ช่องทางรับฟังความคิดเห็น     คลังเอกสาร     คำถามที่พบบ่อย     ถาม-ตอบ      มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี    

ก้าวแรก..สู่นักข่าวมืออาชีพ2 นศ.นิเทศศาสตร์ ม.อุบลฯ ผ่านอบรม"นักข่าวสายฟ้าน้อย"


โพสโดย เพลิน วิชัยวงศ์     โพสวันที่ 8 พฤศจิกายน 2560 ,     (อ่าน 1,487 ครั้ง)  


         นับเป็นอีกก้าวสู่การเป็นนักข่าวมืออาชีพ สำหรับนิสิต นักศึกษา ด้านนิเทศศาสตร์ และสื่อสารมวลชน ในการเข้าร่วมโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ“นักข่าวสายฟ้าน้อย” ประจำปี 2560 จัดโดย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ร่วมกับ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ด้านการเป็นนักข่าวมืออาชีพ ภายใต้แนวคิด “ศาสตร์พระราชาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ซึ่ง 2 นักศึกษาสาขานิเทศศาสตร์ ม.อุบลฯ ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมใน 65 คน จาก 43 สถาบันการศึกษาทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 5-8 ตุลาคม 2560 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมอิงธารรีสอร์ท จังหวัดนครนายก

        ในส่วนของ 2 ตัวแทนนักศึกษา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ“นักข่าวสายฟ้าน้อย” ประจำปี 2560 ได้แก่ นางสาวโยษิตา จันทร์อ้วน และนางสาวธนาภรณ์ นวลอินทร์ นักศึกษาชั้นปีที่ 3  คณะศิลปศาสตร์ สาขานิเทศศาสตร์ กับประสบการณ์ดีๆครั้งหนึ่งในชีวิตที่มาแบ่งปัน

         นางสาวโยษิตา จันทร์อ้วน หรือโยชิ นักศึกษา สาขานิเทศศาสตร์ ม.อุบลฯ กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่ได้เข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ ซึ่งเป็นครั้งแรกก็ว่าได้ แม้ช่วงเวลาที่อบรมจะระยะสั้น แต่สิ่งที่ได้คือประสบการณ์ตรงจากพี่ๆสื่อมวลชนที่ประสบความสำเร็จมาแบ่งปันประสบการณ์ ตนได้เรียนรู้การผลิตข่าวทั้ง ทฤษฎีและปฏิบัติลงพื้นที่จริงในการทำข่าว ประเด็นหัวข้อที่ว่า "ศาสตร์พระราชาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน" ซึ่งเป็นโจทย์ที่ยากทีเดียว แต่เราก็ผ่านมาได้ ประสบการณ์ในครั้งนี้ ยังทำให้รู้จักเครือข่ายเพื่อนนักศึกษาในสาขาวิชาชีพเดียวกัน ที่สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทำหน้าที่นักข่าวที่ดีได้ในอนาคต

        นางสาวธนาภรณ์ นวลอินทร์ หรือ นิ่ง นักศึกษา สาขานิเทศศาสตร์ ม.อุบลฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งสำคัญที่ทำเราก้าวมาถึงจุดนี้ได้ ต้องขอขอบคุณอาจารย์ประจำสาขาวิชาที่ถ่ายทอดความรู้มาโดยตลอด ประสบการณ์ตรงในครั้งนี้จะนำไปสู่การทำงานจริงในอนาคต อยากให้นักศึกษารุ่นน้อง มีความมุ่งมั่นตั้งใจ พร้อมเข้าร่วมอบรมในโครงการนี้ ในปีต่อไป ซึ่งเป็นประโยขน์มากสำหรับสายวิชาชีพนิเทศศาสตร์ และสื่อสารมวลชน

          ด้าน อาจารย์สุรศักดิ์ บุญอาจผู้ช่วยคณบดีฝ่ายบริการวิชาการและทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม และอาจารย์ผู้สอนรายวิชาการสื่อสารมวลชนในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้สนับสนุนและส่งเสริมให้นักศึกษาเข้าร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการ“นักข่าวสายฟ้าน้อย” ทุกปี เช่นเดียวกับปีนี้ นักศึกษาต้องส่งบทความเรื่อง "บทบาทหน้าที่ของคนข่าวทีวีในยุคโซเชียลมีเดีย" เพื่อให้ทางสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยพิจารณา ซึ่งอาจารย์ก็มีส่วนร่วมให้คำแนะนำเกี่ยวกับประเด็นของคนข่าวในปัจจุบันที่ใครๆก็สามารถเป็นนักข่าวได้ แต่คนข่าวทีวีในยุคโซเชียลมีเดีย ต้องเร็วกว่าคนทั่วไป คนข่าวทีวีในยุคนี้ควรมีจมูกที่ไวต่อความเป็นข่าว (Nose for news) ให้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกับคนข่าวในสื่อกระแสหลักอย่างช่อง 3 ช่อง 5 ช่อง 7 ช่อง 9 หรือช่อง ThaiPBS ควรจะทำให้เห็นความแตกต่างของข่าวว่าเนื้อหาของข่าวเป็นเนื้อหาในเชิงลึก ผ่านกระบวนการทำงาน มีการกลั่นกรองเนื้อหาของข่าวในการนำเสนอ เพราะหากเปรียบเทียบกับการทำงานหรือการนำเสนอข่าวของเพจทางเฟซบุคนั้น จะพบว่าประชาชนได้รับข่าวสารที่ยังไม่ละเอียดมากนัก เช่น ข่าวบางข่าวต้องการพาดหัวข่าวเพื่อสร้างกระแส หรือพาดหัวข่าวล่อคลิก (Clickbait) ซึ่งมีเนื้อหาข่าวที่ไว้ล่อให้คนกดเข้าไปอ่านเพื่อสร้างรายได้ให้กับเว็บไซต์ด้วยการพาดคำโปรยดึงดูดตาดึงดูดใจให้คนกดเข้าไปดู หรือข่าวบางข่าวอาจเพียงแค่กระตุ้นความสนใจแต่ยังไม่ลงลึกในรายละเอียดของข่าวมากนัก

เพลิน  วิชัยวงศ์ นักประชาสัมพันธ์ ม.อุบลฯ / ข่าว



Search
ลิ้งค์ข่าวสาร