ช่องทางรับฟังความคิดเห็น     คลังเอกสาร     คำถามที่พบบ่อย     ถาม-ตอบ      มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี    

ม.อุบลฯ ลงพื้นที่บริการวิชาการ “อบรมการทำหมอนยางพารา” สนองนโยบายการส่งเสริมและสนับสนุนสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางตามมาตรา 49 (6) ของการยางแห่งประเทศไทย


โพสโดย ทิพย์วรรณ เวฬุวนาธร     โพสวันที่ 8 พฤษภาคม 2561 ,     (อ่าน 955 ครั้ง)  


ม.อุบลฯ ลงพื้นที่บริการวิชาการ “อบรมการทำหมอนยางพารา” สนองนโยบายการส่งเสริม

และสนับสนุนสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางตามมาตรา 49 (6) ของการยางแห่งประเทศไทย

--------------------------------

          ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สราวุธ ประเสริฐศรี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชัยวุฒิ วัดจัง และ ดร.ศันศนีย์ ศรีจันทร์ อาจารย์ประจำหลักสูตรเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เป็นวิทยากรบรรยายพิเศษภาคทฤษฏีและปฏิบัติ พร้อมนักศึกษาชั้นปีที่ 4หลักสูตรเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จำนวน 5 คน เป็นผู้ช่วยวิทยากรให้ความรู้ภาคทฤษฏีและปฏิบัติในการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ “การทำหมอนยางพารา” ภายใต้โครงการการส่งเสริมและสนับสนุนสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางตามมาตรา 49 (6) ของการยางแห่งประเทศ ให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง จำนวน 30 คน จากสหกรณ์กองทุนสวนยางเมืองอุบลราชธานี จำกัด ตำบลกระโสบ อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี โดยมี นายธนวัฒน์  แก่นคูณ ผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทยจังหวัดอุบลราชธานี สาขาเมืองอุบลราชธานีให้เกียรติ เป็นประธานเปิดและ นายธนวัฒน์  วงศ์ชะอุ่ม ประธานกรรมการสหกรณ์กองทุนสวนยางเมืองอุบลราชธานี จำกัด กล่าวรายงานและวัตถุประสงค์การจัดอบรมครั้งนี้ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและจุดประกายให้สมาชิกเกษตรกรชาวสวนยางสหกรณ์กองทุนสวนยางเมืองอุบลราชธานี จำกัด ในการเรียนรู้การแปรรูปยางพาราเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มโดยในหลักสูตรนี้เน้นจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับการทำหมอนยางพาราครั้งนี้

          นายธนวัฒน์  แก่นคูณ ผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทยจังหวัดอุบลราชธานี สาขาเมืองอุบลราชธานี กล่าวว่า โครงการส่งเสริมและสนับสนุนสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางตามมาตรา 49 (6) ของการยางแห่งประเทศไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้สถาบันเกษตรกรมีการเพิ่มมูลค่ายางธรรมชาติโดยการแปรรูปและนำยางธรรมชาติมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ยางเพิ่มขึ้น รวมทั้งเพิ่มการใช้ผลิตภัณฑ์ยางและเพิ่มการส่งออก ซึ่งกิจกรรมในวันนี้ก็ได้รับงบประมาณสนับสนุนตามมาตรา 49 (6) ผ่านทางสหกรณ์กองทุนสวนยางเมืองอุบลราชธานี จำกัด เพื่อการจัดอบรมการทำหมอนยางพาราให้กับสมาชิกในกลุ่มสหกรณ์จำนวน 30 คน ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรชาวสวนยางได้เรียนรู้และฝึกปฏิบัติการแปรรูปยางเพื่อเพิ่มมูลค่าให้สูงขึ้นมากกว่าการรับซื้อและขายยางก้อนถ้วย ยางแผ่นดิบเพียงอย่างเดียว  จุดเริ่มต้นเรียนรู้การแปรรูปหมอนยางพาราของตัวแทนสหกรณ์กองทุนสวนยางเมืองอุบลราชธานีในวันนี้ก็ควรที่จะมีการพัฒนาต่อยอดให้เกิดขึ้นได้จริงและขยายผลไปสู่สมาชิกสหกรณ์รายอื่นๆ อีกกว่า 300 คน ซึ่งในส่วนของการยางแห่งประเทศไทยจังหวัดอุบลราชธานีก็มีความยินดีที่จะสนับสนุนโครงการเพื่อจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องจักรในการผลิตหมอนยางพาราในปีต่อๆ ไป

           ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สราวุธ  ประเสริฐศรี ประธานหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิตสาขาวิชาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีมีภารกิจหลัก 4 ประการ คือ การจัดการเรียนการสอน การวิจัย การบริการทางวิชาการแก่สังคม และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม โดยการอบรมในครั้งนี้ถือเป็นการบริการวิชาการโดยการขยายผลความรู้ทางเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์จากโครงการ "กล้าใหม่ สร้างสรรค์ชุมชน" ของธนาคารไทยพาณิชย์ สู่กลุ่มสหกรณ์กองทุนสวนยางเมืองอุบลราชธานี จำกัด โดยมีวิทยากรหลัก คือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชัยวุฒิ  วัดจัง ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการแปรรูปน้ำยางพาราเป็นยางฟองน้ำสำหรับนำไปประยุกต์ใช้งานต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่า โดยได้นำประสบการณ์ในการนำทีมนักศึกษาทำโครงงาน “หมอนขิดจากน้ำยางพารา ต่อยอดภูมิปัญญาบ้านศรีฐาน” อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร และโครงงาน “เพิ่มพูนค่าเสื่อเตยหนามด้วยน้ำยางพารา ส่งเสริมภูมิปัญญาบ้านโคกระเวียง” อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ มาใช้ถ่ายทอดความรู้การทำยางฟองน้ำให้กับเกษตรกรชาวสวนยางในครั้งนี้ ซึ่งทางหลักสูตรฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการรวมกลุ่มของเกษตรกรของสหกรณ์กองทุนสวนยางเมืองอุบลราชธานี จำกัด จะเป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดการเรียนรู้ ร่วมกันคิด ร่วมกันทำและผลักดันให้สามารถแปรรูปน้ำยางเป็นหมอนยางพาราให้เกิดขึ้นได้จริง โดยขอให้การยางแห่งประเทศไทยจังหวัดอุบลราชธานีช่วยส่งเสริมและสนับสนุนงบประมาณในการจัดซื้อเครื่องมือเครื่องจักรในการแปรรูปหมอนยางพาราในปีงบประมาณหน้า สำหรับในส่วนของหลักสูตรเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีก็มีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ที่พร้อมให้การช่วยเหลือ ถ่ายทอดความรู้และให้คำปรึกษาต่างๆ ในการแปรรูปยางเพื่อเพิ่มมูลค่า เพื่อจะเป็นการช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรชาวสวนยางและสามารถต่อยอดธุรกิจที่มั่นคงได้ในอนาคต

------------------------------------

ทิพย์วรรณ  เวฬุวนาธร นักประชาสัมพันธ์ชำนาญการ/ข่าว



Search
ลิ้งค์ข่าวสาร