวณของประเทศไทย และสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้กับงานด้านต่างๆของประเทศ เช่น ทางการแพทย์ ทางอุตสาหกรรมหรืองานที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ซึ่งจะส่งผลให้งานวิจัยทางด้านนี้ของประเทศมีความก้าวหน้าและเป็นที่ยอมรับในระดับชาติและระดับนานาชาติต่อไป

              โครงการฝึกอบรมในครั้งนี้ จึงเป็นส่วนที่ช่วยในการพัฒนาและสร้างทรัพยากรมนุษย์ทางด้านสาขาเคมีคำนวณซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ นอกจากนี้ยังเป็นโอกาสอันดีที่จะก่อให้เกิดความร่วมมือทางด้านวิชาการและการวิจัย เห็นได้จากนักวิจัยจากสถาบันต่างๆทั่วประเทศเข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ อาทิ  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยามหิดล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสนและNSTDA – NANOTECเป็นต้น

เพลิน  วิชัยวงศ์ นักประชาสัมพันธ์ ม.อุบลฯ / ข่าว

ประจักกิจ  ระวี คณะวิทยาสาสตร์ / ภาพ



Search
ลิ้งค์ข่าวสาร