ช่องทางรับฟังความคิดเห็น     คลังเอกสาร     คำถามที่พบบ่อย     ถาม-ตอบ      มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี    

บุญบั้งไฟในต่างประเทศ

               บุญบั้งไฟในประเทศลาว

              (กำลังปรับปรุงข้อมูล)

              บุญบั้งไฟของชาวลาวพลัดถิ่น

              สำหรับการจัดงานบุญบั้งไฟในชุมชนลาวอพยพในอเมริกาได้เลือกใช้บุญบั้งไฟมานำเสนอ อัตลักษณ์ของตนเองในฐานะที่เป็น “บุญบ้านเกิด” ทำให้บุญบั้งไฟมีสถานะของการเป็นวัฒนธรรมของคนพลัดถิ่น การมี“บั้งไฟ”เป็นสัญลักษณ์ที่เป็นรูปธรรมกว่างานบุญประเพณีอื่นของอีสาน ทำให้บุญบั้งไฟกลายเป็นสัญลักษณ์ของความผูกพันกับถิ่นกำเนิด เป็นเสมือนมรดกตกทอดทางวัฒนธรรมที่ยังสะท้อนอัตลักษณ์ของคนลาวอยู่ พระอาจารย์จันดาพร จักรกวโร (จันดาพอน มิ่งสีสุ-พัน) รองเจ้าอาวาส วัดลาวพุทธวงศ์ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ประเทศสหรัฐอเมริกา และประธานสมัชชา สงฆ์ลาว-อเมริกัน กล่าวระหว่างการจัดแสดงบุญบั้งไฟในพิพิธภัณฑ์ the National Air and Space Museum ใน Chantilly รัฐเวอร์จิเนีย อเมริกาว่า “นี่คือเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่นำเราไปสู่การระลึกและเห็นชัดว่าเราชาวลาวภูมิใจแค่ไหน” (VOA News, 2005) ในแง่ที่คล้ายคลึงกัน ชาร์ล คายส์ (Keyes, 1998) ได้เล่าถึงบุญบั้งไฟของคนลาวเชื้อสายอเมริกันที่ Burke Museum of National History and Cultureว่าคนลาวต้องการแสดงถึงความทรงจำในลาวซึ่งไม่ใช่แค่การระลึกถึงความหลังเก่าๆ (nostalgia) ปี 1994จึงมีการจำลองงานบุญบั้งไฟขึ้นในซีแอตเติล อัตลักษณ์ของคนลาวจึงถูกแสดงผ่านงานบุญดังกล่าวด้วยความเป็นชาติที่มีวัฒนธรรมอันยาวนาน มีประเพณีที่มีความสนุกสนาน และเทคโนโลยีอันเกิดจากวัฒนธรรมที่ไม่แพ้ชาติใด ซึ่งทำให้เห็นว่าในยุคโลกาภิวัตน์ ในขณะที่ผู้คนในซีกโลกหนึ่งที่ได้กลายเป็นพลเมืองของอีกประเทศหนึ่งแต่วิถีชีวิตของกลุ่มคนยังผูกโยงไว้กับถิ่นฐานซึ่งได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างอัตลักษณ์ที่สามารถเชื่อมกับถิ่นฐานบ้านเกิดได้

               นอกจากนี้ พบว่า ชาวพม่าเชื้อสายลาวที่อาศัยอยู่ด้านจังหวัดประจวบคีรีขันธ์และกาญจนบุรีก็ยังคงรักษาประเพณีที่โดดเด่นนี้ เช่นเดียวกับชาวพม่าในเขตรัฐฉานซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่ของชาวไทใหญ่ ไทขืน หรือชาวจีนในแคว้นสิบสองปันนา ซึ่งเป็นชาวไตลื้อ ก็คุ้นเคยกับประเพณี โดยรู้จักกันในนามประเพณีนี้ว่า “ปอยโบกไฟ” (แวง พลังวรรณ, 2545: 35)