ช่องทางรับฟังความคิดเห็น     คลังเอกสาร     คำถามที่พบบ่อย     ถาม-ตอบ      มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี    

มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการร่วมกับ การยางแห่งประเทศไทย


โพสโดย ทิพย์วรรณ เวฬุวนาธร     โพสวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2563 ,     (อ่าน 1,260 ครั้ง)  


  มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการร่วมกับ การยางแห่งประเทศไทย

-------------------------------------------

           เมื่อวันศุกร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ 2563 มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการร่วมกับ การยางแห่งประเทศไทยณ ห้องบอลรูม AB โรงแรมยูเพลส มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชุตินันท์  ประสิทธิ์ภูริปรีชา อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี นายขจรจักษณ์  นวลพรหมสกุล รองผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทยด้านบริหาร รักษาการแทน ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ซึ่งต่อไปบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้เรียกว่า “กยท.” และ รองศาสตราจารย์ ดร.ชวลิต  ถิ่นวงศ์พิทักษ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย นวัตกรรมและบริการวิชาการ กล่าวรายงานและวัตถุประสงค์ความเป็นมาของการจัดทำความร่วมมือทางวิชาการครั้งนี้ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัย และการสร้างนวัตกรรม ทั้งด้านการปลูก การผลิต และการแปรรูปยางพารา โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยางพาราของไทย และเพื่อส่งเสริม และสนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยี และนวัตกรรมให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง และผู้ประกอบกิจการยาง ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้กำหนดบทบาท และหน้าที่ของแต่ละฝ่ายอย่างชัดเจน ตลอดจนได้แสดงเจตจำนงในการร่วมมือเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ร่วมกัน โดยมีระยะเวลาของความร่วมมือ 5 ปี สำหรับพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการในครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมเป็นสักขีพยานมากมาย ประกอบด้วย คณะผู้บริหารระดับต่าง ๆ จากการยางแห่งประเทศไทย คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เกษตรกร สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง และผู้ประกอบกิจการยาง แขกผู้มีเกียรติ ตลอดจนสื่อมวลชนหลายแขนง ที่เห็นถึงความสำคัญและประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น กับอุตสาหกรรมยางพาราของประเทศ

           นายขจรจักษณ์  นวลพรหมสกุล รองผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทยด้านบริหาร รักษาการแทน ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เนื่องจากยางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญพืชหนึ่งของประเทศไทย มีการปลูกกันอย่างแพร่หลายทั่วทั้งประเทศ โดยมีพื้นที่ปลูกทั้งประเทศประมาณ 22ล้านไร่ สามารถทำรายได้เข้าประเทศได้ปีละหลายแสนล้านบาท แต่อย่างไรก็ตามในปัจจุบันยางพารามีราคาตกต่ำเนื่องจากสาเหตุหลายประการ เช่น ปัญหาเรื่องอุปสงค์ และอุปทานของสินค้ายางพารา และความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ตลอดจนมีประเทศผลิตยางพารารายใหม่เพิ่มขึ้น ด้วยปัญหาดังกล่าว การยางแห่งประเทศไทย หรือ กยท. ซึ่งเป็นองค์กรกลางรับผิดชอบดูแลการบริหารจัดการยางพาราของประเทศ ทั้งระบบอย่างครบวงจร และมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยหลักในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และมีงานวิจัยพัฒนาด้านการทำสวนยาง การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากยาง และเทคโนโลยีอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง มากมาย ทั้งสองฝ่ายจึงเห็นชอบร่วมกันที่จะมีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ ในการศึกษา ค้นคว้า วิจัย และถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการผลิต และการแปรรูปยางพารา ให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง และผู้ประกอบกิจการยาง เพื่อให้สามารถแก้ปัญหาราคายางพาราและยกระดับรายได้เกษตรกรให้สูงขึ้น

            ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชุตินันท์  ประสิทธิ์ภูริปรีชา อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เป็นสถาบันการศึกษาหลักในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีวิสัยทัศน์ เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำในอาเซียนที่มุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิตและนวัตกรรม มีพันธกิจด้านการวิจัย การบริการวิชาการ การถ่ายทอดและพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อการพัฒนาสังคมให้ยั่งยืน และผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยมีงานวิจัยในด้านการพัฒนาการทำสวนยาง และการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากยางธรรมชาติอย่างมากมาย ประกอบกับมีการเรียนการสอนที่เกี่ยวข้องกับยางพารา ทั้งเทคโนโลยีการปลูก และเทคโนโลยีการแปรรูปยาง มีการให้บริการทางวิชาการแก่เกษตรกรชาวสวนยาง ตลอดจนผู้ประกอบการในห่วงโซ่การผลิตยางพารา และผลิตภัณฑ์ยางพาราทั้งระบบ โดยมีการทำงานร่วมกับการยางแห่งประเทศไทยมาก่อนหน้านี้แล้วมาอย่างต่อเนื่อง วันนี้จึงเป็นโอกาสอันดีที่ทั้งสองหน่วยงานจะได้กระชับความร่วมมือ สร้างรูปแบบการทำงานร่วมกันที่เป็นทางการ และแน่นแฟ้นมากขึ้น การร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการในวันนี้ ทั้งสองหน่วยงานต่างมีเป้าหมายร่วมกัน คือเพื่อให้สามารถแก้ปัญหาราคายางพาราในระยะยาว และยกระดับรายได้ให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง ผ่านกลไกการศึกษา ค้นคว้า วิจัย และการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง และผู้ประกอบกิจการยางแบบครบวงจร มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับโอกาสให้เป็นคู่ความร่วมมือทางวิชาการกับการยางแห่งประเทศไทย และจะส่งเสริม สนับสนุนการทำงานเพื่อให้ภารกิจร่วมของทั้งสองหน่วยงานประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่มุ่งหมายไว้ทุกประการ  

--------------------------------------------

ทิพย์วรรณ  เวฬุวนาธร นักประชาสัมพันธ์ ชำนาญการ ม.อุบลฯ ภาพ/ข่าว



Search
ลิ้งค์ข่าวสาร