ช่องทางรับฟังความคิดเห็น     คลังเอกสาร     คำถามที่พบบ่อย     ถาม-ตอบ      มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี    

ทีม Rub-Bit คณะวิทยาศาสตร์ ม.อุบลฯ โชว์ผลงานผลิตเครื่องผสม Formic Acid แบบอัตโนมัติ เครื่องแรก มอบสหกรณ์ชาวสวนยางพาราภูผาหมอก จำกัด ใช้ประโยชน์


โพสโดย ทิพย์วรรณ เวฬุวนาธร     โพสวันที่ 25 กันยายน 2561 ,     (อ่าน 1,680 ครั้ง)  


ทีม Rub-Bitคณะวิทยาศาสตร์ ม.อุบลฯ โชว์ผลงานผลิตเครื่องผสม Formic Acid แบบอัตโนมัติ

เครื่องแรก มอบ...สหกรณ์ชาวสวนยางพาราภูผาหมอก จำกัด ใช้ประโยชน์

-----------------------------

           ทีม Rub-Bitคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีโชว์ผลงานผลิต “เครื่องผสมFormic Acid แบบอัตโนมัติ”เพื่อวิสาหกิจสวนยางขนาดกลางและขนาดย่อมตามแนวทาง “สานพลังประชารัฐ” ภายใต้“โครงการพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์ร่วมกับสถาบันการศึกษา” และ ธนาคารออมสิน เป็นผู้สนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงานและผลิตตลอดโครงการ ซึ่งมีพิธีส่งมอบ “เครื่องผสมFormic Acid แบบอัตโนมัติ” ให้แก่ สหกรณ์ชาวสวนยางพาราภูผาหมอก จำกัด ตำบลภูผาหมอก อำเภอกันทราลักษณ์ จังหวัดศรีสะเกษ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 26 สิงหาคม 2561 ที่ผ่านมา โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชริดา  ปุกหุต คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวต้อนรับและส่งมอบเครื่องผสมFormic Acid แบบอัตโนมัติให้แก่ นายทอง  จันทร์หอม ประธานสหกรณ์ชาวสวนยางพาราภูผาหมอก จำกัด กล่าวขอบคุณและเป็นตัวแทนรับมอบ นายสมยศ  หินพราย ผู้จัดการธนาคารออมสิน สาขากันทรลักษณ์ กล่าวความเป็นมาของโครงการพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์ร่วมกับสถาบันการศึกษา GSB Startup University Model และเป็นตัวแทนส่งมอบ และ นายอาณุวรรณ  กาลจักร นักศึกษาสาขาวิชาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เป็นสมาชิกในทีม Rub-Bitกล่าวรายงานและวัตถุประสงค์การผลิตเครื่องผสมFormic Acid แบบอัตโนมัติ ครั้งนี้ เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ต้นแบบเครื่องผสมกรดฟอร์มิกแบบอัตโนมัติ และเพื่อถ่ายทอดกระบวนการเตรียมกรดฟอร์มิกให้แก่วิสาหกิจสวนยางขนาดกลางและขนาดย่อม สามารถเตรียมใช้ในกลุ่มเครือข่ายและจำหน่ายได้ และเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่สมาชิกกลุ่มสหกรณ์ในการใช้กรดที่มีคุณภาพยิ่งขึ้น สำหรับสมาชิกทีม Rub-Bitประกอบด้วย นายกรวิช  แก้วดี นักศึกษาสาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี หัวหน้าทีม นางสาวกาญจนา  บำเพ็ญ นักศึกษาสาขาวิชาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ ภาควิชาเคมี รองหัวหน้าทีม นายอาณุวรรณ  กาลจักร นักศึกษาสาขาวิชาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ ภาควิชาเคมี สมาชิกในทีม และ นายภาณุพงศ์  นางาม นักศึกษาสาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี สมาชิกในทีม ภายใต้การกำกับควบคุมการปฏิบัติงานของ ดร.ศันศนีย์  ศรีจันทร์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ ภาควิชาเคมี และ นายอนุพงษ์ รัฐิรมย์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา  

          นายอนุพงษ์ รัฐิรมย์อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ในฐานะผู้กำกับควบคุมการปฏิบัติงานและเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาโครงการผลิต“เครื่องผสมFormic Acid แบบอัตโนมัติ”กล่าวว่า สำหรับ“เครื่องผสมFormic Acid แบบอัตโนมัติ”ที่ผลิตขึ้นเป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นโครงการต่อยอดจากเดิมทีสาขาวิชาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้มีการลงพื้นที่วางแผนร่วมกับแกนนำและตัวแทนของกลุ่มเกษตรกรสหกรณ์ชาวสวนยางพาราภูผาหมอก จำกัด ต.ภูผาหมอก อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรชาวสวนยาง หันมาใช้กรดฟอร์มิก (Formic Acid) แทนการใช้กรดซัลฟูริก Sulfuric Acid หรือกรดชนิดอื่นๆ ซึ่งเป็นปัจจัยที่มีผลโดยตรงต่อคุณภาพของการทำยางก้อนถ้วย เพื่อส่งออกสู่อุตสาหกรรมยางล้อต่อไป จากการลงพื้นที่ของนักศึกษาทราบว่า กรดชนิดต่างๆ ที่มีจำหน่ายส่วนใหญ่ไม่ระบุชนิดของกรด ไม่ระบุความเข้มข้นและไม่ระบุวิธีการเตรียม ทำให้เกษตรกรชาวสวนยางบ้างส่วนเข้าใจคลาดเคลื่อนว่ากรดที่ใช้คือ กรดฟอร์มิก ในการจับตัวน้ำยางทำเป็นยางก้อนถ้วย ซึ่งเกษตรกรต้องลงทุนซื้อกรดฟอร์มิกความเข้มข้นสูงมาเจือจางให้ได้ตามเปอร์เซ็นต์ที่ต้องการในรูปของแกลลอน 5 ลิตร ราคา 250 บาท ทำให้ไม่สะดวกและราคาสูงเมื่อเทียบกับกรดที่วางจำหน่ายในร้านค้าที่มีราคา 15 บาทต่อขวด เกิดความยุ่งยากในการเตรียมน้ำกรดใช้เอง และมีอาการแพ้กรดฟอร์มิกเกิดการระคายเคืองบริเวณผิวหนัง จากปัญหาดังกล่าว ทีมงานจากสาขาวิชาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จึงมีแนวคิดในการสร้างความตระหนักเรื่องการใช้กรดที่ถูกต้อง โดยจัดอบรมทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ เรื่องการใช้น้ำกรดที่ถูกต้อง เพื่อให้ได้ยางก้อนถ้วยที่มีคุณภาพดี การตรวจสอบคุณสมบัติของยางก้อนถ้วยอย่างง่าย การเตรียมน้ำกรดที่ถูกต้อง และการคำนวณต้นทุนหากเกษตรกรเปลี่ยนมาใช้กรดฟอร์มิก

           นายอนุพงษ์ รัฐิรมย์กล่าวเพิ่มเติมว่า จากสาเหตุดังกล่าวข้างต้น ทีมงานจึงเกิดแนวคิดในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบ “เครื่องผสม Formic Acid แบบอัตโนมัติ”ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณดำเนินการจากธนาคารออมสินเพื่อวิสาหกิจสวนยางขนาดกลางและขนาดย่อมตามแนวทาง “สานพลังประชารัฐ”เพื่อเป็นการต่อยอดจากงานวิจัยเดิมที่สาขาวิชาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีได้ทำไว้ และนำมาประยุกต์ใช้กับพื้นที่ชุมชนสหกรณ์ชาวสวนยางพาราภูผาหมอกจำกัด และตัวแทนของกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยาง ต.ภูผาหมอก อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ โดยสมาชิกสามารถซื้อน้ำกรดโดยการจ่ายเงินผ่านระบบ QR Code ของธนาคารออมสิน ได้อีกทางหนึ่ง และที่สำคัญยิ่งคือเกษตรกรชาวสวนยางได้รับความสะดวกสบายในการใช้กรดฟอร์มิก ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายและสุขภาพ และราคาถูกกว่าเดิมมาก

-------------------------------

ทิพย์วรรณ  เวฬุวนาธร นักประชาสัมพันธ์ชำนาญการ ม.อุบลฯ ภาพ/ข่าว



Search
ลิ้งค์ข่าวสาร