ช่องทางรับฟังความคิดเห็น     คลังเอกสาร     คำถามที่พบบ่อย     ถาม-ตอบ      มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี    

คณะเกษตรศาสตร์ ม.อุบลฯ ผลิตลูกปลานิล สายพันธุ์จิตรลดา1 แสนตัว แจกผู้ประสบภัยน้ำท่วม


โพสโดย เพลิน วิชัยวงศ์     โพสวันที่ 15 ตุลาคม 2562 ,     (อ่าน 1,409 ครั้ง)  


           คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี วางแผนฟื้นฟูช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยหลังน้ำลด “ธารน้ำใจ ช่วยภัยน้ำท่วม” โดยการผลิตลูกปลานิล  สายพันธุ์จิตรลดา จำนวน 1 แสนตัว ซึ่งเป็นพันธุ์ปลาพระราชทาน  จากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เพื่อนำส่งมอบช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี พร้อมส่งเสริมความรู้ทักษะการเลี้ยง การอนุบาลลูกปลา จนสามารถนำมาบริโภคในครัวเรือน และจำหน่ายสร้างรายได้ให้กับครอบครัว ณ ฟาร์มประมง คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา

           ดร.นรินทร บุญพราหมณ์ คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า จากสถานการณ์อุทกภัยในช่วงเดือนกันยายน 2562ที่ผ่านมา หลายพื้นที่ในจังหวัดอุบลราชธานีและจังหวัดใกล้เคียงได้รับความเสียหายในวงกว้าง โดยเฉพาะพื้นที่ทำกินของเกษตรกร ทั้งนี้ คณะเกษตรศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ซึ่งเปิดสอนสาขาวิชาประมง จึงวางแผนการช่วยเหลือฟื้นฟูช่วยเหลือผู้ประสบภัยหลังน้ำลด น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ของพ่อหลวง ร.9 โดยการเพาะพันธุ์ลูกปลานิลแจกผู้ประสบภัย ส่งเสริมอาชีพแบบพออยู่พอกิน โดยปลานิลที่นำมาเพาะเลี้ยง เป็นปลานิลสายพันธุ์จิตรลดา พันธุ์ปลาพระราชทาน ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมประมงนำปลานิลไปขยายพันธุ์ต่อและแจกจ่ายให้กับเกษตรกรมีจุดเด่นในการเลี้ยงง่าย โตไว เหมาะจะเผยแพร่สู่เกษตรกรให้นำไปเลี้ยงสร้างรายได้และอาชีพ สู่ความมั่นคงทางอาหารและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนไทย

       ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.ธนาทิพย์ แหลมคม รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะเกษตรศาสตร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของการเพาะเลี้ยงลูกปลานิล ซึ่งมีนักศึกษาคณะเกษตรศาสตร์ ดำเนินการเพาะเลี้ยง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของรายวิชาเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด โดยทำการเพาะพันธุ์ในฟาร์มประมง แบ่งออกเป็น 3 ช่วง คือ ช่วงการเพาะพันธุ์, การอนุบาลลูกปลา และการเลี้ยง ภายหลังจากนักศึกษาแม่พันธุ์ปลาวางไข่ ก็จะนำมาฟักในระบบโรงเพาะฟักแบบน้ำหมุนเวียน อนุบาลลูกปลาจนแข็งแรงนำไปเพาะเลี้ยงในบ่อดิน หรือกระชัง ก่อนนำไปแจกจ่ายให้เกษตรกร ซึ่งใช้ระยะเวลาเพาะเลี้ยงประมาณ 4 เดือน ก็สามารถนำมาบริโภคได้ นอกจากนี้ คณะเกษตรศาสตร์ยังมีการส่งเสริมอบรมความรู้ให้กับเกษตรกร หรือผู้ประสบภัยในเรื่องการเลี้ยงปลา การดูแลอนุบาล การเลี้ยงปลาที่ถูกวิธี การสร้างรายได้สร้างอาชีพโดยจัดอบรมเชิงปฏิบัติการให้กับเกษตรกรผู้ประสบภัย ซึ่งเป้าหมายผลิตปลานิลจำนวน 100,000 ตัว แบ่งเป็นเดือนตุลาคม จำนวน 50,000 ตัว และเดือนพฤศจิกายน จำนวน 50,000 ตัว ผู้สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ คณะเกษตรศาสตร์ คุณชำนาญ  แก่้วมณี โทร.0973341903           

            นับเป็นอีกหนึ่งภารกิจด้านการบริการแก่สังคมของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี อย่างยิ่งการฟื้นฟูช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยหลังน้ำลด มหาวิทยาลัยได้ผนึกกำลังบูรณาการในทุกศาสตร์ช่วยเหลือในทุกมิติ พร้อมจิตอาสาฟื้นฟูช่วยเหลือสร้างขวัญกำลังใจ ทั้งด้านสภาพแวดล้อม ด้านร่างกายและจิตใจ ให้กลับมาสู่สภาวปกติโดยเร็วที่สุด

 

                                                                   เพลิน  วิชัยวงศ์ นักประชาสัมพันธ์ ม.อุบลฯ / ข่าว



Search
ลิ้งค์ข่าวสาร