ช่องทางรับฟังความคิดเห็น     คลังเอกสาร     คำถามที่พบบ่อย     ถาม-ตอบ      มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี    

วารสารข่าวประชาคมวิจัย สกว.สัมภาษณ์ รศ.ดร.ศิริพร จึงสุทธิวงษ์ อจ.ม.อุบลฯคอลัมน์แนะนำนักวิจัยดีเด่น


โพสโดย เพลิน วิชัยวงศ์     โพสวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2561 ,     (อ่าน 1,286 ครั้ง)  


            สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เผยแพร่วารสารจดหมายข่าว ประชาคมวิจัย ฉบับที่ 134 เดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2560 นำเสนอข้อมูลผลงานนักวิจัยที่หลากหลาย ทั้งด้านการใช้ประโยชน์เชิงนโยบาย ด้านสาธารณะ ด้านพาณิชย์ ด้านชุมชนและพื้นที่ และด้านวิชาการ ทั้งนี้ กองบรรณาธิการ ประชาคมวิจัย สัมภาษณ์คอลัมน์พิเศษ แนะนำนักวิจัยดีเด่น รศ.ดร.ศิริพร  จึงสุทธิวงษ์ อาจารย์ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ซึ่งได้รับรางวัลผลงานวิจัยดีเด่น กลุ่มนักวิจัยรุ่นกลาง รางวัล 2017TRF-OHEC- Scopus Researcher Awards in Physical Science ในฉบับนี้ด้วย

บทสัมภาษณ์จดหมาข่าว ประชาคมวิจัย

แนะนำนักวิจัยเด่น  โดย กองบรรณาธิการ

            รศ.ดร.ศิริพร  จึงสุทธิวงษ์ ภาควิชาเคมี  คณะวิทยาศาสตร์  มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

ออกแบบโครงสร้างโมเลกุลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพโซลาร์เซลล์สีย้อม

          นักวิจัยได้พัฒนาต้นแบบภาคสนามของเซลล์แสงอาทิตย์ชนิดสีย้อมไวแสงที่ได้จากการออกแบบจำลองโมเลกุลและการคำนวณโครงสร้างเพื่อคัดกรองและคัดเลือกโครงสร้างสีย้อมไวแสงที่มีศักยภาพสูงก่อนนำไปสังเคราะห์จริงในห้องปฏิบัติการ โดยจะสามารถลดค่าใช้จ่ายด้านสารเคมี ลดความยุ่งยากในกระบวนการวางแผนการสังเคราะห์และประหยัดเวลาลองถูกลองผิด

          นอกจากนั้นการคำนวณเคมียังสามารถให้ข้อมูลที่อธิบายผลที่ได้จากการทดลองในระดับอิเล็กตรอนและโมเลกุล ทำให้นักวิจัยสามารถที่จะเข้าใจองค์ประกอบสำคัญที่มีผลต่อประสิทธิภาพของเซลล์ DSC

ความสำคัญของงานวิจัยและการนำไปใช้ประโยชน์

          ผลงานวิจัยนี้ได้รับความสนใจในเชิงวิชาการอย่างมาก สามารถตีพิมพ์ในวารสารคุณภาพสูงระดับนานาชาติและได้รับการอ้างอิงจากนักวิจัยทั่วโลกเพื่อใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการปรับปรุงและพัฒนาสารอินทรีย์สีย้อมไวแสง  เช่น Journal of Materials Chemistry C, Chemistry Communications, The Journal of Physical Chemistry C, Dalton transactionsเป็นต้น รวม 77 ชิ้น มีการถูกนำไปอ้างอิงแล้ว 523 ครั้ง (SCOPUS 1 ธันวาคม 2559)

          นอกจากนั้นงานวิจัยที่ผลิตได้ในระดับต้นแบบ (lab prototype) มีแนวโน้มสามารถนำไปขยายการผลิตในระดับที่สูงขึ้นได้เพื่อต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ ทำให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตอุปกรณ์เซลล์แสงอาทิตย์ที่มีราคาถูก เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และมีประสิทธิภาพสูงเทียบเท่าหรือดีกว่าชนิดรอยต่อพีเอ็นของสารกึ่งตัวนำผลึกเดี่ยวซิลิกอน ที่จะทำให้ประเทศไทยสามารถผลิตพลังงานทดแทนได้เอง ลดการพึ่งพาพลังงานจากต่างประเทศได้ในที่สุด

ข้อคิดจากการทำงานวิจัยถึงนักวิจัยรุ่นใหม่ >>

            การทำงานวิจัยให้ประสบความสำเร็จ สิ่งสำคัญคือต้องมีทีมงาน (Team work) ที่ดี นอกจากนั้นจะต้องพยายามสร้างเครือข่ายกับนักวิจัยทั้งในและต่างประเทศ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับทีมวิจัย และเพื่อให้เกิดงานวิจัยแบบบูรณาการซึ่งจะสามารถสร้างผลงานที่มีผลกระทบต่อประเทศชาติได้ในเวลาที่เรามีอย่างจำกัด ดังนั้นนักวิจัยรุ่นใหม่จะต้องมีความอดทนในการสร้างทีม ถึงแม้ว่าการทำงานเป็นทีมอาจต้องใช้เวลาในการสร้างและทำความเข้าใจกับผู้ร่วมงาน แต่ผลลัพธ์ที่ได้จะมั่นคงและยั่งยืนกว่าการทำงานคนเดียวดังสุภาษิตที่ว่า “If you want to go fast, go alone. If you want to go far, go together” ถึงแม้เราจะเป็นนักวิจัยในมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยในต่างจังหวัดที่มีขนาดเล็ก ซึ่งยังขาดทั้งทางด้านกำลังทรัพย์ (งบประมาณแผ่นดินที่ได้รับจัดสรรสำหรับการทำวิจัยในแต่ละปีงบประมาณน้อยมาก) และด้านกำลังคน (จำนวนอาจารย์ที่ทำวิจัยมีน้อย) เมื่อเทียบนักวิจัยในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงในประเทศ แต่ด้วยความอดทน มุ่งมั่น และไม่ท้อถอย เราก็สามารถก้าวไปสู่บันไดแห่งความสำเร็จในการทำวิจัยได้ จึงอยากจะขอเป็นแรงบันดาลใจให้นักวิจัยรุ่นใหม่ทุกคนมีความอดทน ความมุ่งมั่น และความเพียร เป็นที่ตั้งก็จะสามารถข้ามผ่านอุปสรรคและปัญหาทุกอย่างได้ในที่สุด

การศึกษา >>

             พ.ศ. 2548       ปริญญาเอก สาขาวิชาเคมี  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

             พ.ศ. 2547       ปริญญาโท Chemistry, University of Utah

             พ.ศ. 2537       ปริญญาตรี สาขาวิชาเคมี มหาวิทยาลัยขอนแก่น

รางวัลแห่งความภูมิใจ>>

             พ.ศ. 2559       นิสิตเก่าผู้ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติจากภายนอกระดับประเทศ  คณะวิทยาศาสตร์   มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

              พ.ศ. 2559       บุคลากรดีเด่น ประเภทวิชาการ (ข้าราชการ) คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

              พ.ศ. 2556       รางวัลนักวิจัยที่มีผลงานตีพิมพ์ระดับนานาชาติดีเด่น คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

เพลิน  วิชัยวงศ์ นักประชาสัมพันธ์ ม.อุบลฯ / ข่าว



Search
ลิ้งค์ข่าวสาร