ช่องทางรับฟังความคิดเห็น     คลังเอกสาร     คำถามที่พบบ่อย     ถาม-ตอบ      มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี    

ม.อุบลฯ ลงพื้นที่เป็นพี่เลี้ยงโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย มุกดาหาร เป็นเจ้าภาพจัดงาน Thailand – Japan Student ICT Fair (TJ-SIF 2019)


โพสโดย ทิพย์วรรณ เวฬุวนาธร     โพสวันที่ 21 ธันวาคม 2562 ,     (อ่าน 981 ครั้ง)  


ม.อุบลฯ ลงพื้นที่เป็นพี่เลี้ยงโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย มุกดาหาร เป็นเจ้าภาพจัด

“งานมหกรรมสิ่งประดิษฐ์ด้านไอซีทีของนักเรียนไทยและนักเรียนญี่ปุ่น”

Thailand – Japan Student ICT Fair (TJ-SIF 2019)

----------------------------------

          มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ลงพื้นที่เป็นพี่เลี้ยงโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย มุกดาหาร ได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัด “งานมหกรรมสิ่งประดิษฐ์ด้านไอซีทีของนักเรียนไทยและนักเรียนญี่ปุ่น และการประชุมวิชาการ” Thailand – Japan Student ICT Fair (TJ-SIF 2019) ภายใต้การสนับสนุนจากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น หรือ JICAและสถาบัน KOSENและความร่วมมือภาคีเครือข่าย กระทรวงศึกษาธิการประเทศไทย และประเทศญี่ปุ่น, สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย, JICA, KOSEN, สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี พร้อมด้วยโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย 12 แห่งทั่วประเทศ ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงตลอดการจัดงาน

           เมื่อวันศุกร์ที่ 20 ธันวาคม 2562 ดร.คุณหญิงกัลยา  โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้เกียรติเป็นประธานเปิด “งานมหกรรมสิ่งประดิษฐ์ด้านไอซีทีของนักเรียนไทยและนักเรียนญี่ปุ่น และการประชุมวิชาการ” Thailand – Japan Student ICT Fair (TJ-SIF 2019) และมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ โดยมี นายชยันต์  ศิริมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร กล่าวต้อนรับ นายมาซาฮารุ คูบะ (Mr. Masaharu  Kuba) เลขานุการเอก สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย กล่าวแสดงความยินดี และ ดร.อำนาจ  วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ประธานคณะกรรมการพัฒนาโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย และประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดงานมหกรรมสิ่งประดิษฐ์ด้านไอซีทีของนักเรียนไทยและนักเรียนญี่ปุ่น และการประชุมวิชาการThailand – Japan Student ICT Fair (TJ-SIF 2019)กล่าวรายงานและวัตถุประสงค์การจัดงาน ดังจะเห็นได้ว่าทางโรงเรียนมีการจัดงานและกิจกรรมใหญ่ ๆ ขึ้นพร้อมกัน 2 งาน ได้แก่ งานมหกรรมนำเสนอสิ่งประดิษฐ์ด้านไอซีทีของนักเรียนไทยและนักเรียนญี่ปุ่น Thailand – Japan Students ICT Fair 2019 และงาน Thailand – Japan Game Programming HACKATHON 2019 ในระหว่างวันที่ 20 – 22 ธันวาคม 2562 ณ โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย มุกดาหาร ซึ่งมีวัตถุประสงค์การจัดงานครั้งนี้ เพื่อเป็นเวทีนำเสนอและแลกเปลี่ยนผลงานวิชาการและสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมด้าน ICT ของนักเรียนไทยและนักเรียนญี่ปุ่น โดยมีโรงเรียนที่จัดการเรียนการสอนที่เน้นด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทย จำนวน 32 โรงเรียน ได้แก่ กลุ่มโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย กลุ่มโรงเรียนในโครงการห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ฯ กลุ่มโรงเรียนในโครงการ พสวท. และ วมว. เป็นต้น และสถาบันการศึกษาชั้นนำของประเทศญี่ปุ่น จำนวน 26 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียน Super Science High School จำนวน 15 แห่ง และ สถาบัน KOSEN จำนวน 11 แห่ง มีโครงงานสิ่งประดิษฐ์ด้าน ICT จำนวน 136 โครงงาน และมีผู้เข้าร่วมงาน รวมทั้งสิ้นจำนวน 591 คน โดยมีเป้าหมายการจัดงาน ICT Fair 2019 เพื่อเป็นการนำเสนอผลงานด้าน ICT ของนักเรียนที่เกิดจากการพัฒนาต่อยอดสมรรถนะและความสามารถเชิงสร้างสรรค์ด้านวิทยาการคำนวณและ ICT เพื่อยกระดับความรู้ความสามารถของนักเรียนด้าน Digital Technology โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการนำทักษะทาง Digital literacy มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการสร้างสรรค์นวัตกรรมสืบไป

         นายมาซาฮารุ คูบะ (Mr.Masaharu  Kuba) เลขานุการเอก สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย กล่าวว่า ในนามของรัฐบาลญี่ปุ่นรู้สึกเป็นเกียรติอย่างเป็นที่ได้มาร่วมงานในวันนี้ และรู้สึกยินดียิ่งที่ได้รับเชิญให้กล่าวสุนทรพจน์ ในหัวข้อ Thai-Japanese relations with strong suppors on science and technology education"ซึ่งการให้ความสนใจกับงานด้าน ICT เป็นเรื่องที่สำคัญมากในการจุดประกายและสร้างวิสัยทัศน์ให้กับนักเรียนชั้นมัธยมปลายสำหรับอาชีพในอนาคต การสร้างความสนใจด้านวิทยาศาสตร์ให้แก่ผู้เรียนจะนำไปสู่การพัฒนาในอนาคตสำหรับทั้งสองประเทศ ผมมีความเชื่อมันเป็นอย่างยิ่งว่าความช่วยเหลือและความร่วมมือจะไม่ได้เป็นเพียงการแลกเปลี่ยนและสร้างงงานวิจัยร่วมกันแต่ยังมีการแลกเปลี่ยนด้านวัฒนธรรม โดยเฉพาะกลุ่มโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยทั้ง 12 แห่ง Super science high school ของญี่ปุ่นและสถาบันโคเซ็น การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ก็เป็นหนึ่งในกิจกรรมเพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศให้มีความแน่นแฟ้นมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ความร่วมมือระหว่างสองประเทศคงอยู่ต่อไป กระผมยังเชื่ออีกด้วยว่างาน ICT Fair 2019 นี้ จะให้ประโยชน์อย่างสูงกับทั้งสองฝ่าย และเพิ่มคุณภาพชีวิตของคนทั้งสองประเทศ พวกเราทุกคนไม่ควรที่จะละเลยคุณค่าของความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ แต่พวกเราควรศึกษาอย่างต่อเนื่องเพื่อพัฒนา และทะนุถนอมความสัมพันธ์นี้ไว้ให้คนรุ่นต่อ ๆ ไป พวกเราก็ควรที่จะเรียนรู้กันและกัน และทำงานร่วมกันเป็นกลุ่มความร่วมมือเพื่อที่จะเอาชนะความยากลำบากต่าง ๆ ที่ต้องเผชิญในอนาคตอันใกล้ แล้วทั้งคนไทย และญี่ปุ่นก็จะได้ยินดีกับผลที่งอกงามจากความร่วมมืออันดีนี้ กระผมแนะนำให้ทั้งนักเรียนไทย และนักเรียนญี่ปุ่นใช้โอกาสนี้ในการเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้ ICT application ในการทำ smart farming จากการไปทัศนศึกษารอบมุกดาหาร กระผมขอขอบคุณคณะกรรมการผู้ดำเนินการเป็นอย่างสูง ในการจัดการและการพยาบาลอันดีเยี่ยมสำหรับงานในปี 2019 นี้ รวมทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร คณะผู้ร่วมงานจากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี สำหรับการช่วยเหลือและสร้างนวัตกรรมตลอดการจัดงานนี้ และทุก ๆ ท่านที่มีส่วนร่วมในการจัดงานที่ยอดเยี่ยมครั้งนี้ขึ้น

ดร.คุณหญิงกัลยา  โสภณพนิชรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า นับเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้กล่าวเปิดงาน Thailand-Japan Student ICT Fair 2019 ณ โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย มุกดาหาร ซึ่งดำเนินการจัดงานโดยคณะกรรมดำเนินงานของโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬารณราชวิทยาลัยและ Super Science High Schools,ประเทศญี่ปุ่น ดิฉันขอขอบคุณคณะดำเนินงานจากใจจริงที่ได้จัดกิจกรรมทางการศึกษานี้ขึ้น เป็นการให้โอกาสอันมีค่าแก่คุณครูไทยและญี่ปุ่น รวมทั้งนักเรียนไทยและญี่ปุ่นในการแบ่งปันและแลกเปลี่ยนเรียนรู้งานวิจัยที่คุณประโยชน์ต่อประเทศชาติ ขอขอบคุณทุกคนสำหรับความพยายามและความร่วมมือในการจัดกิจกรรมทางวิชาการในครั้งนี้ ทุกท่านทราบกันดีว่าในขณะนี้พวกเราอยู่ในยุคสังคมดิจิทัลที่เทคโนโลยีนั้นได้ฝังลึกลงไปในการใช้ในชีวิตประจำวันของมนุษย์ ระบบปฏิบัติการใหม่ ๆ ด้านสื่อมัลติมีเดีย ข้อมูลและการสื่อสารถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่องโดยนวัตกรรมเหล่านี้ก็ได้เข้ามามีอำนาจเหนือมนุษยชาติในหลายๆด้านเป็นไปตามความสำคัญของเทคโนโลยีต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์ในศตวรรษที่ 21 ซึ่งการให้การศึกษาแก่บุคคลรุ่นใหม่เพื่อที่จะได้รับความรู้ทั้งในด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม อาจส่งผลดีต่ออนาคตของพวกเขาเอง และดิฉันมีความเชื่อมั่นเป็นอย่างสูงว่านี่เป็นอีกหนึ่งเหตุผลหลักในการจัดงาน Thailand-Japan Student ICT Fair2019 ด้วยการให้ความสำคัญในเรื่องของ ข้อมูลข่าวสาร การสื่อสารและเทคโนโลยี และเป็นที่คาดหวังว่าการจัดกิจกรมในครั้งนี้จะทำให้คุณครูและนักเรียน จากโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยและ super science high school จะเพิ่มประสิทธิภาพทั้งในด้านของการเรียนรู้และพัฒนาทักษะในด้านต่าง ๆ ผ่านการเรียนรู้ร่วมกัน

          สำหรับโครงงานที่ถูกนำมานำเสนอในงานนี้ประกอบไปด้วยหลากหลายสาขาอาทิ IoT Application, Robotics, Automotive, Software and smart Electronicsซึ่งแน่ใจว่านักเรียนทุกคนจะได้รับประโยชน์จากการนำเสนอโครงงานในครั้งนี้ และเชื่อมั่นอย่างสูงว่าการเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ จะยกระดับประสบการณ์ด้านการศึกษาเรียนรู้ของผู้เรียน ในการพัฒนาระบบการศึกษาอิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-learning และ ระบบปฏิบัติการอิเล็กทรอนิกส์ อีกทั้งเป็นการแบ่งปันแหล่งการเรียนรู้ระหว่างสถาบันการศึกษา ช่วยส่งเสริมกระบวนการเรียนการสอนและให้ความสำคัญกับประเด็นที่สอดคล้องกับความต้องและความสนใจของผู้เรียนในยุคปัจจุบัน การจัดงาน Thailand- Japan Student ICT Fair 2019 จะไม่สำเร็จลุล่วงได้หากปราศจากความร่วมมือ และการสนับสนุนจากประเทศไทย และประเทศญี่ปุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งคณะเจ้าภาพกระทรวงศึกษาธิการ และกลุ่มโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย และขอขอบคุณอีกครั้งสำหรับการทำงานอย่างเต็มที่ของทุก ๆ ท่าน

ชมภาพเพิ่มเติม

ทิพย์วรรณ  เวฬุวนาธร นักประชาสัมพันธ์ชำนาญการ ม.อุบลฯ ข่าว/ภาพ



Search
ลิ้งค์ข่าวสาร