มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี : Ubon Ratchathani University
 นักศึกษา    บุคลากร    ศิษย์เก่า   UBU English      




คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.อุบลฯ โชว์นวัตกรรมใหม่ โครงข่ายติดตามคุณภาพอากาศในมหาวิทยาลัย สถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ เพื่อตรวจวัดปริมาณฝุ่น PM1 PM2.5 และ PM10 สำเร็จ


โพสต์โดย : ทิพย์วรรณ เวฬุวนาธร     วันที่ 5 เมษายน 2563 , 20:45:14     (อ่าน 2,035 ครั้ง)  



คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.อุบลฯ โชว์นวัตกรรมใหม่ โครงข่ายติดตามคุณภาพอากาศในมหาวิทยาลัย

สถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ เพื่อตรวจวัดปริมาณฝุ่น PM1 PM2.5 และ PM10 สำเร็จ

-------------------------------------

          คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม ภายใต้โครงการ “โครงข่ายติดตามคุณภาพอากาศในมหาวิทยาลัย” ติดตั้งสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ เพื่อตรวจวัดปริมาณฝุ่น PM1 PM2.5 และ PM10 โดยการแสดงผลผ่านเว็บไซต์เพื่อติดตามและเฝ้าระวังสภาพอากาศภายในบริเวณมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จำนวน 6 สถานี ภายใต้งบประมาณดำเนินการ 100,000.- บาทโดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เกรียงศักดิ์  แก้วกุลชัย รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และเป็นหัวหน้าโครงการโครงข่ายติดตามคุณภาพอากาศในมหาวิทยาลัย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรการ  วงศ์สายเชื้อ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เป็นผู้ควบคุมการผลิตและประสานงานโครงข่ายติดตามคุณภาพอากาศในมหาวิทยาลัย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อธิพงศ์  สุริยา ผู้อำนวยการสำนักคอมพิวเตอร์และเครือข่าย มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เป็นคณะทำงานในการกำกับควบคุมการประมวลผล และการรายงานผลโครงข่ายติดตามคุณภาพอากาศในมหาวิทยาลัยผ่านเว็บไซต์และ นายปิยวัฒน์  โคตรพรม นักศึกษาระดับปริญญาโท คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เป็นผู้ร่วมวิจัยโครงข่ายติดตามคุณภาพอากาศในมหาวิทยาลัย สำหรับการจัดทำโครงข่ายติดตามคุณภาพอากาศในมหาวิทยาลัยครั้งนี้ เพื่อพัฒนาโครงข่ายเซนเซอร์ตรวจวัดคุณภาพอากาศ และสร้างระบบติดตาม รายงาน เฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงของคุณภาพอากาศจากข้อมูลที่ได้จากโครงข่ายเซนเซอร์ เพื่อพัฒนาระบบติดตามและเฝ้าระวังสภาพอากาศภายในมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ซึ่งในปัจจุบันโครงการได้จัดทำและทดสอบสถานีวัดคุณภาพอากาศต้นแบบและได้ดำเนินการติดตั้งเรียบร้อยแล้ว จำนวน 6 สถานี ณ โรงอาหารหอใน ลานสุขภาพ(หนองอีเจม) บริเวณร้านยาหน้ามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี คณะวิศวกรรมศาสตร์ (สถานีต้นแบบ) วิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข และคณะเภสัชศาสตร์ ซึ่งทุกสถานีสามารถสร้างระบบติดตาม รายงาน เฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงของคุณภาพอากาศจากข้อมูลที่ได้จากโครงข่ายเซนเซอร์ ในการแสดงผลผ่านเว็บไซต์เพื่อติดตาม และเฝ้าระวังสภาพอากาศภายในบริเวณมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีได้อย่างต่อเนื่อง

          ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรการ  วงศ์สายเชื้อ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เป็นผู้ควบคุมการผลิตและประสานงานโครงข่ายติดตามคุณภาพอากาศในมหาวิทยาลัย กล่าวว่า สืบเนื่องจากปัจจุบันปัญหาฝุ่นควันเป็นปัญหาที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในประเทศไทย เนื่องจากส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในวงกว้าง ปัญหาที่กล่าวมามีความรุนแรงมากโดยเฉพาะในหัวเมืองใหญ่ที่มีการจราจรคับคั่ง หรืออยู่ในเขตอุตสาหกรรม นอกจากนี้จังหวัดในภาคเหนือได้รับผลกระทบจากไฟป่าทำให้ค่าฝุ่นละอองสูงอยู่ในระดับที่อันตรายต่อสุขภาพ การควบคุมและแก้ไขผลกระทบจากไฟป่าทำให้ได้ค่าฝุ่นละอองสูงอยู่ในระดับที่อันตรายต่อสุขภาพ การควบคุมและแก้ไขปัญหานี้จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนและต้องใช้เวลาในการดำเนินการ การป้องกันตนเองจึงเป็นหนทางควรทำเพื่อลดการสูดดมฝุ่นละอองขนาดเล็กด้วยการสวมหน้ากากหรือการหลีกเลี่ยงกิจกรรมภายในที่โล่งส่งผลให้หน้ากาก เครื่องมือตรวจวัดและอุปกรณ์ฟอกอากาศเป็นที่ต้องการของประชาชนจนทำให้บางครั้งสินค้าขาดตลาด จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทีมวิจัยและคณะทำงานจึงมีแนวคิดในการพัฒนาโครงข่ายเซนเซอร์ตรวจวัดคุณภาพอากาศเชื่อมต่อการสื่อสารผ่านระบบ loT ที่ครอบคลุมพื้นที่ในชุมชนโดยสามารถติดตามและรายงานผลการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา โดยมุ่นหวังว่าข้อมูลจากโครงข่ายเซนเซอร์จะช่วยในการวางแผนป้องกัน เฝ้าระวัง และทำนายแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศก่อนที่จะเกิดปัญหาจนไม่สามารถแก้ไขได้อย่างทั่วถึงและทันต่อเหตุการณ์ โดยระยะที่สองจะพัฒนาเป็นโครงข่ายที่ครอบคลุมพื้นที่บริเวณกว้างขึ้นได้

          นายปิยวัฒน์  โคตรพรม นักศึกษาระดับปริญญาโท คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เป็นผู้ร่วมวิจัยโครงข่ายติดตามคุณภาพอากาศในมหาวิทยาลัย กล่าวว่า สำหรับโครงข่ายเซนเซอร์ตรวจวัดสภาพอากาศประกอบไปด้วย 3 ส่วนหลัก ได้แก่ ส่วนตรวจวัด (Weather meter and Air pollution meter) ส่วนสื่อสาร (NB-loT or LoRaWan)และส่วนประมวลผล (Data analysis) ซึ่งส่วนที่ 1 คือส่วนตรวจวัดจะแบ่งออกเป็น 2 ชุด ประกอบอยู่ในโหนดเซนเซอร์ที่ติดตั้งในพื้นที่ต่าง ๆ โดยชุดที่ 1 เป็นชุดตรวจวัดสภาพอากาศ (Weather meter) ประกอบด้วย เซนเซอร์ตรวจวัดอุณหภูมิ ความชื้น ความเร็วลม รวมถึงความเข้มแสงยูวี ซึ่งชุดที่ 1 อาจจะมีอยู่ในโหนดเซนเซอร์บางตำแหน่ง (โหนดหลัก) เท่านั้น ส่วนชุดที่ 2 เป็นชุดตรวจวัดมลพิษ (Air pollution meter) ประกอบด้วยเซนเซอร์วัดอนุภาคฝุ่น PM1.0 PM2.5 PM10 รวมถึงเซนเซอร์วัดก๊าซชนิดต่าง ๆ อาทิเช่น CO, CO2 และ O3เป็นต้น ซึ่งในส่วนที่ 2 เป็นส่วนสื่อสารจะทำการเชื่อมต่อโหนดเซนเซอร์กับระบบประมวลผลกลาง โดยใช้โมดูลสื่อสาร เช่น NB- IoT หรือ LoRaWan เพื่อส่งข้อมูลมาแสดงผล และนำไปประมวลผลต่อไป และในส่วนที่ 3 เป็นส่วนประมวลผล จะทำการแสดงแผนที่ผลการวัดใน ณ ตำแหน่งที่ติดตั้งโหนดเซนเซอร์ นอกจากนี้แล้วข้อมูลที่วัดได้ยังสามารถนำไปใช้ในการเรียนรู้ของโครงข่ายประสาทเทียมเพื่อพัฒนาโมเดลสำหรับทำนายสภาพอากาศในพื้นที่นั้นได้ และยังสามารถประยุกต์ใช้ในการเฝ้าระวังการลักลอบเผาไร่นาได้อีกด้วย สำหรับโหนดเซนเซอร์ที่พัฒนาขึ้นนี้จะถูกออกแบบให้ใช้แหล่งพลังงานจากโซล่าเซลล์ทำให้สามารถนำไปติดตั้งยังพื้นที่ห่างไกลได้ โดยในเบื้องต้นจะพัฒนาโครงข่ายเซนเซอร์ภายในมหาวิทยาลัยก่อน จากนั้นจึงจะขยายไปยังพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป

          สนใจติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่... ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรการ  วงศ์สายเชื้อ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เป็นผู้ควบคุมการผลิตและประสานงานโครงข่ายติดตามคุณภาพอากาศในมหาวิทยาลัย หมายเลขโทรศัพท์ 08-6236-7986 หรือ 0-4535-3330 ในวันและเวลาราชการ

---------------------------------------------

ทิพย์วรรณ  เวฬุวนาธร นักประชาสัมพันธ์ ชำนาญการ ม.อุบลฯ ภาพ/ข่าว




SDG Hashtag :

Tag อื่นๆ :