ช่องทางรับฟังความคิดเห็น     คลังเอกสาร     คำถามที่พบบ่อย     ถาม-ตอบ      มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี    

ศูนย์ประสานงาน ม.อุบลฯ เปิดโลกแห่งการเรียนรู้ด้านการสอนเทคโนโลยีในโรงเรียน โครงการโปรแกรมมิ่งในโรงเรียน Coding at School project


โพสโดย ทิพย์วรรณ เวฬุวนาธร     โพสวันที่ 3 สิงหาคม 2561 ,     (อ่าน 983 ครั้ง)  


ศูนย์ประสานงาน ม.อุบลฯ เปิดโลกแห่งการเรียนรู้ด้านการสอนเทคโนโลยีในโรงเรียน  

โครงการโปรแกรมมิ่งในโรงเรียน Coding at School project

ส่งมอบ “บอร์ดสมองกลฝังตัว KidBright” ให้ 250 ร.ร. ในพื้นที่ 20 จ. สนองนโยบายไทยแลนด์ 4.0

------------------------------

          ศูนย์ประสานงาน มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ร่วมกับ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ  และคณะนักวิจัยจาก เนคเทค จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ โครงการโปรแกรมมิ่งในโรงเรียน Coding at School project และส่งมอบ “บอร์ดสมองกลฝังตัว KidBright” ให้แก่ ผู้อำนวยการและคณะครูจากโรงเรียนที่ผ่านการคัดเลือกในเขตพื้นที่ 20 จังหวัด จำนวน 250 โรงเรียน ส่งตัวแทนโรงเรียนเข้ารับการอบรมและรับ “บอร์ดสมองกลฝังตัว KidBright” ไม่เกิน 200 บอร์ดต่อโรงเรียน เมื่อวันที่ 2 และ 3 สิงหาคม 2561 ที่ผ่านมา ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมยูเพลส มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชริดา  ปุกหุต  คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เป็นประธานเปิด ดร.กัลยา  อุดมวิทิต รองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ กล่าวต้อนรับและขอบคุณคณะครูและผู้แทนจากโรงเรียนที่ผ่านการคัดเลือกในเขตพื้นที่ 20 จังหวัด จำนวน 250 โรงเรียน ที่สนใจเข้าร่วมโครงการโปรแกรมมิ่งในโรงเรียน Coding at School project และ ดร.สุรสิทธิ์  สุทธิคำภา รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และในนามผู้ประสานงานประจำศูนย์ประสานงาน มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีกล่าวรายงานและวัตถุประสงค์การจัดโครงการฯ ครั้งนี้ เพื่อให้โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการโปรแกรมมิ่งในโรงเรียน โดยใช้สื่อการสอนบอร์ด ฝังตัวสมองกล KidBright เพื่อนำไปใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนในวิชาวิทยาการคำนวณ เพื่อพัฒนาส่งเสริมการสร้างกระบวนการคิดให้แก่นักเรียนในโรงเรียน เช่น logical thinking, computational thinking, systematic thinking, analytic thinking เป็นต้น ซึ่งจะช่วยพัฒนานักเรียนให้มีศักยภาพสามารถก้าวสู่ยุคอุตสาหกรรม ไทยแลนด์ 4.0 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ โรงเรียนยังได้รับจัดสรรบอร์ด KidBright เพื่อใช้ในการเรียนการสอน และนำไปพัฒนาโครงงานเพื่อส่งผลงานเข้าประกวดได้ สำหรับการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการและส่งมอบ “บอร์ดสมองกลฝังตัว KidBright” ครั้งนี้ ยังได้รับเกียรติจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์วรรณวไล   อธิวาสน์พงศ์ อดีตคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และปัจจุบันดำรงตำแหน่งกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการจัดการเรียนการสอนให้ทันสมัย และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้เรียนที่จะได้นำไปใช้งานต่อไปในอนาคต

          ดร.กัลยา   อุดมวิทิต รองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ กล่าวว่า ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือเนคเทค จัดโครงการโปรแกรมมิ่งในโรงเรียน โดยใช้สื่อการสอนบอร์ด ฝังตัวสมองกล KidBright เพื่อนำไปใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนในวิชาวิทยาการคำนวณ เพื่อพัฒนาส่งเสริมการสร้างกระบวนการคิดให้แก่นักเรียนในโรงเรียน และนำไปพัฒนาโครงงานและส่งเข้าประกวดได้ด้วย เพื่อสนองความต้องการดังกล่าวทางศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือเนคเทค จึงได้ผลิตบอร์ดสมองกลฝังตัว KidBright เพื่อแจกให้แก่โรงเรียนที่ได้รับการคัดเลือกเพื่อให้เกิดการเรียนโปรแกรมมิ่งในโรงเรียน และให้เกิดการสร้างกระบวนการคิด   ซึ่งกระบวนการคิดเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญที่เด็กทุกคนควรได้รับการปลูกฝังตั้งแต่ระดับประถมศึกษา และมัธยมต้นศึกษา เพื่อเป็นรากฐานของการสร้างนวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่จะนำประเทศไปสู่การพัฒนาตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0  โมเดลพัฒนาเศรษฐกิจในอีก 5 ปีข้างหน้า

          ดร.สุรสิทธิ์  สุทธิคำภา รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และในนามผู้ประสานงานประจำศูนย์ประสานงาน มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีกล่าวว่า ปัจจุบันระบบการศึกษาทั่วโลกให้ความสำคัญต่อการสอนเทคโนโลยีในโรงเรียน และประเทศไทย ก็มีความพยายามที่จะปรับเปลี่ยนพื้นฐานการเรียนการสอนของประเทศด้วยเช่นกัน ซึ่งรวมไปถึงด้าน STEM Education ที่มีการสร้างเครื่องมือและกระบวนการเรียนรู้แบบใหม่ ที่จะช่วยส่งเสริมและพัฒนาเยาวชนไทยไปสู่อุตสาหกรรม แต่ด้วยการเรียนการสอนวิชาการคำนวณในโรงเรียน ซึ่งบรรจุในหลักสูตรนั้นกลับพบว่า โรงเรียนในภูมิภาคและโรงเรียนด้อยโอกาสในชนบทส่วนใหญ่ยังคงขาดบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถและขาดเครื่องมือการสอนที่เหมาะสมในการเรียนการสอน ทางศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) จึงได้เสนอโครงการโปรแกรมมิ่งในโรงเรียน และได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ร่วมกับมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เพื่อดำเนินงานเป็นศูนย์ประสานงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในการส่งมอบบอร์ดสมองกลฝังตัว KidBright ให้แก่โรงเรียนที่ได้รับการคัดเลือก เพื่อเข้าร่วมโครงการโปรแกรมมิ่งในโรงเรียน (Coding at School project) และจัดอบรมเชิงปฏิบัติการด้านการใช้งานบอร์ด KidBright สำหรับนำไปใช้ในการเรียนการเรียนการสอนและพัฒนาโครงงานเข้าร่วมการแข่งขัน YCCK2018 ซึ่งศูนย์ประสานงาน มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้ดำเนินการคัดเลือกโรงเรียนในเขตพื้นที่ 20 จังหวัด จำนวน 250 โรงเรียน ให้เข้ารับบอร์ด KidBright ไม่เกิน 200 บอร์ด ต่อโรงเรียน เพื่อให้คณะครูสามารถใช้ประโยชน์จากบอร์ด KidBright และนำไปพัฒนาโครงงานให้แก่นักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นเพื่อส่งผลงานเข้าร่วมการแข่งขันระดับภูมิภาคและระดับประเทศ ต่อไป

-------------------------------

ทิพย์วรรณ  เวฬุวนาธร นักประชาสัมพันธ์ชำนาญการ ม.อุบลฯ ภาพ/ข่าว



Search
ลิ้งค์ข่าวสาร