ช่องทางรับฟังความคิดเห็น     คลังเอกสาร     คำถามที่พบบ่อย     ถาม-ตอบ      มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี    

นศ. คณะวิทยาศาสตร์ ม.อุบลฯ โชว์นวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัล... กวาด 2 รางวัล โครงการ GSB Startup University Model


โพสโดย ทิพย์วรรณ เวฬุวนาธร     โพสวันที่ 20 พฤศจิกายน 2561 ,     (อ่าน 1,200 ครั้ง)  


นศ. คณะวิทยาศาสตร์ ม.อุบลฯ โชว์นวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัล... กวาด 2 รางวัล

โครงการ GSB Startup University Model

--------------------------------

           เมื่อวันอาทิตย์ที่ 18 พฤศจิกายน 2561 นักศึกษาสาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ และสาขาวิชาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ทีม FU-EL SKY และทีม Rub-Bit พร้อมอาจารย์ที่ปรึกษาที่เข้าร่วมการแข่งขันการประกวดโครงการ GSB Startup University Model” ในงาน GSB Smart SMEs Smart Startup 2018” เป็นงานเดียวที่รวมศักยภาพ SMEs และสร้างเสริม Startup ไทย บุกโลกดิจิทัล เพื่อยกระดับประเทศไทยขึ้นแท่นศูนย์กลางพัฒนา SME และ Startupภายในภูมิภาคอาเซียน ภายใต้แนวคิด "Idea to Prototype Pitching" โดยธนาคารออมสิน ในระหว่างวันที่ 16 -18 พฤศจิกายน 2561 ที่ผ่านมา สืบเนื่องจากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีเป็นมหาวิทยาลัยเดียวที่โครงการนักศึกษาผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศ 2 โครงการ ใน 10 โครงการ จาก 50 โครงการทั่วประเทศ ที่ทางคณะกรรมการได้พิจารณาคัดเลือกและได้เข้าร่วมการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศในงาน GSB Smart SMEs Smart Startup 2018” โดยมี นายสมคิด  จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดและ นายชาติชาย  พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวรายงานและวัตถุประสงค์การจัดโครงการครั้งนี้ เพื่อพัฒนาศักยภาพกลุ่มคนรุ่นใหม่ให้ผู้ประกอบการที่มีคุณภาพ กล้าคิด กล้าทำ และกล้าสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ โดยธนาคารออมสินจะเป็นศูนย์กลางทางด้านแหล่งเงินทุนที่ช่วยต่อยอดและผลักดันธุรกิจ SME และ Startupให้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน เพื่อก้าวสู่การเป็นผู้ประกอบการ 4.0 เพื่อยกระดับให้เป็นศูนย์กลางของ INNOVATION HUB ของประเทศไทย

           จากการประกวดโครงการ “GSB Startup University Model” ครั้งนี้ ผลปรากฏว่า นักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีทีม Rub-Bit และทีม FU-EL SKY ทั้ง 2 ทีม กวาดมา 2 รางวัลโดยโครงการ “เครื่องผสม Formic Acid แบบอัตโนมัติ”ผลงานของทีม Rub-Bit ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 พร้อมเงินรางวัล จำนวน 50,000.- บาท(ห้าหมื่นบาทถ้วน) ซึ่งมีสมาชิกในทีม จำนวน 4 คน ประกอบด้วย นายกรวิช  แก้วดี นายภาณุพงศ์  นางาม นักศึกษาสาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ นางสาวกาญจนา  บำเพ็ญ และ นายอาณุวรรณ  กาลจักร นักศึกษาสาขาวิชาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ ภาควิชาเคมี โดยมี ดร.ศันศนีย์  ศรีจันทร์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีการยางและพอลิเมอร์ ภาควิชาเคมี และ นายอนุพงษ์  รัฐิรมย์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาโครงการดังกล่าว และโครงการ “อากาศยานไร้คนขับหว่านเมล็ดเพื่อการเกษตร” ผลงานของทีม FU-EL SKY ที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 พร้อมเงินรางวัล จำนวน 30,000.- บาท(สามหมื่นบาทถ้วน)มีสมาชิกในทีม จำนวน 3 คน ประกอบด้วยนางสาวนิศาชล  บุญจรัส นายณรงค์ฤทธิ์  อินทนนท์ และ นายอิทธิพล  มะโนธรรม นักศึกษาสาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยมี ดร.สมปอง  เวฬุวนาธร อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ภายใต้การนำทีมของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์กมลพร  นครชัยกุล ผู้ช่วยผู้อำนวยการโครงการอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี นายณรงค์  แดนตะโคตร และ นางสาวสุทธิดา  จันทนะ เจ้าหน้าที่ประสานงานกิจกรรมในโครงการ Startupเป็นผู้นำทีมนักศึกษาและอาจารย์ที่ปรึกษาโครงการร่วมการแข่งขันและโชว์ผลงานด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลครั้งนี้ พร้อมทั้งนำผลงานของนักศึกษามหาวิทยาลัยอุบลราชธานีจัดแสดงบริเวณโซนที่ 4 Smart Education ซึ่งเป็นพื้นที่จัดแสดงนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลของนักเรียน นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยและบริษัทต่างๆ เพื่อนำผลงานมาจัดแสดง พร้อมทั้งไอเดียใหม่ๆ ให้แก่กลุ่มผู้ประกอบการได้เข้าชมภายในงาน ณ ห้องเพลนารี่ฮอลล์ 1 – 3 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ

           สำหรับ “เครื่องผสม Formic Acid แบบอัตโนมัติ”ทีม Rub-Bit พัฒนาขึ้นเพื่อเป็นโครงการต้นแบบเครื่องผสมกรดฟอร์มิกแบบอัตโนมัติ ในการถ่ายทอดกระบวนการเตรียมกรดฟอร์มิกให้กับวิสาหกิจสวนยางขนาดกลางและขนาดย่อม ให้สามารถเตรียมใช้เองและจำหน่ายได้ และเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับสมาชิกหรือผู้ซื้อสินค้าให้สามารถชำระค่าสินค้าผ่านระบบ QR Code ของธนาคารออมสินได้ และมีการทำงานร่วมกันในหลายภาคส่วน อาทิ ธนาคารออมสิน นักศึกษา คณาจารย์ สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกรชาวสวนยาง ซึ่งสอดคล้องกับแนวทาง “สานพลังประชารัฐ” ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการส่งเสริมให้กลุ่มเกษตรชาวสวนยางใช้กรดฟอร์มิกในการจับตัวน้ำยางเพื่อผลิตยางก้อนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะเป็นการช่วยลดรายจ่ายของเกษตรกร ลดมลพิษจากการตกค้างของสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และสหกรณ์มีเงินปันผลเพิ่มขึ้นจากรายได้ในการขายกรดฟอร์มิกและขายยางก้อนถ้วยคุณภาพดี โดยมีสหกรณ์และธนาคารออมสินเป็นคู่ค้าที่ช่วยอุดหนุนเกื้อกูลกันมากยิ่งขึ้นและในส่วนของโครงการ “อากาศยานไร้คนขับหว่านเมล็ดเพื่อการเกษตร” ทีม FU-EL SKY พัฒนาขึ้นเพื่อเป็นต้นแบบอากาศยานไร้คนขับหว่านปุ๋ยและเมล็ดพันธุ์สมรรถนะสูงสำหรับการเกษตร และเพื่อทดสอบประสิทธิภาพและมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ต้นแบบเพื่อการเกษตร เนื่องจากเป็นสินค้าเชิง “นวัตกรรม” ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิด Thailand 4.0 มีความเป็นไปได้สูงที่จะเปลี่ยนจากการเกษตรแบบดั้งเดิมในปัจจุบัน ไปสู่การเกษตรสมัยใหม่ ที่เน้นการบริหารจัดการและเทคโนโลยี (Smart Farming) โดยโดรน (drone) หรืออากาศยานไร้คนขับเพื่อการเกษตรจัดอยู่ในกลุ่มเครื่องมือ อุปกรณ์อัจฉริยะ และหุ่นยนต์ เป็นกลุ่มเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมเป้าหมายของนโยบายภาครัฐ ลดความเสี่ยงในการสัมผัสหรือผลกระทบจากสารเคมีที่ใช้ในการเกษตร ลดต้นทุนให้กับเกษตรกร ประหยัดทั้งเวลาและแรงงาน ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น และเป็นเกษตรกรแบบเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneur) เพื่อพัฒนางานด้านการเกษตรต่อไป สำหรับผลงานการประกวดโครงการของนักศึกษาทีม FU-EL SKY และทีม Rub-Bit และอาจารย์ที่ปรึกษาที่ได้สร้างชื่อเสียงและโชว์ผลงานทางด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลให้เป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชนมาอย่างต่อเนื่อง เป็นอีกหนึ่งความสำเร็จและความภาคภูมิใจของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

-----------------------------------------------

ทิพย์วรรณ  เวฬุวนาธร นักประชาสัมพันธ์ชำนาญการ ม.อุบลฯ ข่าว/ภาพ ทีม FU-EL SKYและทีม Rub-Bit



Search
ลิ้งค์ข่าวสาร