ช่องทางรับฟังความคิดเห็น     คลังเอกสาร     คำถามที่พบบ่อย     ถาม-ตอบ      มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี    

สารจากนายกสภาฯ

 

  

                                                        ธรรมาภิบาลและการบริหารจัดการ
                                                      (Governance and Management)
     
                             
                                       
                                                                                                               ศาสตราจารย์พิเศษจอมจิน จันทรสกุล

                                                                                                                            (ก.ย.49 - ปัจจุบัน)
 

              ปัจจัยสำคัญที่มีผลกระทบต่อการพัฒนามหาวิทยาลัยและอุดมศึกษาในภาพรวม  ก็คือ เรื่องของธรรมาภิบาลและการบริหารจัดการ (governance and management) ซึ่งปัจจัยนี้จะเกี่ยวข้องกับบทบาทและหน้าที่ของทั้งสภามหาวิทยาลัยอันเป็นองค์กรสูงสุดของมหาวิทยาลัย  ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมกำกับดูแลการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยให้เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด  และผู้บริหารมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นผู้ดำเนินการปฏิบัติและบริหารจัดการเพื่อให้บรรลุผลในภารกิจต่างๆ ตามนโยบายและแผนกลยุทธ์ที่กำหนด  และในกรอบแผนอุดมศึกษาระยะยาว 15 ปี ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2551 – 2565)  ซึ่งเป็นแผนแม่บทกำกับการพัฒนาอุดมศึกษาของไทย  โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 15 มกราคม  2551  ในเรื่องของธรรมาภิบาลและการบริหารจัดการให้ถือเป็นปัจจัยสำคัญ

ธรรมาภิบาลหรือการปกครองที่ดียึดหลักการบริหารจัดการที่มุ่งเน้นในเรื่องต่างๆ  ดังนี้                                                    


1. ความโปร่งใส (transparency)

          การบริหารจัดการจะต้องไม่ทำให้เกิดความเคลือบแคลงหรือสงสัยว่ามีพฤติกรรมซ่อนเร้น  เพราะฉะนั้นการเปิดเผยข้อมูลหรือการสื่อสารให้บุคลากรในองค์กรทราบ  และมีความเข้าใจถือเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความโปร่งใส  การปฏิบัติให้อยู่ในกรอบของอำนาจและหน้าที่รวมทั้งกฎระเบียบต่างๆ ที่กำหนดไว้จะช่วยป้องกันปัญหาเกี่ยวกับความไม่โปร่งใสได้มาก

2. การมีส่วนร่วม (Participation)

          ผู้บริหารควรจะพยายามเปิดโอกาสให้บุคลากรของมหาวิทยาลัย  ได้มีโอกาสร่วมในกิจกรรมต่างๆ ของมหาวิทยาลัยตลอดจนการร่วมแสดงความคิดเห็นในเรื่องสำคัญๆ ที่เกี่ยวข้องหรือมีผลต่อส่วนรวม  ซึ่งจะทำให้บุคลากรได้รับรู้และมีความรู้สึกรับผิดชอบร่วม      การมีส่วนร่วมจะช่วยทำให้บุคลากรของมหาวิทยาลัยมีการตื่นตัวหรือมีความตั้งใจที่จะช่วยเหลือมหาวิทยาลัย เพราะเขามีความรู้สึกว่าผู้บริหารให้ความสำคัญและไม่มองข้ามเขาไป  ผู้บริหารควรนำหลักการของการบริหารแบบทุกคนมีส่วนร่วม (Total Participative Management) มาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการ  ซึ่งแนวคิดของการบริหารจัดการแบบการมีส่วนร่วมก็คือการที่มองว่าผู้ใต้บังคับบัญชาเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่าในการสร้างประโยชน์ให้กับองค์กรได้อย่างมีประสิทธิผล   ผู้ใต้บังคับบัญชาจึงควรมีโอกาสที่จะมีส่วนร่วมในการตัดสินใจผู้บริหารแบบมีส่วนร่วมมักจัดให้มีการประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้ใต้บังคับบัญชาและเพื่อนร่วมงานก่อนการตัดสินใจ


3. ความเป็นธรรม (Equitable Treatment)

            ในองค์กรที่มีปัญหาเรื่องความไม่เป็นธรรมเรามักจะได้ยินบ่อยๆ  จากเพื่อนร่วมงานหรือผู้ใต้บังคับบัญชาพูดว่าผู้บริหารไม่ให้ความเป็นธรรมหรือผู้บริหารมีความลำเอียง  ซึ่งความไม่เป็นธรรมหรือความลำเอียงในมุมมองของผู้ใต้บังคับบัญชานั้น  อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น จากความใกล้ชิดสนิทสนม  จากการมีผลประโยชน์ร่วมกันหรือจากการขัดผลประโยชน์  จากความชอบพอส่วนตน  จากอำนาจภายนอก เป็นต้น
            ความไม่เป็นธรรมมักจะนำไปสู่ความขัดแย้ง  ความแตกแยกและการไม่ให้ความร่วมมือในการปฏิบัติงาน  ผู้บริหารจึงต้องระมัดระวังและพยายามขจัดเรื่องความไม่เป็นธรรมออกไปให้ได้มากที่สุดเท่าที่สามารถจะทำได้  เช่น  การยึดในกฎ  ระเบียบกติกามารยาท  การสื่อสารการให้ข้อมูล  และการเปิดโอกาสให้กับทุกๆ คนอย่างเท่าเทียมกัน


4. ความมีประสิทธิภาพ (Efficiency)

          การบริหารจัดการที่ถือว่าเป็น Good Governanceนั้น ผู้บริหารจะต้องมุ่งเน้นในเรื่องประสิทธิภาพด้วยโดยเฉพาะประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรในการดำเนินงาน เช่น ประสิทธิภาพของการใช้เงิน โดยเฉพาะเงินงบประมาณและเงินรายได้ของมหาวิทยาลัย  ประสิทธิภาพของการทำงานของบุคลากร  การใช้พลังงานตลอดจนการใช้ทรัพย์สินอื่นๆ ให้ได้ประโยชน์สูงสุด  ผู้บริหารควรติดตามและตรวจสอบความมีประสิทธิภาพของการใช้ทรัพยากรอย่างเป็นประจำ  และหากจำเป็นก็ควรจัดให้มีการอบรมแก่ผู้บริหารในระดับต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วย


5. ความรับผิดชอบ (Responsibility)

           เป็นเรื่องที่กล่าวถึงกันมากเรื่องหนึ่ง โดยเฉพาะความรับผิดชอบในหน้าที่การงาน  ผู้บริหารทุกคนจะต้องรับผิดชอบต่อผลงานหรือความสำเร็จตามเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ  ในงานที่ตนมีหน้าที่ต้องปฏิบัติหรือกำกับดูแล  ต้องรับผิดชอบต่อผลกระทบที่อาจมีขึ้นต่อผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholder) อันได้แก่ รัฐในฐานะผู้ให้งบประมาณในการดำเนินการ  นักศึกษาในฐานะผู้เข้ามาศึกษาหาความรู้เพื่อนำไปประกอบอาชีพ  ผู้ปกครองในฐานะผู้ต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายสำหรับการศึกษา  บุคลากรของมหาวิทยาลัยในฐานะผู้ร่วมงานและต่อสังคมในภาพรวม  จะเห็นได้ว่าในปัจจุบันทั้งองค์กรในภาครัฐและเอกชนได้พูดถึงเรื่องของความรับผิดชอบขององค์กรต่อสังคมมากยิ่งขึ้น (Corporate Social Responsibility, CSR)  ดังนั้น ผู้บริหารมหาวิทยาลัยจะต้องให้ความสำคัญในความรับผิดชอบที่มีผลต่อผลงานและผลกระทบต่อสังคมดังกล่าวแล้ว


6. การรับผิดชอบตอบสนองและตรวจสอบได้ (Accountability)

            ในหน้าที่การงานที่ผู้บริหารต้องรับผิดชอบนั้นความสำคัญมิได้อยู่ที่ผลสำเร็จของงานแต่เพียงอย่างเดียว  แต่วิธีการปฏิบัติเพื่อให้ได้ผลงานตามเป้าหมายนั้นจะต้องเหมาะสมและถูกต้อง  และพร้อมที่จะให้มีการตรวจสอบได้  มีความสำนึกรับผิดชอบต่อผลงานที่ออกมา  ในระบบหรือโครงสร้างการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยพบอุปสรรคค่อนข้างมากต่อเรื่องของ Accountability  ซึ่งผู้บริหารจะต้องทำให้เกิดความชัดเจน


7. ความมีอิสระ (Autonomous)

            เมื่อผู้บริหารมีความรับผิดชอบและมีการบริหารจัดการ ในลักษณะที่เป็นธรรมาภิบาลแล้วความไว้วางใจต่างๆ ก็จะเกิดขึ้นการยอมรับในความเป็นอิสระในการปกครองตนเองก็จะมีมากขึ้น  อย่างไรก็ตามเมื่อผู้บริหารมีความมีอิสระในการปกครองตนเองแล้ว จำเป็นจะต้องรู้จักขอบเขตด้วยการใช้อำนาจหรือความมีอิสระเกินขอบเขตย่อมก่อให้เกิดผลเสียต่อองค์กรได้มากและยากต่อการแก้ไข


8. ความคุ้มค่า (Cost Effectiveness)

             การทำกิจกรรมใดๆ ผู้บริหารควรคำนึงถึงความคุ้มค่าในการใช้ทรัพยากรต่างๆ ไปด้วย เช่น การใช้เงินลงทุน การใช้คนปฏิบัติในกิจกรรมหรือโครงการต่างๆ ควรจะวิเคราะห์ถึงความคุ้มค่าคุ้มทุนในการทำกิจกรรมเหล่านั้นด้วย  ผู้บริหารมักจะได้ยินคำพูดบ่อยๆ ว่าทำงานเสียเวลาเปล่า หรือเสียเงินเสียทองเปล่าๆ เพราะการใช้เวลาใช้เงินใช้ทองไม่คุ้มค่า  ดังนั้น การคิดวิเคราะห์ก่อนจะลงมือทำในกิจกรรมใดๆ จึงเป็นคุณลักษณะที่สำคัญอย่างหนึ่งของธรรมาภิบาล

9. การมีมาตรฐาน (Standard)

             ผู้บริหารควรยึดหลักการปฏิบัติให้เป็นมาตรฐานเดียวกันสำหรับงานที่เหมือนๆ กันไม่ควรสร้างความแตกต่างให้เกิดขึ้นในลักษณะที่ถูกเรียกว่า Double standard  หรือสองมาตรฐาน  เพราะจะทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันและจะนำไปสู่ความขัดแย้งขึ้นได้ในองค์กร

10. การตอบสนองความต้องการของสังคม (Social Response)

            สังคมมักจะมองอยู่เสมอว่ามหาวิทยาลัยทำอะไรให้กับสังคมบ้างโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับด้านความรู้และการพัฒนาสังคมชุมชน  ซึ่งที่จริงแล้วการให้บริการทางวิชาการและการทำนุศิลปวัฒนธรรมถือเป็นภารกิจหลักอย่างหนึ่งของมหาวิทยาลัย  จึงเป็นความรับผิดชอบของผู้บริหารที่จะต้องดูแลสังคมในเรื่องนี้ด้วย


          กล่าวในภาพรวมแล้วจะเห็นว่าธรรมาภิบาลและการบริหารจัดการเป็นสิ่งที่แยกกันไม่ได้  ผู้บริหารที่ดีจะต้องยึดหลักธรรมาภิบาลในการบริหารและการบริหารจะบรรลุเป้าหมายอย่างดี  และมีประสิทธิภาพก็ด้วยธรรมาภิบาล  จึงขอให้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยทุกคนได้ตระหนักในเรื่องธรรมาภิบาลไว้เสมอ


ไฟล์สารจากนายกสภาฯ