มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี : Ubon Ratchathani University
 นักศึกษา    บุคลากร    ศิษย์เก่า   UBU English      




หมอบาส แพทย์ รุ่น 1 ม.อุบลฯ เจ๋ง!!สู้วิกฤติโควิด-19 เขย่าวงการห้องฉุกเฉินทั่วประเทศ ประดิษฐ์ VDO Laryngoscopeลดต้นทุนหลักแสน เหลือหลักร้อย


โพสต์โดย : เพลิน วิชัยวงศ์     วันที่ 26 เมษายน 2563 , 22:38:41     (อ่าน 1,586 ครั้ง)  



              ศิษย์เก่า แพทย์ รุ่น 1 ม.อุบลฯ นายแพทย์ธีรวัฒน์ สุวรรณี หรือ “หมอบาส” พัฒนานวัตกรรมสนับสนุนอุปกรณ์เครื่องมืออำนวยความสะดวกแก่แพทย์ให้ทำงานง่ายขึ้น โดย การติดกล้องขนาดเล็กเข้าไปในอุปกรณ์ใส่ท่อช่วยหายใจ หรือทางการแพทย์เรียกว่า VDO Laryngoscope เดิมเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ราคาสูงหลักแสน ซึ่งโรงพยาบาลขนาดเล็กไม่สามารถซื้อใช้ได้ แต่ด้วยวิกฤติโควิด-9 ทำให้แพทย์ ศิษย์เก่า รุ่น1 ม.อุบลฯ พัฒนานวัตกรรมเพิ่มศักยภาพเครื่องมือ เพื่อรักษาชีวิตบุคลากรทางการแพทย์ ไม่ให้ลดลงในภาวะวิกฤตินี้ สามารถลดต้นทุนจากหลักแสน เหลือเพียงหลักร้อย นับว่าเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่เขย่าวงการแพทย์ ที่ได้รับการแชร์โดยแพทย์ กว่าพันแชร์ และ มีการนำไปใช้ต่อในห้องฉุกเฉินทั่วประเทศ

            นายแพทย์ธีรวัฒน์ สุวรรณี ศิษย์เก่า แพทย์ รุ่น 1 วิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า รู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนานวัตกรรม การติดกล้องขนาดเล็กเข้าไปในอุปกรณ์ใส่ท่อช่วยหายใจ หรือ VDO Laryngoscopeในการช่วยใส่ท่อช่วยหายใจ โดยปกติ แพทย์ต้องรับลมหายใจจากคนไข้โดยตรง เพราะการใส่ท่อช่วยหายใจ แพทย์ต้องส่องกล่องเสียงด้วยตา (ที่อาจจะมีแว่นบางๆกั้นไว้) แล้วสอดท่อช่วยหายใจลงไป ซึ่งเป็นหัตถการที่แพทย์เสี่ยงติดเชื้อมาก โดยเฉพาะโควิด-19 ตนจึงได้ทดลอง นำกล้องกันน้ำขนาดเล็ก ที่มีไฟ LED ในตัว เข้าไปแทนแท่งไฟเบอร์นำแสงเดิม ของอุปกรณ์ช่วยใส่ท่อช่วยหายใจปรากฏว่าสามารถใช้งานเทียบเคียง อุปกรณ์ราคาหลักแสน ภายใต้ต้นทุนหลักร้อย หลังจากเผยแพร่ในโลกออนไลน์ พร้อมทั้งเผยแพร่วิธีการประกอบ ออกไปเกิดการส่งต่อในโลกออนไลน์ ของวงการแพทย์ไทย อุปกรณ์นี้ได้ทำให้ห้องฉุกเฉินทั่วประเทศ สามารถเข้าถึงอุปกรณ์ชนิดนี้ได้ และมีการพัฒนาใช้อย่างแพร่หลาย จนอาจจะเป็นมาตรฐานใหม่ของการใส่ท่อช่วยหายใจที่มีความปลอดภัยต่อเจ้าหน้าที่ และคนไข้ ในราคาที่จับต้องได้ปัจจุบัน หลายโรงพยาบาล ยกเลิกการสั่งซื้อกล้องราคาแพง หลายโรงพยาบาลได้ใช้อุปกรณ์นี้แล้ว คาดว่าในอนาคต การใส่ท่อช่วยหายใจผ่านกล้อง อาจจะเข้าไปเป็นหนึ่งในบทเรียน สำหรับนักเรียนแพทย์รุ่นใหม่ เพราะทุกโรงพยาบาลสามารถเข้าถึงได้แล้ว การแนะนำให้วงการแพทย์รู้จักกับกล้องขนาดเล็กราคาถูก อาจจะได้รับการต่อยอดทำให้ ค่ารักษาพยาบาลในการส่องกล้องส่วนอื่นๆถูกลงในอนาคต

              นับว่าเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของบัณฑิต มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดยวิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข ที่ใช้ความรู้ความสามารถในวิชาชีพพัฒนานวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อวงการแพทย์และสาธารณสุขได้เป็นอย่างดี

เพลิน  วิชัยวงศ์  นักประชาสัมพันธ์ ม.อุบลฯ / ข่าว




SDG Hashtag :

Tag อื่นๆ :