ช่องทางรับฟังความคิดเห็น     คลังเอกสาร     คำถามที่พบบ่อย     ถาม-ตอบ      มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี    

บุญบั้งไฟยโสธร

เมื่อพูดถึงงานบุญบั้งไฟก็ต้องนึกถึงจังหวัดยโสธรเป็นจังหวัดแรก ๆ จังหวัดยโสธร เป็นเมืองขนาดเล็ก พื้นที่เมืองถูกแบ่งออกเป็น 2โซนใหญ่คือ โซนชุมชนและโซนย่านตลาดการค้า ชาวชุมชนมีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน ในการจัดการประเพณีบุญบั้งไฟในแต่ละปีในเทศบาลซึ่งเป็นเจ้าภาพหลักจะเริ่มเตรียมงานตั้งแต่เดือนมกราคม ส่วนชาวชุมชนจะเริ่มเตรียมงานหลังงานสงกรานต์ ในการจัดงานบุญบั้งไฟที่มีเทศบาลเมืองเป็นแม่งานหรือเจ้าภาพหลักนั้น เทศบาลจะวางกรอบกฎเกณฑ์ไว้ในระดับหนึ่ง โดยกรอบต่าง ๆ นั้นส่วนหนึ่งคือการนำกฎเกณฑ์ที่ตั้งขึ้นไว้เดิมมาใช้ หรือสร้างกฎเกณฑ์ใหม่ขึ้นผ่านการประชุมของสภาเทศบาล ซึ่งจะมีนักการเมืองท้องถิ่นที่เป็นตัวแทนชุมชนให้ความเห็น แสดงความต้องการ หรือต่อรองการทำกิจกรรมของแต่และชุมชน จากนั้นกรรมการชุมชนจะนำไปปรึกษาหารือกับคนในชุมชน เพื่อวางแผนการเตรียมงาน

 

ประเพณีบุญบั้งไฟของจังหวัดยโสธรถูกยกระดับเป็นงานประเพณีระดับชาติ และได้รับการโปรโมทในระดับนานาชาติเป็นแห่งแรก ทั้ง ๆ ที่การจัดงานบุญบั้งไฟสามารถพบเห็นได้ทั่วไปดังตัวอย่างที่กล่าวมาข้างต้น ยโสธรกลายเป็นเมืองบั้งไฟโก้ ที่เข้ายึดพื้นที่การเป็นเจ้าของบุญบั้งไฟ สัญลักษณ์ทุกแห่งของจังหวัด ได้มีบุญบั้งไฟเข้าไปเกี่ยวข้อง เช่นเดียวกับงานบุญที่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นป้ายรถเมล์ ทางเข้าวัดที่ส่วนใหญ่จะเห็นเป็นพญานาค แต่ที่วัดแห่งหนึ่งในตัวเมืองยโสธรเป็นบั้งไฟเอ้ โลโกของบั้งไฟปรากฏอยู่ทั่วไปในสมาคมต่างๆ รวมถึงการเป็นโลโกของบริษัทของดาราตลกชื่อดังของเมืองไทย หม่ำ จ๊กม๊ก ที่มีบ้านเกิดอยู่ที่จังหวัดยโสธร ซึ่งก็มีส่วนสำคัญในการช่วยโปรโมทงานบุญบั้งไฟของจังหวัดยโสธรเป็นอย่างยิ่ง และเมื่องานบุญของจังหวัดยโสธรได้กลายเป็นประเพณีที่มีความเป็นนานาชาติด้วยการเชิญบุญบั้งไฟของจังหวัดไซตามะประเทศญี่ปุ่นเข้าร่วมผ่านการเป็นเมืองคู่แฝดทางวัฒนธรรมและมีการโชว์บั้งไฟจากญี่ปุ่น การสร้างขบวนแห่ที่บริหารจัดการในระดับจังหวัดมีการโชว์ขบวนแห่ร่วมสมัยและบั้งไฟโบราณ ประกอบการการจัดงานที่มีงบประมาณมหาศาล บั้งไฟของยโสธรจึงเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวที่เหมาะสมยิ่ง การตอกย้ำผ่านสื่อและสัญลักษณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้บุญบั้งไฟของยโสธรดำรงตำแหน่งในฐานะภาพตัวแทน (representation) ของบุญบั้งไฟอีสาน

 

อย่างไรก็ดี บุญบั้งไฟของยโสธร ก็มิได้นำเสนอทุกแง่มุมของบุญบั้งไฟอีสาน การริเริ่มที่จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมบั้งไฟคือการนำความบันเทิงเข้ามาผสมผสานจนกลายเป็นเวทีกองเชียร์ ซึ่งผู้เขียนเห็นว่ามีลักษณะคล้ายเวทีหมอลำซิ่ง โดยที่มีการกินดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และร้องรำทำเพลงกันอย่างสนุกสนาน เวทีนี้เกิดขึ้นราวปี 2541ซึ่งมีสาเหตุมาจากการตั้งเครื่องเสียงริมทางของชาวบ้านที่เชียร์ขบวนแห่ของตน จนเกิดเป็นการประกวดเวทีกองเชียร์จนถึงปัจจุบัน วัฒนธรรมเวทีกองเชียร์นี้ ไม่เพียงแต่อยู่ในงานของชุมชนเมืองเท่านั้น แต่ได้ขยายไปสู่อำเภอต่าง ๆ ในจังหวัดอีกด้วย

 

ความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนนี้เริ่มขึ้นราวปี 2520 จากการที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้เข้ามาร่วมส่งเสริมกิจกรรมและร่วมเป็นเจ้าภาพจัดงาน ซึ่งถือว่าเป็นเส้นแบ่งความเป็นสมัยใหม่เลยก็ว่าได้ ทำให้กิจกรรมงานบุญได้รับการประชาสัมพันธ์อย่างคึกคักการยกระดับงานบุญของจังหวัดเป็นงานระดับชาติทำให้เกิดการสร้างสรรค์งานเพื่อตอบสนองต่อการท่องเที่ยวขึ้นมาเป็นหน้าตา รวมถึงการเพิ่มและลดทอนกิจกรรมบางอย่างออกไป เช่น การลดสัญลักษณ์ทางเพศที่แสดงถึงความลามกอนาจาร การขยายวันการจัดงานออกไป และเพิ่มการประกวดแข่งขันต่าง ๆ การ

จัดงานประจำปีของจังหวัดยโสธรเป็นงานใหญ่อย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ทำให้ชาวชุมชนเมืองรู้สึกว่าบุญบั้งไฟเป็นของชาวยโสธร เราจะเห็นได้ว่ามีการทำสัญลักษณ์บุญบั้งไฟไว้ตามป้ายชื่อถนนและจุดนัดพบที่สำคัญหรือประตูวัด เป็นต้น โดยในปัจจุบันเมืองยโสธรกลายเป็นต้นแบบทางวัฒนธรรมบุญบั้งไฟสมัยใหม่