ช่องทางรับฟังความคิดเห็น     คลังเอกสาร     คำถามที่พบบ่อย     ถาม-ตอบ      มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี    

ม.อุบลฯ ร่วมส่งเสริมวัฒนธรรมพัฒนาศักยภาพชุมชนต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่นผสมผสานเทคโนโลยีสมัยใหม่ เสวนา 6 ปี ถนนสายวัฒนธรรมเขมราษฎ์ธานีสู่ความยั่งยืน ชุมชนต้นแบบทางวัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำโขง


โพสโดย ทิพย์วรรณ เวฬุวนาธร     โพสวันที่ 16 กรกฎาคม 2562 ,     (อ่าน 1,659 ครั้ง)  


ม.อุบลฯ ร่วมส่งเสริมวัฒนธรรมพัฒนาศักยภาพชุมชนต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่นผสมผสานเทคโนโลยีสมัยใหม่

เสวนา 6 ปี ถนนสายวัฒนธรรมเขมราษฎ์ธานีสู่ความยั่งยืน : ชุมชนต้นแบบทางวัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำโขง

-----------------------------------

          เมื่อวันเสาร์ที่ 13 กรกฎาคม 2562 ดร.คำล่า  มุสิกา และดร.วศิน  โกมุท อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้รับเกียรติจากสำนักงานเทศบาลตำบลเขมราฐร่วมการเสวนา “6 ปี ถนนสายวัฒนธรรมเขมราษฎ์ธานีสู่ความยั่งยืน : ชุมชนต้นแบบทางวัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำโขง” ณ บริเวณหน้าบ้านท่านขุนภูรีประศาสน์ (ถนนสายวัฒนธรรม)เทศบาลตำบลเขมราฐ อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานีโดยมี นายศุภศิษย์  กอเจริญยศ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เป็นประธานและ นางลัดดา  เจษฎาพาณิชย์ นายกเทศมนตรีตำบลเขมราฐ กล่าวรายงานและวัตถุประสงค์ในการจัดเสวนาครั้งนี้ เพื่อศึกษารูปแบบและกระบวนการพัฒนาที่จะนำไปสู่ความเข้มแข็งของชุมชน โดยการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องรวมทั้งแลกเปลี่ยนแนวคิดโดยนำองค์ความรู้และความคิดเห็นผลักดันสู่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาต่อไป สำหรับการจัดเสวนา “6 ปี ถนนสายวัฒนธรรมเขมราษฎ์ธานีสู่ความยั่งยืน : ชุมชนต้นแบบทางวัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำโขง” ได้รับเกียรติจากผู้ร่วมวงเสวนา จำนวน 8 ท่าน ประกอบด้วย นายศุภศิษย์  กอเจริญยศ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี นายเนาวรัตน์  พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ/สมาชิกวุฒิสภา ดร.อรุณศรี  อื้อศรีวงศ์ ผู้ทรงคุณวุฒิกรมส่งเสริมวัฒนธรรม นายธนู  ประชุมรักษ์ ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดอุบลราชธานี ดร.เริงศักดิ์  แก้เพ็ชร ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยรังสิต นางลัดดา  เจษฎาพาณิชย์ นายกเทศมนตรีตำบลเขมราฐ ดร.คำล่า  มุสิกา และ ดร.วศิน  โกมุท อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดยมีนายวีรยุทธ  น้อยพรหม  นักสื่อสารมวลชนชำนาญการ ส่วนข่าวและรายการภูมิภาค สำนักประชาสัมพันธ์เขต 2 และนางสาวธวัลรัตน์  ศรีจันทร์กาศ นักสื่อสารมวลชนปฏิบัติการ สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย จังหวัดอุบลราชธานี ผู้ประกาศข่าว/พิธีกร NBT อุบลราชธานี และช่อง 11 NBT ทีวีอีสาน NBT Northestเป็นผู้ดำเนินรายการ และการเสวนาครั้งนี้ยังได้รับความอนุเคราะห์จาก ฝ่ายรายการสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย จังหวัดอุบลราชธานี NBTพร้อมทีมงานร่วมบันทึกเทปและจะนำไปเผยแพร่ผ่านรายการ “มองอีสานผ่าน NBT”ที่จะเผยแพร่สู่สาธารณชนในเร็ว ๆ นี้ต่อไป

          นางลัดดา  เจษฎาพาณิชย์ นายกเทศมนตรีตำบลเขมราฐ กล่าวว่า สำหรับการจัดเสวนา “6 ปี ถนนสายวัฒนธรรมเขมราษฎ์ธานีสู่ความยั่งยืน : ชุมชนต้นแบบทางวัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำโขง” ได้รับเกียรติและความร่วมมือจากทุกท่านที่ร่วมวงเสวนา ตลอดจนหน่วยงานราชการ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ องค์กรภาครัฐและเอกชน ชมรมรัก(ษ์)วัฒนธรรมการท่องเที่ยวอำเภอเขมราฐ ชรมศิลปวัฒนธรรมคนสามวัยใส่ใจสุขภาพ และชมรมร้องเล่นต้นรำอำเภอเขมราฐ พ่อค้า ประชาชนชาวอำเภอเขมราฐ และที่มาเยี่ยมชมงานในครั้งนี้ ซึ่งคณะผู้จัดหวัดเป็นอย่างยิ่งว่าจะนำผลการเสวนาไปต่อยอด เพื่อความยั่งยืนแบบมีส่วนร่วมของชุมชนในเขตพื้นที่เทศบาลตำบลเขมราฐและพื้นที่ใกล้เคียง ที่เอื้อประโยชน์ในการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรม เพื่อป้องกันและลดผลกระทบทางลบต่อวิถีชีวิตของคนในชุมชน เน้นการพัฒนาเพื่อพึ่งพาตนเองมากขึ้น โดยใช้กระบวนการเรียนรู้เป็นกลไกสำคัญซึ่งตั้งอยู่บนฐานของภูมิปัญญาท้องถิ่นผสมผสานกับความรู้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ในการพัฒนาศักยภาพชุมชน เป็นการนำมิติทางวัฒนธรรมมาเป็นกลไกในการพัฒนาเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน โดยการับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และนำองค์ความรู้ ความคิดเห็นผลักดันสู่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพัฒนา และสามารถปรับตัวให้ทันการเปลี่ยนแปลงในอนาคตต่อไป

          ดร.คำล่า  มุสิกา อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และเป็นอีกหนึ่งในผู้ร่วมวงเสวนา กล่าวว่า คิดว่าเขมราฐเป็นเมืองแห่งความรัก ประการที่ 1 รักในบ้านเกิดเมืองนอน เพราะว่าหากใครได้มีโอกาสพูดคุยและถามคนเขมราฐจะมีความภูมิใจที่ได้เกิดเป็นคนเขมราฐและเป็นลูกหลานของคนเมืองเขมราฐ รักที่ 2 รักในศิลปวัฒนธรรม เช่น การฟ้อนรำตังหวาย และที่สำคัญทุกคนจะรักในผ้าครามเช่นเดียวกัน ดังนั้นจะเห็นว่าคนเขมราฐส่วนใหญ่รวมทั้งพวกเราด้วยก็จะรักในผ้าครามเช่นเดียวกัน เพราะเขมราฐทำให้เราเกิดความรักในทั้ง 2 อย่างนี้

          ดร.วศิน  โกมุท อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และเป็นอีกหนึ่งในผู้ร่วมวงเสวนา กล่าวว่า ในส่วนของเมืองเขมราฐเป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานแล้วก็มีแม่น้ำโขงที่ไหลผ่านเมืองเขมราฐ ก็เปรียบเสมือนกับเส้นทางที่ทำให้เมืองเขมราฐได้พบปะกับผู้คนแม้บทบาทของแม่น้ำโขงกับเขมราฐได้ถูกลดทอนลงไปเป็นถนนแล้วตรงนี้นเราสร้างถนนสายวัฒนธรรม สิ่งหนึ่งที่เราพบว่าเขมราฐเองมีเครือข่ายในการทำงานของชุมชนที่เข้มแข็ง การมีชุมชนที่เข้มแข็งจะทำให้การจัดการกับทรัพยากรทางวัฒนธรรมที่มีอยู่จำนวนมากในพื้นที่ได้ นี่คือจุดเด่นที่สุดของเขมราฐ

          นางสาววิชุลดา  พิไลพันธ์ อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ในฐานะนักท่องเที่ยวที่ร่วมรับฟังการเสวนาได้ร่วมเสนอข้อคิดและเสนอแนะผ่านเวทีเสวนาครั้งนี้ว่า มีความยินดีที่ได้ลงพื้นที่ทำวิจัยที่พื้นที่เขมราฐเป็นระยะเวลา 2 ปีแล้ว ซึ่งมีความประทับใจกับเมืองที่มีประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน และมีความประทับใจที่ได้เรียนรู้ถึงรากเหง้าของพื้นที่ร่วมกับคนเมืองเขมราฐด้วย ในฐานะนักท่องเที่ยวตรงนี้เขมราฐยังขาดตลาดและศูนย์กลางในการจำหน่ายของที่ระลึก ที่ระลึกทางวัฒนธรรมที่หลากหลายที่ยังไม่มีตลาดที่เป็นศูนย์กลางที่นักท่องเที่ยวจะซื้อได้ที่ไหน และในส่วนของกิจกรรมถนนคนเดินเป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นทุกเย็นวันเสาร์เราควรจะมีการพัฒนาให้เกิดช่องทางในการสร้างช่องทางกิจกรรมอื่น ๆ ในพื้นที่ให้มากกว่าวันเสาร์ได้ไหม

          ปิดท้ายด้วยคำคมจาก นายเนาวรัตน์  พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ/สมาชิกวุฒิสภา ที่ให้คำนิยามในการร่วมเวทีเสวนา 6 ปี ถนนสายวัฒนธรรมเขมราษฎ์ธานีสู่ความยั่งยืน : ชุมชนต้นแบบทางวัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำโขง ครั้งนี้ว่า “สุขเกษมที่เขมราฐ” และขอชื่นชมพลังสตรีที่ทำให้เขมราฐน่าอยู่ เป็นสิ่งที่น่าชื่นใจและภาคภูมิใจที่สุดของชาวเขมราฐ ซึ่งการเสวนาครั้งนี้ ผู้ร่วมวงเสวนาทุกคนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะก่อให้เกิดการพัฒนาเป็นเมืองท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมพัฒนาศักยภาพชุมชน และต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่นผสมผสานเทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่มีมนต์ขลังด้านวัฒนธรรม ประเพณีที่สืบทอดกันมาจนปัจจุบัน พร้อมทั้งอาหารพื้นบ้านที่น่าลิ้มรส และบรรยากาศริมฝังแม่น้ำโขงที่น่าหลงใหล เป็นเมืองขนาดเล็กที่มีเสน่ห์ ผู้คนมีวิถีชีวิตที่ผ่อนคลายมีบ้านโบราณที่ยังคงความดั่งเดิม ณ ถนนคนเดินแห่งนี้

------------------------------------

ทิพย์วรรณ  เวฬุวนาธร นักประชาสัมพันธ์ชำนาญการ ม.อุบลฯ ภาพ/ข่าว



Search
ลิ้งค์ข่าวสาร