ช่องทางรับฟังความคิดเห็น     คลังเอกสาร     คำถามที่พบบ่อย     ถาม-ตอบ      มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี    

ม.อุบลฯ จัดงานประกาศเกียรติคุณ แสดงความยินดีกับผู้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ และผู้รับรางวัลรัตโนบล ประจำปีการศึกษา 2559


โพสโดย เทอดภูมิ ทองอินทร์     โพสวันที่ 15 ธันวาคม 2560 ,     (อ่าน 1,696 ครั้ง)  


ม.อุบลฯ จัดงานประกาศเกียรติคุณ แสดงความยินดีกับผู้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์

และผู้รับรางวัลรัตโนบล ประจำปีการศึกษา 2559


 

               วันที่ 12 ธันวาคม 2560 มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จัดงานแสดงความยินดีเพื่อเป็นเกียรติแก่ ผู้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์และผู้รับรางวัลรัตโนบล ประจำปีการศึกษา 2559 ณ ห้องแกรนด์บอลรูม เอ โรงแรมยูเพลส มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดยมี ศาสตราจารย์ (พิเศษ) จอมจิน จันทรสกุล นายกสภามหาวิทยาลัยอุบลราชธานีและ รองศาสตราจารย์ ดร.นงนิตย์  ธีระวัฒนสุข อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี พร้อมด้วยผู้บริหาร คณาจารย์ ให้การต้อนรับ และกล่าวชื่นชม แสดงความยินดี แด่ หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร ประธานกรรมการมูลนิธิจุมภฏ-พันธุ์ทิพย์ และผู้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ พร้อมด้วย ผู้รับรางวัลรัตโนบล ซึ่ง สภามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้อนุมัติปริญญากิตติมศักดิ์แก่ ผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 2 ราย และรางวัลรัตโนบล ให้แก่ผู้ทรงคุณวุฒิ และองค์กร ที่ทำประโยชน์อย่างยิ่ง แก่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีและประเทศชาติ จำนวน 3 รางวัล  ได้แก่ ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาเภสัชศาสตร์ ให้แก่ Professor lkuo Saiki และ แพทยศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาแพทยศาสตร์ ให้แก่ รองศาสตราจาราย์นายแพทย์ป่วน  สุทธิพินิจธรรม  และในส่วนของรางวัลรัตโนบล ประจำปี 2560 ประเภทบุคคลทั่วไป ได้แก่ ศาสตราจารย์กิตติคุณปิยนาถ  บุนนาค และ ประเภทนิติบุคคล องค์กร จำนวน 2 แห่ง ให้แก่ มูลนิธิจุมภฏ – พันธุ์ทิพย์ และ บริษัท ไทยบริดจนสโตน จำกัด ซึ่งเข้ารับพระราชทานในครั้งนี้ด้วย

 

                ปริญญากิตติมศักดิ์จำนวน 2 ราย

  ปริญญากิตติมศักดิ์แพทยศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาแพทยศาสตร์ รองศาสตราจารย์นายแพทย์ป่วน สุทธิพินิจธรรม

        รองศาสตราจารย์นายแพทย์ป่วน สุทธิพินิจธรรม  เป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่ทำคุณประโยชน์แก่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาในการสร้างความร่วมมือกับโรงพยาบาลร่วมผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบทระหว่างกระทรวงศึกษาธิการกับโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่ ปี 2552ทำให้มีศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิกที่โรงพยาบาลศรีสะเกษเพิ่มขึ้น และส่งผลให้ในปีการศึกษา 2560เป็นต้นไป วิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข สามารถรับนักศึกษาแพทย์เพิ่มจากปีละ 36คน เป็น 72คน  การทำความร่วมมือดังกล่าวทำให้ยุทธศาสตร์การศึกษาของวิทยาลัยกับศูนย์แพทยศาสตรศึกษาโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ และโรงพยาบาลศรีสะเกษ มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และเป็นไปตามบริบทของระบบสุขภาพในพื้นที่เป้าหมายอย่างแท้จริงตามปณิธานในการก่อตั้งวิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข ที่มุ่งผลิตบัณฑิตแพทย์เพื่อปฏิบัติงานเชิงรุกในระบบสุขภาพในท้องถิ่นอีสานใต้

 

               ปริญญากิตติมศักดิ์สาขาวิชาเภสัชศาสตร์ ศาสตราจารย์ Ikuo Saiki

          ศาสตราจารย์ Ikuo Saiki เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนและประสานงานการสร้างความร่วมมือทางวิชาการระหว่าง คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และสถาบันการแพทย์ธรรมชาติ มหาวิทยาลัยโทยามา ในการแลกเปลี่ยนคณาจารย์ นักวิจัย นักศึกษาทั้งระดับบัณฑิตศึกษาและปริญญาตรี การฝึกปฏิบัติงานวิชาชีพของนักศึกษาระดับปริญญาตรี และการดำเนินงานวิจัยในสาขาเภสัชศาสตร์ร่วมกันของคณาจารย์นักวิจัยทั้งสองสถาบัน ในปี 2560มีการลงนามความร่วมมือทางวิชาการ ณ สถาบันการแพทย์ธรรมชาติ มหาวิทยาลัยโทยามา ประเทศญี่ปุ่น  ภายใต้การดูแลเอาใจใส่ของ ศาสตราจารย์ Ikuo Saiki นอกจากนี้ยังมี มีคณาจารย์ที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก และทำวิจัยระยะสั้น และมีผลงานวิจัยของคณาจารย์สังกัดคณะเภสัชศาสตร์ที่ได้รับการเผยแพร่ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติร่วมกับ ศาสตราจารย์ Ikuo Saiki จำนวนหลายฉบับเป็นต้น

 

         รางวัลรัตโนบล ประจำปี 2560 ประเภทบุคคล 1 รางวัล

            ศาสตราจารย์กิตติคุณปิยนาถ บุนนาค เป็นผู้มีคุณูปการต่อการพัฒนามหาวิทยาลัยอุบลราชธานีหลายด้าน อาทิ การพัฒนาบุคลากร คณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองหลักสูตรของสภามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และกรรมการพิจารณาผลงานทางวิชาการด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์มาเป็นระยะเวลามากกว่าสิบปี และเป็นวิทยากรอบรมด้านการพัฒนาตำแหน่งทางวิชาการให้กับคณาจารย์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีอย่างต่อเนื่อง และยังเป็นแบบอย่างที่ดีในการช่วยเหลือสาธารณชน โดยเป็นผู้ริเริ่มจัดตั้ง “กองทุนศาสตราจารย์ ดร. ปิยนาถ (นิโครธา) บุนนาค เพื่อเด็กผู้พิการและผู้สูงอายุที่ด้อยโอกาส” โดยรวบรวมทุนการศึกษาจากหน่วยงานต่างๆ และศิษย์เก่าเพื่อพัฒนาและมอบโอกาสแก่เยาวชนผู้ด้อยโอกาสทางสังคมให้มีโอกาสในการศึกษาขั้นพื้นฐานและการศึกษาระดับอุดมศึกษา ตลอดระยะเวลาเกือบ 20ปี มีผู้ได้รับทุนการศึกษาจากกองทุนนี้ไม่น้อยกว่า 1,000คน ทำให้เยาวชนไทยได้พัฒนาเพื่อเป็นสมาชิกสังคมไทยที่มีคุณภาพต่อไปในอนาคต

รางวัลรัตโนบล ประจำปี 2560 ประเภทองค์กร 2 รางวัล

            มูลนิธิจุมภฏ-พันธุ์ทิพย์ เป็นมูลนิธิที่จัดตั้งเพื่อบำเพ็ญสาธารณประโยชน์แก่ผู้ด้อยโอกาสในสังคม โดยการช่วยเหลือสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ทั่วประเทศ ในการสร้างสรรค์กิจกรรมทางวิชาการอันเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม และสนับสนุนการเรียนรู้ของนักศึกษาที่มีผลการเรียนดีแต่ขาดโอกาสทางการศึกษาในระดับอุดมศึกษา ปัจจุบันมี หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร เป็นประธานมูลนิธิฯ ได้สนับสนุนและมอบโอกาสทางการศึกษาแก่นักศึกษามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ตั้งแต่ 2537จนถึงปัจจุบัน มีนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ ได้รับทุนการศึกษาจากมูลนิธิไป จำนวน 79ทุน รวมเป็นเงินประมาณ 2,100,000บาท นอกจากนี้ มูลนิธิได้สนับสนุนนักศึกษาของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีที่มีความสามารถพิเศษและมีศักยภาพการเป็นผู้นำในการทำโครงการค่ายการยาง ม.อุบลฯ ตั้งแต่ 2556จนถึงปัจจุบัน ทำให้นักศึกษาได้พัฒนาความรู้และศักยภาพ เสริมสร้างองค์ความรู้และเทคโนโลยีการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพาราในการปรับปรุงกระบวนการผลิต และยกระดับคุณภาพของผลิตภัณฑ์ อุตสาหกรรมยาง จนเกิดประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ ชาวสวนยาง โรงงานแปรรูปน้ำยาง อย่างเป็นรูปธรรม

              บริษัท ไทยบริดจสโตน จำกัดเป็นองค์กรที่สร้างคุณประโยชน์ด้านการพัฒนาการศึกษา โดยส่งเสริมสนับสนุนพัฒนาการเรียนรู้และศักยภาพการเรียนรู้ของนักเรียน นักศึกษา และเป็นสถานที่ฝึกประสบการณ์การทำงาน แก่สถาบันการศึกษาหลายระดับ  บริษัท ไทยบริดจสโตน จำกัด ได้ส่งเสริมสนับสนุนการดำเนินงานเพื่อพัฒนาการศึกษาแก่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีมาโดยตลอด ได้แก่ โครงการสะพานสานฝันเยาวชนนักประดิษฐ์ ตั้งแต่ ปี2551-2558ทำให้นักศึกษาได้ประยุกต์ใช้และถ่ายทอดความรู้ด้านไมโครคอนโทรลเลอร์ในการทำโครงงานวิทยาศาสตร์แก่นักเรียนและครูระดับมัธยมศึกษา ในระดับภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และพัฒนาเป็นโครงการระดับชาติในปี 2559โดยสนับสนุนงบประมาณโครงการจนถึงปัจจุบัน เป็นเงินจำนวนกว่า 4,580,000บาท  และโครงการมอบทุนแบบต่อเนื่องแก่นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ตั้งแต่ 2550จำนวนปีละ 13ทุน เป็นเงินปีละ 450,000บาท คณะวิทยาศาสตร์และคณะเกษตรศาสตร์ ปีละ 10ทุน เป็นเงินประมาณ 300,000บาท ทำให้นักศึกษาที่ได้รับทุนการศึกษามีจิตสำนึกและให้บริการวิชาการเพื่อสังคม มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจนสามารถสำเร็จการศึกษาและออกไปประกอบอาชีพได้อย่างมีคุณภาพ

                สำหรับความเป็นมาของ“รางวัลรัตโนบล” มาจาก ราชทินนามของอริยสงฆ์ที่ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ พระครูวิโรจน์รัตโนบล (บุญรอด  สมจิตต์) คือผู้เคร่งครัดด้านวิปัสสนากรรมฐาน เป็นที่เคารพศรัทธา ของประชาชน  ปฏิปทาและจริยาสมบัติ มีเมตตาจิตสูง  มีวิริยะอุตสาหะและมีขันติธรรมอย่างแรงกล้า เป็นผู้คงแก่เรียน มีความรู้ดี ทั้งทางโลกและทางธรรม  และพระราชรัตโนบล (พิมพ์ นารโท) พระมหาเถระผู้โดดเด่นด้านความยุติธรรม ความถูกต้อง มีเมตตาธรรมสูง เป็นนักเผยแผ่อบรมเทศนาสั่งสอน รวมถึงการสอนหนังสือ การจัดการศึกษาและการบริหารคณะสงฆ์ มีคุณูปการเป็นที่เคารพสักการะของชาวอุบลราชธานี ดังนั้น สภามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จึงได้นำสร้อยราชทินนาม “รัตโนบล” เพื่อเชิดชูเกียรติคุณ แก่ผู้ที่ประกอบคุณงามความดีจนเป็นที่ประจักษ์  สมควรแก่การยกย่อง ดังเช่น พระอริยสงฆ์ชาวอุบลราชธานีทั้งสองรูป ที่ได้กระทำความดีเพื่อประโยชน์แก่ส่วนรวม



Search
ลิ้งค์ข่าวสาร