ช่องทางรับฟังความคิดเห็น     คลังเอกสาร     คำถามที่พบบ่อย     ถาม-ตอบ      มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี    

ข้อบังคับสมาคมศิษย์เก่า


ข้อบังคับสมาคมศิษย์เก่าวิศวกรรมศาสตร์

มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี พุทธศักราช ๒๕๔๓

 

 

หมวดที่ ๑

ความทั่วไป

 

ข้อ ๑. สมาคมนี้มีชื่อว่า “สมาคมศิษย์เก่าวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี”ใช้อักษรย่อ “ส.วศ.ม.อบ.” มีชื่อภาษาอังกฤษว่า “Engineering Alumni Association of Ubonratchathani University” ใช้อักษรย่อว่า “E.A.UB.U.”

ข้อ ๒. เครื่องหมายของสมาคม เป็นรูปฟันเฟืองล้อมรอบตรามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ด้านบนของฟันเฟืองเป็นชื่อสมาคมภาษาไทย ด้านล่างของฟันเฟืองเป็นชื่อสมาคมภาษาอังกฤษ ดังรูปบนปกนี้ และตามตัวอย่างซึ่งได้จัดทำไว้ที่สำนักงานของสมาคม

ข้อ ๓. สำนักงานของสมาคมตั้งอยู่ ณ เลขที่324 ถนนบูรพาใน ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี รหัสไปรษณีย์ 34000

 

ข้อ ๔. วัตถุประสงค์ของสมาคม

๔.๑. เพื่อส่งเสริมการศึกษาและเผยแพร่วิทยาการ

๔.๒. เพื่อให้ความสนับสนุนการศึกษาและค้นคว้า

๔.๓. เพื่อส่งเสริมสามัคคีธรรม ผดุงเกียรติ ของสมาคม

๔.๔. เพื่อสงเคราะห์ช่วยเหลือระหว่างสมาชิก

๔.๕. เพื่อส่งเสริมการกุศล การกีฬา และการบันเทิง

๔.๖. เพื่อส่งเสริมสัมพันธภาพระหว่างสถาบันต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกประเทศ ที่มีวัตถุประสงค์ทำนองเดียวกัน

๔.๗. ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง

 

หมวดที่ ๒

สมาชิก

ข้อ ๕. สมาชิกของสมาคมมี ๓ ประเภท คือ

๕.๑. สมาชิกสามัญ ได้แก่ ผู้ที่เคยศึกษาในคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี คำว่า “มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี” หมายความรวมถึง บรรดาสถาบันการศึกษาต่างๆ ในขั้นอุดมศึกษา ซึ่งเคยหรือต่อมาได้รวมเข้าอยู่ในมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

๕.๒. สมาชิกวิสามัญ ได้แก่ ผู้ที่ดำรงหรือเคยดำรงตำแหน่งอาจารย์ หรืออาจารย์พิเศษ ของคณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

๕.๓. สมาชิกกิตติมศักดิ์ ได้แก่ คณะบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และบุคคลผู้ทรงเกียรติ หรือทรงคุณวุฒิ หรือผู้ที่มีอุปการะคุณแก่สมาคม ซึ่งคณะกรรมการบริหารสมาคมลงมติเป็นเอกฉันท์ ให้เชิญเข้าเป็นสมาชิกของสมาคม

ข้อ ๖. สมาชิกจะต้องประกอบด้วยคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้

๖.๑. เป็นผู้บรรลุนิติภาวะแล้ว

๖.๒. เป็นผู้มีความประพฤติเรียบร้อย

๖.๓. ไม่เป็นโรคที่สังคมรังเกียจ

๖.๔. ไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดให้เป็นบุคคลล้มละลาย หรือไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ หรือต้องโทษจำคุก ยกเว้นความผิดฐานประมาท หรือลหุโทษ การต้องคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดในกรณีดังกล่าว จะต้องเป็นในขณะที่สมัครเข้าเป็นสมาชิกหรือในระหว่างที่เป็นสมาชิกของสมาคมเท่านั้น

ข้อ ๗. ค่าลงทะเบียน และค่าบำรุงสมาคม

๗.๑. สมาชิกสามัญและสมาชิกวิสามัญ จะต้องชำระค่าลงทะเบียนและค่าบำรุงสมาคมในวันที่สมัครเข้าเป็นสมาชิกหรือในวันเริ่มต้นของระยะเวลาการชำระเงิน ดังต่อไปนี้

ค่าลงทะเบียนเป็นครั้งแรก                             ๑๐๐     บาท

ค่าบำรุงสมาคมเป็นรายปี ปีละ                        ๑๐๐    บาท

หรือค่าบำรุงสมาคมตลอดชีพ                         ๕๐๐   บาท

๗.๒. สมาชิกกิตติมศักดิ์ มิต้องเสียค่าลงทะเบียนและค่าบำรุงสมาคมแต่อย่างใดทั้งสิ้น

ข้อ ๘. ค่าบำรุงสมาคมให้นับจากเดือนมกราคม ถึงเดือนธันวาคม เป็น ๑ ปี เว้นแต่ผู้สมัครเข้าเป็นสมาชิกที่เพิ่งสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ให้นับเวลาครบ  ๑ ปี ในเดือนธันวาคมของปีถัดไป

ข้อ ๙. การสมัครเข้าเป็นสมาชิกของสมาคม ให้ผู้ประสงค์จะสมัครเข้าเป็นสมาชิกของสมาคม ยื่นใบสมัครตามแบบของสมาคมพร้อมค่าบำรุงต่อเลขาธิการ โดยมีสมาชิกสามัญ/วิสามัญรับรองอย่างน้อย ๑ คน และให้เลขาธิการติดประกาศรายชื่อผู้สมัครไว้ ณ สำนักงานของสมาคมเป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๑๕ วัน เพื่อให้สมาชิกอื่นๆ ของสมาคมจะได้คัดค้านการสมัครนั้น เมื่อครบกำหนดประกาศแล้วก็ให้เลขาธิการนำใบสมัครและหนังสือคัดค้านของสมาชิก (ถ้ามี) เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการเพื่อพิจารณาอนุมัติว่าจะรับหรือไม่รับเข้าเป็นสมาชิกของสมาคม และเมื่อคณะกรรมการพิจารณาการสมัครแล้ว ผลเป็นประการใด ให้เลขาธิการเป็นผู้แจ้งให้สมาชิกทราบโดยเร็ว ถ้าผู้สมัครไม่ชำระค่าลงทะเบียนและค่าบำรุงภายในกำหนด ก็ให้ถือว่าการสมัครคราวนั้นเป็นอันยกเลิก

ข้อ ๑๐. สมาชิกภาพของผู้สมัคร ให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่คณะกรรมการพิจารณาอนุมัติให้รับผู้สมัครเข้าเป็นสมาชิก

ข้อ ๑๑. ให้นายทะเบียนสมาคมให้เลขที่สมาชิก ลงชื่อผู้ได้รับเข้าเป็นสมาชิกของสมาคมทุกประเภทไว้ในทะเบียนสมาชิก และแจ้งให้สมาชิกทราบโดยเร็ว ทั้งประกาศชื่อและเลขที่สมาชิกให้ทราบโดยทั่วกันที่สำนักงานสมาคม

ข้อ ๑๒.ในกรณีที่คณะกรรมการบริหารสมาคม พิจารณาเห็นว่ารับผู้สมัครเข้าเป็นสมาชิกไม่ได้ ให้เลขาธิการสมาคมแจ้งให้ผู้สมัครทราบเป็นหนังสือ พร้อมกับคืนค่าลงทะเบียนและค่าบำรุงสมาคมภายใน ๗ วัน แต่ไม่ตัดสิทธิผู้สมัครผู้นั้นที่จะสมัครใหม่อีกเมื่อพ้นระยะเวลา ๑ ปี

ข้อ ๑๓. สมาชิกภาพของสมาชิกกิตติมศักดิ์ ให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่หนังสือตอบรับคำเชิญของผู้ที่คณะกรรมการได้พิจารณาลงมติให้เชิญเข้าเป็นสมาชิกของสมาคม ได้มาถึงยังสมาคม

ข้อ ๑๔. สมาชิกภาพของสมาชิกให้สิ้นสุดลงด้วยเหตุดังต่อไปนี้

๑๔.๑. ตาย

๑๔.๒. ลาออก โดยยื่นหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรต่อคณะกรรมการ และคณะกรรมการได้พิจารณาอนุมัติ และสมาชิกผู้นั้นได้ชำระหนี้สินที่ยังติดค้างอยู่กับสมาคมเป็นที่เรียบร้อย

๑๔.๓. ขาดคุณสมบัติสมาชิก

๑๔.๔. ที่ประชุมใหญ่ของสมาคม หรือคณะกรรมการได้พิจารณาลงมติให้ลบชื่อออกจากทะเบียนเพราะสมาชิกผู้นั้นได้ประพฤตินำความเสื่อมเสียมาสู่สมาคม

ข้อ ๑๕. สิทธิและหน้าที่ของสมาชิก

๑๕.๑. มีสิทธิประดับเครื่องหมายของสมาคม

๑๕.๒. มีสิทธิเข้าใช้สถานที่ของสมาคมโดยเท่าเทียมกัน

๑๕.๓. มีสิทธิเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินการของสมาคมต่อคณะกรรมการ

๑๕.๔. มีสิทธิได้รับการสงเคราะห์ช่วยเหลือต่างๆ ที่สมาคมได้จัดให้มีขึ้น

๑๕.๕. มีสิทธิเข้าร่วมประชุมใหญ่ของสมาคม

๑๕.๖. สมาชิกสามัญเท่านั้นมีสิทธิในการเลือกตั้ง และ/หรือได้รับการเลือกตั้ง และ/หรือแต่งตั้งเป็นกรรมการสมาคมและมีสิทธิออกเสียงลงมติต่างๆ ในที่ประชุมได้คนละ ๑ คะแนนเสียง

๑๕.๗. มีสิทธิร้องขอต่อคณะกรรมการ เพื่อตรวจสอบเอกสารและบัญชีทรัพย์สินของสมาคม

๑๕.๘. สมาชิกสามัญเท่านั้นมีสิทธิเข้าชื่อร่วมกันอย่างน้อย ๑ ใน ๓ ของสมาชิกสามัญทั้งหมด ร้องขอต่อคณะกรรมการให้จัดประชุมใหญ่วิสามัญได้

๑๕.๙. มีหน้าที่จะต้องปฏิบัติตามระเบียบปฏิบัติ และข้อบังคับของสมาคมโดยเคร่งครัด

๑๕.๑๐. มีหน้าที่ประพฤติตนให้สมกับเกียรติที่เป็นสมาชิกของสมาคม

๑๕.๑๑. มีหน้าที่ให้ความร่วมมือและสนับสนุนการดำเนินกิจการต่างๆ ของสมาคม

๑๕.๑๒. มีหน้าที่ช่วยเผยแพร่ชื่อเสียงของสมาคมให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย

ข้อ ๑๖. สมาชิกผู้ใดไม่ชำระค่าบำรุง หรือมีหนี้สินอย่างอื่นกับสมาคม ให้เหรัญญิกส่งหนังสือเตือนไป ๓ ครั้ง การเตือนแต่ละครั้ง ให้มีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่า ๓๐ วัน ถ้าสมาชิกผู้นั้นยังไม่ชำระหรือชี้แจงเหตุผลจนเป็นที่น่าพอใจภายใน ๓๐ วัน หลังจากเตือนครั้งสุดท้าย คณะกรรมการบริหารสมาคม สามารถถอนชื่อสมาชิกผู้นั้นออกจากทะเบียนสมาชิกได้ และให้เลขาธิการสมาคมแจ้งให้ผู้นั้นทราบ เป็นหนังสือภายใน ๗ วัน

ข้อ ๑๗. ผู้ที่ขาดจากสมาชิกภาพแล้ว ให้เลขาธิการแจ้งต่อเหรัญญิกและนายทะเบียนสมาคมทราบภายใน ๓ วัน ประกาศรายชื่อ ณ  สำนักงานสมาคมไม่น้อยกว่า ๑๕ วัน

 

หมวดที่ ๓

การดำเนินกิจการของสมาคม

ข้อ ๑๘. ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง ทำหน้าที่บริหารกิจการของสมาคม มีจำนวนอย่างน้อย ๑๕ คน อย่างมากไม่เกิน ๔๐ คน คณะกรรมการนี้ ได้มาจากการพิจารณาแต่งตั้ง โดยนายกสมาคมให้เข้าดำรงตำแหน่งต่างๆ ของสมาคม ตามที่ได้กำหนดไว้ ซึ่งตำแหน่งของกรรมการสมาคมมีตำแหน่งและหน้าที่โดยสังเขปดังต่อไปนี้

๑๘.๑. นายกสมาคม มีหน้าที่เป็นหัวหน้าในการบริหารกิจการของสมาคม เป็นผู้แทนสมาคมในการติดต่อกับบุคคลภายนอก และทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุมคณะกรรมการ และการประชุมใหญ่ของสมาคม

๑๘.๒. อุปนายก มีหน้าที่เป็นผู้ช่วยนายกสมาคมในการบริหารกิจการของสมาคม ปฏิบัติตามหน้าที่นายกสมาคมได้มอบหมายและทำหน้าที่แทนนายกสมาคมเมื่อนายกสมาคมไม่อยู่ หรือไม่สามารถจะปฏิบัติหน้าที่ได้ แต่การทำหน้าที่แทนนายกสมาคมให้อุปนายกตามลำดับตำแหน่งเป็นผู้กระทำการแทน

๑๘.๓. เลขาธิการ มีหน้าที่เกี่ยวกับงานธุรการของสมาคมทั้งหมด เป็นหัวหน้าเจ้าหน้าที่ของสมาคม ตลอดจนทำหน้าที่เป็นเลขาธิการในการประชุมต่างๆ ของสมาคม

๑๘.๔. เหรัญญิก มีหน้าที่เกี่ยวกับการเงินทั้งหมดของสมาคม เป็นผู้จัดทำบัญชีรายรับรายจ่าย บัญชีงบดุลของสมาคม และเก็บเอกสารหลักฐานต่างๆ ของสมาคมไว้เพื่อตรวจสอบ

๑๘.๕. ปฏิคม มีหน้าที่ในการให้การต้อนรับแขกของสมาคม เป็นหัวหน้าในการจัดเตรียมสถานที่ของสมาคมและจัดเตรียมสถานที่ประชุมต่างๆ ของสมาคม

๑๘.๖. นายทะเบียน  มีหน้าที่เกี่ยวกับทะเบียนสมาชิกทั้งหมดของสมาคม ประสานงานกับเหรัญญิกในการเรียกเก็บเงินค่าบำรุงสมาคมจากสมาชิก

๑๘.๗. สาราณียกร มีหน้าที่จัดการรับผิดชอบห้องสมุดของสมาคมและดำเนินการเกี่ยวกับวารสารของสมาคม

๑๘.๘. ประชาสัมพันธ์ มีหน้าที่เผยแพร่กิจการและชื่อเสียงเกียรติคุณของสมาคมให้สมาชิกและบุคคลทั่วไปให้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย

๑๘.๙. กรรมการกลาง มีหน้าที่ปฏิบัติงานตามที่นายกสมาคมมอบหมาย

๑๘.๑๐. กรรมการตำแหน่งอื่นๆ ตามความเหมาะสม ซึ่งคณะกรรมการเห็นสมควรกำหนดให้มีขึ้นโดยมีจำนวนเมื่อรวมกับตำแหน่งกรรมการตามข้างต้นแล้ว จะต้องไม่เกินจำนวนที่ข้อบังคับได้กำหนดไว้

ข้อ ๑๙. คณะกรรมการของสมาคมสามารถอยู่ในตำแหน่งได้คราวละ ๒ ปี และเมื่อคณะกรรมการอยู่ตำแหน่งครบกำหนดตามวาระแล้ว แต่คณะกรรมการชุดใหม่ยังไม่ได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนจากทางราชการ ก็ให้คณะกรรมการที่ครบกำหนดตามวาระรักษาการไปพลางก่อน จนกว่าคณะกรรมการชุดใหม่จะได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนจากทางราชการ และเมื่อคณะกรรมการชุดใหม่ได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนจากทางราชการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็ให้ทำการส่งและรับมอบงานกันระหว่างคณะกรรมการชุดเก่าและคณะกรรมการชุดใหม่ให้เป็นที่เสร็จสิ้นภายใน ๓๐ วัน นับตั้งแต่วันที่คณะกรรมการชุดใหม่ได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนจากทางราชการ

ข้อ ๒๐. ตำแหน่งกรรมการสมาคม ถ้าต้องว่างลงก่อนครบกำหนดตามวาระก็ให้คณะกรรมการแต่งตั้งสมาชิกสามัญที่เห็นสมควรเข้าดำรงตำแหน่งแทนตำแหน่งที่ว่างลงนั้น แต่ผู้ดำรงตำแหน่งแทนอยู่ในตำแหน่งได้เท่ากับวาระของผู้ที่ตนแทนเท่านั้น

ข้อ ๒๑. ในจำนวนกรรมการนั้น แม้ตำแหน่งจะว่างไปบ้าง กรรมการที่มีตัวอยู่ก็ย่อมทำกิจการได้ แต่ถ้าในเวลาใดจำนวนกรรมการลดน้อยลงกว่าจำนวนอันจำเป็นที่จะเป็นองค์ประชุมได้ตลอดเวลาเช่นนั้น กรรมการที่มีตัวอยู่ย่อมทำกิจการได้เฉพาะแต่ในเรื่องที่จะเพิ่มกรรมการขึ้นให้ครบจำนวน หรือนัดเรียกประชุมใหญ่ของสมาคมเท่านั้น จะกระทำกิจการอย่างอื่นไม่ได้

ข้อ ๒๒. ถ้าตำแหน่งนายกสมาคมว่างลงเพราะเหตุอื่นนอกจากถึงคราวออกตามวาระ ให้อุปนายกสมาคมเป็นนายกสมาคมไปจนหมดวาระ แต่ถ้าว่างลงเพราะนายกสมาคมลาออก ให้ถือว่าคณะกรรมการชดนั้นหมดสภาพการเป็นกรรมการบริหารของสมาคม และให้มีการเลือกตั้งใหม่ภายใน ๓๐ วัน

ข้อ ๒๓. คณะกรรมการของสมาคม เป็นผู้ดำเนินกิจการของสมาคมตามกฎหมายและข้อบังคับภายใต้การควบคุมดูแลของที่ประชุมใหญ่

ข้อ ๒๔. คณะกรรมการของสมาคมเป็นผู้แทนของสมาคมในกิจการอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอก

ข้อ ๒๕. บรรดากิจการที่คณะกรรมการของสมาคมได้กระทำไป แม้จะปรากฎในภายหลังว่ามีข้อบกพร่องเกี่ยวกับการตั้งหรือคุณสมบัติของกรรมการของสมาคมกิจการนั้นย่อมมีผลสมบูรณ์

ข้อ ๒๖. กรรมการอาจจะพ้นจากตำแหน่ง ซึ่งมิใช่เป็นการออกตามวาระด้วยเหตุผลต่อไปนี้ คือ

๒๖.๑. ตาย

๒๖.๒. ลาออก

๒๖.๓. ขาดจากสมาชิกภาพ

๒๖.๔. ที่ประชุมใหญ่ลงมติให้ออกจากตำแหน่ง

ข้อ ๒๗. กรรมการที่ประสงค์จะลาออกตำแหน่งกรรมการให้ยื่นใบลาออกเป็นลายลักษณ์อักษรต่อคณะกรรมการมีมติให้ออก

ข้อ ๒๘. อำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการ

๒๘.๑. มีอำนาจออกระเบียบปฏิบัติต่างๆ เพื่อให้สมาชิกได้ปฏิบัติ โดยระเบียบปฏิบัตินั้นจะต้องไม่ขัดต่อข้อบังคับฉบับนี้

๒๘.๒. มีอำนาจแต่งตั้งและถอดถอนเจ้าหน้าที่ของสมาคม

๒๘.๓. มีอำนาจแต่งตั้งกรรมการที่ปรึกษา หรืออนุกรรมการได้ แต่กรรมการที่ปรึกษา หรืออนุกรรมการจะสามารถอยู่ในตำแหน่งได้ไม่เกินวาระของคณะกรรมการที่แต่งตั้ง

๒๘.๔. มีอำนาจเรียกประชุมใหญ่สามัญประจำปี และประชุมใหญ่วิสามัญ

๒๘.๕. มีอำนาจแต่งตั้งกรรมการในตำแหน่งอื่นๆ ที่ยังมิได้กำหนดไว้ในข้อบังคับนี้

๒๘.๖. มีอำนาจบริหารกิจการของสมาคม เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ตลอดจนมีอำนาจอื่นๆ ตามที่ข้อบังคับได้กำหนดไว้

๒๘.๗. มีอำนาจพิจารณาการรับและการให้ความช่วยเหลือแก่บุคคล องค์การ รัฐวิสาหกิจ ในกิจการที่ไม่เป็นภาระผูกพันธ์ในทางหนี้สินแก่สมาคม เว้นแต่ได้รับอนุมัติจากที่ประชุมใหญ่

๒๘.๘. มีหน้าที่พิจารณาอนุมัติและถอดถอนสมาชิกของสมาคม

๒๘.๙. มีหน้าที่รับผิดชอบในกิจการทั้งหมด รวมทั้งการเงิน และทรัพย์สินทั้งหมดของสมาคม

๒๘.๑๐. มีหน้าที่จัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญ ตามที่สมาชิกสามัญ จำนวน ๑ ใน ๓ ของสมาชิกทั้งหมด ได้เข้าชื่อร้องขอให้จัดประชุมใหญ่วิสามัญขึ้น ซึ่งการนี้จะต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญขึ้นภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือร้องขอ

๒๘.๑๑. มีหน้าที่จัดทำเอกสารหลักฐานต่างๆ ทั้งที่เกี่ยวกับการเงิน ทรัพย์สินและการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของสมาคมให้ถูกต้องตามหลักวิชาการและสามารถจะให้สมาชิกตรวจดูได้เมื่อสมาชิกร้องขอ

๒๘.๑๒. จัดทำบันทึกการประชุมต่างๆ ของสมาคม เพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐานและประกาศให้สมาชิกได้รับทราบ

๒๘.๑๓. มีหน้าที่อื่นๆ ตามที่ข้อบังคับได้กำหนดไว้

ข้อ ๒๙. คณะกรรมการจะต้องประชุมกันอย่างน้อย ปีละ ๓ ครั้ง เว้นแต่จะกำหนดเป็นอย่างอื่นตามที่ประชุมคณะกรรมการจะเห็นสมควร

ข้อ ๓๐. การประชุมคณะกรรมการ จะต้องมีกรรมการเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมดจึงจะถือว่าครบองค์ประชุม มติของที่ประชุมคณะกรรมการ ถ้าข้อบังคับมิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นก็ให้ถือคะแนนเสียงมากเป็นเกณฑ์ แต่ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ก็ให้ประธานในการประชุมเป็นผู้ชี้ขาด

ข้อ ๓๑.ในการประชุมคณะกรรมการ ถ้านายกสมาคมและอุปนายกสมาคมไม่อยู่ในที่ประชุม หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ก็ให้กรรมการที่เข้าประชุมในคราวนั้นเลือกตั้งกันเอง เพื่อให้กรรมการคนใดคนหนึ่งทำหน้าที่เป็นประธานในการประชุมคราวนั้น

 

หมวดที่ ๔

การประชุมใหญ่

 

ข้อ ๓๒. การประชุมใหญ่ของสมาคมมี ๒ ชนิดคือ

๓๒.๑. ประชุมใหญ่สามัญ

๓๒.๒. ประชุมใหญ่วิสามัญ

ข้อ ๓๓. คณะกรรมการจะต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปี ปีละ ๑ ครั้ง

ข้อ ๓๔. การประชุมใหญ่วิสามัญ อาจจะมีขึ้นได้ก็โดยเหตุที่คณะกรรมการเห็นควรจัดให้มีขึ้น หรือเกิดขึ้นด้วยการเข้าชื่อร่วมกันของสมาชิกสามัญ ไม่น้อยกว่า ๑ ใน ๓ ของสมาชิกสามัญทั้งหมดร้องขอต่อคณะกรรมการให้จัดให้มีขึ้น และในหนังสือร้องขอนั้นต้องระบุว่าประสงค์ให้เรียกประชุมเพื่อการใด

๓๔.๑. เมื่อคณะกรรมการของสมาคมได้รับหนังสือร้องขอให้เรียกประชุมใหญ่วิสามัญ โดยการเข้าชื่อร่วมกันของสมาชิกสามัญไม่น้อยกว่าที่กำหนดแล้ว ให้คณะกรรมการของสมาคมเรียกประชุมใหญ่วิสามัญ โดยจัดให้มีการประชุมขึ้นภายใน ๓๐ วันนับแต่วันได้รับคำร้องขอ

๓๔.๒. ถ้าคณะกรรมการของสมาคมไม่เรียกประชุมภายในระยะเวลาที่กำหนด สมาชิกที่เป็นผู้ร้องขอให้เรียกประชุม หรือสมาชิกอื่นรวมกันมีจำนวนไม่น้อยกว่าจำนวนสมาชิกที่กำหนดดังกล่าวข้างต้นจะเรียกประชุมเองก็ได้

 

ข้อ ๓๕.  การแจ้งกำหนดนัดประชุมใหญ่ ให้เลขาธิการเป็นผู้แจ้งกำหนดนัดประชุมใหญ่ให้สมาชิกได้ทราบและการแจ้งจะต้องแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษร โดยระบุวัน เวลาและสถานที่ให้ชัดเจน โดยจะต้องแจ้งให้สมาชิกได้ทราบล่วงหน้าหรือลงพิมพ์โฆษณาอย่างน้อยสองคราวในหนังสือพิมพ์ที่แพร่หลายในท้องที่ฉบับหนึ่งไม่น้อยกว่า ๗ วัน ก่อนถึงกำหนดการประชุมใหญ่

ข้อ ๓๖. การประชุมใหญ่สามัญประจำปี จะต้องมีวาระการประชุมอย่างน้อยดังต่อไปนี้

๓๖.๑. แถลงกิจการที่ผ่านมาในรอบปี

๓๖.๒. แถลงบัญชีรายรับ รายจ่าย และบัญชีงบดุลของปีที่ผ่านมาให้สมาชิกรับทราบ

๓๖.๓. เลือกตั้งผู้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมในวาระต่อไป เมื่อครบกำหนดวาระ

๓๖.๔. เลือกตั้งผู้สอบบัญชี

๓๖.๕. เรื่องอื่นๆ ถ้ามีในการประชุมใหญ่สามัญประจำปี หรือการประชุมใหญ่วิสามัญจะต้องมีสมาชิกสามัญเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของสมาชิกสามัญทั้งหมด จึงจะถือว่าครบองค์ประชุม แต่ถ้าเมื่อถึงกำหนดเวลาประชุมยังมีสมาชิกสามัญเข้าร่วมประชุมไม่ครบองค์ประชุม ก็ให้ขยายเวลาออกไปอีกพอสมควร แต่เมื่อครบกำหนดเวลาที่ขยายออกไปแล้ว ยังมีสมาชิกสามัญเข้าร่วมประชุมไม่ครบองค์ประชุมและการประชุมใหญ่นั้นได้เรียกตามคำร้องขอของสมาชิก ก็ให้งดการประชุม แต่ถ้าเป็นการประชุมใหญ่ที่สมาชิกมิได้เป็นผู้ร้องขอ ก็ให้เลื่อนการประชุมคราวนั้นไป และให้จัดประชุมใหญ่อีกครั้งหนึ่งภายใน ๑๔ วันนับแต่วันที่นัดประชุมครั้งแรก การประชุมครั้งหลังนี้ ไม่บังคับว่าต้องครบองค์ประชุม

ข้อ ๓๗. ให้เลขาธิการสมาคมประกาศรับสมัครผู้ประสงค์เข้ารับเลือกตั้งเป็นนายกสมาคมก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า ๓๐ วัน พร้อมทั้งประกาศรายชื่อของผู้สมัคร ณ ที่ทำการของสมาคม

ข้อ ๓๘. ให้เลขาธิการสมาคมประกาศเลขที่และรายชื่อสมาชิกที่มีสิทธิเลือกตั้งให้ทราบก่อนการเลือกตั้งไม่น้อยกว่า ๓๐ วัน ณ ที่ทำการของสมาคม

ข้อ ๓๙. ให้คณะกรรมการบริหารสมาคม ซึ่งจะหมดอายุตามวาระเป็นผู้เตรียมการการเลือกตั้ง โดยให้เลือกประธานการเลือกตั้ง ๑ คนและผู้ช่วยอีก ๔ คน เป็นคณะกรรมการการเลือกตั้ง ดำเนินการและควบคุมการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยยุติธรรม คณะกรรมการการเลือกตั้งต้องไม่เป็นผู้ที่สมัครเข้ารับเลือกตั้ง และให้ประกาศผลการเลือกตั้งให้ที่ประชุมใหญ่ทราบภายในวันเลือกตั้ง

ข้อ ๔๐. ภายหลังจากได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมแล้ว ให้นายกสมาคมแต่งตั้งกรรมการบริหารสมาคมจากสมาชิกสามัญภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันที่ได้รับเลือกตั้งเป็นนายกสมาคม

ข้อ ๔๑. คณะกรรมการบริหารสมาคมอยู่ในตำแหน่งได้คราวละ ๒ ปี  โดยนับอายุของคณะกรรมการบริหารสมาคมตั้งแต่ทราบผลการเลือกตั้งนายกสมาคมของปีที่มีการเลือกตั้งเป็นต้นไป

ข้อ ๔๒. การลงมติต่างๆ ในที่ประชุมใหญ่ ถ้าข้อบังคับมิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ก็ให้ถือคะแนนเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ แต่ถ้าคะแนนเสียงที่ลงมติมีคะแนนเสียงเท่ากัน ก็ให้ประธานในการประชุมเป็นผู้ชี้ขาด

ข้อ ๔๓. สมาชิกจะมอบอำนาจให้สมาชิกผู้ใดมาเข้าประชุมและออกเสียงลงคะแนนแทนตนก็ได้

ข้อ ๔๔. ในกรณีที่จะมีมติในเรื่องใด ถ้าส่วนได้เสียของกรรมการหรือสมาชิกของสมาคมผู้ใดขัดกับประโยชน์ได้เสียของสมาคม กรรมการหรือสมาชิกของสมาคมผู้นั้นจะออกเสียงลงคะแนนในเรื่องนั้นไม่ได้

ข้อ ๔๕. ในการประชุมใหญ่ของสมาคม ถ้านายกสมาคม และอุปนายกสมาคมไม่มาร่วมประชุมหรือไม่สามารถจะปฏิบัติหน้าที่ได้ ก็ให้ที่ประชุมใหญ่ทำการเลือกตั้งกรรมการที่มาร่วมประชุมคนใดคนหนึ่ง ให้ทำหน้าที่เป็นประธานในการประชุมคราวนั้น

ข้อ ๔๖. ในการประชุมใหญ่และประชุมคณะกรรมการบริหารทุกครั้ง ให้เลขาธิการหรือผู้ช่วยเลขาธิการสมาคม เป็นผู้บันทึกรายงานการประชุมและให้ประธานในการประชุมคราวนั้น ลงนามรับรองเพื่อรับรองไว้เป็นหลักฐาน

 

หมวดที่ ๕

การเงินและทรัพย์สิน

 

ข้อ ๔๗. การเงินและทรัพย์สินทั้งหมดให้อยู่ในความรับผิดชอบของคณะกรรมการ เงินสดของสมาคมถ้ามีให้นำฝากไว้ในธนาคารที่เชื่อถือได้ เว้นแต่กรณีเงินบริจาค ซึ่งผู้บริจาคได้กำหนดเงื่อนไขไว้เป็นอย่างนี้

ข้อ ๔๘. การลงนามในตั๋วเงินหรือเช็คของสมาคม จะต้องมีลายมือชื่อของนายกสมาคม หรือผู้ทำการแทนลงนามร่วมกับเหรัญญิก หรือเลขาธิการ พร้อมกับประทับตราของสมาคมจึงจะถือว่าใช้ได้

ข้อ ๔๙. ให้นายกสมาคมมีอำนาจสั่งจ่ายเงินของสมาคมได้ครั้งละไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ บาท(หนึ่งหมื่นบาทถ้วน) ถ้าเกินกว่านั้นจะต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการ และคณะกรรมการจะอนุมัติให้จ่ายเงินได้ครั้งละไม่เกิน ๒๐๐,๐๐๐ บาท(สองแสนบาทถ้วน) ถ้าจำเป็นจะต้องจ่ายเกินกว่านี้ ต้องได้รับอนุมัติจากที่ประชุมใหญ่ของสมาคม

ข้อ ๕๐. ให้เหรัญญิกมีอำนาจเก็บรักษาเงินสดของสมาคมได้ไม่เกิน ๕,๐๐๐ บาท(ห้าพันบาทถ้วน) ถ้าเกินกว่าจำนวนนี้ จะต้องนำฝากธนาคารในบัญชีของสมาคมทันทีที่โอกาสอำนวย

ข้อ ๕๑. เหรัญญิก จะต้องทำบัญชีรายรับ รายจ่าย และบัญชีงบดุล ให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ การรับหรือจ่ายเงินทุกครั้ง จะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ ลงลายมือชื่อของนายกสมาคมหรือผู้ทำการแทนร่วมกับเหรัญญิกหรือผู้ทำการแทน พร้อมกับประทับตราของสมาคมทุกครั้ง

ข้อ ๕๒. ผู้สอบบัญชี จะต้องมิใช่กรรมการหรือเจ้าหน้าที่ของสมาคม และจะต้องเป็นผู้สอบบัญชีที่ได้รับอนุญาต

ข้อ ๕๓. ผู้สอบบัญชี มีอำนาจหน้าที่จะเรียกเอกสารที่เกี่ยวกับการเงินและทรัพย์สินจากคณะกรรมการและสามารถจะเชิญกรรมการ หรือเจ้าหน้าที่ของสมาคมเพื่อสอบถาม เกี่ยวกับบัญชีและทรัพย์สินของสมาคมได้

ข้อ ๕๔. คณะกรรมการจะต้องให้ความร่วมมือกับผู้สอบบัญชี เมื่อได้รับการร้องขอ

 

หมวดที่ ๖

การเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อบังคับและการเลิกสมาคม

 

ข้อ ๕๕. ข้อบังคับของสมาคมจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้โดยมติของที่ประชุมใหญ่เท่านั้น และองค์ประชุมใหญ่จะต้องมีสมาชิกสามัญเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของสมาชิกสามัญทั้งหมด มติของที่ประชุมใหญ่ในการให้เปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อบังคับ จะต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า ๒ ใน ๓ ของสมาชิกสามัญที่เข้าร่วมประชุมทั้งหมด

ข้อ ๕๖. ข้อบังคับที่ได้แก้ไขเพิ่มเติมแล้ว ต้องนำไปจดทะเบียนกับนายทะเบียนท้องที่ ที่สำนักงานของสมาคมตั้งอยู่ ภายใน ๑๔ วันนับแต่วันที่ได้ลงมติ และใช้บังคับได้เมื่อจดทะเบียนต่อนายทะเบียนท้องที่แล้ว

ข้อ ๕๗. การเลิกสมาคมจะเลิกได้ก็โดยมติของที่ประชุมใหญ่ของสมาคม ยกเว้นเป็นการเลิกเพราะเหตุของกฎหมาย มติของที่ประชุมใหญ่ที่ให้เลิกสมาคมจะต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า ๓ ใน ๔ ของสมาชิกสามัญที่เข้าร่วมประชุมทั้งหมด และองค์ประชุมใหญ่จะต้องไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของสมาชิกสามัญทั้งหมด

ข้อ ๕๘. เมื่อสมาคมต้องเลิก ไม่ว่าด้วยเหตุใดๆ ก็ตาม ทรัพย์สินของสมาคมที่เหลืออยู่ หลังจากที่ได้ชำระบัญชีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ให้ตกเป็นของนิติบุคคลซึ่งมีวัตถุประสงค์อย่างเดียวกันหรือการกุศลอย่างอื่นตามแต่ที่ประชุมใหญ่ของสมาคมจะเห็นสมควร

 

หมวดที่ ๗

บทเฉพาะกาล

 

ข้อ ๕๙. ข้อบังคับฉบับนี้นั้น ให้เริ่มใช้บังคับได้นับตั้งแต่วันที่สมาคมได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเป็นต้นไป

ข้อ ๖0. เมื่อสมาคมได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลจากทางราชการ ก็ให้ถือว่าผู้เริ่มการทั้งหมดเป็นสมาชิกสามัญ และสมาชิกภาพของคณะกรรมการที่ตั้งขึ้น เริ่มตั้งแต่วันจดทะเบียนเป็นต้นไป