ช่องทางรับฟังความคิดเห็น     คลังเอกสาร     คำถามที่พบบ่อย     ถาม-ตอบ      มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี    

ตำนานผาแดง นางไอ่

1.1  ตำนานผาแดงนางไอ่

ตำนานผาแดงนางไอ่นี้ แต่ละแห่งมีความแตกต่างกันในรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ผู้เขียนหยิบยกเนื้อหาจากอินเทอร์เนตที่ค่อนข้างครอบคลุมเรื่องราวโดยรวมมานำเสนอ และได้ตัดทอนบางส่วนที่เป็นคำพูดเพื่อความเหมาะสม โดยผู้อ่านสามารถอ่านรายละเอียดโดยใช้วิจารณญาณเพิ่มเติมได้จากรายการอ้างอิง

 

1.1.1  สำนวนที่ 1

ตำนานผาแดง-นางไอ่

 

“พระยาขอม” ผู้ครองเมืองเอกชะธีตา (เมืองสุวรรณโคม) มีธิดานางหนึ่งชื่อ “นางไอ่”2 ซึ่งจัดเป็นหญิงที่มีรูปร่างงดงามในวัยแตกเนื้อสาว ซึ่งจะหาสาวงามนางใดในสามไตรภพมาเทียบมิได้ ความงดงามของเธอเป็นที่เลื่องลือไปทั่วแดนไกล เจ้าชายหลายหัวเมืองต่างหมายปองอยากได้มาเป็นคู่ครองกันทุกคน

"ท้าวผาแดง" เจ้าชายเมืองผาโพง ทราบข่าวเล่าลือถึงสิริโฉมอันงดงามของ นางไอ่ ก็เกิดความหลงไหลใฝ่ฝันในตัวนางเป็นอย่างมาก จึงวางแผนทอดสัมพันธ์ไมตรีด้วยการส่งแก้วแหวนเงินทองและ         ผ้าแพรพรรณเนื้อดีไปฝาก นางไอ่ เมื่อมหาดเล็กนำเอาสิ่งของไปมอบให้ แถมยังได้บอก นางไอ่ ถึงความรูปหล่อ องอาจ ผึ่งผายของ ท้าวผาแดง ให้ฟัง เท่านั้นเองนางก็เกิดความสนใจและฝากเครื่องบรรณาการไปฝาก ท้าวผาแดง เป็นการตอบแทนด้วย ท้าวผาแดง จึงขี่ม้าแอบมาหานางไอ่ และได้สมัครรักใคร่กัน แล้วสัญญากันว่าจะทำพิธีสู่ขอและแต่งงานกันตามประเพณีในไม่ช้านี้

ฝ่าย“ท้าวพังคี” ลูกชายพญาศรีสุทโธ พญานาคผู้ครองเมืองบาดาล ก็เป็นอีกตนหนึ่งที่มีความใฝ่ฝันอยากยลสิริโฉมของ นางไอ่ ทั้งนี้เพราะเป็นเวรกรรมในอดีตชาตินั้นบันดาลให้มีอันเป็นไป

โดยเรื่องมีอยู่ว่า ท้าวพังคี เมื่อชาติก่อน เป็นชายหนุ่มที่ยากจนและเป็นคนใบ้ เดินทางเที่ยวขอทานไปตามหมู่บ้านต่าง ๆ จนมาถึงหน้าบ้านเศรษฐีคนหนึ่ง และได้เข้าไปอาศัย ช่วยทำงานให้บ้านของเศรษฐีโดยไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย ทำให้เศรษฐีมีความรักใคร่เอ็นดูอย่างมาก ถึงกับยกลูกสาวสวยนางหนึ่งให้เป็นภรรยา ลูกสาวของเศรษฐีนางนี้คือนางไอ่ในชาติปางก่อน ท้าวพังคีในชาตินั้นเป็นคนไม่เอาไหน แทนที่         จะรักภรรยาลูกเศรษฐีกลับไม่สนใจใยดี ไม่ยอมหลับนอนด้วยกันฉันสามี – ภรรยาแม้แต่ครั้งเดียว ภรรยาก็ไม่           ปริปากบอกใครทราบ ปรนนิบัติสามีเยี่ยงภรรยาที่ดี เสมอมา

อยู่มาวันหนึ่ง ท้าวพังคีก็คิดถึงญาติพี่น้องที่บ้านเกิดของตน จึงพาภรรยากลับไปเยี่ยม        บ้านเศรษฐีผู้เป็นบิดาได้จัดแจงให้ลูกสาวหาบเสบียงอาหารตามผัวไป ท้าวพังคีหนุ่มใบ้ก็ไม่เคยช่วยเหลือนางด้วยการหาบแทนเลย นางทนลำบากหาบของหนักข้ามห้วย และป่าเขา จนกระทั่งเสบียงอาหารหมดลงกลางทาง ท้าวพังคีเห็นมะเดื่อสุกเต็มต้น จึงขึ้นไปเก็บกินแทนข้าว ฝ่าย นางไอ่ชะเง้อคอแหงนหน้าขึ้นมองท้าวพังคีผัวรักให้โยนลูกมะเดื่อลงไปให้กินบ้าง แต่ท้าวพังคี กลับไม่ใส่ใจเนื่องจากเป็นคนใจแคบ กินอิ่มคนเดียวแล้วก็ลงจากต้นมะเดื่อเดินหนีไป นางจึงขึ้นเก็บกินเอง เมื่อนางกินอิ่มแล้วก็ลงมาแต่ไม่พบท้าวพังคี จึงออกเดินตามหาแต่หาเท่าไหร่ก็ไม่พบ นางมีความทุกข์ทรมานเป็นอย่างยิ่ง พอเดินทางถึงต้นไทรริมฝั่งแม่น้ำ นางจึงลงอาบน้ำและดื่มกินจนมีความสดชื่นขึ้นมา จึงตัดสินใจแล้วอธิษฐานว่า “ชาติหน้าขอให้สามีตายอยู่บนกิ่งไม้ และอย่างได้เป็นสามี – ภรรยากันอีกเลย”ด้วยแรงอธิษฐานของนาง ชาติต่อมา “เจ้าใบ้” สามีจึงเกิดมาเป็นท้าวพังคี ส่วนเธอเองได้เกิดมาเป็นนางไอ่

ฝ่ายพระยาขอม เห็นว่านางไอ่ธิดาสาวผู้มีเรือนร่าง และใบหน้าอันสิริโฉม หาหญิงใด      ในหล้ามาเปรียบเทียบมิได้ ปัจจุบันเธอก็โตเต็มสาวแล้ว จึงมีใบฎีกาแจ้งไปยังหัวเมืองน้อยใหญ่ ให้ทำบั้งไฟ          มาจุดแข่งขันกันที่เมืองเอกชะธีตา เพื่อจุดถวายพญาแถนผู้เป็นใหญ่ในชั้นฟ้าบันดาลให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล ประการหนึ่ง ส่วนอีกประการหนึ่ง หากบั้งไฟเมืองไหนขึ้นสูงกว่าคนอื่น ก็จะได้นางไอ่ธิดาสาวผู้เลอโฉมไปเป็นคู่ครอง

พระยาขอม ได้กำหนดวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนหก เป็นวันงาน ทำให้เจ้าชายเมืองต่าง ๆ          ทำบั้งไฟหมื่น บั้งไฟแสน มาจุดแข่งขันกันอย่างมากมาย บุญบั้งไฟครั้งนั้นนับเป็นงานบุญที่ยิ่งใหญ่มโหฬาร     พอถึงวันงานผู้คนก็หลั่งไหลมาทั่วทุกสารทิศ ทั้งยังมีการแข่งขันตีกลอง ซึ่งคนอีสานเรียกว่า “เส็งกอง” กัน            อย่างครึกครื้น หนุ่ม - สาวต่าง จ่ายผญา เกี้ยวพาราศีกันอย่างสนุกสนาน

“บุญบั้งไฟ” ในครั้งนี้ แม้ท้าวผาแดงจะไม่ได้รับฎีกาบอกบุญเชิญให้นำเอาบั้งไฟ ไปร่วมงานด้วยก็ตาม แต่พระยาขอมว่าที่พ่อตา ก็ให้การต้อนรับท้าวผาแดงเป็นอย่างดี

ฝ่าย ท้าวพังคี เจ้าชายเมืองบาดาล ก็อยากมาร่วมงานกับมนุษย์ เพราะต้องการยลโฉม        นางไอ่ เป็นกำลัง และคิดและวางแผนในใจว่า บุญบั้งไฟครั้งนี้ข้าต้องไปให้ได้ แม้พ่อข้าจะทัดทานอย่างไรก็ตาม จากนั้นก็พาไพร่พลส่วนหนึ่งออกเดินทางขึ้นมาเมืองมนุษย์

ก่อนโผล่ขึ้นเมืองเอกชะธีตาของพระยาขอม ผู้เป็นใหญ่ ท้าวพังคีก็พาบริวารแปลงร่างเป็นมนุษย์บ้าง สัตว์บ้าง ส่วนท้าวพังคี ได้แปลงร่างเป็น กระรอกเผือก ซึ่งชาวอีสานเรียกว่า กะฮอกด่อน ได้ออกติดตามลอบชมโฉมนางไอ่ ในขบวนแห่ของ พระยาขอม เจ้าเมืองไปอย่างหลงไหลในความงามของนาง

การจุดบั้งไฟแข่งขันเป็นไปอย่างสนุกสนาน ทุกคนใจจดจ่ออยากรู้ว่า บั้งไฟเจ้าชายเมืองไหนชนะและได้ นางไอ่ ไปครอง ซึ่งการจุดบั้งไฟครั้งนั้น ท้าวผาแดง และ พระยาขอม มีเดิมพันกันว่า ถ้าบั้งไฟท้าวผาแดง ชนะบั้งไฟ พระยาขอม แล้ว ก็จะยกนางไอ่ธิดาสาวให้ไปเป็นคู่ครอง

ผลปรากฎว่า บั้งไฟของพระยาขอมไม่ขึ้นจากห้าง ซึ่งคนอีสานเรียกว่า “ซุ” ส่วนของท้าวผาแดง แตก (ระเบิด) คาห้าง คงมีแต่บั้งไฟของ “พระยาฟ้าแดด” เมืองฟ้าแดดสูงยาง และของ “พระยาเซียงเหียน” แห่งเมืองเซียงเหียนเท่านั้นที่ขึ้นสู่ท้องฟ้านานถึง 3 วัน 3 คืน จึงตกลงมา แต่พระยาทั้งสองนั้นเป็นอาของนางไอ่ เธอจึงไม่ตกเป็นคู่ครองของใคร

เมื่อบุญบั้งไฟ เสร็จสิ้นลง ท้าวผาแดงและท้าวพังคี ต่างฝ่ายต่างกลับบ้านเมืองของตน         แต่ในที่สุด ท้าวพังคีก็ทนอยู่บ้านเมืองแห่งตนไม่ได้ เพราะหลงไหลในสิริโฉมอันงดงามของนางไอ่ จึงพาบริวารย้อนขึ้นมายังเมืองเอกชะธีตาอีก โดยแปลงร่างเป็นกระรอกเผือกอย่างเดิม ส่วนที่คอแขวนกระดิ่งทอง ไปเกาะอยู่บนกิ่งไม้ใกล้หน้าต่างห้องนอนของนาง

เมื่อเสียงกระดิ่งทองดังกังวาลขึ้น นางไอ่ได้ยินก็เกิดความสงสัยจึงเปิดหน้าต่างออกไปดูเห็นกระรอกเผือกวิ่งและเต้นไปเกาะกิ่งนั้นกิ่งนี้ด้วยท่าทางน่ารักน่าเอ็นดู นางก็เกิดความพอใจอยากได้ขึ้นมาจึงสั่งให้นายพรานฝีมือดีออกติดตามจับกระรอกเผือกให้ได้ แต่จนแล้วจนรอดนายพรานก็จับไม่ได้ เพราะความว่องไว   ของกระรอกเผือกตนนั้น นางจึงเกิดความไม่พอใจขึ้นมาแทนที่และสั่งให้นายพรานจับให้ได้ ไม่ว่าจะจับเป็นหรือจับตาย

นายพรานออกติดตามกระรอกเผือกเริ่มตั้งแต่บ้านพันดอน บ้านน้ำฆ้อง ก็ไม่มีโอกาสจับกระรอกเผือกเสียที จึงไล่ติดตามมาถึงบ้านนาแบก บ้านเหล่าหมากบ้า บ้านเหล่าแชแลหนองแวง บ้านเหล่าใหญ่ บ้านเมืองพรึก บ้านคอนสาย บ้านม่วง ก็จับยังไม่ได้

ในที่สุดผลกรรมแต่ชาติปางก่อนตามมาทัน เมื่อกระรอกเผือกตัวน้อยหนีนายพรานมาถึงต้นมะเดื่อที่มีผลสุกเต็มต้น เจ้ากระรอกน้อยก็ก้มหน้าก้มตากัดกินลูกมะเดื่อด้วยความหิวโหย นายพรานไล่ตามมาทันก็เกิดความโมโหที่จับเป็นไม่ได้ จึงตัดสินใจจับตาย ด้วยการใช้หน้าไม้อาบยาพิษยิงถูกร่างเจ้ากระรอกเผือกเต็มรักกระรอกเผือกหรือ ท้าวพังคีรู้ตัวดีว่าต้องตายแน่ ๆ จึงสั่งให้บริวารกลับเมืองบาดาลเพื่อนำเอาความไปเล่าให้บิดาทราบ และก่อนจะสิ้นใจท้าวพังคี ก็แสดงอิทธิฤทธิ์ โดยร่ายมนต์อธิษฐานว่า “ขอให้เนื้อของตนมีมากมาย 8,000 เล่มเกวียน มากพอเลี้ยงผู้คนได้ทั้งเมืองอย่างทั่วถึง”

เมื่อกระรอกเผือกสิ้นใจตาย นายพรานกับพวก "นักล่า" ฝีมือฉกาจ ก็นำเอาร่างของกระรอกเผือกไปชำแหละเอาเนื้อที่บ้านเชียงแหว เมื่อนายพรานปาดเอาเนื้อแบ่งให้ผู้คนทั้งบ้านใกล้บ้านไกลได้กินกัน ปรากฏว่าเนื้อของกระรอกน้อยก็เพิ่มขึ้นมาอย่างทวีคูน ผู้คนในเมืองต่างพากันกินเนื้อกระรอกอย่างอิ่มหมีพีมัน ยกเว้นผู้คนที่บ้านดอนแม่หม้ายไม่มีผัว ซึ่งอยู่กลางทุ่งหนองหานเท่านั้นที่พวกพรานไม่ได้แบ่งปันให้กิน

ฝ่ายบริวารท้าวพังคี เมื่อกลับถึงเมืองบาดาล ก็เล่าเหตุการณ์ท้าวพังคีลูกชายถูกนายพรานฆ่าตายให้พญานาคราชผู้เป็นบิดาฟัง บิดาท้าวพังคีก็เกิดความกริ้วโกรธโกรธา สั่งจัดบริวารเป็นริ้วขบวนกำลังยกพลโยธาทัพขึ้นไปอาละวาดเมืองพระยาขอมถล่มทลายให้หายแค้น พร้อมประกาศก้องว่า"ใครกินเนื้อลูกพังคีของข้าพวกมึงอย่าไว้ชีวิต"

พญานาคพาบริวารออกอาละวาดไปทั่วแดนเมืองเอกชะธีตา เสียงดังครืน ๆ ฆ่าผู้คนตายไปอย่างมากมายสุดคณานับ แผ่นดินเมืองพระยาขอมก็ล่มทลายลงเป็นหนองหานต้นลำน้ำปาว ส่วนบ้านดอนแก้ว หรือดอนแม่หม้ายแห่งเดียวที่ผู้คนไม่ได้กินเนื้อท้าวพังคี จึงไม่ได้ล่มทลายลง ดังที่เห็นในปัจจุบัน

ขณะที่บ้านเมืองกำลังล่มทลายเพราะอิทธิฤทธิพญานาคศรีสุทโธอยู่นั้น ท้าวผาแดงก็ขี่ม้า “บักสาม” เหยาะย่างมุ่งหน้าไปหานางไอ่ ท้าวผาแดงเห็นนาคเต็มไปหมดและได้เล่าเรื่องที่พบเห็นให้นางฟัง     นางกลับไม่สนใจแต่ได้ทำอาหารที่มีกลิ่นหอมหวลเป็นพิเศษมาให้ท้าวผาแดงรับประทาน ท้าวผาแดงจึงถามว่า เนื้ออะไรจึงหอมนัก ก็ได้รับคำตอบจากนางว่า “เนื้อกระรอก ถูกนายพรานยิงตายนำมาให้” เท่านั้นเอง ท้าวผาแดงก็ทราบในทันทีว่าเป็นเนื้อของท้าวพังคีลูกชายเจ้าพ่อศรีสุทโธเจ้าเมืองบาดาล จึงไม่ยอมกินอาหาร "ต้องห้าม"         ที่นางยกมาให้ พอตกตอนกลางคืนผู้คนกำลังหลับสนิท เหตุการณ์ร้ายก็ได้เกิดขึ้น เสียงครืนๆ แผ่นดินถล่มดังมาแต่ไกล ท้าวผาแดงก็รู้ในทันทีว่าเป็นการกระทำของพญานาค จึงคว้าร่างนางไอ่ขึ้นหลังม้าบักสามควบหนีออกจากเมืองอย่างสุดฝีเท้า เพื่อให้พ้นภัย

แต่นางไอ่ได้กินเนื้อกระรอกกับชาวเมืองด้วย แม้ว่าท้าวผาแดงจะควบม้าคู่ชีพไปทางไหน นาคก็ดำดินติดตาม แผ่นดินก็ถล่มทลายไปด้วย ท้าวผาแดงควบม้ามุ่งไปภูพานน้อยต้นลำห้วยสามพาดเพื่อหนีไปยังเมืองผาพง พญานาคก็ติดตามอย่างไม่ลดละและแปลงร่างเป็นขอนไม้ยางขนาดยักษ์ขวางเส้นทางไว้ ม้าบักสามก็กระโดดข้ามอย่างสุดฤทธิ์ สองขาหน้าข้ามขอนไม้ไปได้ แต่สองขาหลังคู้ขึ้นมาไม่ข้าม จึงทำให้ม้าเสียหลักล้มพังพาบลงอวัยวะเพศของม้าไปกระแทกกับภูพานน้อย เป็นร่องลึกลงไปและกลายเป็นต้นลำห้วยสามพาดมาตั้งแต่บัดนั้น

ในที่สุดนางไอ่ก็ถูกพญานาคใช้หางฟาดตกลงจากหลังม้า และจมลงในน้ำตายไปต่อหน้าท้าวผาแดง ด้วยเหตุสุดวิสัยที่จะช่วยนางเอาไว้ได้ เมื่อท้าวผาแดงกลับถึงเมืองผาพง ก็คิดถึงนางไอ่ เมียรักข้าวปลาไม่กิน ร่างกายผ่ายผอม เกิดล้มป่วยลงและตรอมใจตายตามนางไปในที่สุด

เมื่อท้าวผาแดงตายเป็นผี ก็ยังมีความอาฆาตเคียดแค้นพญานาคอยู่ไม่วาย พอได้โอกาสเหมาะผีผาแดง ก็เตรียมไพร่พลเดินทัพผีไปรบกับพวกพญานาคให้หายแค้น บริวารผีท้าวผาแดงมีเป็นแสน ๆ เดินเท้าเสียงดังอึกทึกปานแผ่นดินจะถล่ม เข้ารายล้อมเมืองพญานาคเอาไว้ทุกด้าน ต่างฝ่ายต่างใช้อิทธิฤทธิ์รบกันนานถึง 7 วัน 7 คืน ไม่มีใครแพ้ใครชนะ ฝ่ายเจ้าพ่อศรีสุทโธ เจ้าเมืองบาดาลซึ่งแก่ชราภาพมากแล้ว ก็ไม่อยากก่อกรรมก่อเวร เพราะต้องการไปเกิดในแผ่นดินพระศรีอาริยเมตตรัยอีก จึงไปหาท้าวเวสสุวัณ ผู้เป็นใหญ่ให้มาตัดสินความ

ท้าวเวสสุวัณ จึงเรียกทั้งสองฝ่ายมาโดยให้ทั้งสองฝ่ายเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้ทราบ ท้าวเวสสุวัณจึงบอกว่าเรื่องที่เกิดขึ้นนั้นมันเป็นผลของ “บุพกรรม” หรือกรรมเก่าแต่ชาติปางก่อนที่ตามมาในชาตินี้ และทั้งสองฝ่ายก็มีเหตุผลกล้ำกึ่งกัน จึงให้ทั้งสองเลิกลาไม่ต้องเข่นฆ่ากันอีก ขอให้มีเมตตาต่อกัน และให้ทั้งสองฝ่ายรักษาศีลห้า ปฏิบัติธรรม และให้มีขันติธรรม ต่อไป ท้าวผาแดง และพญานาคได้ฟังคำสั่งสอนของท้าวเวสสุวัณก็กลับมีสติ เข้าใจในเหตุและผลต่างฝ่ายต่างอนุโมทนา สาธุการ เหตุการณ์ร้ายจึงยุติลงด้วยความเข้าใจ มีการให้อภัยกันในที่สุด

 

1.1.2   สำนวนที่ 2: ตำนานหนองหาน สกลนคร

ครั้งหนึ่ง ยังมีเมืองอยู่เมืองหนึ่งชื่อ"นครเอกชะทีตา" มีพระยาขอมเป็นกษัตริย์ปกครองเมืองด้วยความร่มเย็น พระยาขอมมีพระธิดาสาวสวยนามว่า "นางไอ่คำ" ซึ่ง เป็นที่รัก และหวงแหนมาก จึงสร้างปราสาท            7 ชั้นให้อยู่พร้อมเหล่าสนม กำนัล คอยดูแลอย่างดี

ขณะเดียวกันยังมีเมืองอีกเมืองหนึ่งชื่อ "เมืองผาโพง" มีเจ้าชายนามว่า "ท้าวผาแดง"        เป็นกษัตริย์ปกครองอยู่ ท้าวผาแดงแห่งเมืองผาโพง ได้ยินกิตติศัพท์ความงามของธิดาไอ่คำมาก่อนแล้วใคร่อยากจะเห็นหน้า จึงปลอมตัวเป็นพ่อค้าพเนจรถึงนครเอกชะทีตา และติดสินบนนางสนมกำนัล ให้นำของขวัญลอบเข้าไปให้นางไอ่คำ ด้วยผลกรรมที่ผูกพันกันมา แต่ชาติปางก่อนนางไอ่คำกับท้าวผาแดงจึงได้มีใจปฏิพัทธ์ต่อกันจนในที่สุดทั้งสองก็ได้อภิรมย์สมรักกัน

ก่อนท้าวผาแดงจะจากไปเพื่อจัดขบวนขันหมากมาสู่ขอ ทั้ง 2 ได้คร่ำครวญต่อกันด้วยความอาลัยยิ่ง วันเวลาผ่านไปถึงเดือน 6 เป็นประเพณี แต่โบราณของเมืองเอกชะทีตาจะต้องมีการทำบุญบั้งไฟบูชาพญาแถน พระยาขอมจึงได้ประกาศบอกไปตามหัวเมืองต่างๆ ว่าบุญบั้งไฟปีนี้จะเป็นการหาผู้ที่จะมาเป็นลูกเขย         อีกด้วย ขอให้เจ้าชายหัวเมืองต่างๆ จัดทำบั้งไฟมาจุดแข่งขันกัน ผู้ใดชนะก็จะได้อภิเษกกับพระธิดาไอ่คำด้วย

ข่าวนี้ได้ร่ำลือไปทั่วสารทิศ ทุกเมืองในขอบเขตแว่นแคว้นต่างก็ส่งบั้งไฟเข้ามาแข่งขัน เช่น เมืองฟ้าแดดสูงยาง เมืองเชียงเหียน เชียงทอง แม้กระทั่งพญานาคใต้เมืองบาดาลก็อดใจไม่ไหวปลอมตัวเป็นกระรอกเผือกมาดูโฉมงามนางไอ่คำด้วยในวันงานบุญบั้งไฟ

เมื่อถึงวันแข่งขันจุดบั้งไฟ ปรากฏว่า บั้งไฟท้าวผาแดงจุดไม่ขึ้นพ่นควันดำอยู่ถึง 3 วัน 3 คืน จึงระเบิดแตกออกเป็นเสี่ยงๆ ทำให้ความหวังท้าวผาแดงหมดสิ้นลงขณะเดียวกัน ท้าวพังคีพญานาคที่ปลอมเป็นกระรอกเผือกมีกระดิ่งผูกคอน่ารักมาไต่เต้นไปมาอยู่บนยอดไม้ข้างปราสาทนางไอ่คำก็ปรากฏร่างให้นางไอ่คำเห็นนางจึงคิดอยากได้มาเลี้ยง แต่แล้วก็จับไม่ได้จึงบอกให้นายพรานยิงเอาตัวตายมา ในที่สุดกระรอกเผือกพังคี     ก็ถูกยิงด้วยลูกดอกจนตาย ก่อนตายท้าวพังคีได้อธิษฐานไว้ว่า "ขอให้เนื้อของข้าได้แปดพันเกวียน คนทั้งเมืองอย่าได้กินหมดเกลี้ยง" จากนั้นร่างของกระรอกเผือกก็ใหญ่ขึ้น จนผู้คนแตกตื่นมาดูกัน และจัดการแล่เนื้อแบ่งกันไปกินทั่วเมืองด้วยว่าเป็นอาหารทิพย์ ยกเว้น แต่พวกแม่ม่ายที่ชาวเมืองรังเกียจ ไม่แบ่งเนื้อกระรอกให้

พญานาคแห่งเมืองบาดาลทราบข่าวท้าวพังคีถูกมนุษย์ฆ่าตายแล่เนื้อไปกินกันทั้งเมือง        จึงโกรธแค้นยิ่งนัก ดึกสงัดของคืนนั้นขณะที่ชาวเมืองชะทีตากำลังหลับไหลเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น           ท้องฟ้าอื้ออึงไปด้วยพายุฝนฟ้ากระหน่ำลงมาอย่างหนัก ฟ้าแลบอยู่มิได้ขาด แผ่นดินเริ่มถล่มยุบตัวลงไปทีละน้อย          ท่ามกลางเสียงหวีดร้องของผู้คนที่วิ่งหนีตายเหล่าพญานาคผุดขึ้นมานับหมื่นนับแสนตัวถล่มเมืองชะทีตาจมลง        ใต้บาดาลทันที คงเหลือไว้เป็นดอน 3 - 4 แห่ง ซึ่ง เป็นที่อยู่ของพวกแม่ม่ายที่ไม่ได้กินเนื้อกระรอกเผือกจึงรอดตาย

ฝ่ายท้าวผาแดงได้โอกาสรีบควบม้าหนีออกจากเมืองโดยไม่ลืมแวะรับพระธิดาไอ่คำ      ไปด้วยแต่แม้จะเร่งฝีเท้าม้าเท่าใดก็หนีไม่พ้นทัพพญานาคที่ทำให้แผ่นดินถล่มตามมาติดๆ ในที่สุดก็กลืนท้าวผาแดงและพระธิดาไอ่คำพร้อมม้าแสนรู้ชื่อ "บักสาม" จมหายไปใต้พื้นดิน

รุ่งเช้าภาพของเมืองเอกชะทีตาที่เคยรุ่งเรืองโอฬารก็อันตธานหายไปสิ้น คงเห็นพื้นน้ำกว้างยาวสุดตา ทุกชีวิตในเมืองเอกชะทีตาจมสู่ใต้บาดาลจนหมดสิ้นเหลือไว้ แต่แม่ม่ายบนเกาะร้าง 3 - 4 แห่ง       ในผืนน้ำอันกว้างนี้ ซึ่ง ต่อมาได้กลายเป็นหนองหานหลวง ดังปรากฏในปัจจุบัน

 

ที่มา:   วารสารการท่องเที่ยว และการลงทุน (อะเมซิ่ง จังหวัดสกลนคร) อ้างใน http://sakonnakhon.doae.go.th/muang/nonghan/nonghan.htm

 

1.1.3  สำนวนที่ 3: ตำนานเมืองกุมภวาปี

ตำนานผาแดง-นางไอ่: อดีตคล้ายฝัน สู่ปัจจุบันอันรุ่งเรือง เป็นเมืองกุมภวาปี

 

ย้อนยุคสู่โบราณกาล เมืองสุวรรณโคมคำหรือ ชะทีตานคร (บริเวณที่เป็นหนองหาน       ในปัจจุบัน) มีพระยาขอมเป็นผู้ครองเมือง มีมเหสีเอกชื่อนางจันทร์ มีธิดาแสนสวยกิตติศัพท์ความงามขจรขจายเลื่องลือไปทั่วทุกสารทิศนามว่า “ไอ่คำ” พระยาขอมมีน้องชายสองคน สถาปนาให้ไปครอง “เชียงเหียน”       (ปัจจุบันเขตอำเภอเมืองมหาสารคาม) คนหนึ่ง และครองเมือง “สีแก้ว” (ปัจจุบันเขตอำเภอเมืองร้อยเอ็ด)                 คนหนึ่ง นอกจากนี้ยังมีหลานอีก 3 คน ให้ไปครองเมืองหงส์เมืองทอง และเมืองฟ้าแดด ตามลำดับ  นับว่า           พระยาขอมนั้นเป็นเจ้าเมืองผู้มีวิสัยทัศน์กว้างไกลวางฐานด้านการเมืองไว้อย่างแน่นหนาที่เดียว พระธิดาไอ่คำ            ในวัยสาวกำดัดนั้นงามยิ่งกว่านางใดในปฐพี กิตติศัพท์เข้าหูเข้าตาหนุ่มหล่อแดนไกลนิสัยดีนามว่า “ผาแดง”     แห่งเมือง “ผาโพง” ต้องขี่ม้าคู่ใจชื่อ “บักสาม” ตามหาจนพบ และผูกสมัครรักใคร่จนสัญญากันว่าจะร่วมหอลงโลงกันเลยทีเดียว

กล่าวถึงเมืองศรีสัตนาคนหุตซึ่ง มีพญานาคชื่อท้าวศรีสุทโธนาคครองเมือง มีโอรสชื่อ พังคีซึ่งโดยพื้นเพเดิมแล้วท้าวศรีสุทโธอยู่ที่เมืองหนองกระแส ที่ต้องอพยพมาครองเมืองศรีสัตนาคนหุตนี้ก็เพราะว่าผิดใจกับสุวรรณนาคเพื่อนกันจนเกิดสงครามรบพุ่งกัน เดือดร้อนถึงพระอินทร์ต้องส่งเทพบุตรลงมาห้ามศึก       แล้วแบ่งเขตแดนให้ทั้งสองนาคปกครองคือ ศรีสุทโธนาคให้ครองแดนเหนือ ส่วนสุวรรณนาคให้ครองแดนใต้ แบ่งแนวเขตลงไปจรดทะเล นาคทั้งสองได้ขุดคลองจากหนองกระแสลงสู่ทะเลเป็นการแข่งผลงาน และบารมีกันไปในตัว สุวรรณนาคขุดเป็นแม่น้ำน่าน และตั้งเมืองนนทบุรี ส่วนศรีสุทโธขุดเป็นแม่น้ำโขง ตั้งเมืองศรีสัตนาคนหุต

ฝ่ายพระยาขอมบิดาของไอ่คำนั้น เป็นเจ้าเมืองผู้คลั่งไคล้ไหลหลงในบุญแข่งบั้งไฟ         เป็นชีวิตจิตใจ นัยว่าเป็นการขอฝนจากพระยาแถนบนฟ้าให้ตกต้องตามฤดูกาล และเป็นเกมกีฬาที่เล่นเดิมพันตื่นเต้นเร้าใจ จนสืบทอดเป็นประเพณีทุกๆ ปี ณ กลางเดือนหกปีนั้นพระยาขอมจึงมีใบบอกไปยังหัวเมืองบริวารต่างๆ ให้ทำบั้งไฟหมื่นมาร่วมแห่ และจุดแข่งขันลงเดิมพันกันในงานบุญบั้งไฟพระยาขอม ฝ่ายท้าวผาแดงทราบข่าวก็ทำบั้งไฟหมื่นมาร่วมแข่งขันด้วย โดยเป็นคู่พนันกับพระยาขอมเลยทีเดียว  พระยาขอมเองก็นกรู้ รู้เป็นนัยๆ ว่าไอ้หนุ่มหล่อชาวผาโพงผู้นี้หมายปองธิดาแสนสวยของตนอยู่ ด้วยความเชื่อมั่นในบั้งไฟของตน พระยาขอม            จึงลั่นวาจาท้าเดิมพันกับผาแดงว่า ถ้าบั้งไฟของตนแพ้บั้งไฟของท้าวผาแดง จะยกพระธิดาไอ่คำให้ทันที แต่ผล การแข่งขันปรากฏว่าบั้งไฟพระยาขอมซุ(เผาดินดำในกระบอกทิ้งจนหมดไม่ยอมขยับเขยื้อน) บั้งไฟท้าวผาแดงแตก           จึงเสมอกันผาแดงจึงพกเอาความผิดหวัง และเสียใจกลับเมืองผาโพง

ข่าวงานบุญบั้งไฟครั้งนี้ก็ไม่วายจะเล็ดลอดไปเข้าหูท้าวพังคีลูกชายแสนดีของศรีสุทโธนาคเข้าจนได้ พังคีได้แปลงกายมาสังเกตการณ์ด้วย แต่ไม่ได้นำบั้งไฟมาแข่งขันเพราะความเป็นนาคทำบั้งไฟไม่เป็น         เมื่อท้าวพังคีได้ยลโฉมอันงดงามของธิดาไอ่คำเข้าก็หลงรัก กลับบ้านถึงกรุงศรีสัตนาคนหุต ก็ไม่เป็นอันกินอันนอน จึงขอลาบิดาเพื่อมาขอความรักจากไอ่คำให้ได้ บิดาก็ห้ามไว้เพราะเห็นอันตรายจากเผ่าพันธุ์ที่แตกต่างกัน     ถึงบิดาจะห้ามอย่างไร พังดีก็หาฟังไม่ จึงพาเสนาบริวารเดินทางสู่ชะทีตานครแห่งพระยาขอมอีกครั้งหนึ่ง ด้วยความหวังที่จะเข้าใกล้ตัวไอ่คำมากที่สุด พังคีจึงแปลงกายเป็นกระรอกด่อน (กระรอกเผือก) แขวนกระดิ่งทองไว้ที่คอ และกระโดดไปตามกิ่งไม้ ยอดไม้ ใกล้หน้าต่างปราสาทของธิดาไอ่คำ บรรดาเสนาบริวารก็แปลงกายเป็นสรรพสัตว์ต่างๆ คอยอารักขาเจ้านายอย่างใกล้ชิด

พระธิดาไอ่คำเห็นกระรอกด่อนสวยงามพร้อมเสียงกระดิ่งทองแขวนคอที่ไพเราะวนเวียนมาใกล้ ก็นึกอยากได้มาเลี้ยงไว้ จึงสั่งคณะนายพรานให้ตามจับมาให้ได้ ฝ่ายนายพรานก็จัดขบวนตามไล่จับกระรอกด่อนจนสุดปัญญาจะตามจับได้ จึงยิงด้วยหน้าไม้กะจะไม่ให้ถูกที่สำคัญตาย  แต่ลูกหน้าไม้ก็ทะลุหัวใจเจ้ากระรอกด่อนจนถึงแก่ความตายจนได้ เรียกว่าตายเพราะความรักความหลงโดยแท้ ก่อนสิ้นใจตายท้าวพังคีในร่างของกระรอกด่อนได้อธิษฐานว่า”ขอให้เนื้อของข้ามีรสอร่อยที่สุด และมีเหลือเฟือไม่รู้จักหมด พอแก่การให้คนได้กินทั่วบ้านทั่วเมือง” เมื่อกระรอกด่อนตายแล้ว เกิดหนังเหนียวแหวะ (ชำแหละ) ไม่เข้า เดือดร้อนถึงหมอผีต้องแก้เคล็ดให้เชียง (คนสึกจากการบวชเณร) เป็นคนแหวะ (ชำแหละ) จึงได้เนื้อกระรอกที่อร่อย และแจกจ่ายกันกินจนทั่วเมืองไม่รู้จักหมด ยกเว้น แต่แม่ร้าง แม่หม้ายเขาไม่แบ่งให้กินด้วย เพราะถือว่าไม่ได้ทำประโยชน์ให้ทางราชการ หรือจะถือเป็นเคล็ดอะไรสักอย่างก็ได้ จึงไม่แบ่งให้กิน ดังมีคำประพันธ์เป็นสำนวนอีสานว่า  “คนเทิงค่ายพากันกินกระฮอกด่อน ยัง แต่ฮ้าง และหม้ายเขานั้นบ่ให้กิน” และยังมีเจ้านายผู้ใหญ่คุ้มหนึ่งในเมืองชะทีตา เรียกว่า “คุ้มหลวง” ก็ไม่กินเนื้อกระรอกด่อนด้วย จึงเมื่อถึงคราวเมืองชะทีตาล่มจมลงคุ้มเจ้านายก็ยังเป็น           “คุ้มหลวง” ซึ่ง เป็นเกาะหนึ่งอยู่กลางหนองหาน และ”ดอนแม่หม้าย” ก็กลายมาเป็น “บ้านดอนแก้ว” อันมีพุทธสถานสำคัญที่คนกราบไหว้อยู่ในปัจจุบัน

ในห้วงเวลาเดียวกันกับที่ชาวชะทีตานครกำลังแบ่งเนื้อกระรอกด่อนกินกันอย่างสุขสำราญอยู่นั้น ท้าวผาแดงซึ่ง มีความรักต่อไอ่คำจนสุกงอมสุดจะห้ามใจได้ รีบขึ้นม้า “บักสาม” คู่ใจจากเมืองผาโพงสู่ชะทีตานครทันที ไอ่คำก็ต้อนรับขับสู้ด้วยความรักใคร่เป็นอันดี จัดสุรา อาหารคาวหวานมาเลี้ยงดูอย่างเต็มคราบ                  ผาแดงเห็นลาบเนื้อกระรอกด่อนก็รู้ และไม่ยอมกินลาบเนื้อนั้น ก็เพราะว่ารู้ที่มาที่ไปของเจ้าเนื้อนั้นเป็นอย่างดี        จึงแซวไอ่คำว่า “ผู้ดีจั่งเจ้า สั่งมากินกะฮอกด่อน เจ้าบ่ย่านเมืองบ้านหล่มหลวงบ๊อ…” พร้อมกับอธิบายให้ไอ่คำฟังว่ากระฮอกด่อนนั้นไม่ธรรมดา แต่เป็นท้าวพังคีลูกชายสุทโธนาคแปลงกายมา ไอ่คำฟังแล้วก็รู้สึกหนาวเยือกขึ้นมาทันที

ขาดคำผาแดง…พลันก็เกิดเสียงอึกทึกแผ่นดินไหวโครมครืนสะเทือนเลื่อนลั่นตามมา         เนื่องจากเสนาอำมาตย์ของท้าวพังคีกลับไปรายงานท้าวศรีสุทโธผู้บิดาว่า พังคีถูกลูกดอกนายพรานเมืองชะทีตาสิ้นชีวิตแล้ว ชาวบ้านชาวเมืองกำลังแล่เนื้อเอาเกลือทาประกอบเป็นอาหารกิน ท้าวศรีสุทโธโกรธมากจึงยกพลนาคดำดินบุกชะทีตานครกะให้ราบเป็นหน้ากลอง สั่งฆ่าทุกชีวิตที่กินเนื้อพังคี ฝ่ายผาแดงก็รีบพาไอ่คำซ้อนท้าย ม้าบักสามหนีไปทันที นางไอ่คว้าได้สมบัติสำคัญประจำเมืองสวมแหวนให้แก่ผาแดง ส่วนตัวเองได้ฆ้อง กลอง ประจำเมืองติดตัวไปด้วย รีบขึ้นซ้อนท้ายม้าผาแดงคนรัก หนีสุดขีดสู่เมืองผาโพง ข้างทัพของพญานาคก็ไล่ล่ากระชั้นชิดเข้ามาเรื่อย ชะทีตาทั้งเมืองถูกกองทัพนาคดำดินยุบพังลงใต้บาดาล คงทิ้งไว้ แต่ดอนหลวงกับดอนแม่ม่ายเท่านั้น เรียกว่ากองทัพนาคลุยไปที่ใดแห่งนั้นก็จะพังทลายไปหมดสิ้น

ม้าบักสาม ยามเมื่อบรรทุกผาแดงเจ้านายคนเดียวก็คึกคะนองวิ่งไปได้รวดเร็วปานลมพัด          แต่เมื่อมีนางไอ่ และฆ้อง กลองพ่วงเข้าไปด้วยก็เริ่มอ่อนแรงลงทุกขณะ ผาแดงจึงสั่งให้นางทิ้งสัมภาระลง นางไอ่ก็โยนกลองทิ้งไปก่อนจนเกิดร่องรอยกลายเป็น “ห้วยกองสี” ในปัจจุบัน มาได้อีกครู่หนึ่งก็ได้โยนฆ้องทิ้งลงไป ร่องรอยของฆ้องนั้นก็ได้กลายเป็น “ห้วยน้ำฆ้อง” ต่อมา และเมื่อม้าบักสามวิ่งต่อไปอีกพักหนึ่งก็ยิ่งอ่อนแรง             ลงมากหกล้มลง ร่องรอยที่บักสามหกล้มก็กลายมาเป็น “ห้วยสามพาด” (บักสามพลาดท่า) กองทัพนาคตามมาทันจนได้..จึงใช้หางกระหวัดรัดเอาตัวไอ่คำหลุดจากหลังม้าลงใต้บาดาลทันใด ผาแดงตั้งสติได้รีบกระตุ้นบังเหียน       ม้าบักสามจ้ำอ้าวหนีสุดชีวิตต่อไป ทัพนาคยังตามอีกเพราะแหวนของไอ่คำที่นิ้วของผาแดง พอนึกได้จึงถอดแหวนทิ้งไป การตามล่าผาแดงของกองทัพนาคจึงสิ้นสุดลง

ผลของสงครามเถื่อนเพื่อดับแค้นของท้าวศรีสุทโธนาคครั้งนั้น ทำให้เมืองเอกชะทีตานครได้ล่มสลายจมสู่บาดาลกลายมาเป็น “หนองหาน” ของอำเภอกุมภวาปีในปัจจุบัน ซึ่ง เราภูมิใจเรียกว่า “หนองหานสายธารแห่งชีวิต” ตามคำขวัญของอำเภอกุมภวาปีในสมัยนายรุ่งฤทธ์ มกรพงศ์ เป็นนายอำเภอกุมภวาปี ส่วนเเม่ร้างแม่หม้ายทั้งหลายได้รับความผิดหวัง และน้อยเนื้อต่ำใจที่เขาไม่ปันเนื้อกระรอกด่อนให้กินด้วยเหมือนชาวบ้านทั่วไป ก็มารวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อนต่างหาก กองทัพพญานาคก็ละเว้นไว้ไม่ถล่มให้จมลงจนเหลือไว้เป็นเกาะกลางน้ำเรียกกันว่า “ดอนแม่หม้าย” จนกลายมาเป็นบ้าน ”ดอนแก้ว” ตราบเท่าทุกวันนี้

จากตำนาน ผาแดงนางไอ่ที่เล่ามาโดยสังเขปนี้ พอจะมีหลักฐานทางโบราณคดี เป็นเครื่องยืนยันให้สอดคล้องกับสภาพบ้านเมืองที่ดำรงอยู่ในปัจจุบันหลายประการ น่าเชื่อถือว่าจะมีมูลความจริงอยู่มากคือ…

1)              ดอนแม่หม้าย กลายมาเป็น บ้านดอนแก้ว

2)              คุ้มหลวง (ที่พักเจ้านายฝ่ายใน)กลายมาเป็น ดอนหลวง ซึ่ง เป็นเกาะอยู่กลางหนองหาน

3)              บ้านคอนสาย (กิ่ง อ.กู่แก้ว) เป็นสถานที่ที่นายพรานคอนธนู และขึ้นสายธนูเตรียมจะยิงกะรอกด่อน

4)              บ้านเมืองพรึก เป็นสถานที่ชาวบ้านกำก้อนดิน ก้อนหิน ขว้างปากระรอก พรึก (พึก)คือการหว่านหรือขว้างวัตถุทีละมากๆ

5)              บ้านแชแล เป็นที่กระรอกเดินผิดทาง (ภาษาอิสาน-แซแล แปลว่า ออกนอกเส้นทาง)

6)              บ้านพันดอน เป็นที่ป่าไม้มากมายพรานไล่ยิงกระรอกจนจนมุม มาตายอยู่บริเวณนี้

7)              บ้านเซียบ เมื่อไล่ล่ากระรอกด่อนเสร็จแล้ว ทีมพรานก็เมื่อยหล้าจึงหยุดพักเอาแรงเลยงีบหลับ (เซียบ) ไปพักหนึ่ง

8)              บ้านเชียงแหว เป็นสถานที่ที่ชำแหละ (แหวะ) เนื้อกระรอก โดยคนชำแหละเป็นเซียง (คนที่สึกจากการบวชเณร) แบ่งกันกิน

9)              บ้านห้วยกองสี เป็นสถานที่ที่นางไอ่คำโยนกลองทิ้งไป

10)        บ้านน้ำฆ้อง เป็นสถานที่ที่นางไอ่ทิ้งฆ้องลงไป

11)        บ้านห้วยสามพาด เป็นสถานที่ที่ม้าบักสามของผาแดง หกล้มลง

12)        หนองแหวน (อยู่ทิศเหนือบ้านเชียงแหว) เป็นสถานที่ที่ผาแดงถอดแหวนโยนทิ้งลงไป

 

ที่มา:   ทองไสย์ โภารัตน์.หนังสือพิธีเปิดอาคา