ช่องทางรับฟังความคิดเห็น     คลังเอกสาร     คำถามที่พบบ่อย     ถาม-ตอบ      มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี    

4 หน่วยงาน สธ. ม.อุบลฯ ม.มหิดล สภาเกษตรกรลงนามความร่วมมือ ศึกษาวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางคลินิก น้ำมันกัญชาสกัดเย็นใช้ประโยชน์ทางการแพทย์


โพสโดย เพลิน วิชัยวงศ์     โพสวันที่ 2 มกราคม 2563 ,     (อ่าน 1,201 ครั้ง)  


             มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (มอบ.) โดยวิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข จัดพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือในการร่วมมือด้านการศึกษา วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางคลินิกของน้ำมันกัญชาสกัดเย็น เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ โดยรับเกียรติจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชุตินันท์ ประสิทธิ์ภูริปรีชา อธิการบดี กล่าวต้อนรับ โดยมี 4 หน่วยงาน ร่วมลงนาม ประกอบด้วย กระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 10 (สธ.)  มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตอำนาจเจริญ (มม.)  สภาเกษตรกรแห่งชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) และ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (มอบ.) ณ ห้องประชุมวารินชำราบ ชั้น 3สำนักงานอธิการบดีหลังใหม่ เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2562 ที่ผ่านมา

           ในส่วนของการลงนามบันทึกความร่วมมือ 4หน่วยงาน โดยมีผู้ลงนามประกอบด้วย นายแพทย์ธงชัย กีรหัตถยากร ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 10ปฏิบัติราชการแทนปลัดกระทรวงสาธารณสุข   ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชุตินันท์ ประสิทธิ์ภูริปรีชา อธิการบดี มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี  นายแพทย์สุรพร ลอยหา รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตอำนาจเจริญ ปฏิบัติราชการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งมี นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ คณบดีวิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข (พยาน) ว่าที่ร้อยตรีสมพูนทรัพย์ กล้าวิกรณ์ สำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ(พยาน)  จากนั้นจัดให้มีเวทีเสวนาวิชาการหัวข้อ “งานวิจัยกัญชากับระบบสุขภาพชุมชน” ดำเนินรายการโดย นายแพทย์วีระวัฒน์ พันธ์ครุฑ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและพันธกิจสังคม วิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข

          นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ คณบดีวิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข กล่าวว่า ตามที่กระทรวงสาธารณสุข ได้มีนโยบายในด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากกัญชา ให้ใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ โดยส่งเสริมให้ประชาชนในทุกระดับได้รับประโยชน์จากการพัฒนาผลิตภัณฑ์ดังกล่าว โดยมีรูปแบบกระบวนการพัฒนาให้ครบวงจร ทั้งต้นน้ำ (การปลูกและพัฒนาสายพันธุ์) กลางน้ำ (การแปรรูปและพัฒนาตำรับ) และปลายน้ำ (การนำไปใช้ประโยชน์ด้านการแพทย์) อีกทั้งเป็นส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาด้านวิชาการ ระบบบริการสุขภาพ และการวิจัยที่เหมาะสมกับสภาพปัญหา และสอดคล้องกับบริบทของแต่ละพื้นที่ ทุกฝ่ายจึงได้ทำข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้ขึ้น วัตถุประสงค์หลัก เพื่อศึกษาวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้การรักษาโรคด้วยน้ำมันกัญชาสกัดเย็นและ บูรณาการจัดการเรียนการสอนทางการแพทย์และการสาธารณสุขให้เชื่อมโยงกับระบบบริการสุขภาพ  ให้การบริการทางการแพทย์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการแพทย์และสาธารณสุขด้วยน้ำมันกัญชาสกัดเย็น ให้สอดคล้องกับบริบททางสังคมในศตวรรษที่ 21ตลอดจนส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึงการใช้กัญชาและสมุนไพรทางการแพทย์ได้อย่างปลอดภัย

            นับว่าเป็นครั้งแรกของการลงนามบันทึกความร่วมมือ ที่จะนำไปสู่การศึกษาวิจัย และพัฒนาองค์ความรู้บูรณาการจัดการเรียนการสอนทางการแพทย์และการสาธารณสุขให้เชื่อมโยงกับระบบบริการสุขภาพ เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ต่อไปในอนาคต

เพลิน  วิชัยวงศ์ นักประชาสัมพันธ์ ม.อุบลฯ / ข่าว

เทอดภูมิ  ทองอินทร์ นักประชาสัมพันธ์ ม.อุบลฯ/ภาพ



Search
ลิ้งค์ข่าวสาร